จำโมเม้นต์นั้นได้ไหม? ภาพลุงเก็บผักสดๆ มาขาย หรือยายกับแผงวัตถุดิบในกาดชาวบ้าน บางครั้งเราซื้อเพราะอยากช่วยอุดหนุนแต่พอกลับบ้านก็กองไว้ในตู้เย็น ความลำบากของเกษตรกรกลายเป็นภาพจำในสายตาของหลายคน นั่นอาจถูกส่วนหนึ่ง แต่ภาพลักษณ์นี้ คงไม่ใช่สิ่งที่ชาวไร่ชาวสวนอยากขาย ความสุขที่คนกินคนใช้ลิ้มรสได้จากผลผลิตที่เค้าเฝ้าฟูมฟักมาตลอดชีวิตต่างหากที่ทำให้หัวใจพองโต
ตั้ม-นิพนธ์ พิลา อดีตหนุ่มแบงค์และดีไซเนอร์เสื้อผ้าผู้พลิกโฉมบ้านไร่ให้กลายเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าเกษตรดีไซน์ที่น่าจับตามอง หลังกลับไปใช้ชีวิตกับลุงป้าน้าอาชาวเกษตรสูงวัยที่บ้านเกิด ตั้มพบว่าเสน่ห์ของผลผลิต อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ล้วนเกิดจากความรักที่ใส่ลงไปในผักทุกใบ ไม่ต่างกับงานคราฟต์ที่ชาวบ้านตั้งใจทำ เลยเกิดไอเดียใหม่ให้ชาวบ้านพร้อมใจกันอัพเลเวลสินค้าเกษตรให้อร่อยและมีคุณภาพโดนใจคนกินทุกวัย มนุษย์ต่างวัยพามาปักหลักที่ Pila Farm Studio ที่ตั้มบอกกับเราว่า นอกจากดินดี น้ำดี อากาศดี ชุมชนดี การกลับบ้านครั้งนี้ยังทำให้เขาค้นพบครอบครัวใหม่ และเพื่อนร่วมงานต่างวัยที่ทำให้ความสุขและการเรียนรู้เกิดขึ้นทุกๆ วัน
เกษตรสนุกได้ ไม่ต้องขายดราม่า
ภาพชายหนุ่มเสื้อเชิ้ตพิมพ์ลายกับหมวกปีกกว้างยิ้มร่าท่ามกลางลุงป้าน้าที่ดูทรงแล้วคลับคลาจะเป็นเกษตรกร คือรูปภาพปกแฟนเพจ Pila Farm Studio พิลาฟาร์มสตูดิโอ แหล่งซ่องสุมผลิตผลการเกษตรและงานคราฟต์ดีไซน์เก๋แห่งเพชรบูรณ์ ความคอนทราสต์แต่ดูลงตัวนั้นชวนให้เราเลื่อนฟีดดูว่ากลุ่มคนเหล่านี้กำลังทำอะไร แล้วพอได้คุยกับตั้มก็ได้รู้ว่า Pila Farm Studio คือพื้นที่ทำงานร่วมกันของชุมชน โดยมีเกษตรกรสูงวัยเป็นนักผลิต และคนรุ่นใหม่เป็นนักการตลาด เพื่อส่งต่อรสชาติและคุณค่าที่แท้จริงของเกษตรเพชรบูรณ์
“ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าผักผลไม้บ้านเราอร่อยมาก ที่เห็นราคาแพงๆ อยู่ในห้างอย่างอโวคาโด เมล็ดโกโก้ อินทผลัม มะยงชิด เกษตรกรบ้านเราปลูกได้หมดรสชาติดีด้วย ผลไม้ฮิตพวกนี้แหละเป็นของขึ้นชื่อเพชรบูรณ์” ตั้มอวดสรรพคุณผลผลิตที่เปรียบเสมือนไข่ทองคำจากบ้านเกิด พอถูกส่งต่อไปขายในซูเปอร์มาร์เก็ตไฮเอนด์ ภาพลักษณ์เลอค่าก็มาพร้อมราคาที่สูงกว่าเดิมหลายเท่า แต่ตั้มเชื่อว่าทุกคนควรมีสิทธิได้ลิ้มลองของดีของอร่อย ดังนั้นจึงต้องทำให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้ทุกคน
