โกโก้ วัลเล่ย์เป็นรีสอร์ตที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางขุนเขาและธรรมชาติในอำเภอปัว จังหวัดน่าน
ที่นี่นอกจากจะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแล้วยังเป็นสวรรค์ของคนรักโกโก้และช็อกโกแลต ขนมต่างๆ เครื่องดื่ม รวมทั้งของฝากมากมายของที่นี่ล้วนแล้วแต่มีโกโก้เป็นพระเอกทั้งสิ้น
จากพนักงานที่ทำงานในบริษัทที่มั่นคง มีเงินเดือนกว่า 300,000 บาท ใช้ชีวิตหรูหรา ซื้อของแบรนด์เนมไม่ขาดมือ วันหนึ่ง มนูญ ทนะวัง เลือกที่จะกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิด โดยที่ชายวัย 40 ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเริ่มต้นทำอะไร
หลังจากค้นหาตัวเองอยู่นาน มนูญเลือกที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเป็นเกษตรกรปลูกโกโก้
ใช่…คุณฟังไม่ผิดหรอก โกโก้ของหวานสีน้ำตาลเข้มที่ใครหลายคนชอบกินกันนี่แหละ
เพราะเหตุใดมนูญจึงเลือกที่จะปลูกโกโก้ ทั้งๆ ที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในบ้านเรามีให้ปลูกเป็นพันเป็นหมื่นชนิด ที่สำคัญนี่ไม่ใช่การปลูกเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวเองและครอบครัวเท่านั้น
เพราะท้ายที่สุดแล้วโกโก้ได้นำพาเขาไปค้นพบความหมายของชีวิต
วันที่กลับบ้าน
ฐานะทางบ้านในวัยเด็กของ มนูญ ทนะวัง อยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางยากจน พ่อแม่ของเขามีอาชีพเป็นเกษตรกร ปลูกผักจำพวกแตงกวา ผักกาด กะหล่ำปลี ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ทำนาไปด้วยในช่วงหน้าฝน มนูญเกิดและเติบโตที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน ด้วยความที่อยู่ท่ามกลางภูเขามาทั้งชีวิต โตขึ้นเมื่อเรียนจบเขาจึงเลือกไปทำงานในจังหวัดที่ติดทะเล โดยหลังจากจบการศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มนูญก็ได้ทำได้งานในบริษัทต่างชาติ ทำธุรกิจแท่นขุดเจาะน้ำมันที่จังหวัดระยอง ด้วยความที่ได้หัวหน้างานดี ทำให้ชายหนุ่มเติบโตในสายงานของเขาอย่างรวดเร็ว ยิ่งเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ เงินเดือนที่ได้รับก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ชีวิตของเขาในเวลานั้นดูจะแตกต่างจากตอนเป็นเด็กอย่างสิ้นเชิง
“เงินเดือนของเราสตาร์ตที่ 3 หมื่นกว่าบาท เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ มันก็เพิ่มขึ้น เราทำงานด้านนี้อยู่ประมาณ 16 ปี มีเปลี่ยนบริษัทบ้าง แต่ก็ยังเป็นบริษัทต่างชาติอยู่ เขาก็จ่ายเงินค่าจ้างเราเต็มที่ตามประสบการณ์ เงินเดือนล่าสุดที่เราได้รับตกอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท ซึ่งเราก็ใช้เงินทุกบาททุกสตางค์เต็มที่ ทั้งกิน เที่ยว ซื้อของแบรนด์เนม เราเคยซื้อกระเป๋าใบละเกือบ 100,000 บาท ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อทดแทนชีวิตที่ยากจนในวัยเด็ก
“ตอนนั้นเรามีความเชื่อว่าการใช้ชีวิตแบบนี้คือชีวิตที่มีความสุข ทำงานให้ได้เงินเยอะๆ แล้วก็จับจ่ายใช้เที่ยว กิน ซื้อของแบรนด์เนมราคาแพงๆ ถึงเวลาก็ทำงาน ได้เงินมาแล้วก็ใช้เติมเต็มให้ชีวิตอีก วนไปวนมาอยู่แบบนี้ กระทั่งวันหนึ่งเราเริ่มรู้สึกว่าไอ้ความสุขที่เราเคยรู้สึก มันเริ่มหายไป ไม่เหมือนเดิม”
มนูญเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความหมายของชีวิตที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ คนเราเกิดมาเพื่อที่จะหาเงินให้ได้มากๆใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย แล้วก็แก่ตายไปอย่างนั้นหรือ สิ่งที่เป็นอยู่คือความสุขของชีวิตจริงๆ ใช่ไหม หากว่ามันคือความสุขที่แท้จริง เหตุใดเขาจึงไม่มีความรู้สึกเช่นนั้นเลย ทั้งๆ ที่ชีวิตก็มีครบพร้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการงานที่มั่นคง เงินทองให้ใช้สอยไม่ขาดมือ ทรัพย์สิน บ้าน รถ ไปจนถึงการยอมรับนับถือจากเพื่อนร่วมงาน
“คำถามในใจมันเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็ยังหาคำตอบไม่ได้ รู้แต่ว่าที่เราเป็นอยู่ตอนนี้มันไม่มีความสุขแล้ว เราเริ่มหมดไฟในการทำงาน แล้วก็มีความรู้สึกอยากกลับบ้าน เรารอคอยวันหยุดยาวเพื่อจะได้กลับบ้าน ซึ่งเวลาได้กลับไปเรารู้สึกได้ว่ามันมีความสุข
“สุดท้ายเราไปปรึกษาภรรยา ภรรยาเลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นเรากลับบ้านกันดีกว่า”
หลังจากตัดสินใจว่าจะกลับบ้าน มนูญก็ลาออกจากงานที่ให้ความมั่นคงกับชีวิต
“จำได้ว่าวันที่ลาออก ทางบริษัทยื่นข้อเสนอให้เรามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่จะเติบโตทางการงาน ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการจะให้ไปทำงานกับบริษัทที่อเมริกา แต่เราไม่ได้สนใจ เราบอกเขาว่าเราอยากกลับบ้าน”
แม้จะยังไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไรต่อ แต่มนูญรู้ว่าเขาไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมที่เคยเป็นมาได้อีก ชายหนุ่มเก็บสิ่งทุกอย่างขึ้นรถ ก่อนพาภรรยาและลูกทั้งสอง
กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านเกิด
คนรักโกโก้
มนูญกลับมาเริ่มต้นชีวิตที่บ้านเกิดในปี 2557 ในขณะที่อายุได้ 33 ปี
“ตอนที่กลับมาเรายังไม่แน่ใจเลยว่าจะทำอะไร คิดว่าคงทำเกษตร เพราะเป็นสิ่งที่อยู่กับเราตั้งแต่เกิดแต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะปลูกอะไรดี คิดแต่เพียงว่าสิ่งที่เราปลูกจะต้องเป็นสิ่งที่แปรรูปและต่อยอดได้ ที่สำคัญต้องเป็นสิ่งที่เราชอบและเราสามารถที่จะอยู่กับมันได้จนตาย”
ในวัยเด็กมนูญเห็นความลำบากของพ่อและแม่ในการทำอาชีพเกษตรกร เนื่องจากเพาะปลูกพืชที่ไม่สามารถแปรรูปและนำไปต่อยอดได้ อีกทั้งไม่สามารถกำหนดราคาเองได้
เมื่อเริ่มกำหนดสเป็กคร่าวๆ ได้ว่า พืชที่ปลูกจะต้องเป็นสิ่งที่ชอบ รวมทั้งสามารถนำมาแปรรูปต่อยอดทางธุรกิจออกไปได้ มนูญจึงเริ่มกำหนดรายชื่อพืชที่คิดจะปลูกลงในกระดาษ
“เราเขียนรายชื่อพืชที่เราจะปลูกประมาณ 50 ชนิดลงไปในกระดาษ ก่อนจะค่อยๆ ตัดออกทีละชนิดจาก 50 เหลือ 30 เหลือ 20 เหลือ 10 เหลือ 5 กระทั่งสุดท้ายคำตอบที่ได้เหลือเพียงอย่างเดียว คือ โกโก้”
