ในปี 2564 รีเบคก้า หญิงสาวชาวอเมริกันวัย 33 ปี ได้ออกมาเปิดเผยบนโลกออนไลน์ถึงการวางแผนที่ทำให้เธอกับสามี สามารถเกษียณจากการทำงานประจำตั้งแต่อายุยังน้อยได้
รีเบคก้าเล่าว่าเธอเติบโตมาในครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านดนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเธอต้องทำงานและใช้เงินชีวิตแบบเดือนชนเดือน เพื่อนำเงินที่เหลือมาจ่าย หนี้การศึกษาจำนวน 15,000 เหรียญที่เธอกู้มาเรียนปริญญาตรี ทำให้เธอรู้สึกกดดันอย่างมากที่ต้องเรียนรู้การวางแผนการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย
ในตอนที่รีเบคก้าอายุ 23 ปี เธอพบว่าตัวเองไม่ได้เกลียดการทำงานหนัก แต่เธอเกลียด วัฏจักรชีวิตที่เหนื่อยยาก ไร้ประโยชน์ และไม่มีวันจบสิ้น อย่างการตื่นไปทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ และการสละเวลาวันหยุดเพื่อให้มีรายรับมากขึ้น แต่ต้องแลกมากับการสุขภาพที่แย่ลงทุกอย่าง ซึ่งเธอมักนำความอัดอั้นจากการทำงานมาระบายผ่านบล็อกส่วนตัวว่า “เมื่อกลับถึงบ้าน ฉันมักจะนั่งดูทีวีเพื่อหลีกหนีความจริงที่ว่า ฉันจะต้องมีชีวิตที่ยากขึ้นไปเรื่อย ๆ แบบนี้จนถึงอายุ 65 ปีเลยหรอ ?”
เพื่อหลุดพ้นจากวงจรดังกล่าว รีเบคก้าและสามีซึ่งเป็นนักดนตรีอิสระ ได้ใช้เวลากว่า 7 ปี ไปกับการประหยัด ประหยัด และประหยัด โดยเธอทำงานประจำที่มั่นคง ส่วนเขาทำงานที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แม้รายได้ของทั้งคู่รวมกันแล้วจะไม่ถึงหกหลัก แต่พวกเขาก็ช่วยกันลดค่ากาแฟ ค่าเสื้อผ้า ค่าไอโฟนเครื่องใหม่ และจัดพอร์ตลงทุนอย่างจริงจังเพื่อมีเงินเก็บจนเกษียณตัวเองออกจากการใช้ชีวิตแบบเข้างาน 9 โมง และเลิกงาน 5 โมงทุกวันให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เมื่อถึงปี 2562 พวกเขาก็บรรลุเป้าหมายและเกษียณตัวเองจากการทำงานที่ไม่จบสิ้นได้ในที่สุด และสามารถมีเงินเก็บถึง 1 ล้านเหรียญก่อนอายุ 30 ปีได้ ซึ่งพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิด “Fire” ที่ย่อมาจาก “Financial Independence Retire Early Movemen” ซึ่งหมายถึงการหารายได้ให้มากที่สุด ควบคู่กับการออมเงิน 70% – 80% ของรายได้ และนำเงินที่ได้ไปลงทุนอย่างชาญฉลาด โดยมีเป้าหมายเพื่อเกษียณจากการทำงาน และมีอิสรภาพทางการเงินทางการเงินได้ขณะยังอยู่ในช่วงอายุ 30- 40 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รุ่งเรืองของชีวิต
แสงสว่างทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ?
รีเบคก้าและสามีของเธอไม่ใช่วัยรุ่นกลุ่มเดียวที่ทำแบบนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะ “รุ่นมิลเลนเนียล” เริ่มมีแนวคิดการวางแผนการเงินแบบ “Fire” มากขึ้น เพราะพวกเขามีคำถามว่า ทำไมเราต้องรอจนเกษียณถึงจะมีอิสระในการใช้ชีวิต และจำเป็นต้องรอให้ถึงอายุ 60 จริง ๆ หรือ ในเมื่ออาจมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าก็ได้
สำหรับแนวคิดทางการเงินแบบ “Fire” นั้น เป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี พ.ศ 2535 โดย “วิกกี้ โรบิน (Vicki Robin) ” และ “โจ โดมองเกล (Joe Dominguez) ” ที่เป็นเจ้าของผลงาน “Your Money Or Your Life” หนังสือที่ชวนให้คนทำงานขบคิดเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน และความต้องการในชีวิต ไปจนถึงชี้ให้เห็นว่าพวกเขาจะต้องยอมแลกอะไรบ้างเพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงินในขณะที่อายุยังน้อยให้ได้เร็วที่สุด
คำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการใช้จ่ายอย่างคนรวย แต่สามารถมีเงินที่เพียงพอต่อความต้องการพื้นฐานในชีวิตประจำวัน และแนวคิดนี้ก็ไม่ใช่การมีเงินจนไม่ต้องทำงานไปตลอดชีวิต แต่คือการมีเงินเก็บ หรือเงินตอบแทนจากการลงทุนให้พวกเขาเลือกได้อย่างอิสระว่าจะทำงาน หรือจะไม่ทำงานเมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายอีกต่อไป เพราะจุดประสงค์หลักของ “Fire” คือการสะสมความมั่นคงทางการเงิน เพื่อหลุดจากวงจรการทำงานหามรุ่งหามค่ำไปจนแก่นั่นเอง
“Fire” ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่า ไลฟ์สไตล์ของคุณเป็นแบบไหน ?
