ถอดบทเรียน มนุษย์ต่างวัย Talk “ชีวิตนี้บอกให้รู้ว่า…” ตอนที่ 1

ชีวิต ‘สายลม’ กับ ‘ก้อนเมฆ’ บอกให้รู้ว่า…เบื้องหลังไดอารี่ของเด็ก Gen Alpha มีอะไรมากกว่าที่คุณคิด

เริ่มต้นด้วย Speaker คู่แรกซึ่งมีอายุเพียง 8 ปีเท่านั้น ที่ใช้คำว่าคู่ เพราะพวกเขา คือ สายลม – ด.ช.วายุ สุวีรานนท์ และ ก้อนเมฆ – ด.ช.เมฆา สุวีรานนท์ น้องชายฝาแฝดของต้นหลิว – ด.ญ.เรไร สุวีรานนท์ จากเพจ ‘เรไรรายวัน’ นั่นเอง

สายลมและก้อนเมฆ เปิดตัวบนเวทีด้วยการเล่นกีต้าร์เพลง ‘โดราเอมอน’ แบบดูโอ ก่อนจะพาผู้ชมทุกคนนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับสู่อดีตผ่านไดอารี่ที่ทั้งสองคนเคยเขียนไว้ เชื่อว่าหลายๆ คนที่เป็นแฟนเพจ ‘เรไรรายวัน’ คงเคยอ่านผ่านตากันมาบ้าง แต่อาจไม่รู้ถึงที่มาของเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังตัวอักษรเหล่านั้น ซึ่งในงานนี้ น้องทั้งสองได้เลือกไดอารี่บางส่วนที่เคยเขียนมาเล่าสู่กันฟัง โดยมีลุงประสาน อิงคนันท์ รับหน้าที่เป็นพิธีกร

ตัวอย่างไดอารี่ที่ก้อนเมฆกับสายลมนำมาพูดคุย อาทิ ไดอารี่ของก้อนเมฆที่เขียนไว้ว่า

ของที่แม่รักมันพัง

ถามว่าแม่รู้สึกยังไง

แม่ตอบสั้นว่าทำใจ

คำตอบยาวน่าจะเป็น

“ทำใจไม่ให้เศร้า”

“ตอนนั้นฝนตกแล้วก็ลมแรงครับ แล้วแม่ปลูกกระถางต้นไม้เล็กๆ เอาไว้ตรงระเบียงครับ ลมมันก็เลยพัดกระถางต้นไม้ของแม่หล่นลงมาแตก แล้วพ่อชาคือคนที่เห็นคนแรก แต่พ่อชาไม่อยากบอกแม่เพราะกลัวแม่เสียใจครับ แต่ก้อนเมฆเป็นคนที่ไปบอกเอง เพราะว่ามันคือของของแม่ แม่ก็ต้องควรรู้ แม่ไม่ร้องไห้แต่แม่พูดเศร้าๆ ว่าต้องทำใจ เพราะว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะมันเป็นไปแล้ว ก้อนเมฆเลยคิดว่าทำใจน่าจะหมายถึงทำใจไม่ให้เศร้า”

หรือตัวอย่างไดอารี่ของสายลมที่เขียนไว้ว่า

“แสงส่องเฉยๆ

แสบตาเพราะ

ไปมองเอง”

สายลมเล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้นสายลมกับแม่นอนอยู่บนโซฟาที่ห้องรับแขก แล้วมีกระจกใสบานใหญ่อยู่ตรงนั้น แล้วพระอาทิตย์ก็ส่องแสงมาที่สายลมกับแม่ แล้วอยู่ดีๆ แม่ก็ร้องโวยวายขึ้นมาว่า “โอ๊ย แสบตาๆ” สายลมก็เลยบอกแม่ไปว่า แม่ครับ แม่ก็อย่าไปมองสิครับ ถ้าแม่มองแม่ก็แสบตา เห็นไหมสายลมไม่มองสายลมก็เลยไม่แสบตา”

