“ต่อให้วันนี้รายได้จากการเป็นอินฟลูเอนเซอร์จะมากแค่ไหน คำถามที่เราได้ยินจากครอบครัวอยู่เสมอก็คือ อาชีพนี้มั่นคงไหม? จะไม่ดีกว่าเหรอถ้าไปสอบราชการ เพราะอย่างน้อยข้าราชการก็มีบำนาญตลอดชีวิต ความคิดแบบนี้แม้เราจะรู้ดีว่าพ่อแม่หวังดี ห่วงใย แต่มันก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพ่อแม่ไม่ราบรื่น”
“ต่างคน ต่างวัย ต่างความคิด ย่อมคิดต่างกัน” แต่ถ้าเปิดใจฟัง เราอาจเข้าใจกันมากขึ้น “มนุษย์ต่างวัย” คุยกับลูก Gen Y ที่เลือกใช้ชีวิตตามความฝันกับอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ โดยปฏิเสธที่จะเดินตามเส้นทางที่พ่อแม่ต้องการคือการรับราชการ ความคิดที่แตกต่างกันของคนสองวัยมีจุดตัดตรงไหนบ้างที่ทั้งสองฝั่งมีโอกาสกลับมาทำความเข้าใจความคิดของกันและกัน
“ตอนนี้อายุ 23 ปี จะเรียกว่ามีอาชีพเป็นอินฟลูเอนเซอร์เต็มตัวเลยก็ว่าได้ เพราะเราอยู่ในเส้นทางนี้มา 4 – 5 ปี แล้ว เริ่มต้นจากการเป็นคนที่ชอบเล่นเกมมาตั้งเด็ก พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เริ่มต้นแคสต์เกม แล้วก็ได้เป็นผู้จัดการแข่งขัน แล้วก็ทำอีกหลายอย่าง คนรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่จะอิจฉาอาชีพที่เราทำ แต่รู้ไหมว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพที่พ่อแม่เราไม่ยอมรับ
เกมคือเรื่องไร้สาระ
“อย่างหนึ่งที่ต้องเผชิญและรู้สึกว่าเป็นท็อกซิกสำหรับเราคือ ครอบครัวมองว่างานของเราก็เป็นแค่เด็กเล่มเกม เขาไม่เข้าใจว่ามันคืองาน ไม่สนับสนุนสิ่งที่เราทำ ทั้งๆ ที่การแคสต์เกมช่วยสร้างรายได้ให้เราตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ และเราก็มั่นใจว่า ถ้าเราได้ทำงานที่ชอบ มันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ที่ดีได้ ซึ่งถ้ามีรายได้ เราก็ไม่ต้องรบกวนครอบครัว เพราะแค่ค่าใช้จ่ายในการส่งเสียเราเรียนมหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่เงินจำนวนน้อย แต่สิ่งที่พ่อแม่เราพูดตลอดก็คือกลัวว่าเราจะเรียนไม่จบเพราะมัวแต่เล่นเกม”
ครอบครัวคือกำแพงที่ทำให้ไม่กล้ามีความฝัน
“ต้องบอกก่อนว่าเราเป็นคนที่ทำทุกอย่างตามที่ครอบครัวปูทางไว้ให้ตั้งแต่การเลือกสายเรียน เพราะอยากให้พ่อแม่สบายใจ โดยที่เราไม่เคยพูดหรือแชร์ความรู้สึกของเราโดยตรง สิ่งนี้มันทำให้เรากลายเป็นคนไม่กล้ามีความฝัน ใช้ชีวิตไปตามขนบของครอบครัว ตอนที่ตัดสินใจทำงานเป็นอินฟูเอนเซอร์ เพราะอยากจะทำตามหัวใจตัวเองสักครั้ง ก็กังวลและกลัวว่าครอบครัวจะไม่สบายใจ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือครอบครัวไม่เข้าใจจริงๆ”
