‘สโตรก’ โรคเปลี่ยนชีวิตลูก

รับมืออย่างไรดี…

จากพ่อแม่ที่เคยแข็งแรง กระฉับกระเฉง ต้องล้มป่วยเฉียบพลันด้วยโรคหลอดเลือดในสมอง กลายเป็นคนที่เดินไม่คล่อง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สื่อสารไม่รู้เรื่องในชั่วข้ามคืน ในบางรายร้ายแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตตลอดชีวิต

มนุษย์ต่างวัยชวนทำความรู้จักกับโรคสโตรก (STROKE) ผ่านประสบการณ์ตรงจากลูกสาวที่ดูแลคุณแม่วัย 53 ปีจากอาการโรคหลอดเลือดสมองแตกเฉียบพลัน และหาคำตอบเรื่องวิธีการรับมือและการฟื้นฟูคนไข้โดยอาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เจ้าของเพจที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดในสมอง : Stroke BOOT CAMP โรคนี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนชีวิตของพ่อแม่ แต่เปลี่ยนการใช้ชีวิตของลูก ที่ต้องสละเวลาเกือบ 24 ชั่วโมง ไปกับการดูแลท่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เคยคิดมาก่อนว่าคุณแม่จะเป็นโรค ‘สโตรก’

“ไม่คิดว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ เพราะตามประวัติคนในครอบครัว ไม่มีใครเคยเป็นโรคสโตรกมาก่อนเลย และเราแน่ใจมาตลอดว่าคุณแม่เป็นคนที่แข็งแรง ออกกำลังกายอยู่เสมอ แต่สุดท้ายแล้วโรคนี้ก็มาเกิดขึ้นกับท่าน”   แนน – นัทชญา มั่งมี   ลูกสาวอายุ 29 ปี ที่ต้องดูแลคุณแม่วัย 53 ปีที่กำลังป่วยด้วยโรคหลอดเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน

ในวันที่คุณแม่ของแนนเกิดอาการหลอดเลือดในสมองแตกเฉียบพลันนั้น เธอคิดมาตลอดว่า แม่เป็นคนที่แข็งแรง ถึงขนาดที่ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และการใช้ชีวิตประจำวันก็ปกติไม่ได้มีอะไรที่ต้องเหนื่อยเป็นพิเศษ หรือมีความเครียดใดๆ เป็นคุณแม่ที่มีความสุขดีทั้งร่างกายและจิตใจ

“ไม่มีสัญญาณหรือเสียงใดๆ ที่บ่งบอกว่าคุณแม่ไม่สบายมาก่อนเลย ซึ่ง 1 ชั่วโมงก่อนที่คุณแม่จะเกิดอาการ พวกเรายังนั่งดูซีรีส์ทางโทรทัศน์ด้วยกัน หลังจากนั้น แม่ขึ้นไปอาบน้ำบนชั้น 2 เมื่ออาบน้ำเสร็จ แม่ก็เดินพยุงตัวเองลงจากบันไดบ้านและนั่งลงกับพื้นหน้าทีวีแล้วพูดว่า แนน แม่ปวดหัวจังเลย เราก็นึกว่าปวดหัวปกติทั่วไป แต่แม่บอกปวดหัวมากเหมือนหัวจะระเบิด

“แม่มีอาการหายใจไม่ออกเริ่มตบหน้าอกตัวเอง อีกทั้งเหงื่อออกและหน้าซีด จากนั้นแขนขาไม่มีแรง โชคดีที่แม่นั่งอยู่จึงไม่ได้มีปัญหาเรื่องการล้มหรืออะไรที่เป็นอันตราย แต่อาการของแม่คือนั่งแล้วเซไปทางขวาทีซ้ายที เหมือนคนใกล้หมดสติ”

แนนเล่าว่า เธอรู้สึกใจไม่ดีจึงโทรเรียกรถโรงพยาบาลโดยทันที แต่รถพยาบาลใช้เวลานานกว่าจะมาถึงที่บ้าน จึงตัดสินใจพาแม่ขึ้นรถยนต์ส่วนตัวไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เมื่อหมอวินิจฉัยจึงรู้ว่าสาเหตุเกิดจากเลือดออกในสมอง ต้องทำการผ่าตัด