“เราอยากให้คนรู้จักผักผลไม้ประจำถิ่นมากขึ้น เลยตั้งใจให้ภาพลักษณ์แบรนด์เป็นเรื่องสนุก ไม่ซีเรียส ตั้มเองเป็นทายาทเกษตรกร เกิดที่นี่แต่ไปเติบโตในเมือง เมื่อคนเมืองนึกถึงชาวสวนชาวไร่อาจติดภาพการถูกเอาเปรียบ ถูกกดราคาผลผลิต ซึ่งมันก็เป็นปัญหาจริง แต่นอกจากความทุกข์ยาก เรามองเห็นความสุข ความหวัง และความรักระหว่างการทำงานของพี่ป้าน้าอาเกษตรกร เลยคิดว่าเอาล่ะ เราจะนำเสนอความสุขของคนปลูกไปให้ถึงคนกิน เพราะเมื่อคนปลูกมีความสุขและรักในสิ่งที่ทำมันต้องส่งต่อพลังงานไปถึงปลายทางบ้างแหละ เราไม่ได้อยากให้ลูกค้าซื้อเพราะสงสาร แต่อยากให้เขาสะดุดตาเพราะความสวยน่ากินน่าใช้และคุณภาพ จนอยากซื้อจริงๆ นี่คือโจทย์ของเรา” นอกจากอยากให้คนกินได้อินกับของดีเพชรบูรณ์ ลึกๆ แล้วตั้มก็อยากให้เกษตรกรในพื้นที่พัฒนาผลผลิตให้ดีขึ้นและมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม เลยตัดสินใจว่าจะทำแบรนด์นี้ขึ้นมา โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม
สร้างความไว้ใจ ด้วยการเอาชนะตัวเอง
ตั้มเล่าว่า การหายไป 20 ปี จะกลับมาเปลี่ยนแปลงบ้านเกิด ภาพฮีโร่สุดเท่อาจผุดขึ้นในหัวของคนที่ได้ฟัง แต่ในความเป็นจริงไม่ง่ายขนาดนั้น ทั้งประสบการณ์ด้านเกษตรอันน้อยนิด ความสัมพันธ์ที่เหินห่างจากชุมชน คนรุ่นเดียวกันก็ย้ายเข้าไปทำงานในเมืองหมด เหลือแต่ลุงๆ ป้าๆ ที่ยังมุ่งมั่นทำการเกษตร
ใครได้ติดตามทางเพจคงได้เห็นบรรยากาศการทำงานสนุกๆ ของลุงๆ ป้าๆ ตัวละครเกษตรที่ตั้มชวนแปลงร่างด้วยชุดสูทปักมือแล้วถ่ายรูปพรีเซนต์สินค้า เขียงไม้มะขามลายสวยที่มักถูกดีไซเนอร์เลือกไปเป็นพร็อพแต่งอาหาร หรือจัดดอกไม้ แท้จริงก็เป็นฝีมือลุงอุดมศักดิ์ที่ครั้งหนึ่งเคยขายเขียงอยู่ตามตลาดนัดจนมาพบกับตั้ม ทำให้ได้เห็นว่าแท้จริงแล้วงานของตัวเองนั้นมีคุณค่าแค่ไหน หรือจะเป็นหอมแดงแห่งรักจากฝีมือน้าอาวาสกับน้าคำปุ่น นักปลูกคู่ชีวิตเคียงบ่าเคียงไหล่สู้วิกฤติเพื่อส่งต่อหอมแดงใหญ่ สดใหม่ ไร้สารไปสู่ครัวเรือน และยังมีข้าวเหนียวดำ (ลืมผัว) ของแม่เปียร์ที่อาศัยน้ำค้างยอดหญ้าช่วยให้ข้าวหอมกรุ่นจนลืมผัว กว่าจะมาเป็นสินค้าแต่ละชิ้น ไม่ง่ายเลยสำหรับนักปั้นแบรนด์เกษตรมือใหม่อย่างตั้มที่ต้องคลุกวงใน และได้รับความเชื่อมั่นจากเกษตรกรมืออาชีพ
“ตอนแรกเราอยากเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดีขึ้น แต่มันเปลี่ยนไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว มีทั้งเด็กเล็กทั้งผู้ใหญ่ คนสูงวัย การสื่อสารของเราจึงต้องเปลี่ยนไป ช่วงแรกก็พยายามทำตัวกลมกลืน ทำให้เขาเอ็นดูเห็นเราเป็นลูกเป็นหลาน แต่กว่าจะทำให้เขาเชื่อใจไม่ใช่ง่าย เพราะเราเองแทบไม่มีประสบการณ์ด้านเกษตร ช่วงแรกไปบอกให้เขาเลิกใช้สารเคมี เขาถามกลับว่าถ้าไม่ใช้สารเคมีจะให้ใช้อะไร? แล้วมันดีกว่ายังไง? เราก็ตอบได้ไม่ชัดเจนต้องไปเรียนรู้ใหม่
