ลุงอ๊อดกับป้าอ้อย 2 นักแบกเป้รอบโลกผู้จัดกระเป๋าเดินทางมาทั้งชีวิต

7 ปีก่อน ลุงอ๊อดกับป้าอ้อยเข้าพิธีปฐมนิเทศสู่วัยเกษียณด้วยการแบกเป้เดินทางรอบโลก ในตอนนั้นลุงอ๊อดเป็นหนุ่มใหญ่วัย 58 ขณะที่คู่ชีวิตอย่างป้าอ้อยสวยเสมอในวัย 57 หลังจากลูกๆ ของลุงอ๊อดกับป้าอ้อยเรียนจบและมีอาชีพการงานมั่นคง ทั้งสองจึงหวนกลับไปรื้อฟื้นความฝันในวัยเด็ก นั่นก็คือ ‘การเดินทางรอบโลก’

ทั้งสองใช้เงินคนละ 1 ล้านบาทในการเดินทางไปยัง 95 ประเทศ เฉลี่ยแล้วใช้เงินคนละ 10,000 บาทต่อการเดินทาง 1 ประเทศ

7 ปีต่อมา ลุงอ๊อดกับป้าอ้อยเริ่มต้นลงมือทำอีกหนึ่งความฝันให้เป็นจริง คือ ‘การใช้ชีวิตเรียบง่าย’

ทั้งสองย้ายมาพำนักที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สร้างบ้านหลังเล็กๆ แวดล้อมไปด้วยสวนลำไย พืชผักสวนครัว มีแม่น้ำปิงอยู่ไม่ไกล หากลองเงี่ยหูฟังก็จะได้ยินเสียงแม่น้ำกำลังไหลเอื่อยไม่ขาดสาย

ลุงอ๊อดกับป้าอ้อยตั้งชื่อบ้านหลังนี้ว่า ‘บ้านฮิปปี้’ นอกจากเป็นที่พักอาศัยในบั้นปลายของชีวิต บ้านหลังนี้ยังเอื้อเฟื้อพื้นที่ให้นักเดินทางเข้ามากางเต็นท์โดยไม่คิดค่าบริการ

ชีวิตที่เรียบง่ายน่าจะเป็นความฝันเล็กๆ ที่มนุษย์ทุกคนต้องการ เรื่องราวของลุงอ๊อดกับป้าอ้อยบอกเราว่า แม้แต่ความฝันที่ดูเหมือนจะง่ายอย่างการมีชีวิตเรียบง่าย ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากไม่มีการวางแผนที่รอบคอบและรัดกุม

ในทางกลับกัน ความฝันที่ดูไกลห่างความจริงอย่างการเดินทางรอบโลก ก็ไม่ได้ยากจนเกินเอื้อม หากมีการเตรียมพร้อม วางแผน อดทน และรอคอย เพราะก่อนที่ทั้งสองจะออกเดินทางรอบโลก ลุงอ๊อดกับป้าอ้อยใช้เวลาจัดกระเป๋าเดินทางมาทั้งชีวิต

1 คน 1 ปม

ตอนที่ยังเป็นเด็ก ‘ลุงอ๊อด’ – ดำเนิน ยาท้วม มีความฝันอยากเดินทางไปทุกหนแห่งที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตนเอง ไม่ว่าจะต่างจังหวัด ต่างประเทศ ต่างทวีป หรือรอบโลก แต่ด้วยฐานะทางบ้านเอื้ออำนวยให้เดินทางไปได้ไกลสุดเพียงต่างอำเภอ

“ตอนนั้นลุงได้แต่บอกตัวเองว่า วันหนึ่งถ้าเราพร้อม จะต้องไปเที่ยวรอบโลกให้ได้”