“ก่อนผ่าตัดคุณหมอให้เราทำใจระดับหนึ่งว่า หากผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนี้มีโอกาสคุณแม่จะกลับมาปกติได้จริงๆ เพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 70 เปอร์เซนต์ ที่เหลือมีโอกาสจะพิการ หรืออาจเป็นเจ้าหญิงนิทราและในขั้นร้ายแรงที่สุดคือเสียชีวิต แต่เราต้องตัดสินใจผ่าตัดทันที ถึงแม้ว่าโอกาสที่แม่จะกลับมาเหมือนเดิมจะน้อยก็ตาม”

แม่ของแนนต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 2 ครั้งเพราะมีน้ำในโพรงสมองมากเกินไป การผ่าตัดครั้งที่ 2 ผ่านไปด้วยดี และนอนหลับไม่ได้สติถึง 23 วันในห้องฉุกเฉิน ซึ่งแนนต้องมาดูแลทุกวัน หากวันไหนไม่ว่างก็ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกับคนในครอบครัวแทบ 24 ชั่วโมงเพื่อดูอาการ

สโตรก…โรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า โรค ‘สโตรก’ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและพิการ อยู่ในอันดับต้นๆ ของคนไทยจากโรคทั้งหมด และโรคเส้นเลือดสมองสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย

“โอกาสการเกิดโรคสโตรกไม่ต่างจากฟ้าฝ่า คือเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่เว้นเพศและวัย ถามว่ามีสัญญาณเตือนไหม มีแต่น้อย ส่วนใหญ่หากเป็นแล้วจะเกิดอาการทันที เหมือนฟ้าผ่าที่ไม่เคยเลือกคนที่จะโดนผ่า เมื่อผ่าแล้วความเสียหายจะมากหรือน้อยแล้วแต่ว่าไปโดนลงเส้นเลือดช่วงไหน เส้นหน้า เส้นข้าง หรือเส้นหลัง หากตีบตรงไหนสมองก็เสียหายตรงนั้น”   ผศ.นายแพทย์ ภาริส วงศ์แพทย์   อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู อธิบายโอกาสการเกิดของโรคสโตรก

“โรคสโตรกคือโรคที่ร่างกายมีปัญหา ไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง โดยสมองมีหน้าที่บังคับทุกสิ่งทุกอย่างของร่างกาย ไม่ว่าเวลาเรามีสติหรือช่วงหลับ สมองก็เหมือนทุกอวัยวะในร่างกายที่ต้องการเลือดไปเลี้ยง เมื่อไม่มีเลือดมาเลี้ยงเซลล์สมองก็จะค่อยๆ ตายและไม่สามารถทำหน้าที่สั่งการอวัยวะบางอย่างได้ นำมาสู่อัมพาต ส่วนใหญ่โรคเส้นเลือดในสมองจะเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ เส้นเลือดในสมองอุดตันหรือมีอาการตีบ และอีกสาเหตุคือเส้นเลือดในสมองแตก ไม่ต่างจากท่อประปาแตกอยู่ในโพรงสมอง ทั้ง 2 สาเหตุทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ ซ้ำร้ายเลือดที่ออกมาจากเส้นเลือดรวมตัวกลายเป็นก้อนเลือดเข้าไปเบียดเนื้อสมองจนอาจเป็นอันตราย”

“จากประมาณการณ์ขั้นต่ำ ประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตจากโรคสโตรกไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคนต่อปี แต่ในปัจจุบันการแพทย์มีความก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดน้อยลง และสามารถช่วยให้รอดได้แต่ยังหลงเหลือความพิการอยู่ เพราะโรคนี้ส่งผลต่อเซลล์สมองโดยตรง”

อาการและสัญญาณเตือนลอง ‘สังเกตุ’ แต่อย่า ‘ระแวง’

คุณหมอแนะนำว่าอาการหรือสัญญาณเตือนของโรคถึงแม้จะน้อยแต่ใช่ว่าไม่มี ดังนั้นลองมาตรวจสอบกัน ว่ามีข้อใดเข้าข่ายบ้างหรือไม่ หากมีก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไป เพราะลักษณะอาการเหล่านี้มักใกล้เคียงกับโรคธรรมดาทั่วไป เพียงแต่หากเป็นโรคสโตรกจะเกิดแบบกะทันหันและรุนแรงมาก

๐ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก

๐ อยู่ดีๆ เกิดอาการหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว กระทันหัน

๐ พูดลำบาก พูดไม่ชัด นึกคำไม่ออก ใช้คำพูดผิด หรือบางรายอาจพูดไม่ได้เลย

๐ เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เดินเซ เห็นภาพซ้อน มองเห็นซีกเดียว

