สร้างรายได้วัยเกษียณด้วยการเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์สูงวัย’ ผู้นำไลฟ์สไตล์ที่คนทุกวัยกดติดตาม

ภาพอาม่ากลุ่มใหญ่ใส่ชุดกี่เพ้าสีสดใส แต่งหน้าทำผมสวยงามจัดเต็ม สวมแว่นกันแดดเปรี้ยวจี๊ด เดินเฉิดฉายพร้อมเพรียงกันบนถนนในกรุงปักกิ่ง ไม่เพียงได้รับความความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้คนบนท้องถนน แต่วิดีโอสั้นความยาวเพียง 1 นาทีที่บันทึกเหตุการณ์นี้ยังถูกกระหน่ำส่งต่อ จนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์

พวกเธอคือ ‘Fashion Grannies’ กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์สูงวัยแห่งจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีสมาชิกถึง 23 คน ตลอดปีที่ผ่านมาพวกเธอสร้างรายได้หลังเกษียณเป็นกอบเป็นกำ จากการนำเสนอเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่างๆ ลงบนโซเชียลมีเดียที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก และไม่ใช่แค่ผู้สูงวัยด้วยกันเท่านั้น แต่พวกเธอโด่งดังในกลุ่มคนแทบทุกวัย

หรือในบ้านเรา ‘ป๋าตึก’ ผู้มาพร้อมลายสักอันเป็นเอกลักษณ์ เขาคืออินฟลูเอนเซอร์สายแฟชั่นวัย 68 ปี ความโดดเด่นในการมิกซ์แอนด์แมทช์เสื้อผ้าเป็นลุคเท่ๆ สไตล์ตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจในการแต่งตัวให้คนแทบทุกวัย ทำให้ป๋าตึกมีผู้ติดตามเกือบ 35,000 คนบนอินสตาแกรม

‘คุณยายจูลี่ มีสาระ’ ยูทูบเบอร์ผู้ส่งต่อเคล็ดลับสุขภาพและความงามให้คนวัยเดียวกัน ด้วยคอนเทนต์เป็นกันเองเหมือนนั่งจับเข่าคุยสไตล์เพื่อนสาว ส่งเสริมให้ทุกคนได้มั่นใจในความงามตามวัยตัวเอง ช่องของคุณยายจูลี่ มีสาระจึงมีผู้ติดตามมากกว่า 60,000 คน

ไปจนถึงยูทูบเบอร์สายอาหารอย่าง ‘ป้าปอมปอม’ อดีตแม่บ้านผู้ผันตัวมาเป็นยูทูบเบอร์วัยเกษียณเต็มตัว โดยนำฝีมือปลายจวัก มาสร้างสรรค์คอนเทนต์ทำอาหารหลากหลายรูปแบบ จนมีผู้ติดตามเหนียวแน่นกว่า 170,000 คน

ทุกวันนี้ เราเห็นการเกิดขึ้นของอินฟลูเอนเซอร์วัยเกษียณที่ล้วนมีความคิดสร้างสรรค์ และแนวทางในการทำคอนเทนต์โดดเด่นไม่แพ้คนรุ่นใหม่ นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่เพียงสะท้อนว่า อินฟลูเอนเซอร์สูงวัยกำลังเป็นที่น่าจับตามองในแง่การตลาด แต่ยังกลายเป็นผู้มีอิทธิพล ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดคอมมูนิตี้ที่เต็มไปด้วยคนหลายวัย ซึ่งชื่นชอบและมีไลฟ์สไตล์เดียวกัน

มนุษย์ต่างวัยจึงชวน   ยุ่น – กฤษณา ข่าเหล็ก   ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ให้ดังในโซเชียลผ่านอินฟลูเอนเซอร์ มาพูดคุยเพื่อถอดบทเรียนในการสร้างรายได้วัยเกษียณด้วยการเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์สูงวัย’ ว่าต้องทำอย่างไร รวมถึงดอกผลที่คนเจนเนอเรชันอื่นๆ ในสังคมจะได้รับ จากการผลิบานของปรากฏการณ์นี้

ผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุค

คำว่า อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) แปลว่าผู้มีอิทธิพล ในโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย คำๆ นี้จึงสื่อถึงคนหรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อผู้อื่น และไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเดินทางไปที่ไหน กินหรือใช้ผลิตภัณฑ์แบบใด ก็สามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้ติดตามเชื่อถือและทำตามได้

ยุ่นอธิบายว่า อินฟลูเอนเซอร์ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นนักแสดงหรือนักร้องมาก่อน หัวใจคือความโดดเด่นของเนื้อหาที่ทำให้คนอยากติดตาม โดยไม่จำกัดอยู่แค่ในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นยูทูบเบอร์ (Youtuber) บล็อกเกอร์ (Blocker) อินสตาแกรมเมอร์ (Instagrammer) หรือติ๊กตอกเกอร์ (TikToker) หากมีผู้ติดตามก็นับเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ทั้งสิ้น

จำนวนผู้ติดตาม คือตัวชี้วัด ‘อิทธิพล’ ที่อินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนมี โดยแบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ

o    นาโนอินฟลูเอนเซอร์ (Nano Influencer) ผู้ติดตาม 100 ถึง 10,000 คน

o    ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer) ผู้ติดตาม 10,001 ถึง 100,000 คน

o    มาโครอินฟลูเอนเซอร์ (Macro Influencer) ผู้ติดตาม 100,000 ถึง 1,000,000 คน

o    เมกะอินฟลูเอนเซอร์ (Mega Influencer) ผู้ติดตาม 1,000,000 ถึง 10,000,000 คน

กลุ่มอาม่า Fashion Grannies ที่มีผู้ติดตามบนติ๊กตอกกว่า 500,000 คน นับเป็นมาโครอินฟลูเอนเซอร์ ในขณะที่โจน แมคโดนัลด์ (Joan MacDonald) คุณตาผู้แชร์ไลฟ์ไตล์การออกกำลังกายในวัย 70 กว่าเพื่อรักษาสุขภาพ ถือเป็นเมกะอินฟลูเอนเซอร์ ด้วยยอดผู้ติดตามบนอินสตาแกรมถึง 1.5 ล้านคน

เริ่มต้นอย่างไร ในวันสูงวัย

เบื้องหลังการเกิดขึ้นของอินฟลูเอนเซอร์สูงวัย บ้างก็ต้องพึ่งพาลูกหลานให้ช่วยใช้เครื่องไม้เครื่องมือไฮเทคเช่นการถ่ายวิดีโอด้วยกล้อง หรือการตัดต่อให้ดูมีสีสันดึงดูดกลุ่มผู้ติดตามให้มากขึ้น แม้แต่แนวทางการสร้างสรรค์สไตล์การเล่าเรื่องก็เช่นกัน เหมือนกับ เก้า – วรเกียรติ นิ่มมาก ที่สร้างเพจเฟซบุ๊กเพื่อเล่าเรื่องราวความน่ารักของตาแก้วและยายเสริม ในชื่อว่า “ตายายสอนหลาน”

แต่สำหรับผู้สูงอายุบางคนอย่างคุณยายจูลี่ หรือป้าปอมปอมที่ ลงมือสร้างเส้นทางด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ก็เลือกที่จะเริ่มลงมือเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ด้วยตนเอง

“ถ้ามัวแต่กลัวความตายและกังวลกับอายุอยู่ตลอด ชีวิตเราจะกลายเป็นสีเทา” หลิน เว่ย (Lin Wei) หนึ่งในสมาชิก Fashion Grannies วัย 64 ปีกล่าวขณะแต่งหน้า เธอบอกว่าเรื่องอายุเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่มีใครฝืนมันได้ นอกจากต้องเผชิญหน้ากับมัน และโอบรับเอาไว้ด้วยความยินดี

ทัศนคติแหลมคมที่ผ่านการบ่มเพาะจนสุกงอม ทำให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์สูงวัยมัดใจแฟนๆ ได้ด้วยการส่งต่อแนวคิดไปสู่คนรุ่นใหม่ ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับคนในวัยเดียวกันแม้อายุจะมากขึ้น และสร้างสีสันให้กับโลกออนไลน์ได้ไม่แพ้กับอินฟลูเอนเซอร์วัยลูกหลาน

