“เกษตรกรชั้นอนุบาล” ชีวิตเฟสใหม่ของ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา ในวัย 48 ปี อาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่วางแผนการเกษียณไว้ล่วงหน้าถึง 10 ปี

“พอได้มาทำตรงนี้เรากลับมาคิดเล่นๆ ว่า หรืออาชีพที่ผ่านมามันผิด (หัวเราะ) เราเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่เขาจะต้องคิดคำนวณถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่ใช่หรือ แต่การมาทำเกษตรอยู่ตรงนี้ มันค่อนข้างจะหลุดไปเลย แล้วประเด็นคือเราทำแล้วเรามีความสุขด้วย…”

ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา เรียนปริญญา ตรี โท และเอก ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น อาจารย์ใช้เวลาอยู่ที่นั่นนานเกือบ 13 ปี หลังจากนั้นได้ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย มาเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ในรั้วจามจุรี (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) รวมถึงรับตำแหน่งระดับชาติอีกหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านสังคมสูงวัย จนกระทั่งปี 2559 อ.วรเวศม์ก็ก้าวขึ้นรับตำแหน่งในการบริหารเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ บริหารงานอยู่หนึ่งวาระ (ปี พ.ศ. 2559 – 2563 ) ก่อนที่จะลงจากตำแหน่งกลับมาทำหน้าที่เดิมคืออาจารย์และนักวิชาการ

ตลอด 2 ปีที่โควิด 19 ระบาด ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนทั้งประเทศเปลี่ยนไป นักเศรษฐศาสตร์จาก จุฬาฯ คนนี้ก็เช่นกัน

“เมื่อต้องสอนหนังสืออยู่บ้านนานเกือบ 2 ปี มีเวลามากขึ้นจากการสอนออนไลน์ ไม่ต้องเดินทาง การประชุมที่เคยมีมากก็ลดลง ตอนนั้นผมเริ่มท่องโลกออนไลน์หาข้อมูลไปเรื่อยๆ เกี่ยวกับการทำเกษตรในรูปแบบต่างๆ จนมาคิดถึงการมีที่ดินเป็นของตัวเอง จากนั้นไม่นานผมเลยตัดสินใจออกหาที่ดินสักผืนที่เราจะใช้เป็นพื้นที่ลงมือทำจริง เมื่อเวลาว่างบวกความอยากลอง เลยเกิดเป็นพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา”

อ. วรเวศม์บอกว่า ที่ดินผืนนี้น่าจะเป็นพื้นที่ทดลองและเป็นการเรียนรู้ครั้งใหม่ในฐานะเกษตรกรมือใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่ชั้นอนุบาลเลยก็ว่าได้ และไม่แน่ว่าที่นี่อาจจะเป็นการวางแผนการเกษียณสำหรับด็อกเตอร์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่วางแผนไว้ล่วงหน้าถึง 10 ปี ก็เป็นไปได้ และต่อไปนี้ก็คือบทเรียนบทใหม่อันแสนท้าทายที่กำลังเริ่มต้นขึ้น

ชีวิตเฟส 3 ในฐานะเกษตรกรมือใหม่

“ถ้าจะนับว่าชีวิตผมเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ผมคิดว่าน่าจะแบ่งออกเป็น 3 ครั้งใหญ่ๆ ครั้งแรกคือการได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับมัธยม จากนักเรียนหัวเกรียนอายุ 18 ปี ที่ครอบครัวเป็นข้าราชการธรรมดาๆ สามารถสอบชิงทุนไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยตนเองได้สำเร็จ แล้วก็ไปใช้ชีวิตที่นั่นยาวนานมาก เรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ต่อปริญญาโท จนจบปริญญาเอก แล้วก็ยังคงทำงานเป็นอาจารย์ต่อที่มหาวิทยาลัยโอซาก้าอีก รวมแล้วก็เกือบ 13 ปี จนเพื่อนร่วมงานถึงกับแซวว่าผมจะกลับไปอยู่ไทยได้เหรอ (หัวเราะ)

“วันที่มีงานเลี้ยงอำลา ผมยังจำได้ว่าโปรเฟสเซอร์ที่เป็นคนดูแลผมมาตลอดถึงกับร้องไห้ เพราะผมอยู่ที่นั่นยาวนานและผูกพันกันมากจริงๆ แล้วผมอยู่ที่นั่นก็ค่อนข้างมั่นคง มีรายได้ที่ดี แต่ที่ผมตัดสินใจเลือกกลับมาสอนที่ประเทศไทย ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า… ผมอยากกลับมาทำประโยชน์ให้บ้านเรา นั่นคงจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สองของชีวิตผม พอกลับมาเมืองไทยก็มาเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา จนถึงวันนี้ก็เกือบ 20 ปีแล้ว”