๐ มีอาการปวดหัวแบบรุนแรงเฉียบพลัน แบบไม่เคยเป็นมาก่อน

“สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำใจคือโรคนี้ถ้าเป็นมักจะเป็นกะทันหัน อาการเตือนน้อย การไปจับตาเฝ้าระวังเป็นการเสียสุขภาพจิตมากๆ เพราะว่าอาการค่อนข้างคล้ายอาการป่วยธรรมดาทั่วไป เพราะฉะนั้นการมัวแต่กลัวคอยระแวง มัวแต่มานั่งจับอาการจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพียงแต่ลองสังเกตการณ์อาการว่ามีอะไรบ่งบอกหรือไม่ ถ้าเจออาการที่มีลักษณะเข้าข่ายแต่ไม่รุนแรง ให้ลองตรวจสอบให้แน่ใจ แล้วไปโรงพยาบาลจะได้รีบรักษาดีที่สุด แต่สิ่งที่ควรทำคือใช้ชีวิตหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อันนี้ควรทำ”

คุณหมอบอกเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ในร่างกายอาจไม่จำเป็นต้องไปคิดถึงและระแวงมากมาย แต่อะไรที่ควบคุมได้ก็ควรทำ เพื่อลดปัจจัยความเสี่ยงที่จะเร่งการเกิดโรคสโตรกและการอยู่กับความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นในการก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา

“ภาวะอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ เครียด และขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เพิ่มอัตราในการเป็น โรคสโตรก อายุมากขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย เปรียบเป็นกับท่อประปาที่ใช้งานมานานก็เก่า วันดีคืนดีก็แตก เป็นไปตามอายุไขและธรรมชาติ คนอายุมากเสี่ยงอยู่แล้ว แต่คนที่อายุยังน้อยแต่มีปัจจัยความเสี่ยงก็มีโอกาสเกิดได้ก่อนเช่นกัน

“แต่ต้องเข้าใจชีวิตว่าถึงแม้เราทำทุกอย่างดีหมดแล้ว แต่ไม่มีใครการันตีใครได้ ว่าจะเกิดหรือไม่ ถ้าไม่มีอาการปวดหัวไม่มีอะไร ก็ไม่ควรไปยุ่งเพราะว่า การที่อยู่ดีๆ ไม่เป็นอะไร แต่เกิดไปผ่าตัดอาจมีความเสี่ยงที่ร้ายแรงยิ่งกว่าเดิม แต่หากเกิดสโตรกขึ้นอย่างฉับพลัน อันนี้บอกได้เลยว่าอันตรายไม่ว่าจะเกิดกับส่วนไหนของสมอง ”

หากเกิดโรคสโตรกแบบ ‘ฉับพลัน’ จะต้องหยิบจับช่วยเหลืออย่างไร

แน่นอนว่าโรคหลอดเลือดในสมองเป็นโรคที่มีสัญญาณเตือนของอาการค่อนข้างน้อย เมื่อเกิดเหตุการณ์มักจะเป็นแบบทันที หลายครั้งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จึงต้องช่วยเหลือและแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าไปก่อนที่จะส่งหรือรอรถโรงพยาบาลมารับ หากสามารถช่วยเหลือได้ถูกต้องตามหลักก็ส่งผลดีต่อผู้ป่วยเป็นโรคสโตรกในระยะยาว

นายแพทย์ภาริส บอกว่า ข้อสำคัญที่สุด คือพาไปโรงพยาบาลที่ใกล้และรวดเร็วที่สุด หรือโทร 1669 เพื่อเรียกรถของโรงพยาบาลมารับ เพราะแพทย์เป็นผู้ที่ดูแลและประเมินอาการได้ดีที่สุด

“เรื่องพื้นฐานการปฐมพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่ห้ามละเลยและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ป่วย หากช่วยเหลือได้ดีก็รับประกันได้ระดับหนึ่งว่าจะถึงมือหมอในลักษณะอาการที่แย่น้อยที่สุด

“หากเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าที่คนไข้อาการไม่ทรงตัว รู้สึกไม่ค่อยดี ที่เราต้องคำนึงถึงคือควรป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น สำลักอาหาร หรือน้ำลายลงคอ หากคนไข้รู้สึกตัวให้จับนอนพลิกหันข้าง เพื่อให้น้ำลายจะได้ไหลออกจากปากและไม่ลงไปในลำคอจนผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้ หากมีอาหารในปากให้ล้วงออกมาก่อน จะได้ไม่ติดคอ