จะเห็นได้ว่าเด็ก Gen Alpha อย่างก้อนเมฆและสายลมถึงจะอายุน้อย แต่ก็มีมุมมองความคิดที่ลึกซึ้งและถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ขอเพียงแค่ผู้ใหญ่ลองเปิดตารับรู้เปิดใจรับฟัง เพราะอาจทำให้เราได้ฉุกคิดถึงบางสิ่งที่เราอาจนึกไม่ถึงหรือมองข้ามไป

จากนั้นในช่วงท้าย ก้อนเมฆกับสายลมได้โชว์ฝีมือการเขียนไดอารี่ให้ดูกันแบบสดๆ ในหัวข้อที่มาจากคำถามของผู้ชมในห้องว่า “ทำงานเหนื่อยจัง ทำยังไงดีให้หายเหนื่อย” ซึ่งก้อนเมฆกับสายลมได้ตอบคำถามด้วยการวาดรูปและเขียนไดอารี่ออกมาเป็นคำแนะนำว่า “กลับมาที่บ้านแล้วก็ดื่มน้ำเย็น ต่อไปก็คือกินขนมอะไรก็ได้ครับ ไม่ต้องเหมือนสายลมกับก้อนเมฆก็ได้ครับ พอเสร็จแล้วก็อาบน้ำครับ ต่อไปก็นอนครับ”

จะเห็นได้ว่าเป็นคำแนะนำที่เรียบง่าย เพื่อให้สบายใจหายเหนื่อยจากการทำงาน ในขณะที่ผู้ใหญ่อาจจะมัวคิดหาวิธีการอะไรที่ซับซ้อนมากกว่าไปนั้น ทั้งที่จริงแค่กลับมาแล้วทำให้ท้องเราอิ่ม ร่างกายเราสบาย นอนพักผ่อนสักคืนนึง แล้วพรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่เหมือนที่ก้อนเมฆกับสายลมแนะนำก็เป็นได้

ชีวิต ‘สมหมาย วันสอน’ บอกให้รู้ว่า…บ่งึด – บ่ย่าน – บ่ยาก ทุกความฝันสำเร็จได้ดั่งใจหมาย

หลังจากฟัง Speaker คู่แรกที่อายุน้อยที่สุดกันไปแล้ว ลำดับต่อไปก็ขอกระโดดข้ามมายัง Speaker ที่อายุมากที่สุด คือ อาจารย์สมหมาย วันสอน วัย 78 ปี เจ้าของป่า 200 ไร่ ในอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ใช้เวลากว่า 20 ปี เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้กลายมาเป็นผืนป่า อาจารย์เริ่มต้นด้วยการเปิดประเด็นเกี่ยวกับความฝัน อาจารย์เองก็มีความฝันเช่นเดียวกับทุกท่าน แต่ดูยากที่จะเป็นจริง เพราะเกิดมาในครอบครัวยากจนที่สุดในหมู่บ้าน ชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจึงมีความผูกพันและต้องพึ่งพาธรรมชาติก็คือป่า ทั้งพืชพรรณธัญญาหาร ผลไม้ในป่า กุ้งหอยปูปลาก็มาจากท้องนา เมล็ดข้าวก็เดินเก็บจากในนาของคนอื่น

แม้ว่าหลายคนจะคิดว่าโชคร้ายที่เกิดมาจน แต่อาจารย์สมหมายกลับคิดว่าตัวเองโชคดีที่เกิดมาจน เพราะความจนทำให้เป็นคนเข้มแข็ง มีปฏิภาณไหวพริบที่จะเอาตัวรอด นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่าความจนแก้ไขได้ด้วยปัญญาและความเพียร การศึกษาคือหนทางเดียวที่จะทำให้หลุดพ้นจากแรงดึงดูดของความยากจนได้

