ศิลป์ส่องธรรม กิจกรรมสร้างสุขสำหรับผู้สูงวัย ในวันที่พื้นที่สำหรับคนรุ่นใหญ่เริ่มน้อยลง

เมื่อพูดถึงกิจกรรมยามว่างหลังเกษียณสำหรับผู้สูงอายุที่หลายๆ คนนึกถึง หากไม่ใช่การเดินทางท่องเที่ยว ออกกำลังกาย หรืออยู่บ้านเลี้ยงหลานก็หนีไม่พ้นต้องลงเอยที่การเข้าวัดปฏิบัติธรรม ซึ่งในความเป็นจริงผู้สูงอายุอาจต้องการพื้นที่กิจกรรมที่มีความหลากหลาย และสร้างสรรค์ไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่เช่นกัน

มนุษย์ต่างวัย ภูมิใจเสนอเรื่องราวของโครงการ “ศิลป์ส่องธรรม” ชั้นเรียนปั้นพระพุทธรูปที่ช่วยสานฝันให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยได้มีโอกาสปั้นพระพุทธรูปด้วยมือตนเอง ผ่านกระบวนการทางพุทธศิลป์และวรรณศิลป์ที่ช่วยกล่อมเกลาและทบทวนจิตใจ เพื่อให้นักเรียนกลุ่มพิเศษนี้ได้ใช้วันเวลาที่เหลืออย่างสุขสงบ และค้นพบคุณค่าของชีวิต

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมงานวัฒนธรรม   บริษัทชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด สาขาประติมากรรมไทย ภาควิชาศิลปประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง และกลุ่มเพื่อนหลังกำแพง โดยจัดกิจกรรมในวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม – 12 มิถุนายนที่ผ่านมา

ในวันที่พื้นที่กิจกรรมสำหรับคนรุ่นใหญ่เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ บรรดานักเรียนสูงวัยรู้สึกอย่างไร และได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเข้าร่วมชั้นเรียนสุดพิเศษนี้ รวมถึงสิ่งที่ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการ ‘ศิลป์ส่องธรรม’ ได้ค้นพบตั้งแต่ต้นจนจบชั้นเรียนรุ่นแรก

คุณอรสม สุทธิสาคร

ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และผู้จัดทำโครงการ ‘ศิลป์ส่องธรรม’ เพื่อสานฝันในการตอบแทนคุณพระพุทธศาสนา และสร้างพื้นที่กิจกรรมสำหรับคนสูงวัย

“ตอนอายุ 40 เคยใฝ่ฝันว่า เราอยากจะทำอะไรที่แทนคุณพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่รู้ว่าคำตอบนั้นคืออะไร แต่วันนี้เข้าใจแล้วว่าโครงการนี้อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่เราจะได้ทำความฝันในเส้นทางของตัวเอง จริงๆ เราอยากทำมาประมาณ 2-3 ปีแล้วนะ แต่ติดช่วงโควิดเลยเพิ่งได้จัด

“ก่อนที่จะเปิดชั้นเรียนนี้ เราก็ไม่รู้หรอกว่านักเรียนจะหน้าตาเป็นยังไง ฝีมือขั้นไหน คนแก่จะมามากหรือคนป่วยจะมามาก เดาไม่ถูก แต่ถ้าพูดโดยทั่วไปคนกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มเปราะบางหน่อย ด้วยร่างกายหรือวัย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีความละเอียดอ่อนในการดูแล แล้วเป็นรุ่นแรกด้วย เราเลยรับแค่สิบคน เป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้ได้บรรยากาศชั้นเรียนที่ดูอบอุ่น เบิกบานด้วยมิตรภาพ

