Eco-printing การเรียนรู้ตลอดชีวิตของอดีตอาจารย์ผู้หลงรักป่า

ถ้าคุณเคยหลงรักหนังสารคดีอบอุ่นหัวใจที่ชื่อว่า Life is Fruity คุณจะหลงรักเรื่องราวจากป่าในบ้านของคู่รักวัยเกษียณคู่นี้เช่นกัน

Life is Fruity เป็นสารคดีสัญชาติญี่ปุ่นว่าด้วยชีวิตหลังเกษียณของคุณตา ชูอิจิ ทสึบาตะ และคุณยาย ฮิเดโกะ ทสึบาตะ คู่รักที่มีอายุนำหน้าด้วยเลข 9 แต่ยังใช้ชีวิตแข็งแรงสงบสุขตามอัตภาพในบ้านหลังเล็กๆ กลางป่า – ซึ่งเป็นป่าที่พวกเขาปลูกขึ้นเองจากผืนดินร้าง

เช่นเดียวกับเรื่องราวของ รศ.ดร.ทิพาพร พิมพิสุทธิ์ และ ดร.บวร ประพฤติดี​ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เลือกจะใช้ชีวิตหลังเกษียณท่ามกลางต้นไม้สูงใหญ่ที่เธอและเขาร่วมกันลงแรงปลูกไว้อย่างน้อยๆ นับสิบปีก่อนถึงวาระเกษียณ หากจะบอกว่านี่คือ Life is Fruity ที่มีคู่พระนางเป็นคนไทยก็คงจะไม่ผิดนัก


อยากใช้ชีวิตอย่างไร ก็จงวางแผนเช่นนั้น

“เราสองคนตัดสินใจมานาน ตั้งแต่ยังหนุ่มนะ ว่าเราจะกลับบ้าน หมายถึงบ้านที่เราอยู่ได้ มีพื้นที่ แล้วเราจะสร้างป่า เพราะป่าคือลมหายใจของเรา เมื่อผมเดินเข้ามาในป่านี้ ผมก็จะนึกถึงคนญี่ปุ่นที่เดินเข้าไปในป่าของเขา ใช้บำบัดคนชรา แต่ป่าของเราไม่ได้ปลูกไว้เพื่อบำบัดแค่คนชรา แต่จะเป็นป่าซึ่งมีไว้บำบัดทุกๆ คน เป็นลมหายใจที่สะอาด สว่าง และทำให้จิตใจสงบได้ ถ้าเรารู้จักและเข้าใจมัน” ดร.บวรเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ บ้านไร่ไม้งาม ซึ่งเป็นทั้ง บ้านในป่า ป่าในบ้าน และศูนย์เรียนรู้เรื่องผ้าพิมพ์สีธรรมชาติอันดับหนึ่งของจังหวัดตาก (หรือแม้กระทั่งในเมืองไทย) ในตอนนี้

ย้อนกลับไปกว่า 20 ปีก่อน ‘อาจารย์บวร’ และ ‘อาจารย์ทิพาพร’ ใช้เวลาส่วนหนึ่งในขวบวัยทำงานไปกับการวางแผนเกษียณ แผนที่ว่านั้นคือ การพลิกผืนนาผืนหนึ่งในจังหวัดตากให้กลายเป็นป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ อากาศเย็นสบาย และเสียงหริ่งหรีดของบรรดาแมลงทั้งหลาย ทำให้เราแทบไม่เชื่อสายตาว่าป่าผืนนี้เคยเป็นที่นามาก่อน

อาจารย์บวรสนใจเรื่องการฟื้นฟูธรรมชาติมาตั้งแต่ครั้งที่ยังทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย จึงมีประสบการณ์ในการร่วมจัดกิจกรรมปลูกป่าฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมมามากกว่า 30 ปี ความใกล้ชิดและความเข้าใจธรรมชาติของผืนป่าจึงเป็นสารตั้งต้นสำคัญในการเนรมิตที่ดินผืนนี้ ให้กลายเป็นป่าขนาดย่อมๆ ได้ดั่งที่ตั้งใจไว้