แบบไหนเรียกว่าคอนเทนต์ที่ใช่

แน่นอนว่าไม่ใช่ผู้สูงวัยทุกคนต้องออกมาแต่งหน้าแต่งตัว หรือจะต้องเป็นอินฟลูเอนเซอร์เท่านั้น แต่ปรากฏการณ์นี้ก็ช่วยให้ผู้สูงวัยหลายคนลุกขึ้นมาเพิ่มเติมความมีชีวิตชีวาให้กับบั้นปลายชีวิต และกล้าที่จะทำอะไรๆ โดยไม่มีอายุเป็นกำแพง

ไลฟ์สไตล์ของผู้สูงวัยสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคอนเทนต์ที่สร้างความแตกต่างได้ เพราะชีวิตของแต่ละช่วงวัยก็มีอะไรน่าสนใจไม่เหมือนกัน เช่น วิถีชีวิตการกินอาหารโบราณ หรือการดูแลตัวเองในช่วงวัยเกษียณ แต่หัวใจสำคัญคือ ต้องเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทุกวัน หรือเป็นกิจวัตรที่เราทำอยู่แล้วเป็นปกติ แล้วสิ่งนั้นจะค่อยๆ ออกมาให้เห็นเองว่าเราถนัดสิ่งไหน หรือทำอะไรได้ดี หากเรารักการออกกำลังกาย ชอบวิ่งอยู่แล้วก็สามารถกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายสปอร์ตได้

เช่นเดียวกับป้าปอมปอม ที่ได้แรงบันดาลในการเริ่มทำคลิปของตัวเองจากหลาน จนกลับมาสังเกตชีวิตประจำวันของตัวเอง แล้วพบว่า ตัวเองเข้าครัวทุกวันอยู่แล้วและไม่เกี่ยงที่จะลองเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เช่นการศึกษาการถ่ายทำการทำอาหารของตัวเอง จึงเริ่มลงมืออัดคลิปวิดีโอทุกครั้งที่ทำกับข้าว โดยไม่ได้คิดถึงรายได้ หวังเพียงอยากได้เพื่อนใหม่กลับมาจากการทำช่องยูทูบบ้าง แล้วเธอก็ค่อยๆ พัฒนาฝีมือการทำคลิปมาเรื่อยๆ จนมีผู้ติดตามมากขึ้น

ในฐานะที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็เท่ากับว่ามีสปอตไลต์ส่องมาที่เรา ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะมีคนติดตามและจับจ้องอยู่เสมอ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ต้องเจอแน่นอน ฉะนั้นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์สูงวัยก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือคอมเมนต์หรือฟีดแบ็กที่คาดไม่ถึงไว้ด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างป้าปอมปอมเองก็เลี่ยงไม่ได้กับคอมเมนต์ที่หลากหลาย แต่เธอก็เลือกที่เก็บคำชมเอาไว้เป็นกำลังใจ และหยิบข้อแนะนำมาปรับปรุงเนื้อหาในการนำเสนอ รวมถึงเทคนิคในการถ่ายทำด้วย เพราะเธอเลือกแล้วที่จะเดินทางสายอินฟลูเอนเซอร์ในด้านที่ถนัด สิ่งที่ต้องไม่ขาดเลยก็คือ การหมั่นหาความรู้ในเรื่องที่ทำและฝึกมือให้บ่อย โดยที่ยังไม่ต้องคำนึงถึงเป้าหมายก็ได้

กลุ่มเป้าหมายของวัยเกษียณ

แม้จะไม่มีสูตรตายตัวในการหากลุ่มเป้าหมาย แต่การหาคนที่จะมาเป็นลูกค้าของเราให้ได้ก่อนก็สำคัญ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นวัยเดียวกันเท่านั้น