จากอาจารย์มหาวิทยาลัย อ.วรเวศม์ ก้าวขึ้นสู่งานด้านบริหาร ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีที่อายุน้อย จนกระทั่งวันนี้เขาบอกว่าจุดเปลี่ยนที่ 3 ในชีวิตกำลังเริ่มต้นขึ้น และน่าจะแปลกที่สุดเพราะเป็นการเริ่มต้นมาเป็นเกษตรกรมือใหม่ ซึ่งเขาค้นพบว่า นี่คือความชอบอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากงานวิชาการที่ต้องอยู่กับข้อมูล ตำรา หนังสือ และงานวิจัยในกระดาษ

“สารภาพเลยว่าแม้จะทำงานวิชาการด้านสังคมสูงวัย แต่ตอนนั้นผมยังไม่ได้คิดเรื่องการวางแผนเกษียณเลย พอลงจากตำแหน่งคณบดีก็เป็นช่วงเดียวกับที่โควิดกำลังระบาดพอดี มันอาจจะเป็นจังหวะชีวิตหรืออาจเป็นธรรมชาติของคนที่อายุเท่านี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน ที่ส่วนใหญ่มักคิดถึงการมองหาที่ดินสักผืนเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณ ตอนนั้นก็หาข้อมูลไปเรื่อยๆ ว่าจะเป็นจังหวัดไหนดี… แล้วก็มาสรุปที่ ทุ่งดินดำ ต.บ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เพราะว่าไม่ไกลกรุงเทพฯ มาก สามารถเดินทางมาในวันเสาร์-อาทิตย์ได้ แค่ไม่กี่ชั่วโมง ที่สำคัญเลยคือเป็นราคาที่เราสามารถจ่ายไหว ผมดูที่ที่สวยกว่านี้ อากาศดีกว่านี้ไว้ แต่ราคาสูงมาก แม้เราจะสามารถจ่ายไหว แต่มันก็ไม่คุ้มกับภาระที่เราต้องแบกรับอยู่ดี ผมจึงตกลงซื้อที่นี่”

ถึงผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่ครั้งนี้ผมไม่ได้ใช้หัวใจของนักเศรษฐศาสตร์ตัดสินใจ

“จริงๆ แล้วถ้ามองมุมนักเศรษฐศาสตร์ การเอาเงินมาซื้อที่ดินทำเกษตรโดยไม่หวังผลกำไรเลย ก็อาจจะไม่ค่อยถูกต้องเท่าไร เพราะถ้าเราเอาไปเงินนี้ไปซื้อหุ้นหรือลงทุนอื่นๆ แน่นอนว่ามีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่ครั้งนี้ผมไม่ได้ตัดสินใจด้วยสายตาของนักเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว แต่มันคือตัวผมที่ยังมีกิเลสอยู่ (หัวเราะ) ผมคุยกับตัวเองว่าเราเต็มใจจะมีมันไหม และเมื่อมีแล้วเราอยากทำอะไรกับมัน ถ้าในความรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่เรื่องของเงินอย่างเดียว แต่มันรวมไปถึงเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรด้วย ว่าเราจะสามารถจัดการอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ซึ่งแน่นอนพอคิดได้อย่างนี้แล้วผมก็ตัดสินใจทำทันที”

“ถามว่าทำไมต้องเป็น จ.สุพรรณบุรี ด้วยหลักที่ผมใช้ตัดสินใจอย่างแรกเลยคือ ราคาซื้อได้ ไม่แพงเกินตัว เป็นราคาที่ผมสามารถจัดการได้ ตัวเลือกจากจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ ก็มีอ่างทอง นครนายก เพชรบุรี เราก็ลองหาข้อมูลแต่ละที่ จนมาเจอว่า จ.สุพรรณ มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่นา ที่ไร่ พื้นที่ยังไม่ได้ถูกพัฒนาเท่าไรทำให้ราคาจะถูกกว่าที่อื่น และไม่ต้องซื้อแปลงใหญ่มาก ทำให้ในงบที่ผมมีผมสามารถซื้อที่ได้ถึง 3 ไร่ แถมการเดินทางจากกรุงเทพฯ-สุพรรณก็ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ก็ถึงแล้ว หลังจากหาอยู่นานผิดหวังจากที่ดินดีๆ หลายหน จนผมได้มาเจอที่นี่ ผมมายืนดูจากมุมไกลๆ เพราะเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ไม่ได้ เนื่องจากฝนเพิ่งหยุดตก ทางเดินจะลำบาก แต่ตอนที่ไปถึงพื้นที่ตรงนั้นหมอกลงและพระอาทิตย์กำลังขึ้นพอดี เป็นบรรยากาศที่ดีมาก มองไปรอบๆ เห็นว่ามีคลองอยู่ด้วย ผมเลยตัดสินใจตกลงซื้อเลยนาทีนั้น หรือเรียกอีกอย่างว่าเจ้าที่เขาเลือกเราด้วย (หัวเราะ)