ลุงอ๊อดเดินทางเข้าสู่วัยหนุ่มด้วยการเป็นข้าราชการครู ชีวิตดำเนินไปตามขั้นตอน เลี้ยงชีพ แต่งงาน สร้างครอบครัว และมีลูก ทุกก้าวย่างที่ลุงอ๊อดพาชีวิตไปข้างหน้าจำเป็นต้องเข็นเอาความฝันที่อยากจะเดินทางรอบโลกหลบจากเส้นทางหลักของชีวิตเสียก่อน

“ตอนเป็นเด็ก เราไม่ได้ไปไหนเพราะไม่มีเงิน พอทำงานเริ่มมีเงินก็ยังไปไหนไม่ได้อยู่ดี เพราะมีภาระเรื่องงาน หลังจากนั้นก็มีครอบครัว มีภาระดูแลลูก จนกระทั่งหมดภาระทุกอย่างแล้ว ลูกๆ เติบโตกันหมดแล้ว เราจึงมาทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง” ลุงอ๊อดเล่า

ปี 2552 ลุงอ๊อดเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด หลังจากนั้นใช้ชีวิตเป็นวิทยากรเดินสายอบรมข้าราชการครูทั่วประเทศ เมล็ดพันธุ์ที่หยั่งรากอยู่ภายในเติบโตเป็นต้นไม้ที่ผลผลิตกำลังจะสุกงอม นักเดินทางคนแล้วคนเล่าออกเดินทางทั่วโลก ก่อนจะนำเอาความทรงจำและประสบการณ์ของตนมาบอกเล่า ลุงอ๊อดได้แต่ซึมซับความทรงจำมือสองจาก   ยูทูบเบอร์นักเดินทาง แม้การเดินทางยังไม่เริ่มต้น แต่ก็เริ่มเห็นเค้าลางบางอย่าง ในตอนนั้นลุงอ๊อดรอแค่เวลาที่จะชักชวนเพื่อนร่วมทางอีกคนให้กุมมือออกเดินทางด้วยกัน

‘ป้าอ้อย‘ – สนทยา ยาท้วม ชอบวิชาภูมิศาสตร์ เก่งภาษาอังกฤษ และรักที่จะจดจำชื่อแม่น้ำสายสำคัญๆ ของโลก เฝ้าฝันที่จะเดินทางไปยังดินแดนน่ามหัศจรรย์ที่ซ่อนตัวอยู่อีกซีกโลก แต่ในความเป็นจริงชีวิตของป้าอ้อยก็ไม่ได้ต่างจากลุงอ๊อดผู้เป็นคนรักของเธอ ป้าอ้อยไม่เคยไปไหนไกลเกินบ้านเกิดที่จังหวัดอุตรดิตถ์ กระทั่งอายุ 25 ปี ถึงได้มีโอกาสไปบางแสนและเห็นทะเล

“ทะเลมีรสเค็ม เราก็จดจำรสชาติเพื่อกลับไปบอกคนที่บ้าน” ป้าอ้อย ย้อนความหลังถึงรสชาติของน้ำทะเลที่เธอได้ลิ้มลองเป็นครั้งแรกในชีวิต

ขณะที่การตระเวนหาซื้อข้าวเหนียวส้มตำที่จังหวัดร้อยเอ็ด แต่พบเพียงข้าวมันไก่ ได้สั่นคลอนภาพจำที่ป้าอ้อยเชื่อมาตลอดว่าคนอีสานกินแต่ข้าวเหนียวส้มตำ

ด้วยเหตุนี้ ข้าวมันไก่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดจึงเป็นแรงผลักดันให้ป้าอ้อยปักหมุดในใจ ว่าชีวิตนี้ต้องออกเดินทางเพื่อไปเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยตาตนเอง

“ป้าเป็นคนชอบกินข้าวเหนียวส้มตำมาก เราก็คิดว่าไปถึงร้อยเอ็ดทั้งทีจะต้องกินส้มตำต้นตำรับให้ได้ ปรากฏว่าพอไปถึงจังหวัดร้อยเอ็ด ไม่มีข้าวเหนียวส้มตำขายค่ะ มีแต่ข้าวมันไก่ มันทำให้การรับรู้เดิมของเราสั่นคลอน เราคิดมาตลอดว่าที่อีสานก็ต้องกินแต่ข้าวเหนียวส้มตำ แต่ความจริงคือเขาก็กินอย่างอื่นด้วย ไม่ได้กินส้มตำอย่างเดียว มันทำให้เรายิ่งคิดว่า เราต้องออกไปดูไปรู้ไปเห็นโลกใบนี้ให้ได้ สิ่งที่เราเรียนหรือรับรู้มาจากห้องเรียนอาจจะไม่จริงก็ได้ เราต้องไปสัมผัสด้วยตัวเอง” ป้าอ้อยเล่า

หลังจากวันนั้นป้าอ้อยจึงเริ่มเตรียมความพร้อมทั้งทุนทรัพย์และความกล้าหาญรอคอยเวลาที่เหมาะสม จนกระทั่งลาออกจากการเป็นข้าราชการ จึงตัดสินใจชักชวนเพื่อนร่วมทางคนสำคัญที่สุดในชีวิต     เพื่อจูงมือกันไปทำตามฝันที่ทั้งสองมีร่วมกัน

“ป้าชวนลุงไปต่างประเทศหลายครั้ง แต่ลุงไม่ไป ลุงหยุดทำงานตอนอายุ 55 พอถึงวันนั้นลุงก็ยังไม่ยอมไปอีก เขาบอกว่าเหนื่อย อยากจะหยุดพัก จนกระทั่งลุงอายุ 58 ปีเต็ม ลุงเกิดเดือนมกราคม เราเริ่มเดินทางเดือนกุมภาพันธ์ 2558” ป้าอ้อยเล่า

อินเดียคือจุดหมายแรกของนักเดินทางวัยเกษียณ ทริปนั้นเป็นการเดินทางไปกับคณะทัวร์ราคามิตรภาพและเป็นเหมือนการศึกษาดูงานก่อนออกเดินทางท่องเที่ยวกันเอง

“ถ้าเราผ่านอินเดียมาได้ เราน่าจะไปทุกแห่งบนโลกได้” นี่คือประสบการณ์ที่ป้าอ้อยได้รับจากทริปแรก และก็จริงตามนั้น อินเดียเป็นประตูบานแรกที่ช่วยสอนอะไรหลายอย่างให้กับสองนักเดินทางวัยเกษียณ

“กลับจากอินเดีย ลุงอ๊อดบอกว่าถ้าเราสามารถแบกเป้ไปกันเอง เราจะประหยัดงบไปเยอะเลย” หลังกลับจากทริปอินเดีย ลุงอ๊อดคิดคำนวณค่าใช้จ่าย ค้นหาข้อมูลทั้งภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ภูมิอากาศ ประวัติศาสตร์ อาหาร วัฒนธรรม ภาษา อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อเตรียมตัวออกเดินทาง

ทั้งสองเลือกวิธีแบกเป้เพราะวิธีนี้จะทำให้ออกเดินทางไปได้ไกล และใช้เงินได้อย่างคุ้มค่า

2 คน 1 ความฝัน

ลุงอ๊อดเป็นนักวางแผน ขณะที่ป้าอ้อยเก่งภาษาอังกฤษ ถ้าลุงอ๊อดเป็นฝ่ายบุ๋น ป้าอ้อยก็น่าจะเป็นฝ่ายบู๊ นี่คือส่วนผสมของเพื่อนร่วมทางและคู่ชีวิตในทริปแบกเป้เที่ยวรอบโลก

“ก่อนออกเดินทาง ลุงอ๊อดจะใช้เวลาอยู่หน้าจอค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศนั้นประเทศนี้ ค้นหาสิ่ง ที่ น่าสนใจในประเทศที่จะไป จำนวนประชากรมีเท่าไหร่ ค้นหาแม้กระทั่ง GDP ของประเทศนั้นๆ แล้วมาดูว่า เงินที่เรามีอยู่สามารถไปที่ไหนได้บ้าง” ป้าอ้อยเล่า