กลุ่มแรกสุดเลยก็คงหนีไม่พ้นเพื่อนหรือคนที่รู้จัก ที่จะช่วยให้ต่อยอดออกไปได้อีกเรื่อยๆ หากเพิ่งเริ่มต้นอาจจะลองใช้วิธีหว่านไปก่อน แล้วค่อยดูว่าคนกลุ่มไหนสนใจสิ่งที่เราทำ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาเช่น อินฟลูเอนเซอร์บนติ๊กตอก (หรือที่เรียกว่าติ๊กตอกเกอร์) ชวนแม่มาทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องที่ผู้สูงวัยต้องเจอในชีวิต อย่างการถ่ายภาพของผู้สูงวัย ที่ได้รับความสนใจจนยอดฟอลโลเวอร์ก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด จากที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้ว่าคลิปประเภทนี้จะโดนใจผู้สูงวัยเหมือนกัน แต่กลับเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่เข้ามาเพิ่มยอดผู้ติดตาม

ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกังวลกับกลุ่มเป้าหมายนัก เพียงแค่ลองเปิดใจเรียนรู้และลงมือทำ กลุ่มเป้าหมายก็จะค่อยๆ มาให้เห็นเอง

คนแต่ละวัยก็เสพเนื้อหาไม่เหมือนกัน คอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมาแต่ละชิ้นก็สามารถจับกลุ่มคนดูได้หลายกลุ่มในคราวเดียว อย่างที่ป้าปอมปอมแชร์ประสบการณ์ให้ฟังไว้ว่า หากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็จะติดตามเพราะชื่นชอบในน้ำเสียงหรือสไตล์ของเธอ แต่ถ้าเป็นกลุ่มแม่บ้านก็จะเน้นไปที่สูตรอาหารมากกว่า

เพราะประสบการณ์ที่สั่งสมมานานกว่าคนรุ่นใหม่ ผู้สูงวัยจึงอาจจะมีเรื่องราวในชีวิตมากมายที่สามารถหยิบจับมานำเสนอได้หลากหลายมุมมอง ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่เหมือนกับคนอื่นก็ได้ ลองเลือกสิ่งที่เราชอบทำไปก่อน สุดท้ายก็จะมีคนที่อินในเรื่องราวของเราเข้ามาหาเอง

สร้างรายได้จากอาชีพอินฟลูเอนเซอร์

การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในยุคของโซเชียลมีเดีย ทำให้เหล่าลุงป้าวัยเกษียณยังคงมีรายได้ อย่างทีมอาม่า Fashion Grandmas ที่ขายสินค้าได้ถึง 200 ชิ้นเพียงแค่เริ่มไลฟ์ไม่ถึง 1 นาที

เพราะชาวเบบี้บูมเมอร์เป็นกลุ่มที่ใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียเฉลี่ยสัปดาห์ละ 15 ชั่วโมง คนส่วนใหญ่ในวัยนี้เชื่อว่า โลกออนไลน์ช่วยให้ชีวิตดีและสดใสมากขึ้น นอกจากจะใช้เวลาเยอะแล้ว พวกเขาก็ยังใช้จ่ายเยอะกว่าเจนมิลเลนเนียลอีกด้วย

รายได้ที่มาจากการเป็นอินฟลูเอนเซอร์อาจไม่มาให้เห็นในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อทำไปสักระยะจนมี “แมวมอง” แล้ว รายได้ก็จะค่อยๆ มาให้เห็นเองในรูปแบบของการทำงาน โดยจะแบ่งตามลักษณะของงาน คือ ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวด้วยการเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์สินค้า ที่ทางแบรนด์จะติดต่อมาทางเอเจนซี่เพื่อให้ช่วยหาอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมกับการโปรโมตแบรนด์นั้นๆ ได้เหมาะสม โดยจะพิจารณาจากผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์คนนั้นเป็นหลักว่า เป็นกลุ่มลูกค้าแบบไหน สินค้าแบบไหนที่ดูเข้ากัน เช่น เพจเกี่ยวกับฟัน สินค้าที่เหมาะสมก็อาจจะเป็นยาสีฟัน เป็นต้น