“แหล่งที่มาของเงินที่มาทำตรงนี้ ผมสามารถแบ่งปันเป็นประสบการณ์ได้

“ส่วนที่นำมาซื้อที่ดินจริงๆ ผมกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ของที่ทำงาน โดยเอาหุ้นเป็นเงินค้ำประกัน ซึ่งผมจะผ่อนรายเดือนไปเรื่อยๆ จนเลิกทำงาน เพราะลองคำนวณจากเงินเดือนของเราแล้วก็ถือว่าไม่เป็นภาระมากนัก เหมือนเป็นการสร้างสภาพบังคับขึ้นมาให้ตัวเอง แปลงเงินออม (เงินผ่อน) เป็นที่ดิน ในตอนนี้เราสามารถลองผิดลองถูกบนพื้นฐานของเงินเดือนได้ ผมรู้สึกว่าทำตอนนี้ถ้าล้มเราก็จะล้มในขณะที่ยังมีเงินเดือนอยู่

ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่ ขุดสระ ขุดคลอง ล้อมรั้ว สร้างบ้าน ทำสวน ผมใช้เงินจากหลายแหล่ง ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่เตรียมไว้สำหรับไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัว ที่ทุกๆ ปี เราจะไปกันปีละครั้ง แต่พอไม่มีโควิด ไปไหนไม่ได้ ก็เอาเงินตรงนั้นมาใช้จ่ายส่วนนี้

“อีกส่วนก็คือ LTF (กองทุนรวมระยะยาว) ที่ถึงกำหนดขายคืนได้ ที่ผ่านมาผมลงทุน LTF เพื่อการลดหย่อนภาษี เราก็แบ่งเงินนั้นมาใช้ตรงนี้ด้วยส่วนหนึ่ง แทนที่จะใช้หลังเกษียณผมก็ขายคืนโยกมาใช้ในช่วงการเตรียมตัวเกษียณแทน นอกนั้นก็จะมีเบี้ยเลี้ยงจากการไปทำงานต่างประเทศ ที่พอไปทุกครั้งผมจะแปลงเงินนั้นเป็นสกุลเงินของประเทศที่ไปเลย แล้วพอใช้ไม่หมด ก็หยอดกระปุกเก็บไว้ในรูปแบบของสกุลเงินต่างๆ พอเก็บไว้นานๆ เข้ารวมกันแล้วก็เป็นเงินออมจำนวนหนึ่งเลย เรียกได้ว่าการทำตรงนี้คือการย้ายเงินออมของผมที่มีอยู่แต่ละรูปแบบมาลงทุนนั่นเอง

จากด็อกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์สู่เกษตรกรชั้นอนุบาล ที่หลงใหลกระบวนการ มากกว่าการมีสูตรสำเร็จ

“ต้องบอกก่อนว่าผมไม่มีความรู้ด้านการเกษตรเลย ความรู้ที่ได้มาก็มาจากการเรียนรู้ผ่าน YouTube จากครูด้านการเกษตรที่ลงมือทำมาก่อน พอดูและถอดบทเรียนแล้ว ผมก็เริ่มจากการสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ ใกล้ๆ ที่ดินเรามีคลองชลประทานห่างออกไปประมาณ 50 เมตรก็จริง แต่การสูบมาใช้นั้นก็ไม่ง่าย ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม และสำคัญคือต้องทำเป็นด้วย เลยตั้งใจว่าจะสร้างแหล่งน้ำใช้ภายในพื้นที่เอง เน้นการพึ่งพาตนเองเท่าที่จะทำได้