ในวันนั้น ป้าอ้อยยังคงแข็งแรง แต่ด้วยน้ำหนักของสัมภาระที่พาดบนบ่าก็ถือว่าหนักสำหรับสตรีนักเดินทางวัย 57 ปี

“ป้าเป็นคนลุยและอึด น่าจะอึดกว่าลุงเสียอีก แต่เราแบกน้ำหนักได้ไม่เยอะ การที่เราต้องแบกเป้เดินทางไกล เราต้องมาดูก่อนว่าควรจะมีอะไรบ้างในกระเป๋าเดินทางของเรา”

ฟังราวกับคำตอบเชิงนามธรรมที่ยังคงใช้ได้เสมอไม่ว่ากับเรื่องการเดินทางหรือการใช้ชีวิต

“สนามบินจะให้น้ำหนักของกระเป๋าเราแค่คนละ 7 กิโลกรัม ป้าก็แบก 5 กิโล ลุงก็จะแบกน้ำหนักอีก 2 กิโลของป้า รวมกับของเขาเป็น 9 กิโล เวลาที่เราไปเที่ยวกันสองคน      แล้วไม่พอใจกันระหว่างเดินทาง เราอาจจะโต้แย้งกันได้ แต่จะรีบเคลียร์เพื่อปรับความเข้าใจกันทันที” ป้าอ้อยเล่า

ในการเดินทางแต่ละทริป ทั้งสองจะใช้เวลาเดินทางครั้งละหลายวัน บางทริปใช้เวลาร่วมสองเดือน การเตรียมตัวให้พร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งเป็นหน้าที่ของลุงอ๊อด

“การที่เราแบ็กแพ็กไปครั้งละหลายวัน สิ่งที่น่ากังวลมีหลายอย่าง เรื่องสถานที่และการเดินทางเราสามารถค้นคว้าและวางแผนล่วงหน้าได้ เรื่องความปลอดภัยก็กังวล เราแก้ปัญหาด้วยการพกนกหวีดไปคนละอัน ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันก็ให้เป่านกหวีดดังๆ ส่วนกระเป๋าสตางค์เราจะไม่ใส่ในกระเป๋ากางเกง เราจะหากระเป๋ามาคล้องไว้กับตัวข้างหน้า แล้วสอดไว้ในเสื้ออีกที เรื่องสุขภาพเราก็ไปปรึกษาหมอก่อนเดินทาง อย่างตอนไปอเมริกากลาง อเมริกาใต้ เราก็ต้องพกยาแก้โรคแพ้ความสูง (Altitude Sickness) เพิ่มจากยาพื้นฐานที่เราพกไปเต็มพิกัด เมื่อเราตระเตรียมทุกอย่างจนพร้อม เราก็มั่นใจว่าเดินทางไปกันได้แล้ว”

พม่าเป็นทริปที่สอง แต่ถือเป็นทริปแรกที่ทั้งสองแบกเป้เดินทางกันเอง ก่อนที่จะเดินทางไปจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา รวมถึงหลายประเทศในทวีปอเมริกากลาง อเมริกาใต้ แอฟริกา และอีกหลายประเทศที่ไม่สามารถกล่าว ในบทความนี้ได้ทั้งหมด เพราะมีจำนวนมากถึง 95 ประเทศ ใช้เงินไปทั้งสิ้น 2 ล้านบาท