“เห็นที่นานี้ครั้งแรก อุ่นใจเลยครับ เพราะอยู่ตรงข้ามกับแม่น้ำปิง แปลว่ามันไม่ยากที่เราจะเปลี่ยนผืนนาที่ทำเคมีมาตลอดให้เป็นป่าได้ เราต้องเข้าใจธาตุ ธาตุดินเราแข็งมาก แต่เรามีน้ำ เรามีลม เรามีแสงอาทิตย์ ตอนนั้นเราสองคนก็ตัดสินใจเลยว่า เราจะขุดดินรอบเลย คนก็ตกใจมากเพราะปกติจะไม่ค่อยขุดดินทิ้งกัน แต่เราจะต้องเอาน้ำเข้ามาให้ได้
“น้ำจะซึมซับเข้าไปในดิน เราก็จะปล่อยให้ต้นไม้เริ่มโต พอต้นไม้โต ก็มีใบหล่นลงมาห่มดิน การปรับตัวความสมดุลของธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะทำให้ต้นไม้โตเอง ต้นไม่ที่ไม่โต ก็แปลว่าเขาปลูกที่นี่ไม่ได้ วันหนึ่งก็จะตายไปตามธรรมชาติ เราใช้เวลาเป็นสิบปีในการเปลี่ยนดินเสียให้เป็นดินดี วันหนึ่งที่เราเห็นไส้เดือนโผล่ออกมา เราใจสบายเลย ประสบความสำเร็จแล้ว ไม่ต้องกลัวแล้ว”

Eco-printing การเรียนรู้ตลอดชีวิตของอดีตอาจารย์ผู้หลงรักป่าและการวิจัย

เมื่อมีความเห็นตรงกัน วางแผนและลงมือปลูกป่าร่วมกันมาหลายสิบปี สุดท้ายในวัยเกษียณที่ปลอดจากภาระการทำงาน อาจารย์บวรและอาจารย์ทิพาพรจึงย้ายมาอยู่ที่จังหวัดตากอย่างถาวร และใช้ชีวิตรายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ลงมือปลูกด้วยตัวเองแทบทั้งหมด

พรรณไม้ในป่าปลูกแห่งนี้เกิดจากความหลงใหลและการทยอยปลูกสะสมมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ทั้งด้วยการพักผ่อนส่วนตัวและด้วยหน้าที่การงาน อาจารย์ทั้งสองท่านจะมีกล้าไม้สำหรับปลูกติดไม้ติดมือกลับมาด้วยทุกครั้ง ทำให้ป่าปลูกแห่งนี้เป็นป่าที่มีความหลากหลาย มีต้นไม้ใบหญ้าสลับสับเปลี่ยนกันผลิบานและร่วงโรยตลอดทั้งปี

“หลังจากที่เรามาดูแลป่าใช่ไหมคะ แต่ละวันๆ เราก็จะต้องดูว่าต้นไม้เป็นอย่างไร มีความสุขไหม ธรรมดาเราจะเอาใบไม้ที่ร่วงมากองๆ ไว้ ทำเป็นปุ๋ยปลูกต้นไม้ต่อหรือไม่ก็ให้เขาห่มดิน ทีนี้ ต้นไม้บางต้นอย่างต้นสมอ ต้นมะฮอกกานี เวลาใบเขาร่วงสีจะสวยมากค่ะ งดงามมากเลย เราเสียดายเนอะ ทำให้เราคิดขึ้นมาว่านอกจากทำปุ๋ยแล้ว เราจะเอาใบไม้มาทำประโยชน์อะไรได้บ้างไหม”