“หากดูหน้าซีดเซียว แล้ววัดความดันชีพจรปรากฏว่าแผ่วเบา หากไม่แน่ใจว่าเลือดไหลเวียนดีไหม ให้ผู้ป่วยนอนในลักษณะที่ช่วงบนของร่างกายอยู่ต่ำกว่าช่วงล่าง อาจจะนำหมอนมารองช่วงขาไว้ แต่ข้อควรระวังถ้าเลือดออกในสมอง จนศีรษะมีการปูดและบวมอย่างรุนแรง ห้ามเอาหัวลงต่ำเด็ดขาด เดี๋ยวอาการจะยิ่งแย่”

การฟื้นฟูเหมือนการปลูกและดูแลต้นไม้

ภายหลังรับการผ่าตัด ขั้นตอนต่อมาที่สำคัญไม่หย่อนไปกว่ากันคือการดูแลและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือให้ใกล้เคียงที่สุด แต่คุณหมอย้ำเสมอว่าการฟื้นฟูคนไข้สโตรกนั้นไม่เหมือนโรคอื่นๆ ที่สามารถหายขาดได้หลังรับการรักษา หากเปรียบเทียบคงไม่ต่างจากการปลูกต้นไม้ ที่ต้องเริ่มหว่านเมล็ดการรักษา ให้น้ำเป็นยา และต้องพึ่งแสงแดดและร่มเงา เปรียบกับการฟื้นฟูทำกายภาพและได้รับกำลังใจจากคนใกล้ชิดไปพร้อมกัน

“การฟื้นฟูคนไข้เหมือนการปลูกต้นไม้ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ รักษาและดูแลกันไป การรักษาเยียวยาผู้ป่วยโรคสโตรกไม่เหมือนรื้อตึกที่จะสามารถทำให้หายขาดในทีเดียว”

แนน เล่าให้ฟังว่า หลังจากคุณแม่ฟื้น มีสติลืมตา ก็ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะเริ่มปะติดต่อความจำ และการรับรู้ความรู้สึก การขยับร่างกายต่างๆ ก็ตามมาทีละนิด ปัจจุบัน เธอต้องให้คุณแม่ฝึกทำกายภพบำบัดไปเรื่อยๆ ทีละนิดเท่าที่พอทำได้ แต่เธอย้ำว่า ข้อสำคัญคือการฝึกอย่างสม่ำเสมอจึงจะเห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจน

“แรกๆ คุณแม่จำได้เฉพาะคนในครอบครัว คนไกลๆ หรือเพื่อนบ้านยังนึกไม่ออก ตอนแรกมีปัญหาเรื่องการกลืน ซึ่งกลืนเองไม่ได้ต้องรับประทานอาหารผ่านสายยาง แล้วก็ไปเข้าห้องน้ำไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย   ได้แค่รู้เรื่องและตื่นลืมตา ซึ่งช่วงวันแรกที่ทำกายภาพก็ฝึกเดิน-วางเท้า-นั่ง-ลุก วันแรกอาจจะเดินได้น้อย วันต่อไป 10 ก้าว 20 ก้าว เดินได้เยอะขึ้น และเป็นเส้นตรงขึ้น แต่ในปัจจุบัน จำได้มากขึ้น ถอดสายอาหารแล้ว รับประทานอาหารเองได้ เข้าห้องน้ำได้ กลืนและเคี้ยวได้ เหลือแค่เรื่องของการพูดคุย ซึ่งอาจจะนึกคำพูดช้าหน่อย อาจจะได้เพียงคำ 2 คำ เวลาสื่อสาร”

คุณหมอให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การฟื้นฟูโรค ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ ต่อเมื่อมีการบำบัดและทำซ้ำบ่อยๆ เช่นฝึกเดิน ฝึกกลืน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรปรึกษาผู้เชียวชาญ เชี่ยวชาญ หรือนักบำบัดเพื่อช่วยเหลือ เพราะหลายรายฝึกเองคนที่โชคดีประสบความสำเร็จก็แล้วไป แต่มีคนที่ฝึกแล้วปอดติดเชื้อเสียชีวิตก็มี