“ชื่อโครงการ ‘ศิลป์ส่องธรรม’ ท่านแน็ต (พระมหาวโรตม์ ธัมมวโร) เป็นคนตั้งให้ เนื่องจากเราใช้กระบวนการของพุทธศิลป์ร่วมกับวรรณศิลป์ ซึ่งกระบวนการพุทธศิลป์ก็คือให้เขามาเรียนรู้การปั้นพระพุทธรูป แล้วด้วยช่วงวัยหรือความเจ็บป่วยของคนกลุ่มนี้ก็เรียกว่าอยู่ใกล้ชิดความเป็นความตาย เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่าครั้งหนึ่งที่เขาได้มีโอกาสปั้นพระพุทธรูปจะติดอยู่ในใจไปอีกนาน และพระพุทธรูปที่ปั้นเสร็จแล้ว เราก็จะส่งมอบให้กับหน่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลนครปฐมด้วย”

“ส่วนกระบวนการวรรณศิลป์ เราไม่ได้เน้นสอนการเขียนแบบภาษาต้องสวย เราแค่เอามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้เขาได้มองตัวเองและทบทวนจิตใจ เช่น กิจกรรมเขียนจดหมายถึงตัวเอง เขียนจดหมายถึงพระพุทธรูป และเครื่องมืออีกอย่างที่เราเอามาใช้คือกระบวนการธรรมะ เพื่อให้เขาได้มองเห็นสิ่งที่ตกตะกอนอยู่ในใจ ได้มองชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความหวัง มีสมาธิ พบความสงบสุข

“เป้าหมายของโครงการนอกจากได้ทบทวนตัวเอง พบปลายทางที่สงบร่มเย็น ยังเป็นประโยชน์กับผู้เรียนสูงวัยที่สังขารก็อาจจะลดลงไปด้วยความเจ็บป่วย หรือพยาธิสภาพทางร่างกายที่ไม่ได้แข็งแรงเหมือนคนหนุ่มสาว แต่ว่าเขาก็ยังมีโอกาสได้สร้างคุณค่าด้วยการปั้นพระพุทธรูป แล้วก็มีความสุขที่ได้มาเจอกับเพื่อนๆ รวมถึงอาจารย์จากวิทยาลัยเพาะช่างซึ่งก็เป็นคนวัยหนุ่มๆ สาวๆ เนี่ยแหละ”

คุณสุธารัตน์   กิจติเวชกุล อายุ 75 ปี นักเรียนปั้นพระโครงการ ‘ศิลป์ส่องธรรม’ รุ่น 1

มาพร้อมความสดใสร่าเริงที่สุดในรุ่น

ธรรมะจัดสรรให้ได้ค้นพบความสุขจากการย้อนวัยเป็นเด็กอีกครั้ง

“เหมือนได้กลับมาเป็นเด็กอนุบาลเด็กประถมอีกครั้ง เพราะโอกาสที่เราจะได้เป็นเด็กหญิงอีกครั้งหนึ่งในวัย 75 ไม่ได้หาง่ายๆ นะคะ ได้มาระลึกถึงบรรยากาศในชั้นเรียน เรียก ครูขาๆ (หัวเราะ) สิ่งหนึ่งที่อยากขอบคุณมากๆ คือความตั้งใจของตัวเองตั้งแต่ตอนสมัครแล้วยังไม่ประกาศผล คิดไว้ว่าต้องได้ก็ปรากฏว่าได้จริงๆ เราเลยตั้งใจเรียน มาเช้ากว่าเพื่อน ยกเลิกแผนการเที่ยวทั้งหมดเลย ยิ่งเราไม่มีความรู้มาก่อนยิ่งต้องตั้งใจ ถึงทำไม่เป็นเราก็จะสู้ หลังจากนั้นพอเริ่มรู้วิธีการก็เข้าใจมากขึ้น

“แล้วสุดท้ายพอได้เห็นองค์พระพุทธรูปที่เสร็จสมบูรณ์ก่อนจะถวายให้กับโรงพยาบาล มันเป็นความรู้สึกที่บรรยายไม่ได้ บอกไม่ถูก แต่คิดว่านี่แหละคือสิ่งที่ธรรมะจัดสรรไว้ให้แล้ว ทุกอย่างถูกวางทางเดินไว้ให้หมดแล้ว ต่อให้มีอุปสรรคอะไรก็จะถูกเขี่ยออกไปเอง