ด้วยเหตุนี้ อาจารย์สมหมายจึงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนบนพื้นฐานความยากจน และยึดคำสอนของแม่ที่ว่า “บ่งึด – บ่ย่าน – บ่ยาก” เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

บ่งึด คือ ใครจะพูดจาดูถูก นินทาว่าร้าย ทำให้เสียกำลังใจ ก็อย่าไปสนใจ

บ่ย่าน คือ ไม่กลัวความยากลำบาก หนักเอาเบาสู้

บ่ยาก คือ ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถ มันอยู่ที่ใจ เขาทำได้เราต้องทำได้

หลังจากดิ้นรนจนเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็มีโอกาสเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในชีวิต สอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะเรียนจบด้วยทุนภูมิพล และได้รับการทาบทามให้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แม้จะไม่ใช่อาชีพในฝัน แต่ก็ตอบตกลง เพราะมีความฝันในชีวิตอีกอย่างหนึ่งว่าอยากขี่เรือบินและได้ไปเมืองนอกกับเขาบ้าง

ในระหว่างเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อาจารย์สมหมายจึงเรียนต่อปริญญาโทที่จุฬาฯ ไปด้วย หลังจากเรียนจบก็ได้รับทุนจากสหประชาชาติให้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ได้ขี่เรือบินและไปเมืองนอกตามที่เคยฝันไว้ หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนาน 7 ปี “จนสนิมอเมริกาเริ่มเกาะเกรอะกรัง แทบเคาะไม่ออก” พออาจารย์มานั่งคิดทบทวนว่าอเมริกาไม่ใช่แผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน จึงตัดสินใจกลับประเทศไทยมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยตามเดิม โดยเลือกที่จะไม่เป็นอาจารย์ห้องแอร์ แต่ออกไปช่วยงานพัฒนาสังคมร่วมกับหน่วยงาน มหาวิทยาลัย องค์การระหว่างประเทศต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาสลัมในกรุงเทพฯ โครงการอีสานเขียวที่มีเป้าหมายเอาความเจริญไปสู่ชนบท

รวมถึง โครงการบัณฑิตคืนถิ่น ที่อาจารย์สมหมายมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาบัณฑิตทิ้งถิ่น นำบัณฑิตกลับไปพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งเป็นโครงการที่ยากเหมือนเข็นครกขึ้นเขา โดยเฉพาะการพูดชักชวนบัณฑิต ซึ่งครั้งหนึ่งอาจารย์เคยโดนบัณฑิตสวนกลับว่า “อย่าดีแต่พูด แน่จริงไปทำให้ดู” จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต

“ครั้งหนึ่งมีบัณฑิตถามผมว่า อาจารย์สมหมายเรียนเก่ง พูดเก่ง ทฤษฎีเก่ง แต่อย่าปากคาบคัมภีร์ อย่าดีแต่พูด แน่จริงไปทำให้ดู โอ้โห มันทิ่มเข้าหัวใจเลยครับ แน่จริงไปทำให้ดู คำนี้ยังก้องกังวานอยู่ในสำนึกผมจนถึงวันนี้ ต้องขอบคุณบัณฑิตท่านนั้น”

หลังจากวันนั้นทำให้อาจารย์สมหมายซึ่งไม่เคยมีที่ดินเลยแม้แต่เท่าฝ่ามือ พยายามหาซื้อที่ดินและเริ่มต้นปลูกทุเรียนครั้งแรก 500 ต้น ผลปรากฏว่าตาย 550 ต้น แถมยังโดนชาวบ้านดูถูกว่า “เป็นอาจารย์จริงหรือเปล่า ทำไมโง่แท้… โง่แท้คือไม่มีโอกาสฉลาดได้เลย ถ้าโง่เทียมยังมีโอกาสฉลาดได้บ้าง” แต่อาจารย์ก็ยังไม่ย่อท้อ พยายามปลูกป่าตามความฝันของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ด้วยความเชื่อมั่นว่า “การปลูกป่าเป็นอานิสงส์ เป็นมรดกที่เราจะมอบให้เป็นของขวัญของแผ่นดิน เราเอาจากดินมาเยอะแล้ว คืนให้ดินบ้าง”