95 ประเทศ / 2 ล้านบาท

“ถ้าเฉลี่ยแล้ว เราใช้เงินประเทศละ 10,000 บาทต่อคน เราต้องประหยัดมากในการเดินทาง 95 ประเทศ เราไม่ได้นั่งในร้านอาหารเลย มีแต่ซื้ออาหารตามร้านสะดวกซื้อ หรือไม่ก็ซื้ออาหารสตรีทฟู้ดที่ชาวบ้านพื้นถิ่นเขากินกัน เราก็กินแบบนั้น รูปแบบการเดินทางก็ซื้อตั๋วรถไฟแบบ พาส ( Pass ) ส่วนค่าที่พักเราประหยัดสุดๆ ตรงไหนนอนฟรีได้เราก็จะนอน เช่น สถานีรถไฟ สวนสาธารณะ ถ้าตรงไหนนอนฟรีไม่ได้เราใช้วิธีเดินทางกลางคืนเพื่อให้ไปถึงที่หมายตอนเช้า ถ้าเป็นรถยนต์เรานั่งรถท้องถิ่น อะไรที่ถูกที่สุด      เราเลือกสิ่งนั้น แต่เราก็อยู่ได้” ลุงอ๊อดเล่า

การหลงทางไม่ใช่สิ่งที่นักเดินทางปรารถนา แต่เมื่อมันเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ก็จะกลายเป็นประสบการณ์และความทรงจำที่มีความหมายเมื่อมองย้อนกลับมา

การเดินทาง ณ ชายแดนอิตาลีกับสวิตเซอร์แลนด์ ได้มอบประสบการณ์ที่มีค่า ให้ แก่ลุงอ๊อดกับป้าอ้อย เพราะทั้งสองพลัดหลงกันที่นั่น

วันนั้นเป็นวันที่จะต้องเดินทางข้ามพรมแดนจากเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ไปยังเมืองเบลลินโซนา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งสองซื้อตั๋วรถไฟและขึ้นนั่งประจำบนที่นั่งแล้ว แต่ก่อนรถไฟจะออกไม่กี่นาที ป้าอ้อยเพิ่งรู้ตัวว่าตั๋วเดินทางยังไม่ได้ valid

ลุงอ๊อดที่สวมเพียงเสื้อกล้ามกับกางเกงเลกกิ้งจึงรีบนำตั๋วทั้งสองใบวิ่งลงรถไปทำการ valid ทันใดนั้นรถไฟก็เคลื่อนขบวนออกเดินทาง ทิ้งลุงอ๊อดไว้ที่สถานีเมืองมิลาน ส่วนป้าอ้อยนั่งอยู่บนรถไฟมุ่งหน้าไปเบลลินโซนาเพียงลำพัง

“ป้ารีบบอกเจ้าหน้าที่ว่า สามีของฉันวิ่งลงไป valid ตั๋ว เขาขึ้นรถไฟไม่ทัน ไม่มีอะไรติดตัวเลย ไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีเงิน มีแค่ตั๋วสองใบนั้น เขาก็บอกให้ป้าลงสถานีหน้า แล้วจับรถไฟที่จะวิ่งย้อนกลับมาที่มิลาน”

แต่วันนั้นป้าอ้อยต้องแบกสัมภาระของทั้งคู่ จึงทำให้เดินทางไปขึ้นรถไฟไม่ทัน พอไปถึงมิลานก็ไม่เจอลุงอ๊อดเสียแล้ว

คืนนั้นป้าอ้อยนอนไม่หลับ หลังจากแจ้งความที่สถานีตำรวจและสถานทูต ป้าอ้อยกลับมาพักผ่อนและก็คิดได้ว่า ลุงอ๊อดที่ป้าอ้อยรู้จักเป็นคนมุ่งมั่น ถ้าจะไปที่ไหนเขาต้องไปให้ได้ วันรุ่งขึ้นป้าอ้อยจึงตัดสินใจเดินทางไปที่เมืองเบลลินโซนา ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ทั้งสองจะมุ่งหน้าไป