“ต้องขอบคุณผู้จัดและกัลยาณมิตรทุกๆ ท่าน เป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ ค่ะ เหมือนเป็นกำไรชีวิตที่เราได้มาเจอเพื่อนใหม่อีก 20 กว่าชีวิต คิดว่าชาติที่แล้วคงทำบุญร่วมกันมาบ้าง การได้มาเจอกันไม่ใช่เรื่องง่ายนะคะ อยู่กันต่างทิศต่างทาง บางคนอยู่ถึงขอนแก่นยังอุตส่าห์มาเจอเรา แล้วยังไงก็อย่าลืมพี่อรสมของเรานะคะ เพราะครูคนนี้น่ารักที่สุดเลย”

คุณเปรม หิรัญบูรณะ อายุ 80 ปี นักเรียนปั้นพระโครงการ ‘ศิลป์ส่องธรรม’ รุ่น 1

แม้จะอายุมากที่สุดในรุ่นและไม่พื้นฐานทางศิลปะมาก่อน แต่ก็สามารถปั้นพระพุทธรูปร่วมกับครูผู้สอนจนสำเร็จ

“ก่อนหน้านี้เคยเป็นตัวแทนประกันชีวิต แต่ตอนนี้อายุมากแล้วก็เลยส่งต่อให้ลูก หลังเกษียณก็อยู่บ้านเฉยๆ พอดีลูกชายเป็นคนทราบข่าวแล้วมาบอก พอเราเห็นรายละเอียดกิจกรรมแล้วก็โอเคเลย อยากไปค่ะ มีเวลาว่างอยู่แล้วด้วย

“รู้สึกสนุกมากค่ะ ขนาดตัวเองไม่มีความสามารถด้านจิตรกรรมหรือประติมากรรมอะไรเลย ตอนเด็กๆ วาดรูปแจกัน เพื่อนยังบอกว่าไม่เห็นเหมือนแจกันเลย กิจกรรมนี้ทำให้เรามีความสนใจงานศิลปะมากขึ้น เวลาปั้นพระรู้สึกว่าจิตใจสงบนิ่งดี จิตใจก็น้อมนำในเรื่องศาสนามากขึ้น มีเวลาใคร่ครวญกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เรามักเผลอปล่อยใจไปเรื่อยๆ แบบไม่มีจุดหมาย เดี๋ยวนี้ก็เริ่มจะชักนำใจตัวเองกลับมาได้ดีขึ้นโดยใช้วิธีนึกถึงพระพุทธรูปที่เราปั้น

“เห็นผลงานแล้วภูมิใจ ไม่คิดว่าเราจะทำได้ขนาดนี้ เกินคาดจริงๆ แต่อย่างที่บอกว่าก็ไม่ใช่ฝีมือตัวเองทั้งหมด ส่วนใหญ่ก็ฝีมือครู (หัวเราะ) แต่ก็รู้สึกดีใจที่เรามีส่วนช่วยทำจนสำเร็จ พระอาจารย์ก็ช่วยตั้งชื่อให้ว่า ‘พระพุทธปุณณเปมิ’ ยังไม่รู้ความหมาย ยังไม่ได้ถามท่านว่าแปลว่าอะไร แต่รู้ว่ามีชื่อเราอยู่ก็ดีใจแล้ว”

คุณอำนาจ สงวนศรีพิสุทธิ์ อายุ 58 ปี นักเรียนปั้นพระโครงการ ‘ศิลป์ส่องธรรม’ รุ่น 1

แม้จะเป็นผู้พิการทางสายตา แต่มาพร้อมความมุ่งมั่นที่อยากสานฝันในการปั้นพระพุทธรูปเพื่ออุทิศแก่แม่ที่เสียชีวิตให้สำเร็จ