ด้วยความช่างสังเกตนี้ อาจารย์ทิพาพรใช้เวลาในการค้นคว้าจากตำราและอินเทอร์เน็ตนานถึง 6 เดือนจึงเริ่มจับหลักการพิมพ์สีใบไม้ลงบนผ้าได้ แต่ทว่าองค์ความรู้ที่มีอยู่บนโลกออนไลน์เจาะจงไปยังพรรณไม้ในเขตเมืองหนาวเท่านั้น เธอจึงต้องใช้เวลาตั้งสมมติฐาน ลองผิดลองถูก จดบันทึกซ้ำไปซ้ำมาอยู่อีกนานนับปี กว่าจะเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ ว่าด้วยเรื่องการพิมพ์สีของใบไม้ดอกไม้เมืองร้อนลงบนผืนผ้า ซึ่งก็แน่นอนว่า ใบไม้ดอกไม้ที่ว่าก็มาจากป่าในบ้านแห่งนี้นี่เอง

“เราต้องมาทดลองเองหมด ใช้ไม่ได้เลยตั้งแต่วันแรก เราก็ต้องปรับปรุงความเป็นกรดด่างที่เราใช้ เช่น ขี้เถ้า น้ำสนิม จากการที่เราจะถ่ายสีจากใบไม้ลงบนผ้าเรา ปรับไป แล้วก็ถ่ายรูปเก็บไว้ จดบันทึกไว้ เอามาเปรียบเทียบว่าวันนี้เราทำได้เพราะอะไร เราทำไม่ได้เพราะอะไร มันมีปัจจัยอะไรบ้าง เหมือนงานวิจัยเลยค่ะ จากที่ไม่ได้สีเลย แล้วมาวันหนึ่งเราก็เริ่มได้สีแล้วนะ นิดหนึ่งเราก็ภูมิใจแล้ว

“ในชีวิตประจำวัน ตอนบ่ายๆ ดิฉันก็จะเดินออกกำลังกายรอบๆ บ้านเรานี่แหละ เป็นเนิน เป็นเขา เป็นป่า เราก็จะเห็นต้นไม้แปลกๆ มันเป็นธรรมชาติที่งดงาม บางวันก็เอากระดาษทิชชูติดไปด้วย กับน้ำกระบอกเล็กๆ เจอใบไม้สวยๆ ก็ลองเอามาขยี้ๆ เอาน้ำจุ่มๆ แล้วเอาทิชชูซับ ถ้าเขามีสีออกมาบ้าง ไม่ใช่แบบจางๆ อันนั้นน่ะโอเค เราก็จะจำไว้ วันไหนเราทำผ้าเราจะเก็บมาทำ สนุกค่ะ เดิน 5 กิโลเมตรนี่แป๊บเดียวเลย”

จากอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย เมื่อก้าวเข้าสู่โลกของนักพิมพ์ผ้าด้วยสีธรรมชาติ อาจารย์ทิพาพรก็ปรับใช้วิธีการจัดการเรียนรู้เข้ากับศาสตร์ใหม่ได้เป็นอย่างดี ณ วันนี้ หากลองพิมพ์ค้นหา Google ชื่อ ‘ทิพาพร พิมพิสุทธิ์’ นอกจากงานวิจัยในด้านรัฐศาสตร์แล้ว เราก็จะเจอองค์ความรู้เรื่อง Eco-printing พ่วงมาด้วยในปริมาณที่มากพอกัน

“เมื่อเรามีความรู้แล้ว เราก็ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกเหมือนกันว่าเราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้งดงามขึ้น เราเรียนรู้มันไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เรารักมัน การเรียนรู้ตลอดชีวิตทำให้เราเป็นหนุ่มเป็นสาวมากขึ้นนะคะ เพราะเราได้ฝึกสมองอยู่เรื่อยๆ เลย”