“เรื่องการเดินระมัดระวังเพียงการหกล้ม แต่การกลืนซับซ้อนกว่า อาหารที่กินเข้าไปมักผสมแบคทีเรียในช่องปาก หากผู้ป่วยสำลักอาหารและลงปอดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้นำไปสู่โรคปอดอักเสบ และติดเชื้อเข้ากระแสเลือดเป็นอันตราย ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

“นอกจาก การฝึกที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ คนไข้ยังต้องการเวลาพักผ่อนที่เหมาะสม แต่การพักผ่อนก็ให้อยู่ในวินิจฉัยของแพทย์ดีที่สุดเพราะหากพักมากไปก็จะนำไปสู่การติดเตียง การกระตุ้นฝึกร่างกายควรทำแต่อย่ารวดเร็วเกินไป

“ปัจจัยการจะฟื้นตัวของคนไข้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของร่างกายตั้งแต่เรื่องอายุ และความพร้อมของร่างกายเอง รวมถึงปัจจัยภายนอกก็มีส่วนสำคัญ การดูแลจากญาติที่ดี ทำให้คนไข้มีอารมณ์ดี ยิ่งมีความสุขผ่อนคลายก็ยิ่งช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้รวดเร็ว และเมื่อฟื้นฟูจำเป็นต้องมีการจดบันทึกหรือวัดดูอาการอยู่สม่ำเสมอเพื่อดูการพัฒนาการ”

ดูแลพ่อแม่ไปพร้อมกับรักษาใจตัวเองไปพร้อมกัน

การดูแลคนไข้หรือผู้ป่วยโรคสโตรกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีความเข้าใจและมีการดูแลที่ดี รวมถึงการค่อยๆ ฝึกเพื่อเฝ้ามองการพัฒนาการของคนไข้ ให้กลับมาสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งการดูแลเช่นนี้ ต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจผสมผสานกัน แน่นอนว่า หากไม่มีความเข้าใจกันระหว่างคนไข้และผู้ดูแล ย่อมกลายเป็นการสร้างรอยร้าวลงในความสัมพันธ์ ซึ่งสามารถส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของทั้งผู้ป่วยและคนดูแล ดังนั้นการดูแลใจระหว่างกันก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม

แนนเล่าว่าวันแรกๆ เธอมีอาการเครียดมาก เธอทั้ง พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคให้มากที่สุด ไปพูดคุยกับหมอหลายคนเพื่ออยากได้ข้อคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายในวิธีการช่วยเหลือและเยียวยาคุณแม่ของเธอ

“ช่วงอาทิตย์แรกที่คุณแม่ป่วย เราทั้งเครียดและเหนื่อย พยายามค้นหาทุกวิถีทาง ทั้งช่องทางออนไลน์ หรือทุกช่องทางที่สามารถช่วยคุณแม่ได้ หาข้อมูลให้ได้เยอะที่สุด หลายเพจให้คำแนะนำที่ดี แนนดีใจที่ได้เข้าไปขอคำแนะนำ ทำให้แนนได้ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงๆ จากผู้ที่เคยประสบมากับตัวบ้างหรือต้องดูแลพ่อแม่ไม่ต่างจากเราบ้าง”

“แต่ในช่วงที่คุณแม่มีสติ เริ่มขยับร่างกายได้ ก็เริ่มทำกายภาพบำบัดกับพยาบาล เราเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยคุณแม่อยู่ใกล้ๆ เพราะเราคิดว่ายังไงเราเป็นคนใกล้ชิดน่าจะคุยง่ายและยังได้ดูแลแม่ตลอดเวลา”

แนนรู้ว่าแม่มีขีดจำกัดในการพัฒนากล้ามเนื้อหรือความจำได้แค่ไหนโดยที่ไม่เหนื่อยและฝืนร่างกายจนเกินไป ความคาดหวังที่อยากเห็นคุณแม่กลับมาเป็นปกติกลายมาเป็นพลังให้เธอคิดบวก เพื่อเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมกัน

คุณหมออธิบายเพิ่มว่า ยิ่งการฟื้นฟูร่างกายได้คนใกล้ชิดมาช่วยเหลือ ทำให้ผู้ป่วยจะมี แรงจูงใจที่จะฝึกหรือรับการพัฒนาอยู่เสมอโดยใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสายใยของครอบครัวมาช่วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน หากสามารถทำได้การฟื้นฟูและเยียวยาก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