จนปัจจุบันนี้ อาจารย์มีป่าไม้สักรอบไร่ 860 ต้น อายุ 33 ปี หลายต้นโตจนโอบไม่รอบแล้ว ในวันสุดท้ายของชีวิตอาจารย์จะไม่นอนโลงไม้อัด แต่จะนอนโลงไม้สักทองที่ปลูกมาเองกับมือ แม้แต่ทุเรียนที่เขาเคยปลูกแล้วล้มเหลว ตอนนี้ก็มีมากถึง 1,200 ต้นแล้ว นอกจากนี้ยังมีต้นพะยูง ยางนา ตะเคียน ประดู่ อีกกว่า 2,500 ต้น

ช่วงท้ายอาจารย์สมหมายได้พูดเชิญชวนให้ทุกคนเห็นความสำคัญของป่าและช่วยกันสานฝันในการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นมรดกของแผ่นดิน สร้างคุณค่าทิ้งไว้ให้กับทุกคนทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ พร้อมทั้งพูดให้เราได้ฉุกคิดถึงนาฬิกาชีวิตที่กำลังเดินไปข้างหน้า ซึ่งหมายถึงอายุที่สั้นลงและเวลาในการทำตามความฝันที่เหลือน้อยลงทุกปีๆ

“ผมทำได้ ท่านต้องทำได้ ย้ำว่าต้องทำได้ดีกว่าผม เพราะท่านมีความพร้อม มีความรู้ มีเทคโนโลยี เพียงแต่ท่านลงมือหรือยัง ทุกครั้งที่เรายกนาฬิกาขึ้นมา เข็มวินาทีที่กระดิกไปคือเวลาที่สั้นลง ทุกวินาทีที่เข็มนาฬิกากระดิกไป คือเวลาที่สั้นลง แล้วท่านยังคิดจะฉลองวันเกิดอีกหรอครับ เพราะนั่นเป็นวันที่อายุสั้นลงหนึ่งปี เมื่อท่านยกนาฬิกาขึ้นดู ถ้าสี่โมงเย็น นั่นคือท่านอายุ 40 ปี ห้าโมงเย็นคืออายุ 50 ปี หกโมงเย็น คือ อายุ 60 ปี พระอาทิตย์ใกล้จะตกดินแล้วใช่ไหมครับ ท่านจะเริ่มเมื่อไรครับ ถ้าท่านนับจากศูนย์ท่านก็จะไม่มีหนึ่ง แต่ถ้าท่านเริ่มนับหนึ่งท่านก็จะมีสอง สาม สี่

“ทำวันนี้ ปลูกวันนี้ ปลูกแล้วตายพรุ่งนี้ปลูกใหม่ครับ ถ้ามือน้อยๆ ของเราทุกคนช่วยกัน เหมือนมือน้อยๆ ของเด็กยากจนคนหนึ่งอย่างผม เราจะมีป่าเขียวขจี แล้วเราทำเพื่อให้ ไม่ได้ทำเพื่อเอา… เราจะทำไว้ให้แผ่นดิน ให้เป็นมรดกของสังคม”

ชีวิต ‘เกศ – อมรา วิจิตรหงษ์’ บอกให้รู้ว่า…เปลี่ยนพลังแห่งความกลัวเป็นความกล้า เอาชนะได้ทุกสิ่ง

