Workshop เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน พื้นที่ทดลองเพื่อเปิดใจรับฟังความต่างและค้นหาความเหมือนของคนต่างวัย

“กระบวนการต่างๆ ทำให้แม่ได้ตกตะกอนความคิด สำรวจใจตัวเอง ฟังเหตุผลของเด็ก ๆ และสะท้อนมาที่ตัวเอง จนทำให้แม่ค้นพบว่าจุดสำคัญที่ทำให้แม่คุยกับลูกๆ ที่บ้านไม่ได้ก็คือ แม่กำลังถือตัวเป็นใหญ่มากเกินไป”

แม่ซูนิ- สุนิสา เหลืองระฆัง อายุ 72 ปี

“สิ่งที่เราเห็นคือสาเหตุที่เราทะเลาะกับพ่อแม่บ่อยๆ ในการคุย เพราะเราพูดด้วยเหตุผล เนื่องจากเราเป็นโปรแกรมเมอร์ ทุกอย่างที่คิดและทำมันต้องมีเหตุผล อ้างอิงได้เสมอ ถ้าไม่มีเหตุผลมารองรับเราจะไม่เชื่อ จนลืมคิดไปว่าการที่คนเราจะคิดหรือเชื่ออะไรมันมีด้านความรู้สึกด้วยไม่ใช่แค่เหตุผลเท่านั้น”

ทด-ทศพร วัฒนาเอี๊ยบพันธ์ อายุ 29 ปี

เมื่อเรื่องวัยกลายเป็นปัญหา Toxic ในการพูดคุยกัน

มนุษย์ต่างวัยชวนสำรวจ ‘ใจ’ ตัวเอง เพื่อหาคำตอบว่าอะไรที่ทำให้เราต่างกัน “วัย” หรือ “ใจ”

ผ่าน เวิร์กชอป“เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน” ครั้งที่ 1 ที่เพิ่งจบไป  เป็นเวิร์กชอปที่มีผู้เข้าร่วมเกือบ 40 ชีวิต ตั้งแต่วัย 13 จนถึง 72 ปี ที่มาในฐานะของแม่ ลูก อาจารย์ นักศึกษา พนักงาน หัวหน้า เราใช้เวลา 2 วัน 1 คืน ร่วมทดลองและรับฟังซึ่งกันและกัน

ทีมงานต้องขอขอบคุณผู้เข้าร่วมทุกคนที่พาตัวเองมาเข้าร่วมเวิร์กชอปพร้อมหัวใจที่เปิดกว้าง และช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนต่างวัยได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่อไม่ให้วัยกลายมาเป็นปัญหาของการอยู่ร่วมกัน

สำหรับใครที่พลาดกิจกรรมครั้งแรก เร็วๆ นี้ เรากำลังจะเปิด เวิร์กชอป“เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน”อีกครั้ง ตามเสียงเรียกร้อง ติดตามการประชาสัมพันธ์ได้ทางเว็บไซต์มนุษย์ต่างวัยและ Facebook มนุษย์ต่างวัย

.

ผมอยากเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่คิดคือเหตุผลที่ทำให้มาที่นี่

ทด-ทศพร วัฒนาเอี๊ยบพันธ์ อายุ 29 ปี ผู้เข้าร่วมเวิร์กชอป“เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน” เล่าว่า เหตุผลของการมาเข้าร่วมเวิร์กชอปครั้งนี้เกิดจากความไม่เข้าใจกันในครอบครัว ยิ่งพูดยิ่งทะเลาะ เห็นต่างกันทุกเรื่อง จนรู้สึกว่าผู้ใหญ่เข้าใจยาก