“ในพื้นที่ 3 ไร่ ผมพยายามกระจายน้ำให้มีทั่วพื้นที่ ทางตะวันตกผมทำเป็นสระใหญ่ กว้าง 20 เมตร ยาว 25 เมตร ลึกหลายระดับ และทางตะวันออกให้เป็นระบบบ่อทั้งทิศเหนือและใต้ โดยเชื่อมบ่อทั้งสองด้วยคลองยาว และให้มันวกมาเชื่อมกับสระด้วย ออกแบบให้ทั้งหมดเป็นระบบน้ำเดียวกัน ก่อนขุดสระผมก็หาข้อมูลอยู่เหมือนกันว่า ค่าใช้จ่ายจะมากน้อยแค่ไหน เท่าที่ค้นมาได้ก็จะมีทั้งแบบเหมาทั้งงาน และเหมาขุดคิดรายวัน กรณีของผมให้เขาคิดตามปริมาณที่ขุดตามจริงเลย ก็ตรงไปตรงมาดี และความโชคดีคือพอขุดสระไปที่ระดับลึกประมาณ 3 เมตร แจคพอตแตกเจอตาน้ำตรงนั้น ยิ่งดีใจเหมือนถูกหวยเข้าไปอีก”

“ส่วนของการปลูกต้นไม้ ผมปลูกไม้ป่า ไม้ผล ไม้ล้มลุก รอบพื้นที่และริมสระ เกือบ 200 ต้นแล้ว หวังให้อีก 10 ปีข้างหน้า มันจะช่วยสร้างความร่มเงาให้พื้นดินนี้ แล้วก็ส่วนที่เป็นผักสวนครัว ผมปลูกหลายอย่างมากปลูกโดยใช้หลักที่ว่าอะไรที่เราชอบ ที่เราอยากกิน ทั้งสวนครัวแบบไทยๆ หรือมันเทศแบบญี่ปุ่น ก็เอามาทดลองปลูกไปเรื่อยๆ เลย คำที่เขาชอบพูดกันว่าเหมือนมีซูเปอร์มาร์เก็ตหลังบ้านเนี้ยมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เลย

“พื้นที่เลี้ยงสัตว์ของผม ก็จะมีสระที่ไว้เลี้ยงปลา แล้วก็เล้าไก่ที่ปัจจุบันมีไก่ทั้งหมดเกือบ 10 ตัวแล้ว ผมทำเป็นกรงแบบปิดมีพื้นที่ส่วนทึบเพื่อหลบแดดหลบฝนไว้ออกไข่และนอน และมีพื้นที่เปิดโล่งให้เขาได้ใช้ชีวิตอิสระ แม่ไก่จะออกไข่เฉลี่ยประมาณวันละ 4-5 ฟอง ทุกอาทิตย์เราจะได้ไข่กลับมาทำอาหารที่บ้านที่กรุงเทพฯ ประมาณครึ่งแผง กับผักสดๆ รอบบ้าน ประหยัดค่าไข่ไก่ไปได้ยาวๆ เลย”

“แต่ละช่วงของชีวิตเราสนุกกับการลงมือทำแต่ละกระบวนการด้วยตนเอง ถูกผิดเราก็สนุกและเรียนรู้หาทางแก้ไข สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้กับการทำเกษตรเช่นกันครับ ทุกอย่างเกิดจากการศึกษา ค้นคว้า และลองผิดไปเรื่อยๆ จนเจอทางออกในที่สุด ผ่านไป 2 ปี ข้อมูลเกี่ยวกับการทำสวนนี้ ถูกรวบรวมไว้ในสมุดที่เขียนด้วยลายมือผมเอง รวมแล้ว 3 เล่ม แบบไม่พลาดไปสักขั้นตอนเลยจนพาตัวเองเข้าสู่อีกเฟสของชีวิตที่ค่อยๆ ทำแบบสบายมากขึ้น เพราะมีความรู้พื้นฐานบ้างแล้ว ในส่วนของงานประจำก็กลายเป็นว่าผมลดความคาดหวังลง ลดความเครียดจากงานลง เพราะได้ใช้ชีวิตที่ขับเคลื่อนต่อด้วยอย่างอื่นบ้าง”

อีกเฟสของชีวิต ที่ผลตอบแทนไม่ใช่เงินเสมอไป

“การมาลงทุนทำตรงนี้ ผลตอบแทนที่ได้มันไม่ใช่ตัวเงิน แต่ผมได้ธรรมชาติ ได้สุขภาพ ผมมาทำตรงนี้แค่ วันเสาร์-อาทิตย์ แต่น้ำหนักผมหายไปแล้ว 8 กิโลกรัม ผมกลายเป็นคนที่ระมัดระวังเรื่องอาหารมากขึ้น พละกำลังของผมก็เปลี่ยนไป จากครั้งแรกยังไม่มีระบบน้ำใช้ถังผูกเชือกเหวี่ยงลงไปแบบทุลักทุเล ขุดดินจนเป็นลมไปไม่รู้กี่รอบแล้ว แต่ ณ ตอนนี้ผมไม่เหนื่อยเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ทั้งๆ ที่ทำมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ที่สำคัญที่ผมชอบมากคือ ผมสามารถประเมินตัวเองได้ว่าเราไหวแค่ไหน ถ้าร้อนมากเราจะหยุดพัก รู้จักสังเกตตัวเองในทุกๆ ลมหายใจ แถมมีโอกาสได้กินข้าวฝีมือลูกๆ ที่เขาโชว์ฝีมือ เก็บวัตถุดิบในสวนมาทำ เราก็พลอยมีความสุขในช่วงเวลานั้นไปด้วย