“ทุกครั้งที่พ่อแม่เห็นเราแคสต์เกมอยู่ในห้อง หรือได้พูดคุยกันในเรื่องนี้ ก็เหมือนกับการเอาน้ำมันราดไปบนกองไฟ รู้สึกเหมือนไฟมันเข้ามาเผาผลาญจิตใจเรา”
ทำไปจะมั่นคงไหม..ไปเป็นข้าราชการมีบำนาญตลอดชีวิตดีกว่า
“การเลือกอาชีพที่พ่อแม่คุ้นชินก็ต้องเจอคำถามเป็นตามลำดับไป เป็นคำที่พวกอินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ นักแคสต์เกม หรือ TikToker เจอเป็นประจำก็คือ งานมั่นคงแค่ไหน ซึ่งคำๆ นี้มันก็ผลักให้เราต้องไปทำอะไรที่ไม่อยากทำ ต้องไปสอบแข่งขันบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งเราไม่ชอบเลย แต่ก็ต้องไปตามความเป็นห่วงของครอบครัว”
ไปต่อหรือพอแค่นี้…
“ตอนที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นแรกๆ ถามว่าโกรธไหม โกรธนะที่เขาไม่เปิดใจ แต่เราก็รู้สึกว่ายังไงเราก็คือลูก เขาคือครอบครัว เพราะเราเชื่อมาตลอดว่า ครอบครัวคือเซฟโซน เป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่พอเห็นไม่ตรงกัน เราก็เริ่มรู้สึกว่าบ้านไม่ใช่เซฟโซนอีกต่อไป เราถามตัวเองทุกวันว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ คำถามนี้ดังในหัวเราทุกวัน
“ตอนนั้นสิ่งที่ก้องในหัวเราตลอดคือพ่อแม่ไม่รักเราหรือเปล่า หรือเราเกลียดพ่อแม่ไหมที่เขาไม่เชื่อมั่นในตัวเรา จนกระทั่งเราโตขึ้น สามารถหารายได้จากงานที่เรารักได้จริง มั่นคงขึ้น ก็หันกลับมาทบทวนว่า จริงๆ แล้วเขาคงเป็นห่วงเรา เราต่างมองไม่เห็นใจของกันและกัน เราก็มองไม่เห็นใจพ่อแม่ พ่อแม่ก็มองไม่เห็นหัวใจของลูก”
“สำหรับคนเป็นลูกเรารู้ดีว่าพ่อแม่รักและห่วงเราที่สุด แต่เพราะเขาเติบโตมาในสังคมในยุคสมัยที่แตกต่างจากเรา กรอบความคิดเรื่องอาชีพ หรือเรื่องอื่นๆ ก็ย่อมจะต่างกันไปด้วย ยิ่งเราเป็นคนต่างจังหวัดที่มีพ่ออายุเกือบ 60 ปี แถมเป็นข้าราชการครู การจะไปเปลี่ยนความคิดของผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งเดียวที่จะต้องทำในฐานะลูกคือ นั่งอธิบายด้วยเหตุผลถึงกลไกรายได้ให้ครอบครัวเข้าใจ เราเลือกที่จะทำให้เขาเห็นว่าเราหารายได้ ได้จริงๆ เป็นค่าขนมในระหว่างเรียนเกือบ 3 หมื่นบาทต่อเดือน
“สำหรับเราในฐานะที่ยังเป็นเด็กมหาลัยยังเรียนไม่จบ การมีรายได้ขนาดนี้มันดีมากแล้ว จากที่พ่อแม่ตั้งแง่มาตลอดก็เริ่มเปิดใจว่าแบบนี้ก็มีด้วยเหรอ สมัยนี้ทำแบบนี้ได้จริงเหรอ”
รุ่นพ่อแม่มองงานคือความมั่นคงของชีวิต