เมื่อพูดถึงความกลัว คนส่วนใหญ่มักนึกถึงพลังงานด้านลบที่คอยเหนี่ยวรั้งชีวิตเราให้ถอยหลังหรือยึดติดอยู่กับกรอบการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ แต่ Speaker คนที่ 3 คือ คุณเกศ – อมรา วิจิตรหงษ์ วัย 59 ปี สาวแกร่งอดีตแชมป์โลกวินด์เซิร์ฟหญิงคนแรกของไทย เจ้าของโรงเรียน Amara Watersports และบทบาทล่าสุดในฐานะนักอนุรักษ์ทะเล ได้พาผู้ชมทุกคนไปเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับความกลัว ด้วยเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของเธอที่ใช้พลังของความกลัวเปลี่ยนเป็นความกล้าในการขับเคลื่อนชีวิตทุกช่วงวัยให้ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

คุณเกศได้เหรียญวินด์เซิร์ฟครั้งแรกตอนอายุ 15 และได้แชมป์โลกตอนอายุ 17 เชื่อหรือไม่ว่าไม่ได้เป็นเพราะพรสวรรค์ แต่มีที่มาจากความกลัว เริ่มจากความกลัวจน เพราะเกิดมาในครอบครัวที่ฐานะไม่สู้ดี แถมมีพี่น้องมากถึง 11 คน พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เธออายุ 10 ขวบ ต้องกินอาหารก้นบาตรประทังชีวิต พออายุได้ 13 ปี จึงออกจากโรงเรียนย้ายมาอยู่กับพี่สาวที่พัทยา เดินเก็บขยะ เก็บหนังสือพิมพ์ตามแคมป์ GI มาพับถุงขาย

จนกระทั่งคุณเกศอายุ 15 มีโอกาสได้หัดเล่นวินด์เซิร์ฟ หลังจากนั้นเพียง 3 เดือนก็ตัดสินใจลงแข่งครั้งแรกที่พัทยา ในระหว่างการแข่งขัน เธอเจอฝูงโลมาตัวใหญ่ว่ายอยู่รอบตัวเต็มไปหมด ซึ่งเธอไม่เคยเจอสัตว์น้ำตัวใหญ่ขนาดนี้ในทะเลมาก่อนจึงเกิดความกลัว อยากจะกลับเข้าฝั่ง แต่เสียงในใจบอกว่า ถ้าย้อนกลับแล้วแพ้ อยากจะอดอยากอีกไหม ถ้าไม่อยากก็ต้องไปต่อ จนในที่สุดความกลัวโลมาก็นำพาให้เธอสามารถเข้าฝั่งเป็นลำดับที่ 1 ซึ่งแทบไม่มีใครอยากเชื่อว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอจะทำได้

การแข่งขันในครั้งต่อๆ มา เธอก็ยังต้องเผชิญกับความกลัวในรูปแบบอื่น เช่น การเผชิญกับคลื่นลมแรงจนกระชากเธอตกน้ำ ซึ่งมักทำให้นึกถึงภาพจระเข้ตัวใหญ่ที่เคยเห็นตอนไปดูเขาถ่ายทำหนัง แต่ความกลัวจระเข้ก็ทำให้เธอมีแรงว่ายน้ำกลับมาที่บอร์ด แล้วรีบยกใบเข้าเส้นชัยได้ที่ 1 อยู่บ่อยครั้ง

หรือแม้แต่ประสบการณ์เฉียดตายตอนไปแข่งขันวินด์เซิร์ฟที่ประเทศเยอรมนี แล้วเชือกโหนขาดทำให้ร่างของคุณเกศถูกทับด้วยใบ 7.5 ตารางเมตร ในขณะที่เสื้อชูชีพก็พยายามดันตัวให้ลอย จึงเหมือนถูกกดให้จมจนแทบหายใจไม่ออก แต่เพราะความกลัวตายทำให้เธอพยายามตั้งสติ ใช้มือคลำหาใบว่าอยู่จุดไหน แล้วค่อยๆ ดึงตัวเองออกมาจนหลุดรอดได้ในที่สุด

