โครงการตะกร้านกกระสา ตะกร้าทิ้งเด็กสำหรับแม่ไม่พร้อม

“ผมคิดว่าดีแล้วที่ครอบครัวเอาผมมาทิ้งไว้ที่นี่”

คือประโยคที่มิยาสึ โคอิจิวัย 18 ปีกล่าวในคลิปการสัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

“ผมได้พบครอบครัวในปัจจุบันและมีชีวิตอย่างที่ผมมีได้ทุกวันนี้เพราะตะกร้านกกระสา”

โคอิจิเป็นหนึ่งในเด็ก 161 คนที่ครอบครัวนำมา ‘ทิ้ง’ ไว้ที่ ‘ตะกร้านกกระสา’ของโรงพยาบาลจิเคย์ เมืองคุมาโมโตะ จังหวัดคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น และเป็นเด็กจากตะกร้านกกระสาคนแรกที่ออกมาบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง

โครงการตะกร้านกกระสา เกิดขึ้นในปี 2007 เพื่อให้คุณแม่หรือครอบครัวที่ไม่สามารถดูแลทารกที่เพิ่งเกิด นำเด็กมาทิ้ง โดยประตูตู้จะเชื่อมกับกริ่งที่แผนกเด็กอ่อนของโรงพยาบาล

เมื่อประตูตู้ถูกเปิด พยาบาลแผนกเด็กอ่อนจะได้รับการแจ้งเตือน และสามารถมารับตัวเด็กน้อยได้ทันที รวมทั้งให้คำปรึกษากับคุณแม่และครอบครัวในกรณีที่อาจมีทางออกที่ดีกว่า แต่หากครอบครัวมีความประสงค์จะมอบเด็กให้อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลจริงๆ ทางโรงพยาบาลก็จะรับเด็กมาดูแลและประสานงานกับศูนย์สวัสดิการเด็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กต่อไป

“แค่ประตูบานนี้ก็เปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้แล้ว สำหรับผม ผมมองว่าตะกร้านกกระสาเป็นสิ่งที่จำเป็น ชีวิตของผมหลังถูกนำมาวางไว้ที่นั่นมีความสุขมาก และผมซาบซึ้งในตัวคุณพ่อคุณแม่ที่สนับสนุนผมในหลายๆ เรื่องมาตลอด” โคอิจิกล่าวในการสัมภาษณ์กับสำนักข่าวท้องถิ่น

ปัจจุบันเขาเป็นบุตรบุญธรรมของคุณพ่อมิยาสึ โยชิมิสึและคุณมิยาสึ มิโดริที่รับเขาไปอุปการะหลังจากเขาถูกนำไปวางไว้ในตะกร้านกกระสา

เดิมทีในวันที่ศูนย์สวัสดิการเด็กติดต่อครอบครัวมิยาสึมาว่ามีเด็กคนหนึ่งอยากให้พวกเขาช่วยรับมาดูแล คุณพ่อโยชิมิสึก็ยังกังวลว่า “พวกเขาจะดูแลเด็กเล็กขนาดนี้ไหวหรือเปล่านะ?” แต่เมื่อได้พบเด็กชายโคอิจิแล้ว ความรู้สึกของคุณพ่อโยชิมิสึและคุณแม่มิโดริก็คือ

“เทวดาน้อยๆ ได้มาหาพวกเราแล้ว”

ครอบครัวมิยาสึได้เป็นผู้ฟูมฟักและสนับสนุนเด็กชายโคอิจิเสมอมา ความหมายของชื่อ ‘โคอิจิ’ เองก็ได้รับมาจากคุณพ่อโยชิมิสึ

“เพราะลูกชื่อโคอิจิ พ่อก็อยากให้ลูกมีชีวิตที่เข้มแข็ง เหมือนเรือที่แล่นไปในมหาสมุทรกว้างใหญ่นะ” (ตัว ‘โค’ ในชื่อโคอิจิหมายถึงการล่องไปหรือแล่นไป)

