เส้นทางใหม่ของ ‘มะห์มุด’ อดีตนักโทษสู่อาสากลุ่ม ‘เส้นด้าย’

แม้ว่าเส้นทางชีวิตในวัยรุ่นของ มะห์มุด – กมลรรค อนุสรณ์วีรชีวิน อาจไม่ได้สวยงาม เขาคืออดีตนักโทษคดียาเสพติดที่ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ยอมรับความผิดจึงลดโทษเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต เขาใช้เวลากว่า 15 ปี 11 เดือน ในแดนคุมขัง 4 เพื่อพิสูจน์ว่าเขาสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ แล้วโอกาสที่เขารอคอยก็มาถึง เขาได้ใช้ชีวิตอีกครั้งนอกรั้วเรือนจำและขอกลับใจ ให้อดีตที่เลวร้ายเป็นบทเรียนสู่การเป็นอาสาเข้าร่วมกับมูลนิธิเส้นด้ายเพื่อช่วยเหลือและขนส่งผู้ป่วยโควิด 19 ไปให้ถึงมือหมออย่างปลอดภัย

เริ่มชีวิตใหม่ กับ เส้นด้าย

“ผมเกิดและโตที่ชุมชนบ้านครัว สมัยก่อนสถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยคนชนชั้นรากหญ้าและยาเสพติด ซึ่งในวัยคึกคะนอง ผมหลงผิดกลายเป็นทั้งผู้ค้าและเสพอยู่หลายปี ผมทำงานอยู่ในความมืดมิดและมัวระเริงกับเม็ดเงินที่หอมหวานล่อตาล่อใจ สุดท้ายเวรกรรมก็ตามทัน ผมโดนจับและศาลสั่งพิพากษาตัดสินประหารชีวิต แต่ผมรับสารภาพจึงเหลือจำคุกตลอดชีวิตแทน วินาทีนั้นผมใจสลายคิดว่าชีวิตของผมจบลงแล้ว ภาพการทำผิดต่าง ๆ ย้อนเข้ามาในหัว ส่วนความรู้สึกผิดเข้าไปในหัวใจผมโดยตรง

“ในขณะที่ผมอยู่ภายในเรือนจำ ผมคิดมาตลอดว่าขอกลับใจไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดในอดีตอีกแล้ว ผมภาวนาถึงพระเจ้าทุกวันว่าขอโอกาสให้ผมได้ใช้ชีวิตนอกเรือนจำอีกครั้ง จนปาฏิหาริย์ที่ผมขอเกิดขึ้นจริง ผมได้รับการอภัยโทษ เมื่อออกมาข้างนอกทำงานอยู่หลายปีจนกระทั่งการแพร่ระบาดของโควิดเข้ามา

“ช่วงที่โควิด 19 เริ่มระบาดระลอกแรก แม่ของผมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนบ้านครัว เมื่อมีคนป่วยภายในชุมชนก็จะโทรหาแม่ของผม เพื่อให้แม่เข้าไปช่วยเหลือดูแลเบื้องต้นให้กับผู้ป่วย ซึ่งในชุมชนขณะนั้นมีผู้ป่วยมากกว่า 400 คน ผมเห็นแม่ทำงานหนักมาก ต้องดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ตั้งแต่เช้าจรดเย็น จนกระทั่งในคืนหนึ่งมีผู้ป่วยโทรมาหาแม่กลางดึก แม่ก็แต่งตัวกำลังจะออกไปหาคนไข้ ผมเลยบอกแม่ว่าไม่ต้องไปแล้ว เดี๋ยวผมทำเอง ตั้งแต่นั้นก็เริ่มเป็นอาสาสมัครภายในชุมชนบ้านครัว

“จนกระทั่งมีการเสียชีวิตรายแรกในพื้นที่บ้านครัว ทางสาธารณสุขประกาศให้กลายเป็นพื้นที่สีแดงเข้มทันที มีผู้ป่วยติดโควิด 19 เกือบทุกบ้าน ทางกลุ่มเส้นด้ายได้เข้ามาช่วยเหลือในพื้นที่เป็นกลุ่มแรก ๆ กลุ่มเส้นด้ายคืออาสาสมัครด่านหน้าที่เข้าไปหาผู้ป่วย ติดต่อหาสถานที่รักษาตามโรงพยาบาลที่ยังว่างและพาผู้ป่วยไปส่งถึงที่

“เส้นด้ายเกิดจากการรวมตัวกันของอาสาสมัครหลายคนจากหลากหลายอาชีพ ทุกคนทำด้วยหัวใจ แม้ว่าไม่ได้มีเม็ดเงินเป็นสิ่งตอบแทน แต่สิ่งที่ได้รับมาคือความสุขของหัวใจที่สามารถต่อชีวิตของใครได้อีกหลายคน ผมเห็นถึงสิ่งเหล่านี้ของกลุ่มเส้นด้ายจึงเลือกที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาสากลุ่มเส้นด้าย ทำให้ชีวิตใหม่ของผมก็เริ่มต้นที่เส้นด้าย”