เรียนรู้ผ้า เรียนรู้ตัวเอง และส่งต่อความงามของธรรมชาติ

“ตอนแรกๆ ที่ทำเราชอบเปิดเพลง เพราะมันสนุก แต่บางวันเราทำผ้าออกมา เอ๊ะ ผ้ามันสีไม่เหมือนกับที่เราตั้งใจเลย ตอนแรกๆ จะรู้สึกนะคะ ว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ แล้ววันหนึ่งไปดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง นักดนตรีเขาร้องเพลงได้ไพเราะมากเลย เพราะคุณครูสอนให้ร้องโดยไม่มีอะไรอยู่ในสมองเขา พอเจอภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ อ้อ เราไปยึดติดกับผ้า เราไปตั้งความหวังกับเขา

“เราทำไม่ได้เพราะไม่มีสมาธิน่ะค่ะ เราเปิดเพลง ทำให้จิตเราไม่อยู่กับตรงผ้า เลยเปลี่ยนใหม่ แล้วหลังจากนั้นก็ค้นพบว่าการทำด้วยสมาธิ สิ่งนี้แหละคือความสงบเงียบในจิตเรา ถ้าเราสงบเงียบแล้ว ทำด้วยสมาธิตั้งแต่การเตรียมผ้า การวางผ้า การวางใบ การม้วน มัดแน่นไปไหม หลวมไปไหม เวลานึ่ง ไฟพอไหม ดูเวลา เราก็จะเข้าใจ ผ้ามันออกมาอย่างไร ก็สวยเหมือนกัน สวยตามธรรมชาติ สวยหมดทุกผืน นี่คือสิ่งที่เรียนรู้จากการทำผ้า ความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือการไม่ยึดติดอะไร”

แม้จะมีที่ทางในการทำงานอย่างเป็นกิจลักษณะ และมีผลงานสวยๆ เป็นที่ประจักษ์ แต่ท้ายที่สุดอาจารย์ทิพาพรก็ยังออกตัวเสมอว่าเธอยังไม่ใช่แม่ค้าหรือนักออกแบบมืออาชีพ เป็นเพียงแค่คนที่รักธรรมชาติมากๆ คนหนึ่งเท่านั้น

“เรายังไม่ใช่แม่ค้านะ เราเป็นผู้รักธรรมชาติ เราแค่อยากรู้ว่าทำไมคนจึงสนใจ จะทำยังไงในการประชาสัมพันธ์ให้คนรักผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ รักธรรมชาติมากขึ้น ให้รู้จักปลูกต้นไม้ ให้รู้จักสีจากใบไม้ที่มีความงดงามแบบนี้”

จากความชื่นชมในสีสันของใบไม้ที่ร่วงเต็มป่า อาจารย์ทิพาพรและอาจารย์บวรจึงมีเป้าหมายใหม่ว่าจะส่งต่อความงามนี้ไปในวงกว้างให้ได้มากขึ้น ทางหนึ่งคือ บ้านไร่ไม้งาม บ้านในป่าที่ปลูกจากน้ำพักน้ำแรงของคนทั้งสอง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเหมือนโรงเรียนเล็กๆ โอบรับแขกเหรื่อจากนานาสารทิศให้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการพิมพ์ผ้าด้วยสีจากใบไม้ดอกไม้อยู่เสมอ

และอีกทางหนึ่งคือ การนำองค์ความรู้ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติจริงในหลายรอบปีเรียบเรียงออกมาเป็น คู่มือผ้าพิมพ์สีธรรมชาติบ้านไร่ไม้งาม ตีพิมพ์และจัดจำหน่ายในราคามิตรภาพเพื่อส่งต่อให้กับผู้ที่สนใจศึกษาโดยละเอียดแบบไม่มีคำว่าหวงวิชา

