คำสัญญาจากว่าที่ผู้ว่าฯ ถึงลุงป้า กทม. – เมื่อลุงป้าท้าว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ

“ถ้าใครในนี้ได้เป็นผู้ว่าฯ เขาสัญญากับลุงป้าว่าจะทำอะไร” นี่ไม่ใช่โพสต์หาเสียง หรือคุยเรื่องนโยบาย แต่เป็นโพสต์คำสัญญาจากว่าที่ผู้ว่าฯ ถึงลุงป้า กทม.

มนุษย์ต่างวัยทำแคมเปญนี้ขึ้นมา เพราะเชื่อมั่นในพลังของชาวสูงวัย ที่พร้อมจะออกไปใช้สิทธิเลือกคนที่ใช่ ! เพราะในจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,400,000 คน มีผู้สูงวัยอายุ 60+ ปี มากถึง 1,200,000 คน คิดเป็น 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในครั้งนี้

ส่งเสียงของเราให้ถึงเหล่าผู้สมัครฯ “22 พ.ค. 65 แสดงพลังสูงวัย เข้าคูหากาเบอร์ที่ใช่ !” 

ครูรัตน์-วิรัตน์ สมัครพงศ์ อายุ 70 ปี เกษตรกรออนไลน์ เจ้าของเพจ เกษียณแล้วทำไรดีวะ? By Krurat จากเขตจตุจักร

“ผมเป็นห่วงเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจของเหล่าสูงวัย นอกจากป่วยไข้ บางท่านก็มีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า ก็เลยอยากจะถามท่านว่าที่ผู้ว่าฯ นโยบายที่จะช่วยดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจให้กับผู้สูงวัย อย่างไรบ้างครับ”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 4 

“ในอนาคตผู้สูงอายุมากขึ้นทุกวัน คนดูแลอาจไม่พอ อยากจะทำ ‘กำไลชีวิต’ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้สูงอายุสามารถกดแจ้งเหตุ มีอาสาสมัคร สาธารณะสุขเข้าช่วยเหลือและดูแลได้ทันท่วงที ”

“การดูแลผู้สูงอายุ สำคัญที่สุดคือต้อง ชับไว ‘นโยบายอินเทอร์เน็ตฟรีทั่ว กทม. Wifi ฟรี 150,000 จุด’ สามารถเชื่อมโยงผู้สูงวัย เข้ากับโรงพยาบาลใกล้บ้าน ศูนย์อนามัยชุมชน ผ่านกำไลชีวิต ผู้สูงอายุกดแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ และสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว ก็จะรู้สึกปลอดภัย ลูกหลานไปทำงานแล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วง”

ป้าแดง-สุวัน แววพลอยงาม อายุ 64 ปี ผู้ริเริ่มกลุ่มฟื้นฟูศิลปะนางเลิ้ง นางเลิ้ง 100% จากเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

“นอกจากตลาดนางเลิ้ง เราอยากทำพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของผู้สูงอายุ เป็นตลาดสำหรับผู้สูงอายุได้มาค้าขาย พูดคุย เจอหน้า ได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน”

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 6

“กทม. เรามีศูนย์ฝึกอาชีพ ขนาดใหญ่อยู่ 11 ศูนย์ที่จะช่วยเสริมทักษะให้ผู้สูงอายุ มีหลักสูตรมากมายให้ผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไป ได้เลือกเรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ”

“กทม. เชิญผู้ประกอบการ มาร่วมออกแบบหลักสูตรสร้างงานของผู้สูงวัย ยกตัวอย่างโรงงานกิมเฮง ทำขนม ออกแบบหลักสูตรร่วมกันกับ กทม. ช่วยเสริมองค์ความรู้ให้กับผู้สูงวัย หลักสูตรเอกชนเป็นหลักสูตรระยะสั้น ใช้เวลา 1-3 เดือน เมื่อจบหลักสูตรก็รับผู้สูงอายุเข้าไปทำงานในโรงงานนั้น ๆ ด้วย”