อัตราของรายได้แต่ละสินค้าก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับยอดผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์ มีตั้งแต่หลักพันจนไปถึงหลักแสน ยิ่งมีผู้ติดตามมากรายได้ก็จะยิ่งมากตามไปด้วย

ความอดทนอดสู้ของป้าปอมปอมในการสร้างคอนเทนต์ให้ทันสมัย รวมถึงเทคนิคการใช้เทคโนโลยีในการถ่ายทำให้ถูกใจผู้ชม ก็ส่งผลให้วันหนึ่งเธอมีรายได้เข้ามาเป็นประจำทุกเดือน เพียงพอสำหรับการเป็นเงินเก็บส่วนตัวได้สบายๆ

Youtube VS TikTok ช่องทางไหนเหมาะกับเรา

หากมองในแง่การตลาด กลุ่มผู้สูงวัยเป็นผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูงทั้งในเรื่องกำลังซื้อที่มากขึ้น และสังคมสูงวัยที่กำลังขยายขอบเขต ทำให้คนวัยลุงป้า ไปจนถึงวัยตายายสามารถผันตัวมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ สร้างคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์เพื่อกระตุ้นแรงจูงใจทางการบริโภคให้คนวัยเดียวและต่างวัยได้

คำถามคือ ช่องทางไหนเหมาะจะเป็นช่องทางของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์วัยเกษียณที่สุด เพราะแต่ละแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ ติ๊กตอก หรือทวิตเตอร์ ต่างก็มีกลุ่มผู้ใช้งานหลากหลายแตกต่างกัน

ก่อนหน้านี้อินสตาแกรมเคยถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของวัยรุ่น แต่ผลสำรวจล่าสุดกลับพบว่า สัดส่วนบัญชีอินสตาแกรมมีผู้ใช้งานอายุมากกว่า 50 ปีโลดแล่นอยู่ในนั้นถึงร้อยละ 14 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เติบโตมาจากสองปีที่แล้วจากร้อยละ 8 ทีเดียว แม้แต่แพลตฟอร์มที่ดูเป็นสังคมคนรุ่นใหม่อย่างติ๊กตอก ก็ยังมีกลุ่มผู้สูงวัยแฝงตัวอยู่ในนั้นเพียบ

เพราะแต่ละแพลตฟอร์มก็ถูกใช้ประโยชน์แตกต่างหลากหลาย หากจะตามกระแสก็ต้องเป็นติ๊กตอก ด้วยลักษณะของเนื้อหาที่เป็นวิดีโอขนาดสั้น (Short Video) ที่ได้รับความนิยมมากกว่า แต่สำหรับยูทูบ หัวใจสำคัญคือการทำคอนเทนต์ขนาดยาว สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่า สะดวกหรือชอบแบบไหนมากกว่ากัน และต้องทำได้ทุกวันด้วย

ยุ่นบอกว่า แพลตฟอร์มที่สร้างรายได้ได้รวดเร็วมากกว่าคือ ติ๊กตอก เพราะมีความทันสมัยและได้รับความสนใจมากกว่า ส่วนยูทูบจะมีผู้ชมที่ลดลงกว่าช่วงที่มีการใช้โซเชียลมีเดียยุคแรกๆ ที่มีตัวเลือกไม่มากนัก

สำหรับความถี่ของการสร้างคอนเทนต์ของติ๊กตอก สามารถทำได้ทุกวัน เพราะไม่ต้องเสียเวลามานั่งตัดต่อเองต่างหาก มีเครื่องมืออยู่ในแอปพลิเคชันเรียบร้อย เพียงแค่ถ่ายตัดต่อแล้วก็ลงได้ทันที แต่ช่องทางยูทูบอาจจะเป็น 2 วันหนึ่งคลิปก็ได้ สาเหตุมาจากสิ่งที่ต้องทำหลังบ้านมีรายละเอียดมากกว่า ตั้งแต่ถ่ายคลิป นั่งตัดต่อ ใช้เวลาอัปโหลด และเขียนแคปชันอีกต่างหาก แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับกำลังที่เราสามารถทำได้ด้วย

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