“พอป้าลงรถ ลุงก็โผล่เข้ามาหาเลย” ป้าอ้อยเล่า

หลังจากรถไฟพรากป้าอ้อยกับลุงอ๊อดแยกจากกัน ลุงอ๊อดในชุดเสื้อกล้ามกับกางเกงเลกกิ้งก็หาทุกวิธีที่จะไปยังเมืองเบลลินโซนา จนสามารถไปถึงที่นั่นในตอนดึกที่อากาศหนาวเหน็บ และบังเอิญพบว่าที่ห้องหลบลมของสถานีรถไฟไม่ได้ล็อกประตู ลุงอ๊อดจึงได้อาศัยเป็นที่หลับนอน พอตื่นเช้ามาด้วยความหิว ลุงอ๊อดก็ไปเก็บเอาอาหารที่เหลือทิ้งมากินเป็นมื้อเช้าประทังชีวิต

“ที่ยุโรป ถ้ากินอาหารไม่หมด เขาจะไม่ทิ้งถังขยะ แต่จะเก็บอาหารที่เหลือไปวางข้างๆ ถังขยะ เพื่อให้คนไร้บ้าน คนไม่มีจะกินมาเก็บไปกิน ลุงก็ได้ประสบการณ์เพิ่มมาอีกอย่างในการเก็บอาหารเหลือของคนอื่นมาประทังชีวิต ส่วนความหนาวก็ไม่หนาวมาก หลับสบาย”

ลุงอ๊อดเล่าประสบการณ์น่าตื่นเต้นในวันนั้น ขณะที่ แววตาของป้าอ้อยระหว่างฟังเรื่องราวของสามีเต็มไปด้วยอารมณ์หลากหลาย โดยรวมแล้วเป็นสายตาที่บอกว่า ‘รัก’ นี่แหละความทรงจำที่การเดินทางมอบให้ เปี่ยมล้นไปด้วยคุณค่า และมีแต่ผู้ประสบพบเจอมากับตัวเท่านั้นจึงจะมองเห็นคุณค่าของมันแวววาวราวอัญมณี

กระเป๋า 2 ใบของนักเดินทาง

“เราสองคนมีปมในวัยเด็กและมีความฝันร่วมกัน คือความยากจนและอยากเดินทางรอบโลก”

ลุงอ๊อดบอกว่าการเดินทางไปทำความฝันให้เป็นจริง มีขั้นตอนของมันอยู่

“ขั้นตอนแรก เราต้องมีปัจจัย 4 มาบำรุงชีพก่อน เราต้องมีความมั่นคงให้ครอบครัวและตนเอง หลังจากนั้นเราค่อยแสวงหาความรักความพึงพอใจจากคนรอบข้างญาติมิตรและสังคม จากนั้นก็ต้องมาหาเกียรติยศอีก เมื่อทุกอย่างครบก็จะถึงเวลาในการทำความฝันส่วนตัวให้เป็นจริง” ลุงอ๊อดเล่า

กระเป๋าคือสัมภาระของนักเดินทาง การจัดกระเป๋าจึงเป็นเรื่องสำคัญของนักเดินทาง กระเป๋าคือชีวิตของนักเดินทาง ก่อนจะออกเดินทางรอบโลก ลุงอ๊อดกับป้าอ้อยไม่ได้จัดกระเป๋าล่วงหน้าเพียง 3-4 เดือนก่อนเดินทาง แต่ทั้งสองเตรียมจัดกระเป๋ามาทั้งชีวิต ซึ่งขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ การวางแผนการเงิน

“อะไรก็ตามที่เราฝันหรือปรารถนา เราต้องลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ให้ใครเดือดร้อนกับความฝันของเรา เราฝันกันสองคนใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นเรามาทำฝันร่วมกันให้เป็นจริง นั่นคือการวางแผนการเงิน เราวางแผนเลยว่า เราจะมีชีวิตถึงวันไหน แล้วกว่าที่ชีวิตจะถึงวันสุดท้ายเราต้องใช้เงินเท่าไหร่ ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยต้องใช้เงินเท่าไหร่ เรากันเงินส่วนนี้เอาไว้เลย เหลือจากนั้นค่อยเอามาทำตามความฝัน สุดท้ายแล้วเงินจำนวนนี้ สามารถพาเราไปได้กี่แห่งไปด้วยวิธีไหน ถ้าไม่พอจะหาจากตรงไหนมาเพิ่ม” ป้าอ้อยเล่า