นอกจากนี้ คุณเกศยังพยายามเอาชนะความกลัวในเรื่องอื่นๆ เช่น ไปเรียนปีนหน้าผา แล้วจ้องมองลงมาข้างล่าง เพื่อให้หายจากการกลัวความสูง หรือการกลับมาหัดเล่นสเก็ตบอร์ดอีกครั้งตอนอายุ 58 เพื่อเอาชนะความกลัวบาดเจ็บจากการหัดเล่นครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 16 ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เธออยากบอกทุกคนว่า “เราก้าวข้ามความกลัวได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่”

ก่อนจะเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความกล้า คุณเกศแนะนำว่า ต้องรู้จักเก็บเกี่ยวประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ รวมถึงการหาครูฝึกที่ดี หรือขอคำแนะนำจากคนที่มีความรู้เฉพาะทางในเรื่องนั้นๆ   จะช่วยให้เราข้ามความกลัวและประสบผลสำเร็จในสิ่งที่เราต้องการได้

หลังจากเปลี่ยนความกลัวในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองได้จนหมดแล้ว คุณเกศจึงยกระดับไปสู่การแก้ปัญหาความกลัวที่เกี่ยวกับอนาคตของสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา เนื่องจากในระยะหลังเธอเริ่มเห็นภาพสัตว์ทะเลตาย รวมถึงขยะในท้องทะเลที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากมายซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเธอเริ่มเก็บคนเดียวไม่ไหว จึงจัดกิจกรรมอบรมสร้างจิตสำนึกให้เด็กๆ ช่วยกันเก็บขยะทะเลและรักษาสิ่งแวดล้อม จนได้รับเหรียญรักษ์ทะเลยิ่งชีพจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คุณเกศกล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่กลัวมากที่สุดในตอนนี้ คือ ในอนาคตจะเกิดสงครามอาหารที่ทุกคนต้องแย่งกันกินกันใช้ ถึงมีเงินแต่ก็ไม่มีอาหารให้ซื้อ และสุดท้ายก็จะไม่มีใครอยู่รอด ถ้าเราทุกคนไม่ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้

“เราก็เลยอยากจะมาบอกทุกคนว่า ถ้ากลัวเราต้องกล้าที่จะออกมาแก้ปัญหา ทุกคนไม่จำเป็นต้องลงไปช่วยเราเก็บขยะ เริ่มจากที่บ้านเราก่อน ลดการสร้างขยะได้ไหม แยกขยะได้ไหม ลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวได้ไหม ถ้าเราเลี่ยงไม่ได้ เรานำพลาสติกพวกนี้กลับมารีไซเคิลกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งได้ไหม เราเชื่อว่าถ้าทุกคนทำได้เราไม่ต้องแย่งอาหารกันกิน

“ถ้าวันหนึ่งพวกคุณไม่มีอาหาร บนบกก็ไม่เหลือในทะเลก็ไม่เหลือ เราจะอยู่รอดไหม สงครามมาจากพวกเราเอง เพราะเราทำอะไรไม่คิดถึงผลเสียจากขยะที่เราสร้างขึ้นมา เราหวังว่าประสบการณ์การข้ามความกลัวของเราไปหาความกล้าวันนี้ อาจจะเป็นประโยชน์กับทุกคนให้ช่วยกันดูแลอนุรักษ์ทะเลและสิ่งแวดล้อมของพวกเรา”

ชีวิต ‘แป้ง Noonday’ บอกให้รู้ว่า…ทำเลยอย่ารอถ้า… เพราะไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้เราจะมีโอกาสได้ทำมันไหม

มาต่อกันที่เรื่องราวของคุณแป้ง – ณัฐธิดา ศาสตร์ยุทธ วัย 24 ปี ช่างภาพสาว Gen Z และผู้ก่อตั้งเพจ Noonday ที่ขอเปิดตัวด้วยคลิปวิดีโอสั้นๆ ซึ่งดูสดใสน่ารักในแบบฉบับของตัวเอง ถ้าใครติดตามเพจอินฟลูเอนเซอร์สายช่างภาพ น่าจะรู้จักและเคยเห็นผลงานของคุณแป้งผ่านตากันมาบ้าง งานทอล์กครั้งนี้เธอเลยจะขอมาเล่าเรื่องราวทีมงานที่อยู่เบื้องหลัง ได้แก่ อากงและอาม่าของเธอนั่นเอง