“พอเวลาผ่านไปได้มานั่งคุยกัน ทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่เขาพยายามบังคับให้เราไปสอบราชการ เพราะเขาเป็นห่วงและอยากให้ลูกมีเซฟโซน อีกอย่างหนึ่งการจะทำงานใดก็ตาม พ่อแม่มักมองว่ามันจะต้องเป็นอาชีพที่เลี้ยงเราไปจนตาย เขาไม่ได้คิดแค่ว่า ทำวันนี้ได้เงินวันนี้คือดีแล้ว แต่ความเป็นห่วงทำให้เขามองไปไกลกว่านั้นว่า วันที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย วันที่แก่ตัวไป การเลือกงานที่มั่นคงจะทำให้ชีวิตลูกสบาย พ่อแม่ก็ไม่ต้องห่วงด้วย”
“แต่สำหรับเราคิดตรงกันข้ามคือ เราเลือกงานที่เลี้ยงชีพได้ และงานที่มีความสุขที่จะทำมากกว่า เราไม่ได้คิดว่าจะต้องได้เงินเกษียณ เพราะว่าไม่มีใครรู้ว่าอนาคตมันจะยาวนานแค่ไหน เราจะอยู่ได้ถึงใช้เงินบำนาญไหม ถ้าต้องเลือกความมั่นคงแต่ไม่มีความสุขก็ไม่ได้อยากทำขนาดนั้น สมัยนี้ไม่มีงานอะไรที่มั่นคง 100% เราจะไม่ผูกติดตัวเองไปกับงานใดงานหนึ่งตลอดชีวิต ถ้าเส้นทางไหนที่ทำเงินได้ดี เราก็พร้อมจะไปทำโดยไม่ยึดติด”
“จริงๆ เราไม่ได้อยากได้ความมั่นคงในตอนอายุ 60 แต่เราอยากได้ความมั่งคั่งในตอนอายุยังน้อย ถ้าช่องทางไหนทำเงินได้ดีแล้วมีความสุข ก็ไม่จำเป็นต้องไปยึดขนบเดิมๆ เสมอไป แต่ขอแค่ได้ลองทำให้สุดความสามารถก่อน…. ขอลองใช้ชีวิตตามใจที่หวังก่อน”
อยากได้ยินความว่า “ลองดู” มากกว่าคำว่า “มั่นคงไหม”
“พออ่านถึงตรงนี้เราไม่ได้กำลังจะบอกว่าสิ่งที่เด็กๆ อย่างเราคิดมันถูกนะ เราอาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่พ่อแม่บอกไว้ก็ได้ แต่สิ่งที่อยากได้คือ เราอยากได้กำลังใจ เพราะครอบครัวก็เป็นบ้าน เป็นเซฟโซนของเรา การตั้งแง่ว่ามั่นคงไหมบนความห่วงใย เรารับรู้ได้ว่ารัก แต่ความรักมันเป็นเหมือนกรงทำให้เราไม่กล้าคิดหรือทำ”
“หากวันหนึ่งที่เราลองทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำแล้วไม่สำเร็จ วันนั้นการกลับไปทำตามสิ่งที่พ่อแม่แนะนำก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย พ่อแม่เองอาจถึงเวลาต้องเปิดใจ เปิดตา และเปิดหูเพื่อรับฟังความคิดของลูก และบริบทสังคม ที่กำลังเปลี่ยนไป”
“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลูกเองต้องมองให้เห็นถึงความรัก และความเป็นห่วงของพ่อแม่ด้วย ไม่ใช่จะจะยึดว่าตัวกูของกูเสมอไป เพราะฉะนั้น ในฐานะลูกที่ผ่านทั้งการต่อสู้เพื่อความฝัน และใช้ชีวิตสอบข้าราชการตามที่พ่อแม่คาดหวัง เราก็ต้องถอยกันคนละครึ่งทาง ไม่ใช่ถอยจากความฝันนะ แต่ถอยเพื่อกลับมาอธิบายให้ครอบครัวตามเราให้ทัน ให้เราเดินไปด้วยกันอีกครั้ง เพราะสุดท้ายครอบครัวที่รับฟังกันคือเซฟโซนที่อบอุ่นและปลอดภัยที่สุด ถ้าเราต่างฟังกันด้วยหัวใจ”