“ขนาดขายไอเดียให้พ่อแม่เราฟังไม่รู้กี่รอบ เขาก็ไม่ซื้อ เพราะไม่เชื่อใจ ตอนนั้นเลยรู้ว่าแค่พูด แค่คิดยังไม่พอ เราต้องทำให้คนอื่นเห็นก่อน ให้เขายอมรับและเชื่อว่าเราตั้งใจจริง ดังนั้นถ้าใครอยากเปลี่ยนแปลงอะไรให้เริ่มเปลี่ยนที่ตัวเราก่อน อย่างช่วงแรกลงพื้นที่แหลกเลยเพื่อค้นต้นตอของปัญหา เจอปัญหาทุกรูปแบบแล้วก็พยายามแก้ไขให้ได้ พิสูจน์ให้เขาเห็นว่ามันมีโอกาสรออยู่ เมื่อนั้นแหละอะไรๆ ก็ง่ายขึ้น”
จะคนรุ่นใหม่หรือสูงวัยก็มีแพสชัน
อีกสิ่งที่ทำให้การกลับบ้านของตั้มเป็นเรื่องสนุก คือได้ปลุกแพสชันเกษตรกรสูงวัย “มันเหมือนเรามาเปลี่ยนสายงานให้ลุงๆ ป้าๆ ท้าทายขึ้น คิดดูว่าทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ มาหลายสิบปีมันก็มีเบื่อบ้างแหละแต่ไม่รู้จะไปทิศทางไหน ช่วงแรกเราถึงคุยกับเขาเยอะ เพิ่มความมั่นใจว่าถ้าช่วยกันเดี๋ยวสักวันก็สำเร็จ คอยเอาความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากลูกค้ามาเล่าให้ฟังว่ามีคนชอบแล้วกลับมาซื้อซ้ำ แถมบอกต่อๆ กัน บางครั้งขายดีเราก็ซื้อในราคาที่สูงขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจให้เขา ตอนหลังลุงๆ ป้าๆ ไอเดียกระฉูด เดี๋ยวป้าปลูกกล้วยแบบนี้ได้มั้ย ขอปลูกชะอมหน่อยนะ เลี้ยงไก่ไข่ด้วย เราเห็นประกายในแววตาเค้า รู้เลยว่าแพสชันกลับมาแล้ว ยิ่งได้มีส่วนร่วมในการโปรโมตยิ่งสนุกกันใหญ่ บางคนบอกรอบนี้ดีแล้วแต่ฉันทำได้ดีกว่านี้อีก!! พอมาอีกทีของดีขึ้นจริงๆ แบบนี้แหละที่เราต้องการ”
ถึงแม้แต่ละวันจะเต็มไปด้วยเรื่องสนุกแต่ว่าหนทางไม่ได้โรยด้วยกุหลาบ ตั้มยอมรับว่าเคยท้อแต่ไม่เคยคิดถอยเพราะคนรอบข้าง
“ด้วยความที่เรามาทางสายอาร์ตเต็มๆ แต่ต้องไปทำความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรใหม่ทั้งหมด ทั้งเหนื่อยทั้งท้อ แต่พอหันไปดูรอบข้าง โอ้โห ชาวบ้านลำบากกว่าเราเต็มไปหมดบางครั้งรายได้เป็นศูนย์ แล้วเกือบทุกครอบครัวลูกหลานไปหางานทำในเมืองหมด เกษตรกรสูงวัยส่วนใหญ่เหงาอยู่กันเอง มองย้อนกลับมาที่เรา เรายังได้กินข้าวกับพ่อแม่พร้อมหน้า ไหนจะบางคนที่มีปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมี เราเอามุมนี้มาเป็นแรงผลักให้เราสู้ เปลี่ยนมุมมองว่า มันคือการเรียนรู้ใหม่ๆ ไม่กดดันและลองให้เวลากับตัวเอง ถ้าเราทำได้ก็อาจเป็นตัวอย่างเล็กๆ ให้ลูกหลานเกษตรกรเห็นโอกาสในการกลับมาพัฒนาบ้าน มาอยู่กับครอบครัว”
ผลัดกันกด ผลัดกันดัน แล้วมันจะพัฒนา