สมัยทำงาน เมื่อต้องกลับประเทศในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ เพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติมักเอาโกโก้มาฝากมนูญอยู่เสมอ เมื่อเขาได้ชิม ก็ถูกอกถูกใจในรสชาติของมันอย่างมาก นี่คือของหวานและเครื่องดื่มที่เขามักสั่งอยู่เสมอในทุกครั้งที่มีโอกาส
หลังจากตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะปลูกโกโก้ มนูญก็ค้นหาความรู้ โดยการติดต่อหาผู้เชี่ยวชาญด้านโกโก้จากทั่วทุกมุมโลก ก่อนลงทุนเดินทางบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนและศึกษาถึงที่
“เราเดินทางไปที่อเมริกา สวีเดน อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฯลฯ เพื่อศึกษาเรื่องโกโก้ สำหรับประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาจะเน้นในเรื่องเทคโนโลยีและเทคนิคการแปรรูป ขณะที่ทางแถบเอเชียจะได้ความรู้ในเรื่องคาแรคเตอร์ของโกโก้ที่มีความใกล้เคียงกันกับบ้านเรา”
ชายวัย 40 บอกว่าโกโก้นั้นเป็นผลไม้ที่ต้องการน้ำเยอะ ด้วยความที่อำเภอปัวที่อยู่เป็นแหล่งต้นน้ำพอดี จึงเหมาะสมเป็นอย่างมากที่จะปลูกโกโก้ ขณะเดียวกันหมอกและน้ำค้าง รวมทั้งแร่ธาตุในดินที่มีอยู่จำนวนมากก็ทำให้โกโก้ของมนูญที่ออกมานั้นมีรสชาติที่เข้มข้น หอมอร่อยไม่เหมือนใคร
“ผลโกโก้สดจริงๆ จะมีสีขาว แต่เมื่อเรานำไปหมักเขาจะทำปฏิกิริยาเคมีและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มอย่างที่พวกเราและคนส่วนใหญ่คุ้นเคย หลังจากหมักโกโก้จะมีความชื้น เราจะนำมาตากให้แห้ง ก่อนนำมาคั่วทำเป็นช็อกโกแลต แปรรูปเป็นขนม เครื่องดื่ม รวมทั้งของฝากต่างๆ
“โกโก้ของเรารสชาติจะค่อนข้างดีเนื่องจากเรามีทรัพยากรที่เหมาะกับการปลูกโกโก้อย่างมาก ทั้งแหล่งต้นน้ำที่สมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นอาหารหลัก ขณะเดียวกันก็มีหมอก น้ำค้าง แล้วก็แร่ธาตุในดินที่หลากหลายเป็นอาหารเสริมคอยบำรุงอยู่ตลอด เราเคยไปออกงาน คนต่างชาติได้ลองกินแล้วเขาตกใจมาก เขาบอกไม่เคยทานโกโก้ที่เข้มข้นและอร่อยแบบนี้ เขาเลยจะขอสั่งซื้อไปที่โรงแรมของเขาซึ่งถือเป็นโรงแรมหรูระดับ 1 – 5 ของโลก แต่ด้วยปริมาณที่มาก เราไม่สามารถผลิตได้ตามที่เขาต้องการจึงปฏิเสธไป”
แน่นอนว่าหากตกลงทำตามออเดอร์ที่โรงแรมระดับโลกต้องการ มนูญคงทำเงินได้เป็นจำนวนมากโข อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่สิ่งที่ชายวัย 40 อย่างเขาต้องการ โกโก้ของมนูญจึงมีขายแต่ในประเทศทางออนไลน์ และที่รีสอร์ตของเขาเท่านั้น
เจ้าของธุรกิจอย่างมนูญไม่ได้ต้องการผลกำไรมากมาย หากแต่ต้องการทำทุกอย่างตามกำลังที่มี ที่สำคัญเขายังต้องการให้ผู้คนในชุมชนค่อยๆ เติบโตไปด้วยกัน
โกโก้เพื่อชุมชน
หลังกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ความฝันของมนูญไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำธุรกิจให้อยู่รอดที่บ้านเกิด หากแต่เขาไม่ได้ต้องการที่จะอยู่รอดหรือเติบโตอยู่คนเดียว
“ถ้าเรามุ่งเน้นไปที่ยอดขาย ทำเพื่อหาเงินให้ได้มากที่สุดมันก็คงไม่ต่างอะไรจากเมื่อครั้งเราทำงานบริษัท แต่เราไม่ต้องการแบบนั้น เราอยากให้สิ่งที่เราทำอยู่มีส่วนในการช่วยเหลือคนในชุมชนด้วย โดยเฉพาะกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่เขาไม่มีอะไรทำอย่างน้อยถ้ามีช่องทางให้เขามีโอกาสสร้างรายได้ก็น่าจะดีกว่าการที่รอรับเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท แล้วก็อยู่เฉยๆ