เชื่อว่าหลายครอบครัวที่มีคน Gen Z และผู้ใหญ่ Gen Baby Boomer อยู่ด้วยกันน่าจะเคยประสบปัญหาช่องว่างระหว่างวัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ห่างเหินหรือเชื่อมต่อกันไม่ได้ คุณแป้งจึงจะมาแนะนำวิธีที่เธอใช้เชื่อมความสัมพันธ์กับอากงอาม่าให้สนิทสนมกันมากขึ้นผ่านการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นสิ่งเธอถนัดและทำได้ดีเสียด้วย

โดยจุดเริ่มต้นมาจากที่คุณแป้งได้เห็นรูปแต่งงานของอากงอาม่าที่ญาติส่งเข้ามาในไลน์กลุ่มครอบครัว ซึ่งเป็นรูปที่เธอไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วทำให้เธอฉุกคิดขึ้นมาว่ารูปสุดท้ายที่เราถ่ายกับคนในครอบครัวเมื่อไหร่กัน หลังจากนั้นคุณแป้งเลยกลับมาคิดทบทวนว่าเธอถ่ายรูปคนอื่นมามากมายเลย แต่ทำไมกลับมองข้ามคนในครอบครัวอย่างอากงอาม่าซึ่งเจอกันอยู่ทุกวัน และเลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่อายุ 9 เดือน จึงตัดสินใจชวนอากงอาม่ามาเป็นนายแบบนางแบบให้เธอถ่ายรูป

คุณแป้งเลือกเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย เซ็ตแรกชื่อว่า Forever Love ซึ่งเธอตั้งใจถ่ายเลียนแบบภาพแต่งงานของอากงอาม่าในอดีต เพราะอยากเห็นกงกับม่ากลับมาใส่ชุดสูทถ่ายรูปด้วยกันอีกครั้ง และการถ่ายภาพเซ็ตนี้ก็ทำให้เธอได้ค้นพบว่า ม่าเป็นคนที่ยิ้มแล้วสดใสมาก ทั้งที่เห็นเขาทุกวันแต่คิดว่าเขาเป็นคนดุ ได้เห็นกงกับม่าเขินอายกันซึ่งเราไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน

หลังจากโพสต์ภาพเซ็ตนี้ลงในเพจก็ได้เสียงตอบรับดีมากทั้งที่คุณแป้งไม่ได้คาดหวังอะไร แต่สิ่งที่ทำกลับสร้างแรงบันดาลใจและความสุขให้คนอื่นได้ มีคนเข้ามาขอบคุณที่ถ่ายภาพแบบนี้ให้เขาได้เห็น รวมทั้งช่วยเปลี่ยนทัศนคติของกงกับม่า เนื่องจากคนสูงอายุมักจะคิดว่ามาแต่งตัวถ่ายรูปแบบนี้ คนอื่นคงมองว่าตลกและขำกันแน่ๆ

พอคุณแป้งนำความคิดเห็นเชิงบวกที่ได้รับมาเล่าให้กงกับม่าฟัง เขาก็เริ่มเปิดใจให้กับการถ่ายภาพแบบนี้มากขึ้น จึงมีผลงานเซ็ตอื่นๆ ตามมา เช่น ภาพเซ็ตคริสต์มาสที่เกิดขึ้นตอนที่มนุษย์ต่างวัยไปสัมภาษณ์เรื่องราวของเธอกับกงและม่า โดยเธอกงกับม่าแต่งตัวในธีมคริสต์มาส คือ สีเขียวกับสีแดง สถานที่ถ่ายก็เป็นที่เดียวกันกับภาพเซ็ต Forever Love เพราะอยากพาย้อนมายังจุดเริ่มต้นของภาพเซตแรกที่กลับมาดูกี่ทีเธอก็ยังเห็นความสดใสและความสุขในภาพเหล่านั้น