“และยิ่งการแพทย์ในปัจจุบันดีขึ้น ทำให้คนอายุยืนขึ้น บางท่าน 60 ปี ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง เราก็เลยเริ่มต่ออายุเกษียณไปจนถึง 65 ปีในบางพื้นที่แล้ว”

ป้านุชอรนุช เลิศกุลดิลก อายุ 60 ปี จิตอาสาเพื่อผู้สูงวัย ผู้ก่อตั้ง โครงการเพื่อผู้สูงอายุ ForOldy ศูนย์เพลินวัย ผู้สูงวัยจากเขตคันนายาว

“หลายท่านมีนโยบายบำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท จริงจังแค่ไหน ให้ถ้วนหน้าหรือมีเกณฑ์กำหนดอย่างไร อยากถามท่านว่าที่ผู้ว่าฯ ค่ะ”

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 7

“กทม.ทำได้แน่นอน บำนาญประชาชน 3,000 บาท โดยจะเข้ามาเสริมในส่วนของรัฐบาลที่มีการให้เบี้ยสูงอายุ 600, 700, 800 บาท แต่เราจะไม่ได้ให้เป็นการถ้วนหน้าในครั้งแรก เราจะให้กับผู้สูงวัยที่ไม่มีรายได้ ไม่มีหลักประกัน ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่เราจะจัดสรรค์ให้ก่อน ใช้เงินเพียงปีละ 14,000 ล้านเท่านั้น”

“โดยเงินนั้นไม่ได้เอามาจากงบประมาณแผ่นดินอย่างเดียว เราสามารถนำงบประมาณในส่วนนี้จาก 3 ช่องทาง ได้แก่ 1 .ปรับรายจ่ายเป็นรายรับ เช่นโครงการกำจัดขยะ 700 ล้านบาทต่อปี 2 .หยุดการทุจริตรับเงินใต้โต๊ะ ลดงบประมาณลงได้ถึง 20% เป็นเงิน 9,800 ล้านบาทต่อปี 3 .งบจากวิสาหกิจชุมชน ‘ กรุงเทพธนาคม ’ ปีละ 4,300 ล้านบาทต่อปี 1 ปีเราสามารถทำได้ 14,000 ล้าน จำนวนนี้สามารถเข้ามาให้ผู้สูงวัยจำนวน 530,000 คนใน กทม.”

อ.หน่อง-จตุรงค์ หิรัญกาญจน์ อายุ 58 ปี ช่างภาพวัยเกษียณ อาจารย์พิเศษสอนถ่ายภาพในมหาวิทยาลัย จากเขตตลิ่งชัน

“ป้ายรถเมล์หลายป้าย ไม่มีที่หลบฝน ไม่มีที่หลบแดด ป้ายรถเมล์ที่ใช้แถวบ้าน ไม่เคยมีหลังคา ทางเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อต้องระวัง ว่าที่ผู้ว่าฯแต่ละท่าน จะทำอย่างไร”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 8

“เมืองต้องออกแบบ แบบ “อารยสถาปัตย์ (universal design)” ผู้สูงอายุต้องเดินทางได้ดี ฟุตปาธเรียบ หากใช้วิลแชร์ก็จะต้องสะดวก”

“ที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องความปลอดภัย การเดินทางบนถนน โดยเฉพาะเรื่องทางม้าลาย เพราะผู้สูงอายุจะเดินช้ากว่าคนปกติ เวลามีอุบัติเหตุจะหนีไม่ทัน มองทางม้าลายไม่เห็น ต้องให้ความสำคัญเรื่องทางม้าลาย ไฟแสงสว่าง สัญญาณไฟจราจร ให้ผู้สูงอายุสามารถเดินทางได้ ปรับโครงสร้างเดิมให้ดีก่อน”

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