“เราก็คิดอยู่สักพักว่าจะทำอย่างไร พอลองมองย้อนกลับไปก็เห็นว่าในกระบวนการแปรรูปโกโก้จะต้องนำโกโก้เข้าเครื่องจักรเพื่อเอาเปลือกออกให้เหลือแต่เนื้อ เราเลยเปลี่ยนจากการใช้เครื่องจักรมาใช้แรงงานคนแทน โดยการร่อนใส่กระด้งเพื่อให้เปลือกหลุดออกไป ซึ่งเราก็บอกกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนว่า หากใครสนใจก็ให้เข้ามาทำได้เลย จะมาเมื่อไหร่ วันไหนก็ได้หรืออยากทำอยากหยุดวันไหนก็ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคุณลุงคุณป้าเลย”
นอกจากเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านเกิดด้วยการร่อนโกโก้แล้ว มนูญยังแนะนำให้คุณลุงคุณป้าคุณตาคุณยายหันมาปลูกโกโก้กันอีกด้วย ซึ่งผลผลิตที่ออกมานั้นเขาก็เป็นผู้รับซื้อด้วยตัวเอง
“ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนเขาเดินเข้ามากอดเราเลย บอกว่าขอบคุณมากที่ทำให้เขามีรายได้เอาเงินให้ลูกให้หลาน จากที่เมื่อก่อนต้องขอเงินลูก ทุกวันนี้เขามีรายได้ดีขึ้น มีทางออกในชีวิตมากขึ้น ที่สำคัญคือเขาได้มีอะไรทำ ไม่ต้องนั่งเฉยๆ ให้เวลาผ่านไปวันๆ
“สำหรับเราสิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้เรามีความสุข แล้วก็อิ่มในใจมากๆ คุณลุงคุณป้าทำให้เรารู้สึกได้ว่าการที่เรากลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดในวันนี้มันไม่ใช่แค่อยู่ได้นะ แต่ยังสามารถทำประโยชน์และเชื่อมโยงไปถึงคนอื่นได้ด้วย
“เรารู้สึกว่าทุกเช้าที่ลืมตาตื่นขึ้นมาชีวิตมันมีพลังตลอดเวลา และคิดไม่ผิดจริงๆ ที่เลือกกลับบ้านแทนที่จะหาเงินอยู่ต่อไป”
โกโก้คือความสุขของชีวิต
มนูญ ทนะวัง ยอมรับว่าหากไม่เลือกกลับบ้านเกิดมาปลูกโกโก้ ตัวเขาเองคงจินตนาการไม่ออกเช่นกันว่าวันนี้จะเป็นอย่างไร
อาจจมปลักอยู่กับความทุกข์ ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไหนสักแห่ง หรืออาจทำงานเป็นเกษตรกรปลูกพืชอย่างอื่นแทน แต่ที่แน่ๆ เขาจะไม่มีทางมีความสุขเหมือนที่เป็นอยู่ในวันนี้
ชายวัย 40 ยังจำความรู้สึกในวันแรกที่กลับบ้านเกิดได้ดี มันเป็นวันที่หัวใจเขาเต็มไปด้วยความห่อเหี่ยวและหดหู่ แต่ในวันนี้ความรู้สึกดังกล่าวได้หายไปจนหมดสิ้นแล้ว
“มันเหมือนเรากลับมาเกิดใหม่อีกครั้งที่บ้านเกิด ตอนที่เรากลับมาบ้านใหม่ๆ มันหดหู่มากซึ่งเราไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตจะมีความสุขอย่างวันนี้ได้ ตอนนั้นมันมองไม่เห็นอนาคตเลย แต่โกโก้ก็ค่อยๆ พาเรามาถึงวันนี้ แล้วยังแล้วก็ยังหยิบยื่นโอกาสให้กับผู้คนในชุมชนอีก
“โกโก้ทำให้เรามีความสุข แล้วก็รู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย”
ทุกวันนี้มนูญมีกิจการเป็นรีสอร์ตเล็กๆ ขนาด 12 ห้องชื่อว่าโกโก้ วัลเล่ย์ ที่นี่มีโกโก้รสเยี่ยมที่เขาปลูกเอง รับซื้อเองและแปรรูปเอง ไว้คอยต้อนรับทุกคนที่มาเยือน
คงไม่เกินจริงหากจะบอกว่าที่นี่คือสวรรค์ของคนรักโกโก้
เช่นเดียวกับที่เป็นสวรรค์ของชายชื่อมนูญ ทนะวัง