“อันนี้คือสมบัติของธรรมชาติค่ะ เราไม่ได้เป็นเจ้าของเขา เพียงแต่เราไปรู้ที่มาของเขาเท่านั้นเอง สิ่งนี้เราก็ควรให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย คนที่เราไปเรียนรู้มาจากที่ต่างๆ ในต่างประเทศ เขายังไม่เคยจดลิขสิทธิ์เลย แล้วเราจะไปจดลิขสิทธิ์ทำไม เราจะไปยึดติดทำไม ธรรมชาติไม่มีตัวกูของกู เขาเป็นของเขาเช่นนั้นเอง เราได้เรียนรู้แล้วก็เอามาทำให้เกิดความสวยงามบนโลกนี้ แค่นี้ก็พอแล้ว”

เมื่อเข้าใจธรรมชาติ ก็จะเข้าใจมนุษย์ข้างกาย

แม้จะไม่ใช่นักขายมือทอง หรือศิลปินผู้ออกแบบลวดลายของผืนผ้า แต่ไม่ว่าผ้าพิมพ์สีธรรมชาติจากบ้านไร่ไม้งามจะไปออกบูธ ไปจัดเวิร์กชอป หรือไปเผยแพร่ที่ไหน เราก็จะต้องเห็นอาจารย์บวรอยู่ร่วมในกิจกรรมนั้นเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับอาจารย์ทิพาพรเสมอ

ไม่ใช่เพียงเพราะเริ่มต้นมาด้วยกัน แต่เป็นเพราะคนทั้งคู่ ‘ใช้ชีวิตไปด้วยกัน’ ต่างหาก

“เราจดบันทึกหมดทุกอย่างเลยจริงๆ แม้กระทั่งการที่เราอยากจะไปวิจัยตลาด ตอนแรกอาจารย์บวรก็ไม่เห็นด้วยเลยเรื่องการวิจัยตลาด แต่ก็จะเป็นคนคอยนั่งดูว่า คนอายุประมาณเท่าไรจะสนใจเรื่องผ้าแบบไหน เขาถามเรื่องอะไร ความรู้ที่เขาต้องการจะรู้คือเรื่องอะไร คนที่ชอบผ้าเรา ซื้อผ้าไปแล้ว เขามีฟีดแบ็กอย่างไร”

แม้แต่การขับรถ ถางหญ้า ตัดแต่งกิ่งไม้ใน ‘ป่า’ ขนาดย่อมที่ทั้งสองคนร่วมกันสร้างขึ้น และการร่วมหัวจมท้ายไปกับงานใหม่ในฐานะนักทำผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ ก็ถือเป็นงานประจำของอาจารย์บวรในวัยหลังเกษียณ

“ถึงแม้จะเกษียณอายุแล้วเรายังทำงานปกติเลยนะ ผมยังเดินทุกวัน ยังตัดหญ้าได้ ผมมีมีดพร้า มีเลื่อย  ไม่ว่าเราจะทำอะไรเราก็จะทำด้วยความรัก ความสนุก ถึงแม้จะเหนื่อยแต่เราก็จะชนะทุกอุปสรรค เพราะเรามีความรักที่จะทำมัน”

ชีวิตคู่ที่เข้าอกเข้าใจกันในวัยหลังเกษียณอาจเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือไปจากความคิดของคนส่วนใหญ่ แต่อาจารย์ทิพาพรกลับบอกว่า เมื่อเราเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติ เราก็จะเข้าใจสิ่งนี้ได้เช่นกัน

“ดิฉันคิดว่าการใช้ชีวิตร่วมกันก็คือการเข้าใจซึ่งกันและกัน การเข้าใจความเป็นมนุษย์ ซึ่งความเป็นมนุษย์ก็มีการปรุงแต่ง มีอารมณ์ มีหลายอย่างที่ไม่เห็นพ้องกัน แต่สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเมื่อเราสนใจธรรมชาติ เราเข้าใจธรรมชาติด้วยกัน เราก็จะเข้าใจความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เข้าใจความเป็นตัวตนที่อาจจะแตกต่างกัน