ความหวังท่ามกลางวิกฤต

“ผมอยู่ภายใต้กลุ่มย่อยของเส้นด้าย หรือที่เราเรียกกันว่าทีมเหยี่ยว มีหน้าที่ในการเดินทางลงพื้นที่ออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยถึงที่บ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนแออัด โดยการทำงานของเราคือเมื่อได้รับแจ้งมาจากอาสาสมัครในพื้นที่ต่าง ๆ หรือใครก็ตามว่ามีผู้ป่วยโควิด พวกเราจะเดินทางไปหาถึงที่พักและประเมินคนไข้เบื้องต้นว่าอยู่ในระดับใด สีแดง คือวิกฤตต้องส่งโรงพยาบาลเร่งด่วน สีเหลือง คือเร่งหาโรงพยาบาลรองรับ ส่วนสีเขียว คืออาการของคนไข้อาจจะมีไข้เล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการของโรคเลย และเราก็จะดูว่ามีอุปกรณ์หรือสถานที่พร้อมจะรักษาและกักตัวที่บ้านได้หรือไม่ กลุ่มอาสาเส้นด้ายเดินทางไปดูแลและส่งผู้ป่วยโควิด ปฏิบัติงานทุกคืน ตั้งแต่ 2 ทุ่มจนถึงเช้า

“ความยากของการทำงานคือการติดต่อหาโรงพยาบาลที่ยังมีเตียงว่างให้กับผู้ป่วย เพราะอย่างที่หลายคนรู้ว่า ในช่วงที่โรคระบาดหนัก ๆ แทบจะไม่มีเตียงว่างทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม แต่เมื่อข่าวนำเสนอผู้มีอภิสิทธิ์กลับได้การดูแลและเตียงในการรักษาทันที ส่วนคนธรรมดาในชุมชนกลับไม่มีที่ว่างพอ พวกเรากลุ่มเส้นด้ายจึงเป็นเหมือนความหวังของคนธรรมดาที่ป่วยและต้องการหาสถานที่รักษา ตรงตามความหมายของชื่อกลุ่ม เส้นด้าย คือ ได้ที่รักษาโดยไม่ได้ใช้เส้น

“เจอผู้ป่วยหนักสุดที่เป็นผู้สูงอายุ ตาและยายอยู่กัน 2 คน ติดโควิด 19 ทั้งคู่และไม่มีใครดูแล ไม่มีแม้กระทั่งอาหารประทังชีวิต เราเข้าไปช่วยเหลือตรวจดูเบื้องต้นพบว่าร่างกายของผู้ป่วยไม่ไหวแล้ว ต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที คืนนั้นหากพวกผมไม่เข้าไปอาจเสียชีวิตที่บ้านได้เลย มีหลายครั้งเหมือนกันที่ผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล พวกผมทีมเหยี่ยวจึงตั้งปณิธานกับเพื่อน ๆ ว่า พวกเรากลุ่มเส้นด้ายจะไม่ยอมให้ใครต้องเสียชีวิตเพราะไม่มีสถานที่รักษาอีกต่อไป”

หัวใจคือสิ่งพิสูจน์ชีวิต

“จากวันแรกถึงวันนี้ก็ 1 ปีเต็มที่ทำงานกับกลุ่มอาสาเส้นด้าย มันเหมือนเวลาผ่านไปเร็วมาก ต่างจาก 10 ปี 11 เดือน ในเรือนจำ วันนี้หัวใจผมเข้มแข็งและพร้อมจะเดินหน้าเป็นเจ้าหน้าอาสาอย่างเต็มตัวของกลุ่มเส้นด้าย เราอยากใช้ชีวิตที่ 2 นี้อย่างคุ้มค่าเพราะรู้ว่าอดีตเราเคยทำสิ่งไม่ดีมาก่อน การที่เรามาทำอาสาก็เหมือนกับการปลดทุกข์ให้กับตัวเอง ได้ช่วยชีวิตเขาให้รอดจากสถานกาณ์ที่มืดแปดด้าน เช่น คนที่ติดโควิด 19 ไม่รู้จะไปทางไหน โทรไปหาโรงพยาบาลไหนก็ไม่มีใครรับ จะหายาได้อย่างไร พวกเราจะยื่นมือเข้าไปช่วยในสิ่งที่เราทำได้ สิ่งที่ผมทำตอนนี้เหมือนทางสว่างที่ทำให้รู้สึกเหมือนได้ต่อชีวิตที่ 2 กับใครอีกหลายคน เหมือนที่พระเจ้าได้ให้ชีวิตที่ 2 นอกเรือนจำแก่ผม

“เราอาสาทำความดีคงไม่ช่วยลดบาปที่เราเคยทำแต่อย่างน้อยก็ลดบาปในหัวใจเราให้เบาขึ้น นั่นคือสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดแล้วสำหรับอดีตนักโทษคนหนึ่ง

“ผมอยากพิสูจน์ให้หลายคนรู้ว่า มือคู่นี้ที่เคยทำเลว ได้เปลี่ยนเป็นมือที่พร้อมจะช่วยเหลือทุกคนให้ปลอดภัยจากวิกฤตโควิด และอยากให้สังคมเปิดโอกาสให้แก่คนที่อาจจะเคยเลือกเส้นทางเดินผิดพลาดในชีวิต ซึ่งไม่ต่างกับผม ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ในสังคม หากเปรียบประวัติที่ไม่ดีก็เหมือนร่างกายที่เห็นได้จากภายนอก แต่หัวใจ คือสิ่งที่พิสูจน์ทุกสิ่งว่าคนเราเปลี่ยนแปลงได้”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