เมื่อเราถามว่าการตั้งเป้าให้ชุมชนรอดไปด้วยกันมันกดดันกว่ารอดคนเดียวมั้ย “เราเองก็กดดันที่ผู้คนคาดหวังว่าเราจะช่วยสร้างตลาดให้เขาได้ แต่พอกดดันมาเราขออนุญาตกดดันกลับ เพราะถ้าอยากให้ขายได้ ของต้องดีขึ้นเรื่อยๆ เราจะมองทิศทางการขายแล้วตั้งโจทย์ให้กับลุงๆ ป้าๆ รอบหน้าขอหัวหอมใหญ่กว่านี้นะ กะหล่ำปลีขอสวยหน่อยเอาหวานๆ เวลาสินค้าขายไม่ได้เขาจะมาหาเราเพราะเห็นเราเป็นที่พึ่ง แต่ความจริงเราช่วยกัน เราจะถามระยะเวลาของการปลูกผักตั้งแต่เริ่มต้นจนได้ผลผลิตว่าใช้เวลาเท่าไหร่ ฝึกให้เขาวางแผนเพื่อขาย ให้ช่วยคิดว่าอีก 3 เดือนจะปลูกอะไรดี ป้าจะปลูกอะไรตามใจตัวเองไม่ได้นะ ต้องคุยกันก่อน เราคุยสนุกเฮฮาแต่เอาจริง มันเป็นกลยุทธ์ในการวางแผนการตลาดของเราด้วย อย่างแต่ก่อนจู่ๆ ชาวบ้านก็ขนหอมแดงมา 500 กิโลให้เราช่วยขาย รอบนี้ยอมให้ แต่รอบหน้าต้องปรึกษากันก่อน เพราะต้องวางแผนโปรโมตล่วงหน้ากัน 3 เดือน 6 เดือน แต่ก่อนเราต้องขับรถตระเวนไปถามชาวบ้าน เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว ใครอยากปลูกอะไรวิ่งมาหาเรา สบายไม่เหนื่อย มาอัปเดตกันว่าช่วงนี้ลูกค้าอยากได้อะไร มันไม่เหมือนการทำธุรกิจตัวคนเดียวแล้ว มองตัวเองเป็นศูนย์กลางไม่ได้ มันต้องไปด้วยกัน”
เกษตรกรรุ่นใหม่ ในวัยเกษียณ
นอกจากเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าไปทำงานในเมืองแล้วคิดอยากกลับบ้าน ตั้มเล่าให้ฟังว่ากลุ่มวัยเกษียณหลายคนอยากเริ่มต้นใหม่ในฐานะเกษตรกร “คนที่กำลังจะเกษียณสนใจเรื่องเกษตรเยอะมาก ผู้สูงวัยยุคนี้ไม่ได้อยากอยู่บ้านเฉยๆ อีกต่อไป เขายังอยากทำอะไรที่มันกระชุ่มกระชวย ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ พอมาเจอแบรนด์เรามันเปลี่ยนภาพลักษณ์เกษตรที่คุ้นเคย มันสนุกสดใสขึ้น แต่ยังได้ใกล้ชิดธรรมชาติเลยมีไอเดียอยากมาคิดค้นร่วมกัน พี่ๆ ส่วนใหญ่ทำงานมาตลอดชีวิต เขาวางแผนเรื่องการเงินกันมาแล้วแต่อยากหาอะไรสนุกๆ ทำ เช่น อยากขายของ ปลูกผัก อยากทำอาหารโฮมเมด เหมือนเขายังมีความเป็นวัยรุ่นในหัวใจ ยิ่งตอนนี้คนแข็งแรงเพราะดูแลตัวเองดีมาก พลังงานชีวิตล้นเหลือ” คงจะจริงอย่างที่ตั้มว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างมีโครงการสนับสนุนให้มองหาอาชีพเสริมหลังวัยเกษียณ ไม่ว่าจะต่อยอดจากความรู้เดิมที่มีมานาน หรือมองหาความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะนอกจากจะได้มิตรภาพ ได้ฝึกสมองขยับร่างกายแล้ว พวกเขาจะรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม
“เราจะคุยกับเขาก่อนว่าสนุกกับอะไรอินเรื่องไหนพิเศษ กลุ่มนี้องค์ความรู้เยอะแต่บางทีอาจไม่ได้ลงมือทำ ตอนนี้เป็นจังหวะดีที่ได้ทดลอง หลายคนตั้งใจมาแลกเปลี่ยนพลังงานกันในกลุ่ม หลายคนอยากทำแบรนด์เล็กๆ ของตัวเอง อยากลิ้มรสความภูมิใจที่ได้สร้างมันขึ้นมากับมือ ทีมช่วยให้เขาออกไอเดียสินค้าที่อยากขายไปจนถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ เราก็ใช้ประสบการณ์ความรู้ด้านนี้ที่พอมีช่วยสนับสนุนเขา เราว่าการตลาดที่ดีต้องซื้อใจลูกค้าปลายทางได้เลย สื่อสารได้ตรงจุด ทำให้ลูกค้าอยากควักเงินมาซื้อสินค้าได้ทันที บางครั้งอาจเริ่มจากการแก้ปัญหา เช่น คนทั่วไปอยากกินปลาสลิดแต่ขี้เกียจแกะก้าง ก็เอามาพัฒนาเป็นสินค้าปลาสลิดไร้ก้างทานได้ทันที ดึงมาเป็นจุดขายของแบรนด์ ยิ่งคิดยิ่งสนุก เลยเถิดไปจนอยากจะขุดบ่อปลากัน”
เพราะการทำงานคือคุณค่า ส่วนความชิลล์ความช้าเอาไว้ทีหลัง
“คำว่าสโลว์มันช้าไป กลับมาอยู่บ้านไม่สโลว์นะเราแค่ไม่เสียเวลาไปกับกิจกรรมที่ไม่ได้อยากทำ เลยเหมือนมีเวลามากขึ้น” นอกจากกิจวัตรประจำวันที่ตั้มยืนยันว่าไม่มีเวลาสโลว์ ชีวิตของผู้สูงวัยในชุมชนก็ห่างไกลคำนี้อยู่เหมือนกัน
“ตั้งแต่เรากลับบ้านพ่อแม่ยุ่งขึ้นทำงานเยอะขึ้น เมื่อก่อนโพล้เพล้มาเขาก็ชิลล์กันแล้ว เรากลับไปนี่คือไปสร้างงานให้เขา กลับกลายเป็นว่ามีกำลังวังชามากขึ้นกว่าเดิม บรรยากาศแถวบ้านจะเปลี่ยนไป เพิ่งเคยเห็นผู้สูงอายุต่างจังหวัดทำงานยุ่งก็ที่บ้านตัวเองนี่แหละ ต้องตื่นเช้ามาทำอาหาร ให้อาหารไก่ เป็ด ม้า นก ไปทำสวน แล้วต้องมาช่วยกันวางแผนการปลูกอีก แม้จะยุ่งทั้งวันแต่เรากลับรู้สึกได้ว่าเขาเห็นคุณค่าในตัวเองชัดขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเวลาได้เห็นผลิตภัณฑ์จากสิ่งที่ปลูก อย่างหอมแดง ข้าวเหนียว ข้าวสาร พอเราเอามาสร้างแบรนด์ใหม่เขายิ่งภูมิใจที่ลูกหลานทำให้ เราเห็นเขายิ้ม เราก็ยิ้มตาม เห็นว่าเขายุ่ง เราก็ขำ วันนี้แม่ยุ่งอ่ะ ดีจัง ปรกติเราเคยมีทัศนคติที่ไม่อยากให้พ่อแม่ทำงานหนัก เราอยากส่งเงินไปให้เขาใช้สบายๆ ให้เขาอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำงานเดี๋ยวลำบากเดี๋ยวเหนื่อย แต่พอกลับไปปรากฏว่าเราดันสร้างงานให้เขาซะเอง (ขำ) ซึ่งผลลัพธ์ดีเกินคาด ร่างกายแข็งแรง ความคิด จิตใจดีมาก เราเองที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ถ้าพ่อแม่ยังดูแลตัวเองได้”
PILA FARM STUDIO แลนมาร์คเกษตรแห่งใหม่ที่ไม่หยุดก้าว
อีกไม่นานหลายคนคงได้มาสูดกลิ่นเทียนหอมอโรมาใบยาสูบ ลิ้มรสมะขามแสบเล็กแสบใหญ่ถึงหน้าฟาร์ม ช้อปปิ้งหอมแดงแห่งรัก พริกสายพันธุ์ซุปเปอร์ฮอต และข้าวเหนียวลืมผัวของเด็ดประจำสำนัก PILA FARM STUDIO ที่ตั้มและชาวบ้านกำลังปลุกปั้น ช่องทางปล่อยสินค้าเกษตรแฟ(ชั่น) ที่เพชรบูรณ์
ได้ฟังที่ตั้มเล่า เราก็เชียร์เพราะอยากให้มันไปได้ไกล ซึ่งดูแล้ว ก็อาจจะไปได้ไกลกว่าที่เขาคิดก็ได้