“เราเข้าใจต้นไม้ที่ทำร่วมกันมาตั้งแต่ตอนเป็นอาจารย์ เราก็เรียนรู้ซึ่งกันและกันตลอดมา มันมีจุดร่วมกันอยู่ในส่วนนี้ ถึงแม้จะมีความแตกต่างในบางอย่าง แต่เราก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติเช่นนั้นเอง (หัวเราะ) มันเข้าหากันได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทำอะไรเราก็จะปรึกษาหารือกัน คิดยังไง แบบนี้โอเคไหม เรามีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วเราจะปรับเข้าหากันยังไง อันนี้คือสิ่งสำคัญ เราคิดร่วมกัน เราทำร่วมกัน”

ธรรมะที่เรียบง่ายและเถรตรงในคำบอกเล่าของอาจารย์ทิพาพรข้างต้นนี้ คือสิ่งที่ตกตะกอนออกมาจากการใช้ชีวิตร่วมกันของคนสองคนมาหลายสิบปี

ผ้า ป่า ธรรมะ ธรรมชาติ และชีวิต

“ผ้าหนึ่งผืนก็เหมือนชีวิตค่ะ ชีวิตของการเรียนรู้ ปฏิบัติ และอดทน เรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงเหตุปัจจัยต่างๆ กว่าจะมาเป็นผ้าหนึ่งผืน อันนี้คือความรู้อันไร้ขอบเขต ผ้าแต่ละผืนที่เราจะทำ จึงเหมือนชีวิตที่เราสะสมมา”

ก่อนจบบทสนทนาในวันนั้น อาจารย์ทิพาพรได้สะท้อนสิ่งที่เรียนรู้จากการทำผ้า การปลูกป่า และการใช้ชีวิตไว้ดังนี้

“ผ้าพิมพ์สีธรรมชาติทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ธรรมชาติมันมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ได้สีต่างกัน มันเป็นสีส้ม สีเหลือง สีเทา เพราะอะไร อ๋อ เพราะอาหาร เหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้มันปรุงอาหารได้ แล้วก็ลงลึกไปเรื่อยๆ ถ้าเราเข้าใจแบบนี้แล้วเราก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้ว่า อ๋อ ถ้าเราจะให้เสื้อเราพิมพ์สีได้สวย เราจะต้องเอาใบที่มันมีอาหาร อาหารเยอะก็มีเม็ดสีเยอะ แล้วเม็ดสีเยอะมันจะต้องอยู่ฤดูไหน อากาศแบบไหน อย่างนี้

“ถ้าเราเข้าใจสิ่งนี้แล้วเราจะสบายเลย เราจะภูมิใจในการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเราด้วย เราจะไม่กังวลแล้วว่าเราจะแก่ ผมเป็นสีอะไรก็ไม่ต้องไปย้อม เพราะนี่คือความงดงามตามธรรมชาติ ถ้าเรามองเป็นความงดงามตามธรรมชาติมันงดงามหมดเลยค่ะ แม้กระทั่งกิ่งไม้ใบไม้ก็เป็นความงดงามหมด ชีวิตเราก็เหมือนกัน”

นอกเหนือจากความสวยงามทางตาของผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ และความสวยงามทางผัสสะ ตั้งแต่ความร่มรื่น เสียงนกเสียงแมลง ไปจนถึงเสียงใบไม้ที่โยกส่ายเชื่องช้าตามแรงลม บ้านไร่ไม้งามแห่งนี้ยังมอบความสงบทางใจเสมือนว่าเป็นอารามในการปฏิบัติธรรมให้กับทุกชีวิตที่มาเยือนได้ด้วยเช่นกัน

ติดตามผลงานในวัยหลังเกษียณของอาจารย์ทิพาพร และอาจารย์บวรได้ที่

Facebook : Sela eco printing-บ้านไร่ไม้งาม ตาก

Website : https://sela-eco-printing.business.site/

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