“สำหรับผมบางครั้งถึงเราจะไม่ได้ทะเลาะกันเรื่องใหญ่แต่การทะเลาะกันบ่อยๆ คิดอะไรก็ขัดกันไปซะทุกเรื่อง ตั้งแต่รูปแบบการใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งความคิดทางการเมืองที่ต่างกันคนละขั้ว ทำให้ไม่ว่าจะคุยอะไรทั้งผมและพ่อก็จบด้วยการเอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก และเถียงกันในมุมที่ตัวเองเชื่อเท่านั้น จนทำให้รู้สึกว่าเราคุยกับคนอื่นอาจจะสบายใจกว่าคนในบ้าน เพราะยิ่งคุยก็ยิ่งเถียงกัน เหมือนอายุที่ต่างกันทำให้เราคุยกันยากขึ้นมากๆ เป้าหมายการมาที่นี่ของผมก็คือ เราอยากคุยกับพ่อแม่ได้เหมือนที่คุยกับคนอื่น เราไม่อยากให้ความเห็นที่ต่างกันนำไปสู่การทะเลาะที่รุนแรง”

#ถอดรหัสใจ ผ่านสิ่งที่ได้จากเวิร์กชอป “เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน”

“สำหรับผมสิ่งที่ได้รับจากการมาเวิร์กชอปในครั้งนี้คือ เราได้กลับมาทบทวนตัวเองมากขึ้น สิ่งที่เราเห็นคือสาเหตุที่เราทะเลาะกับพ่อแม่บ่อยๆ เพราะเราพูดด้วยเหตุผล เนื่องจากเราเป็นโปรแกรมเมอร์ ทุกอย่างที่คิดและทำมันต้องมีเหตุผลอ้างอิงได้เสมอ ถ้าไม่มีเหตุผลมารองรับเราจะไม่เชื่อ จนลืมคิดไปว่าการที่คนเราจะคิดหรือเชื่ออะไรมันมีด้านความรู้สึกด้วยไม่ใช่แค่เหตุผลเท่านั้น เราไม่เคยสังเกตเลยว่าพ่อแม่พูดแบบนี้เขารู้สึกอะไร แต่เรามักจะพุ่งเป้าไปถามหาแต่เหตุผลจากเขาอย่างเดียว”

“สุดท้ายนี้ในอนาคต ผมกับพ่อเราจะคุยกันง่ายขึ้นไหม เป็นสิ่งที่ยังตอบไม่ได้ แต่ เวิร์กชอป“เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทำให้ผมได้เปิดหัวใจเรียนรู้สิ่งที่พ่อแม่คิด เพื่อที่วันหนึ่งเราจะเข้าใจกันและกันมากขึ้น ไม่ให้ครอบครัวที่สร้างมาด้วยความรักกลายเป็นเรื่องราว Toxic จากการพูดคุยกัน”

เราไม่อยากทะเลาะกันจนถึงวันที่เสียแม่ไป

ช่า-บุณยการณ์ จารุมณี อายุ 47 ปี และแม่ตุ๊ก-วิรินทร์การณ์ จารุมณี อายุ 66 ปี ผู้เข้าร่วมเวิร์กชอป“เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน” เล่าว่า เหตุผลในการตัดสินใจควงคู่กันมาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้คือ เราอยากให้แม่ได้พูดคุยกับคนรุ่นลูก เข้าใจถึงเหตุผลและความคิดของลูก ในขณะเดียวกันเราก็อยากแลกเปลี่ยนกับแม่ๆ คนอื่น เพื่อเข้าใจแม่ของเราก่อนที่อะไรอะไรจะสายเกินไป

“ต้องบอกก่อนว่าพี่กับแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันมานานมาก พอต้องกลับมาอยู่กับแม่อีกครั้ง ด้วยความเป็นแม่ก็คือแม่ที่รักและห่วงลูกเสมอ เขามักจะถามเราซ้ำๆ อย่างเช่นไม่ลืมอะไรใช่ไหม กินข้าวไหม บางครั้งเรารีบๆ ก็ต้องมานั่งตอบคำถามแม่ก่อน และเราก็เป็นคนปากไว บางครั้งก็ตอบกลับแบบไม่รักษาน้ำใจ หนักสุดคือแม่น้อยใจเก็บกระเป๋าออกจากบ้านเพราะเราพูดไม่ดีด้วย คำติดปากที่แม่มักประชดก็คือแม่จะเรียกพี่ว่าทูนหัวของบ่าว”

“สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนคือวันที่แม่ป่วย เรารู้ทันทีว่าเรารักเขามาก เรามารู้ตัวก็เกือบที่จะสายเกินไป เพราะเวลาของเขาจะไม่เหลือแล้ว ตั้งแต่นั้นพี่ใช้เวลาเกือบ 1 ปี กว่าที่จะเริ่มเข้าใจแม่ได้มากขึ้นแบบไม่เป็นสนามอารมรณ์ให้ขุ่นเคืองใจต่อกัน”

#ถอดรหัสใจ ผ่านสิ่งที่ได้จากเวิร์กชอป “เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน”

“สำหรับพี่สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ เราได้กลับมาทบทวนตัวเองทั้งคู่ว่าในตอนที่เราสื่อสารกัน อะไรที่เป็นปัญหาทำให้เราคุยกันได้ยาก ถึงแม้จะพยายามกว่า 1 ปี ให้ดีขึ้นมา แต่ก็ยังมีทะเลาะกันบ้าง การมาในครั้งนี้เหมือนเราได้ปลดปล่อยและรับฟัง เปิดใจตัวเองให้ถึงหัวใจของแม่ด้วย ในขณะเดียวกัน แม่ก็ได้รับรู้ในความรู้สึกลึกๆ ของคนเป็นลูกจากผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ อีกด้วย เพราะพี่เชื่อว่าบางครั้งเรามักเลือกฟังคนอื่นมากกว่าคนใกล้ตัว การได้ฟังมุมมองคนอื่นแล้วสะท้อนมาถึงตัวเองก็อาจได้มุมมองบางอย่างกลับมา

“สิ่งสำคัญที่เรารู้สึกได้คือเราอยากพูดกับแม่ให้ดีขึ้น แม่เองก็อยากจะเป็นแม่ที่เข้าใจชีวิตเรามากขึ้น แค่เริ่มต้นจากความอยากจะพยายามของคนสองคน ต่อให้ผลสำเร็จปลายทางจะเป็นอย่างไร แค่วันนี้เราได้เริ่มก่อนวันที่แม่จะจากเราไป พี่ว่าแค่นี้ก็คุ้มค่ามากๆ แล้ว”

เราไม่อยากรู้สึกไร้คุณค่าในวันที่ต้องกลับมาใช้ชีวิตกับลูก

แม่ซูนิ-สุนิสา เหลืองระฆัง อายุ 72 ปี ผู้เข้าร่วมเวิร์กชอป“เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน” เล่าว่า เหตุผลในการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้คือ เครียดมาก เพราะคุยกับคนที่บ้านไม่เข้าใจเลย เหมือนคุยกันคนละภาษา เนื่องจากไม่ได้อยู่ด้วยกันมานานจนต้องกลับมาอยู่บ้าน เพราะไม่ได้ทำงานเนื่องจากสถานการณ์โควิด

“สมัยก่อนแม่เป็นวิทยากรเดินทางบรรยายมาหลายประเทศ มีลูกน้องและคนนับหน้าถือตาเยอะมาก เราใช้ชีวิตกับการทำงานมาตลอดจนกระทั่งตกงานเพราะโควิด เดินทางไปไหนไม่ได้และต้องกลับมาอยู่ที่บ้าน ด้วยความที่ลูกเป็นผู้บริหารและเป็นผู้ชาย เขาก็จะค่อนข้างแข็งกับเรา พูดหรือแสดงความคิดเห็นอะไรก็ไม่ตรงกัน เสียงของเราเริ่มไม่ได้รับการรับฟังจนเรารู้สึกตัวเล็กลงและไร้คุณค่า สิ่งที่กลัวที่สุดคือในวันที่หารายได้ไม่ได้และต้องพึ่งพาลูก ความรู้สึกเหล่านี้จะติดไปจนทำให้ไม่มีความสุขในชีวิตและตัวเล็กลงไปกว่าเดิม”

#ถอดรหัสใจ ผ่านสิ่งที่ได้จากเวิร์กชอป “เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน”