ภาพเซ็ตต่อมาที่คุณแป้งนำมาเล่าให้ฟัง มีจุดเริ่มต้นจากการที่เธอเกิดในครอบครัวคนจีน แล้วทุกปีก็จะมีเทศกาลเช็งเม้งซึ่งต้องเดินทางไปไหว้ที่จังหวัดชลบุรีด้วย ตอนเด็กๆ กงก็จะชอบหลอกเธอว่าเดี๋ยวไหว้เช็งเม้งเสร็จแล้วจะพาไปเที่ยวบางแสน แต่ก็ไม่เคยได้ไปสักที จนเธอโตแล้วเลยตัดสินใจพากงกับม่าไปถ่ายรูปริมทะเลตอนพระอาทิตย์ใกล้จะตกดินด้วยกัน

“พอหลังจากถ่ายรูปเสร็จ เรากำลังจะเก็บของกลับบ้านกันแล้ว กงก็เดินมาบอกเราว่าถ่ายรูปเดี่ยวให้กงหน่อยได้ไหม เผื่อวันไหนที่กงเป็นอะไรไปจะได้เอาไว้ใช้วันงาน…” เมื่อคุณแป้งเล่ามาถึงตรงนี้ เธอก็หยุดนิ่ง พยายามกลั้นน้ำตาและเสียงสะอื้นของตัวเองเอาไว้ จนผู้ชมในห้องต้องปรบมือให้กำลังใจพร้อมกับเช็ดน้ำตาบนใบหน้าของตัวเองไปด้วยเช่นกัน

จากนั้นคุณแป้งจึงเล่าต่อว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงที่อากงป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งที่ผ่านมากงก็พยายามจะสั่งเสียกับเธอมาตลอด แต่เธอไม่อยากฟังและไม่เข้าใจว่าทำไมกงจะต้องพูดอะไรแบบนี้ด้วย แต่สุดท้ายพอถึงวันที่กงจากไป รูปที่เธอถ่ายให้ในวันนั้นก็ได้ใช้ในงานศพของกง ทุกวันนี้รูปนั้นก็ยังอยู่ที่หลังบ้าน ทุกครั้งที่เธอเดินผ่านไปเห็นก็จะนึกถึงและดีใจที่ได้สร้างช่วงเวลาคุณภาพอยู่ด้วยกันกับกงจนถึงวาระสุดท้าย

“ถ้ากงไม่ป่วยแป้งก็อาจจะไม่ได้สนิทกับกงมากขนาดนี้ เพราะคนเราพอไม่รู้ขีดจำกัดของเวลาที่เหลืออยู่ ก็มักจะปล่อยผ่านไปอย่างนั้น แต่พอวันหนึ่งที่เรารู้ว่าเวลามันเหลือน้อยแล้วนะ เราจะต้องทำให้ช่วงเวลาตรงนั้นมันมีคุณภาพ มันก็เลยเหมือนเราได้ย้อนกลับมามองช่วงที่เราได้ใช้เวลาด้วยกัน”

ก่อนจบ คุณแป้งได้ชวนให้ผู้ชมทุกคนที่ยังมีโอกาสใช้เวลาร่วมกับคนที่เรารัก ยกมือถือขึ้นมาพิมพ์ หนึ่งสิ่งที่คิดว่าจะสามารถทำได้ทันที หลังจากเดินออกจากห้องนี้ไป โดยสิ่งๆ นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ โดยยกตัวอย่างเรื่องเล็กๆ ที่เธออยากทำแต่ไม่ได้ทำคือการกอดอากง

“ถ้าถามว่าแป้งได้อะไรจากเรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านมาคือชีวิตนี้สอนให้รู้ว่า ทำเลยอย่ารอถ้า… เพราะไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้เราจะมีโอกาสได้ทำมันไหม”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