“มีเรื่องประหลาดคือก่อนจะมาสมัครชั้นเรียนนี้ ผมฝันว่าตัวเองอยากปั้นพระพุทธรูปให้กับแม่ที่เสียไปแล้ว ปรากฏว่าอีกสองวันต่อมาเปิดเฟซบุ๊กเจอโพสต์ของอาจารย์อรสมเปิดชั้นเรียนปั้นพระพุทธรูปสำหรับผู้สูงอายุ 75 ปีขึ้นไป ซึ่งผมอายุไม่ถึง ผมยังหนุ่มกว่า (หัวเราะ) แต่ถ้าจะรอถึง 75 ก็กลัวจะตายก่อน เลยลองเขียนสมัครมาเผื่อจะได้ แล้วอาจารย์ก็ตอบกลับมาว่าให้เข้าเรียนได้ ก็เป็นพระคุณอย่างยิ่ง

“ตอนเรียนปั้นพระก็ได้ครูแตงกับแฟนผมช่วยกันเก็บรายละเอียด เช่น ในส่วนของพระศก (เส้นผม) หรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ขององค์พระที่ผมไม่สามารถทำได้ เพราะผมจะทำได้แค่เฉพาะโครงใหญ่ๆ หรือส่วนที่เป็นงานสองมิติ

“กิจกรรมนี้ทำให้ผมรู้สึกถึงความสงบเวลาปั้นดิน ปกติถ้ายังไม่ได้เรียนปั้นงานพุทธศิลป์ก็อาจจะเบื่อหน่าย ปั้นทิ้งๆ ไป แต่พอปั้นองค์พระเป็นโครงขึ้นมาได้ตามแบบ ก็รู้สึกมีความสุข มีคุณค่า ไม่เสียดายเวลาที่ผ่านไป

“นอกจากนี้ อีกจุดมุ่งหมายของผมก็คือการอุทิศให้ดวงวิญญาณของคุณแม่รับรู้ว่า ผมมาปั้นพระพุทธรูปองค์สมมติของพระพุทธเจ้าเพื่อให้ท่านได้มาน้อมสักการะ ผมก็ไม่รู้ว่าจริงๆ พระพุทธเจ้าหน้าตาแบบนี้หรือเปล่า แล้วก็ไม่รู้ว่าชีวิตนี้ผมจะมีโอกาสได้มาทำอะไรแบบนี้อีกไหม ผมก็ขอน้อมถวายบุญกุศลเหล่านี้ให้กับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และผู้ร่วมบุญทุกคนในโครงการนี้”

พระมหาวโรตม์ ธัมมวโร (ท่านแน็ต)

พระภิกษุจากวัดบวรนิเวศวิหารกับบทบาทการเป็นกระบวนกร ที่เชื่อว่าธรรมะไม่จำเป็นต้องอยู่ภายในวัดหรือสถานปฏิบัติธรรม

“ศิลป์ส่องธรรม หมายถึง การรวมศิลปะที่ช่วยขัดเกลาจิตใจทั้งพุทธศิลป์และวรรณศิลป์ไว้ด้วยกัน อย่างวรรณศิลป์ก็เป็นสิ่งที่พี่อรสมถนัด ส่วนพุทธศิลป์คือสิ่งที่จะฉายไปถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าซึ่งไม่ได้หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว แต่หมายถึงธรรมชาติและสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ปั้น การมีสติขณะกำลังปั้นพระ เราจะได้เรียนรู้อารมณ์ภายในของเราไปด้วย เมื่อมีสติสัมปชัญญะอยู่ตรงหน้าปุ๊บก็จะฉายพุทธคุณและโพธิจิตที่อยู่ภายในใจออกมาเป็นงานพุทธศิลป์”

“ตอนแรกก็กังวลว่าผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยจะทำกิจกรรมได้ไหม แต่วันแรกที่ได้เจอคือทุกคนดูมีเสน่ห์ แล้วก็แข็งแรงกว่าที่คิด มีใจพร้อมที่จะมาร่วมกิจกรรม แม้แต่คนที่มีอุปสรรคมากที่สุดอย่างพี่อำนาจซึ่งมีปัญหาด้านสายตา ก็ยังอุตส่าห์เดินทางไกลมาจากขอนแก่นเพื่อร่วมโครงการนี้