“สิ่งที่ทำให้แม่ได้เรียนรู้ในแบบที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนคือ ที่ผ่านมาเราเข้าร่วมแต่กิจกรรมที่อยู่กับกลุ่มคนวัยเดียวกัน เราเคยชินกับการที่มีคนฟัง แต่กิจกรรมในครั้งนี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้แม่ได้มีโอกาสมาเปิดใจคุยกับเด็กๆ ที่อายุต่างกับเรา 30 – 40 ปี กระบวนการต่างๆ ทำให้แม่ได้ตกตะกอนความคิด สำรวจใจตัวเอง ฟังเหตุผลของเด็กๆ และสะท้อนมาที่ตัวเอง จนทำให้ค้นพบว่าจุดสำคัญที่ทำให้แม่คุยกับลูกๆ ที่บ้านไม่ได้ก็คือ แม่กำลังถือตัวเป็นใหญ่มากเกินไป คิดว่าตัวเองมีประสบการณ์ชีวิต บวกกับเราเคยชินในการเป็นผู้นำ ส่วนลูกก็เป็นผู้นำเหมือนกัน เพราะเขาคือหัวหน้าครอบครัวในตอนนี้ พอแข็งกับแข็งมาเจอกัน แน่นอนว่าการคุยกันแต่ละครั้งถึงจบด้วยปัญหา”

“คงไม่บ่อยนักที่เราจะมีโอกาสได้ทบทวนตัวเอง และมองไปให้เห็นถึงใจของคนอื่น กิจกรรมครั้งนี้เหมือนเป็นตัวจุดประกายให้แม่รู้สึกว่า กลับไปแม่จะทำตัวเล็กลงบ้าง ลดทิฐิในใจ เพราะอาจถึงเวลาแล้วที่ลูกต้องนำตามบทบาทของเขา และแม่ก็เชื่อว่ามวลความสุขของแม่จะกลับมาอีกครั้งจากการเปิดใจเริ่มต้นในครั้งนี้”

เราเตรียมตัวมาทำความเข้าใจเพื่อที่จะกลับไปอยู่กับแม่

แพร์-วิลาวัณย์ บุญเกื้อกุลวงษ์ อายุ 32 ปี ผู้เข้าร่วม เวิร์กชอป“เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน” เล่าว่า เหตุผลในการตัดสินใจมาเข้าร่วมคืออยากหา How to เพื่อเตรียมความพร้อมในวันที่ต้องกลับไปอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง เพื่อให้ความขัดแย้งหรือความเห็นต่างกันระหว่างวัย ไม่มาเป็นตัวทำลายความรู้สึกในความสัมพันธ์

“ตั้งแต่เรียนจบมาจนทำงานก็เกือบ 10 ปี ที่เราไม่ได้อยู่กับครอบครัว พอวัยนี้แล้ว การกลับไปดูแลพ่อแม่ก็เริ่มเขยิบใกล้เข้ามาทุกที สิ่งที่เรากลัวมากที่สุดคือเราไม่รู้ว่าจะอยู่ร่วมกันได้จริงๆ ไหม เราจึงอยากใช้เวิร์กชอปนี้เป็นสนามทดลองในการอยู่กับคนที่หลากหลายวัยมากขึ้น เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมที่สุดในวันกลับบ้าน”

#ถอดรหัสใจ ผ่านจากสิ่งที่ได้จากเวิร์กชอป “เรา ‘’ต่าง’ เหมือนกัน”

“สิ่งที่ได้รับกลับไปคือ ปกติเราจะไม่ค่อยได้มีโอกาสอยู่ร่วมกับคนหลากหลายวัยมากขนาดนี้ มีตั้งแต่อายุ 10 กว่าไปจนถึง 70 กว่า แรกๆ อาจจะมีบ้างที่เราคิดไม่เหมือนกัน แต่กระบวนการของกิจกรรมทำให้เรามีโอกาสได้ฟังมากขึ้น ทั้งฟังใจตัวเอง และฟังเรื่องราวของคนต่างวัย สุดท้ายเราก็อยู่ร่วมกันได้ด้วยการฟัง มันทำให้รู้สึกว่าสนามทดลองนี้เป็นสนามที่ทำให้เราได้ทดลองใช้ชีวิตกับคนต่างวัยจริงๆ เราอาจหยิบบางอย่างที่ได้จากเวิร์กชอปไปเป็นจุดเริ่มต้นในการกลับบ้านแบบไม่กลัวจนเกินไป”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