ความจริงชื่อนี้เป็นชื่อที่ตั้งโดยนายกเทศมนตรีเมืองคุมาโมโตะ เนื่องจากตอนที่โคอิจิถูกนำมาวางไว้ที่ตะกร้านกกระสา เขาไม่มีชื่อ ไม่มีวันเกิด ไม่มีช่องทางในการติดต่อครอบครัวแต่อย่างใด เด็กที่ถูกทอดทิ้งในลักษณะนี้จะได้รับการตั้งชื่อโดยนายกเทศมตรี ก่อนส่งไปยังสถานรับเลี้ยงเด็ก ด้วยเหตุนี้ โคอิจิจึงไม่เคยเข้าใจที่มาหรือความหมายของชื่อตัวเอง แต่เมื่อได้คุณพ่อโยชิมิสึเป็นคนคิดให้ ชื่อนี้ก็กลายเป็นชื่อที่มีความสำคัญขึ้นมา

นอกจากนี้ ขณะอยู่ชั้นประถม โคอิจิก็อยากรู้ว่าครอบครัวที่แท้จริงของตัวเองเป็นใคร แม่ที่ให้กำเนิดตัวเองหน้าตาเป็นอย่างไร ทางครอบครัวมิยาสึจึงเข้าไปพูดคุยกับศูนย์สวัสดิการเด็ก จนพบข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวที่ให้กำเนิดโคอิจิ รวมไปถึงสถานที่ฝังศพคุณแม่ของโคอิจิในที่สุด (คุณแม่ของโคอิจิเสียชีวิตในอุบัติเหตุหลังคลอดโคอิจิได้ไม่นาน ทางครอบครัวเป็นผู้นำโคอิจิมาวางไว้ที่ตะกร้านกกระสา)

เรื่องราวของโคอิจิเป็นหนึ่งในเรื่องราวอันงดงามจากตะกร้านกกระสา ที่เปิดให้คุณแม่หรือครอบครัวที่ไม่พร้อมนำลูกของพวกเขามา ‘ทิ้ง’ ได้ ซึ่งตู้ ‘ทิ้ง’ เด็กแบบนี้ ไม่ได้มีอยู่แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

ในประเทศเกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ หรือสหรัฐอเมริกาก็มีหน่วยงานที่ติดตั้งตู้ทิ้งเด็กแบบนี้เหมือนกัน โดยพวกเขามองว่าตู้ทิ้งเด็กสามารถเป็นทางออกให้กับคุณแม่หรือครอบครัวที่สิ้นหวัง และเป็นการช่วยชีวิตทั้ง ‘ลูก’ และ ‘แม่’ ไปพร้อมๆ กัน เด็กได้รับการดูแลและปกป้อง ไม่ต้องเสี่ยงที่จะมีชีวิตที่ยากลำบากหากแม่และครอบครัวไม่พร้อมดูแล

ส่วนตัวคุณแม่เองก็ได้รับชีวิตของตัวเองคืนมา โดยไม่ต้องแบกรับความกดดันของการเป็นแม่ หรือถูกบีบคั้นจนต้องตัดสินใจทำสิ่งที่สุ่มเสี่ยงต่อสวัสดิภาพของตัวเองและลูกน้อย ซึ่งตะกร้านกกระสาของโรงพยาบาลจิเคย์ ก็มีที่มาจากอัตราการทอดทิ้งทารกและการฆาตกรรมเด็กทารกที่สูงขึ้นของประเทศญี่ปุ่น

ในทางกลับกัน หลายหน่วยงานก็ยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับตู้ทิ้งเด็ก อย่างเช่นสหประชาชาติที่มองว่าเด็กมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงที่มาของตนเอง และรู้ว่าพ่อแม่ของตัวเองเป็นใคร ตู้ทิ้งเด็กที่อนุญาตให้แม่หรือครอบครัวนำทารกมาทิ้งไว้อย่างนิรนาม จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในข้อนี้ของเด็ก หรือในประเทศญี่ปุ่นเอง ก็มีข้อสงสัยว่าตู้ทิ้งเด็กจะเป็นตัวช่วยที่ยั่งยืนเพียงไร เพราะอัตราการรับบุตรบุญธรรมในญี่ปุ่นยังต่ำมาก

เด็กที่ถูกนำมาวางไว้ในตะกร้านกกระสามีแนวโน้มจะต้องอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก ระยะยาว ซึ่งสถานรับเลี้ยงเด็กในปัจจุบัน ทั้งขาดแคลนทุนทรัพย์ ขาดแคลนบุคลากร ทำให้ไม่มีอะไรรับประกันว่าเด็กจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อไปอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก

เรื่องราวของโคอิจิเอง ก็ประกอบไปด้วยส่วนผสมของทั้งสองด้าน ในทางหนึ่ง โคอิจิได้มาพบกับครอบครัวมิยาสึที่อบอุ่นในปัจจุบันเพราะตะกร้านกกระสา แต่ในขณะเดียวกัน การต้องเติบโตมาโดยไม่รู้จักครอบครัวที่แท้จริงก็ทิ้งความรู้สึกที่ยุ่งยากไว้ในใจของเขาเช่นกัน

“มีแค่ผมคนเดียวที่ไม่มีรูปตอนเด็ก รอบตัวก็มีแค่ผมที่เป็นแบบนี้ ผมเลยมีความรู้สึกค้างคาใจมากที่ไม่รู้ที่มาของตัวเอง” – โคอิจิให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NHK

“ผมอยากให้คุณทิ้งหลักฐานอะไรไว้บ้าง ให้เขาเห็นว่าที่คุณเอาเขามาวางตรงนี้ เพราะเขาเป็นลูกน้อยที่สำคัญของคุณ และคุณพาเขามาที่นี่เพื่อส่งต่อไปยังครอบครัวอื่นมากกว่าเอามาวางไว้ให้ใครสักคนเอาไปดูแลเฉยๆ วันหนึ่งเด็กคนนี้จะอยากรู้ที่มาของตัวเอง และถ้าคุณทิ้งอะไรบางอย่างไว้ให้เขา มันจะช่วยให้เขาอุ่นใจได้มาก ผมอยากให้คุณทิ้งอะไรสักอย่างไว้ จะแค่ภาพถ่าย เสื้อผ้า หรือจดหมายก็ได้”

ในปัจจุบัน โรงพยาบาลจิเคย์ยังคงให้บริการตู้ทิ้งเด็กที่ชื่อตะกร้านกกระสาอยู่ แต่นอกจากการรับทารกน้อยมาดูแลแล้ว โรงพยาบาลยังมีบริการสายด่วนให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ 24 ชั่วโมง ที่คุณแม่สามารถขอคำปรึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่ต้องเปิดเผยตัวตน เพื่อให้คุณแม่มีตัวเลือกอื่นๆ นอกจากการนำลูกมาทิ้งที่โรงพยาบาล ซึ่งตัวเลือกก็อาจมีทั้งการเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเอง หรือการฝากลูกไว้กับสถานเลี้ยงเด็กหรือครอบครับอุปถัมป์เป็นการชั่วคราว

ในกรณีที่คุณแม่หรือครอบครัวไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้จริงๆ หรือไม่สามารถขอคำปรึกษา โรงพยาบาลยังมี “จดหมายถึงคุณแม่” วางไว้ในกล่อง ซึ่งในจดหมายจะมีช่องทางให้คุณแม่ติดต่อโรงพยาบาลสำหรับทิ้งชื่อหรือข้อมูลเกี่ยวกับทารกเอาไว้ หรือในกรณีที่คุณแม่เปลี่ยนใจและต้องการปรึกษากับทีมแพทย์และพยาบาล ในกล่องจะมีปุ่มอินเตอร์โฟนสำหรับติดต่อบุคลากรของโรงพยาบาลเช่นกัน

แม้ตะกร้านกกระสาจะยังคงอยู่ แต่ตอนนี้โรงพยาบาลจิเคย์ก็อยากให้คุณแม่ทุกคนได้ลองปรึกษากับบุคลากรของโรงพยาบาลก่อน เพราะคุณแม่ไม่จำเป็นต้องทนทุกข์กับการตัดสินใจนี้คนเดียว และหนทางให้คุณแม่และคุณลูกได้มีความสุขอาจมีมากกว่าที่คิด

ขอบคุณภาพจาก: The Asahi Shimbun

เอกสารอ้างอิง 

Isabel Reynolds, “Baby hatch” highlights Japan fears over adoption

Japan’s only ‘baby hatch’ offers mums a safe and anonymous place to give up newborns, South China Morning Post

Japan’s baby hatch hospital offers mothers ‘last resort’, AFP

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