ลุงอ๊อดกับป้าอ้อยแบ่งเงินที่หามาได้ออกเป็น 3 ก้อน ก้อนที่ 1 สำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน ก้อนที่ 2 สำหรับบั้นปลายชีวิตในอนาคต และก้อนที่ 3 สำหรับการเดินทาง

“เราไม่ได้มีตัวเลขในใจว่าต้องมีเงินเท่าไหร่จึงจะสามารถเดินทางได้ เราคิดแค่ว่าช่วงนี้เราทำงานได้ เราก็ทำอย่างเต็มที่ เพื่อว่าวันหนึ่งที่เราไม่ต้องทำงานอีกแล้ว เราจะได้ทำตามความฝันของเรา ตอนที่ป้ายังทำงาน ป้าได้เงินมาก็เก็บ ระหว่างเก็บเงินตัวเลขในบัญชีมันก็เพิ่มขึ้น เรามีรถแล้ว บ้านก็มี ร่างกายเราก็บริจาคให้โรงพยาบาล ลูกๆ ก็ทำงานแล้ว ไม่มีอะไรให้ห่วงแล้ว เงินเราก็จัดสรรมาแล้ว ที่สำคัญถ้าเราป่วยติดเตียง เราเตรียมเงินก้อนนี้ไว้ไม่ให้ลูกๆ ต้องลำบากกับความเจ็บป่วยของเรา จนกระทั่งเราจากโลกนี้ไป เราเขียนพินัยกรรมไว้ให้ลูกเลยว่า ถ้าแม่เสียชีวิตที่กรุงเทพฯ ให้เรียกรถจากโรงพยาลบาลรามาธิบดี ถ้าอยู่เชียงใหม่ให้เรียกรถจากโรงพยาบาลมหาราช” ป้าอ้อยแจงรายละเอียดแผนการจัดกระเป๋าเดินทางของชีวิตอย่างละเอียดยิบ

“คุณค่าชีวิตของผู้สูงวัยเราจะต้องอยู่ได้ด้วยตัวของเราเอง มีสุขภาพดี ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น” นี่คืออุดมคติในชีวิตของป้าอ้อย

บ้าน 1 หลังของคู่ชีวิต

หากการเดินทางรอบโลกคือการบรรลุความฝันครั้งใหญ่ของลุงอ๊อดกับป้าอ้อย การได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในสถานที่ที่อากาศดีก็เป็นอีกความฝันหนึ่งที่ทั้งสองกำลังลงมือทำผ่านโมงยามที่ผ่านไปแต่ละวัน

ปัจจุบัน ลุงอ๊อดกับป้าอ้อยย้ายมาพำนักที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเชียงดาวอากาศดี เมฆสวย มองเห็นภูหลวงเชียงดาว มีบ้านที่ล้อมรอบด้วยสวนลำไย พืชผักสวนครัว แม่น้ำปิง โดยทั้งคู่ตั้งชื่อบ้านที่สะท้อนตัวตนของผู้อาศัยว่า ‘บ้านฮิปปี้’

ฮิปปี้ในความหมายของการแบ่งปันและเรียนรู้เรื่องราวระหว่างการเดินทาง

“นี่ก็คืออีกความฝันหนึ่งของชีวิตเหมือนกัน การมีชีวิตที่เรียบง่าย” ลุงอ๊อดเล่าถึงความฝันสำคัญของชีวิต และบอกว่า “เราฝันว่าอยากจะมีชีวิตบั้นปลายที่เรียบง่าย ใช้ชีวิตในที่อากาศดีๆ อย่างเชียงใหม่ที่บ้านฮิปปี้เราเปิดเป็นลานกางเต็นท์ฟรีด้วย เพราะเราอยากให้คนอื่นมีโอกาสได้เที่ยวบ้าง”