“จากวันแรกทุกคนเหมือนจะตั้งกำแพงไว้ แต่พอวันต่อๆ มา เราเริ่มมองเห็นว่าทุกคน ทั้งนักเรียนแล้วก็คุณครูสามารถละลายพฤติกรรม มีความสุขความเบิกบานใจที่ได้เจอหน้ากัน เป็นกัลยาณมิตรที่ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกันจนมาถึงวันสุดท้าย

“เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ทั้งในฐานะผู้ให้และผู้รับ อย่างแรกที่ได้รับคือการสะท้อนตัวตนของทุกท่าน ซึ่งถ่ายทอดออกมาผ่านการปั้นธรรมให้เป็นรูปธรรม จากดินโล้นๆ จนเป็นองค์พระที่สวยสดงดงาม มีความบริสุทธิ์และคุณค่าในเชิงพุทธศิลป์ พระจึงไม่ได้เป็นผู้ให้ฝ่ายเดียว บางทีพระก็เป็นผู้รับฟังเสียงจากทุกท่านซึ่งเป็นเสียงสะท้อนที่ดีที่สุด

“ธรรมะจะมองเป็นเรื่องยากก็ยาก มองเป็นเรื่องง่ายก็ง่าย แต่ถ้าเห็นเป็นเรื่องยากแล้วไม่ทำ ก็จะมองไม่เห็นธรรมะ แล้วธรรมะอยู่ในทุกที่บนโลกใบนี้ ไม่ได้จำเป็นจะต้องอยู่ภายในวัดหรือสถานปฏิบัติธรรม การเข้าวัดอาจเป็นแค่จุดเชื่อมโยงสังคมกับศาสนาให้เห็นเป็นรูปธรรมเท่านั้น ถ้าอยากให้เกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆ จะต้องเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้ เพราะธรรมะก็คือธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรานั่นแหละ ทุกอย่างไม่ว่าจะดีหรือร้าย ถ้าเราหาจุดสมดุลได้ก็จะทำให้ชีวิตมีความสงบสุขมากขึ้น”

สำหรับคนสูงวัยที่พลาดโอกาสเข้าร่วมชั้นเรียนปั้นพระพุทธรูปรุ่นแรกนี้ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะครูอรสม สุทธิสาคร ผู้จัดทำโครงการ “ศิลป์ส่องธรรม” ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“ผลสุดท้ายโครงการนี้ก็จบลงอย่างชื่นใจ ต้องขอบคุณนักเรียนทุกคน หลังจบรุ่นนี้ก็คิดว่าจะมีรุ่นต่อไป ถ้ามีรุ่นสองเราก็จะเอานักเรียนรุ่นนี้มาเป็นพี่เลี้ยงหรือจิตอาสาคอยช่วยดูแลรุ่นน้อง เขาจะได้มาพบกัน มาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ตอนนี้ก็เริ่มมีคนมาขอให้ลดอายุผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่ำกว่า 75 ปีได้ไหม ก็เป็นเรื่องที่จะนำไปพิจารณาต่อ แต่เราคงไม่จัดกิจกรรมนี้สำหรับคนวัยหนุ่มสาว เพราะเขายังมีทางเลือกอื่นอีกเยอะ”

Credits

Authors

  • รวีวรรณ ธีรธนาพงษ์

    Authorมนุษย์ INFJ อดีตเป็นเป็ด ปัจจุบันอยากเป็นนกอินทรี อนาคตอยากเป็นยูนิคอร์น ชอบเรียนรู้และมองหาโอกาสที่จะได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เชื่อว่าคนเราพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ไม่สิ้นสุด

  • ศุภสัณห์ เศรษฐภัทรชัย

    Photographerหนุ่มบางกอก หาเลี้ยงปากท้องด้วยอาชีพ graphic ชอบถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก มีเพจเที่ยวเอาใจเป็นที่ละเลงความสุขในวันหมดไฟ

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