“พอได้มาทำตรงนี้เรากลับมาคิดเล่นๆ ว่า หรืออาชีพที่ผ่านมามันผิด (หัวเราะ) เราเป็นนักเศรษฐศาสตร์มันต้องนึกถึงตัวเงินเป็นหลัก แต่การมาทำตรงนี้ มันค่อนข้างจะหลุดไปเลย แล้วประเด็นคือเราทำแล้วเรามีความสุขด้วย แต่ยังไงผมก็ยินดีกับทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามา อย่างน้อยๆ มันทำให้ผมรู้ล่วงหน้าก่อนจะเกษียณได้ถึง 10 ปี ว่าผมชอบอะไร ผมทำอะไรได้บ้างนอกจากงานวิชาการที่ทำมาทั้งชีวิต”

“พอมันเจอทางที่ใช่ของตัวเองแล้ว ผมรู้สึกเลยว่าเราจะสามารถวิ่งไปด้วยความเร็วต่อเนื่องได้เรื่อยๆ โดยไม่เหนื่อยมากเลย ผมสามารถประเมินได้เลยว่าผมสามารถอยู่กับมันได้ทั้งในตอนนี้ และในอนาคตด้วย”

วันหยุดสุดสัปดาห์ที่เปลี่ยนไป

“ผมเริ่มต้นตรงนี้แบบไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอะไรเลย ไม่มีอุปกรณ์ทำสวนจนมือแตก แต่ถึงอย่างนั้นที่ตรงนี้กลับทำให้วันหยุดสุดสัปดาห์ของผมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มันสนุกเหมือนผมกำลังการทำงานวิจัยชิ้นใหม่อยู่เลย มีทั้งความอยากรู้อยากลอง สนุกกับกระบวนการในแต่ละขั้นตอน ท้าทายโดยการมีโจทย์ให้เราแก้ทุกวัน ทำไมไก่ถึงตาย ทำไมปลูกแล้วไม่รอด ก็ค่อยๆ ศึกษากันไป เพราะผมมีเวลาทดลองอีกเยอะมาก พอทำไปเรื่อยๆ หลายอย่างค่อยๆ เริ่มชัดเจนขึ้น เช่น พึ่งเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ ที่เรียนมาตั้งแต่อดีต ที่เคยตั้งคำถามว่าวิชาพวกนี้จะเรียนไปทำไม วันนี้ผมหยิบมาใช้แทบทุกศาสตร์ ตั้งแต่หมอดูยันสูตรพีทาโกรัส ใครจะรู้ว่าการเป็นเกษตรกรมันจะต้องใช้ความรู้เยอะมากขนาดนี้ ใครที่กำลังคิดว่าเริ่มต้นทำตอนเกษียณก็ทัน ผมบอกเลยว่าไม่หมู

“แล้วสิ่งอัศจรรย์มากอีกอย่างคือ เพื่อนใหม่ นอกจากพี่ๆ หลายคนในพื้นที่แล้ว พอผมได้ลงมือทำแล้วลองเล่าเรื่องราวการเริ่มต้นของตนเองลงในสื่อโซเชียลมีเดีย ก็จะมีลูกศิษย์ที่ผมเคยสอนมานานหลายปีแล้ว เพื่อนอาจารย์ด้วยกัน หรือแม้แต่คนแปลกหน้า ก็เข้ามาถาม มาขอคำแนะนำจากเรา มันพาให้เราไปมีความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องวิชาการได้ เราคุยกันสนุกๆ ในเรื่องการทำเกษตร แล้วด้วยความที่เราเป็นอาจารย์เราก็ยิ่งยินดีที่จะเป็นแหล่งข้อมูล ที่เป็นประโยชน์กับทุกคนอย่างเต็มใจ”

“ที่ตรงนี้มันกลายเป็นอีกด้านของชีวิตที่สนุกสนานมาก แม้ในยามว่างมองไปพื้นที่โล่งๆ ในสวน แค่จินตนาการว่าอีก 10 ปี ข้างหน้า มันจะร่มรื่นขนาดไหน ผมก็ตื่นเต้นมากแล้วครับ”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