บ้านฮิปปี้ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวที่แวะผ่านมา โดยเอื้อเฟื้อพื้นที่สำหรับกางเต็นท์พักค้างคืนโดยไม่คิดค่าบริการ นักท่องเที่ยวสามารถใช้ห้องครัวและห้องน้ำ มีที่นอนให้พักชั่วคราว เพื่อให้นักเดินทางได้เก็บเกี่ยวเรี่ยวแรงแล้วเดินทางต่อไป เหมือนที่ครั้งหนึ่งลุงอ๊อดกับป้าอ้อยได้ประสบกับความเหนื่อยล้าระหว่างการเดินทางรอบโลก

“ที่พักสำคัญมากสำหรับนักเดินทาง ถ้าเขาได้เจอที่พักที่เหมาะสม ราคาไม่แพงมาก เขาก็จะได้มีเรี่ยวแรงและกำลังทรัพย์ที่จะเดินทางต่อไป” ลุงอ๊อดเล่า

ปัจจุบันลุงอ๊อดพำนักอยู่ที่บ้านฮิปปี้ ขณะที่ป้าอ้อยแบ่งเวลาใน 1 เดือน ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนละ 10 วันในการเดินทางไปยังบ้าน 3 หลัง 10 วันแรกป้าอ้อยอุทิศให้ลูกๆ ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะขึ้นมาดูแลแม่วัยชราที่อุตรดิตถ์ และ 10 วันสุดท้ายของเดือนค่อยขับรถขึ้นมายัง ‘บ้านฮิปปี้’ เพื่อใช้เวลาอยู่กับคู่ชีวิตของเธอ

เหตุผลหนึ่งที่บ้านฮิปปี้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามากางเต็นท์ฟรี ก็คือกุศโลบายของป้าอ้อยในการหาเพื่อนให้ลุงอ๊อด เพราะกลัวคนรักเหงา

“ป้าเป็นห่วงลุงว่าเขาจะเหงา เพราะป้าต้องเดินทางไปหาแม่ที่อุตรดิตถ์ ไปหาลูกที่กรุงเทพฯ ป้ากลัวเขาจะเหงาตอนที่เราไม่อยู่ ก็เลยคิดว่าอะไรที่จะทำให้คนเดินทางเข้ามาหาลุง ซึ่งพื้นที่ของเราไม่เหมาะจะทำธุรกิจ แต่ถ้าเราเปิดลานกางเต็นท์ฟรีน่าจะมีคนสนใจแวะมาหาลุงบ้าง” ป้าอ้อยเล่า

“แล้วก็มีคนแวะมาหาหลายรายแล้ว เป็นเพื่อนที่เราไม่รู้จักด้วย” ลุงอ๊อดยิ้ม

“ความฝันในแต่ละช่วงวัยไม่เหมือนกันใช่ไหมคะ” ป้าอ้อยเกริ่นและพูดต่อว่า “แต่ต้องมีสักฝันหนึ่งแหละที่เป็นฝันอันยิ่งใหญ่ในชีวิต อย่างของป้าคือการเดินทางรอบโลก อยากมีบ้านที่เราอยากอยู่ ถ้าเรามีฝัน เราต้องลงมือทำตามความฝันอย่างมีขั้นตอน มีก้าวย่างที่มั่นคง เมื่อเจอความผิดพลาดก็ค่อยๆ แก้ไข เพื่อกลับมาเดินตามเส้นทางที่เราวางไว้ เมื่อเราทำตามความฝันสำเร็จ ก็จะเกิดความรู้สึกปีติ”

เราถามลุงอ๊อดว่าอะไรคือสิ่งน่าปีติที่พบพานในชีวิตวัย 65 ปี ลุงอ๊อดกล่าวถึงสตรีที่มีอายุ 64 ปี ซึ่งอยู่ร่วมในวันคืนอันยาวนานผ่านการจัดกระเป๋าเดินทางและเคียงข้างทั้งในทริปท่องเที่ยวและทริปของชีวิต

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