“ตั้งเป้าไว้ว่าส่วนของการตลาดปีแรกเราจะทำเองทั้งหมด เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ไม่ถนัด ในด้านผลิตภัณฑ์การเกษตรก็อยู่ตัวเพราะทุกคนเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว ที่เหลือก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ตอนนี้กำลังก้าวสู่ปีที่สองตั้งใจว่าจะเริ่มมองหาเด็กในชุมชนมาช่วยกัน เขาจะได้มองเห็นโอกาสและอยากพัฒนาชุมชนต่อ ทีนี้ในพื้นที่เราก็จะมีคนทุกรุ่น ทั้งเด็ก วัยรุ่น และสูงวัย เราอยากชวนลูกค้ามาเที่ยว มาเห็นพื้นที่จริงว่าเราปลูกกันยังไง มาเห็นของที่เขากิน คาดว่า PILA FARM STUDIO จะเปิดให้เข้าชมช่วงสิงหาคม ซึ่งจะมีทั้งแหล่งเรียนรู้ พื้นที่ทำเวิร์คช้อปโดยวิทยากรก็เป็นเกษตรกรของเรานี่แหละ มี Farmer Market ตลาดผักที่เราร่วมกับทีม Young Smart Farmer ลูกหลานเกษตรเพชรบูรณ์ นี่ก็เป็นกลุ่มคนที่น่ารักมีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน ช่วยกันปรับปรุงการเกษตรบ้านเรา เราอยากให้พื้นที่นี้เป็นเหมือนสตูดิโอกลางให้ผู้เยี่ยมชมกับเกษตรกรของเราส่งต่อพลังงานให้กัน”
“แล้วพออยู่ตัวเราอยากทำชุมชนให้เป็นหมู่บ้านออร์แกนิค ชวนให้คนมาพักเพื่อรู้จักกันให้มากขึ้น มีฟาร์มสเตย์เป็นบ้านพัก 4 หลังที่ชาวบ้านดูแลโดยเราช่วยสนับสนุนอีกที เรารู้ว่าจุดแข็งของเพชรบูรณ์คือ ดินดี อากาศดี น้ำดี เหมาะกับทำเกษตร เลยอยากให้ที่นี่เป็นแลนด์มาร์คเกษตรอินทรีย์และแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน ถ้ามันเกิดขึ้นจริงคงถ่ายทอดโมเดลนี้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ที่สนใจได้อีกเยอะ”
Basic Happiness ความสุขที่หาได้ริมทาง
คำถามถึงความสุข เป็นคำถามแรกที่ตั้มถามตัวเองตอนตัดสินใจกลับบ้าน และลุงป้าน้าอานักปลูกนี่แหละที่ทำให้ความสุขของตั้มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ “ขอเรียกมันว่า Basic Happiness คือความสุขเรียบง่ายใกล้ตัว เราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากผู้คนรอบข้างเรา ทำไมป้าถึงอยากตื่นมารดน้ำผักทุกเช้า ทำไมคุณลุงไม่กลัวร้อนออกไปทำงานกลางแดดแล้วยังหัวเราะร่า นี่แหละความสุขที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน เราพบว่าไม่อยากวิ่งไล่หาความสุขที่ซับซ้อนอีกต่อไป ไม่ได้อยากไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่ได้อยากกินอาหารหรูๆ กลับแฮปปี้กับการกินข้าวฝีมือแม่ ได้เอาเท้าลุยโคลน ได้ลงสวน อยู่กับครอบครัว และได้ทำเพื่อคนอื่นบ้าง ตรงนี้มันคือความสุขที่เราเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน เป็นความสุขที่ทำให้เราอยากอยู่กับมันตลอดไป”
ขอบคุณภาพจาก Pila Farm Studio