“สิ่งต้องระวังสำหรับคนดูแล คือ เรื่องการบาลานซ์ความรู้สึก โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่หลงลืมหรือสับสน บางทีลูกจะหงุดหงิดพ่อแม่ที่สับสน คุยกันไม่รู้เรื่อง ขัดใจระหว่างกัน จะยิ่งทำให้การฟื้นฟูแย่เข้าไปใหญ่ แต่หากลูกมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่หรือผู้ป่วย การฟื้นฟูจะดีขึ้นอีกหลายเด้ง

“ไม่ใช่ไปบังคับพ่อแม่ว่า พูดสิ หรือเค้นคอถามคนนี้ใคร บังคับให้ต้องพูดเพื่อจะได้กลับมาปกติ หากเป็นเช่นนี้ คนดูแลก็เครียด เพราะคนไข้ทำไม่ได้สักที คนไข้ยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่ เมื่อพูดผิดก็ทำให้ใจห่อเหี่ยว เซ็ง มีจิตใจด้านลบ รู้สึกอยากทำให้ได้แต่ไม่สามารถทำได้ อาจนำมาสู่โรคซึมเศร้าได้

“เราต้องเข้าใจคนที่เป็นสโตรก เขามีความรู้สึกกังวลและสูญเสียในใจแล้ว แต่ที่จะเป็นหนักเพราะ หลายๆ ปัจจัย เช่น เขาไม่เห็นทางที่จะดีขึ้น คนชอบบ่นว่าคนไข้ทำไมไม่ทำนั่นนี่ เป็นคุณจะเซ็งไหมละ คุณจะถอดใจไหม หน้าที่เราต้องเล็งดูดีๆ ว่าสิ่งที่เราฝึกคนไข้ เขาทำได้ไหม หรือขีดจำกัดอยู่ประมาณไหน จะได้ไม่เสียเปล่า ที่สำคัญคือดูแลกันอย่างอ่อนโยนเหมือนที่คุณแม่ดูแลเราตอนเด็กๆ ใจดีกับแม่เหมือนที่แม่ดูแลเรา

“อีกข้อต้องคำนึงเลยว่าไม่สามารถบีบเค้นในสิ่งที่เขาไม่มีมาให้เราได้ แต่หากเปลี่ยนเป็นการเข้าไปหา แล้วไปกระตุ้นด้านบวก ให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่มีอยู่ให้ทำงานเรื่อยๆ อาการก็จะดีขึ้น ได้ความสุขทั้งผู้คุยและผู้ป่วย

“การปฏิสัมพันธ์เชิงอารมณ์ที่ดี ส่งยิ้มจ้องตา ส่งอารมณ์และแชร์ความรู้สึกที่ดีระหว่างกัน แม้ว่าบางคนไม่สามารถขยับร่างกายได้แต่สมองส่วนอารมณ์ยังรับรู้อยู่ ส่วนอารมณ์ก็ทำงานร่วมกับสมองส่วนคิดที่เหลืออยู่ ยิ่งทำงานปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือผู้ป่วย ยิ่งพูดคุยแสดงออกทางอารมณ์ ยิ่งทำให้สมองทำงานมากขึ้นก็ฟื้นฟูได้ดีขึ้นเช่นกัน”

แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการคิดบวกอยู่เสมอ อย่างเช่นคุณแนนที่ใช้พลังบวกมาเป็นแรงผลักดันให้สามารถผ่านช่วงที่เหนื่อย ทั้งแรงกายและแรงใจที่เธอหว่านลงไปกับการดูแลและฟื้นฟูคุณแม่ กำลังออกดอกผล ให้คุณแม่ของเธอเริ่มแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และใกล้กลับสู่ปกติดังเดิม

Credits

Authors

  • อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี

    Authorนัก(หัด)เขียน รอนแรมจากเมืองปลายทะเลสู่การศึกษาริมยอดดอย และติดอยู่ในเมืองหลวง หลงใหลในหลากหลายสิ่ง ตั้งแต่รากเหง้ายันมนุษย์อวกาศ ยิ่งมีคาเฟอีนซ่าๆ พร้อมบทสนทนาดีๆ คงเป็นวันที่ดีอีกวันหนึ่งในชีวิต

  • สุกฤตา ณ เชียงใหม่

    Author & Drawรับบทเป็นกราฟิกสาววัยเบญจเพส เป็นคนชอบศิลปะ จับปากกา แต่พอโตขึ้นมาเพิ่งจะรู้ว่าชอบเธอ ฮิ้ววว :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