คนที่จะบรรลุวิถีทางการเงินแบบ “Fire” ส่วนใหญ่จะใช้ กฎ 25 และ 4% ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่คนรุ่นใหม่
พวกเขาจะเริ่มจากตั้งเป้าหมายว่าต้องการเก็บเงินให้ได้ 70 % ของรายได้ต่อปีหรือตามความสะดวกของแต่ละคน จนกว่ามีเงินออม 25 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อปี ยกตัวอย่างเช่นหากเราคิดไว้แล้วว่าหลังเกษียณค่าใช้จ่ายของเราคือ 12,000 บาทต่อเดือน ให้ไปคูณกับ 12 ซึ่งเป็นจำนวนเดือน ก็จะได้ 144,000 บาทต่อปี จากนั้นจึงนำไปคูณกับ 25 ก็จะได้เงินจำนวน 3,600,000 บาท
หลังเกษียณจะใช้จ่ายแค่ 4% ของเงินเก็บทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่นหากมีเงินเก็บ 3,600,000 บาท เราก็ควรใช้จ่ายปีละไม่เกิน 144,000 บาท เพื่อให้อยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องทำงานเลยอีกอย่างน้อย 25 ปี
ผู้ที่ใช้แนวทางนี้สามารถปรับความยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ของตัวเอง บางคนสามารถนำค่าใช้จ่ายต่อปีคูณกับ 30 หรือ 40 ก็ได้ ซึ่งจะคล่องตัวหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับวินัยการใช้เงิน ความรู้เรื่องการลงทุน ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ ระหว่างในช่วงปฏิบัติตามวิถี “Fire”
อย่างไรก็ตามคนที่วางแผนทางการเงินแบบ Fire มี 5 ถูกแบ่งหลัก ๆ ออกเป็น 5 ประเภทได้แก่
Lean Fire – กลุ่มที่วางแผนใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไม่ฟุ่มเฟือย เน้นใช้จ่ายแค่เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
Regular Fire– กลุ่มที่ต้องการเกษียณแบบยังสามารถทำกิจกรรมมีไลฟ์สไตล์เดิมได้อยู่บ้าง ซึ่งจะยึดกฎ 25 และ 4%
Coast Fire – กลุ่มคนที่เน้นการลงทุนเป็นหลัก และจะรอจนกว่าการลงทุนจะให้ผลที่น่าพอใจจึงจะเกษียณ เหมาะสำหรับคนที่มีวินัยทางการเงินสูง และยอมสละชีวิตในแสงสีเสียงของตัวเองช่วงอายุ 20-30 ปีออกไปเพื่อให้เหลือเงินสำหรับลงทุนให้มากที่สุด
Barista Fire- กลุ่มที่มีเงินใช้อย่างพอเพียงประมาณหนึ่งหลังเกษียณอยู่แล้ว แต่เลือกออกไปทำงานพาร์ทไทม์ หรืองานง่าย ๆ ที่ไม่มีความกดดันสูง เพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ
Fat Fire – กลุ่มที่ยังต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบหรูหรา ซึ่งต้องเตรียมเงินเก็บไว้มากกว่าคนทั่วไป และมักเกษียณช้ากว่าคนที่บรรลุวิถี “Fire” ประเภทอื่น ๆ
สิ่งที่ต้องแลกหากจะบรรลุเส้นทางนี้
“เดเมียน เฟย์ห์ (Damien Fahy)” ผู้อำนวยการเว็บไซต์การเงินส่วนบุคคล “Moneytothemasses.Com” กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจแนวคิดนี้ว่า มันเป็นการวางแผนทางการเงินที่ผลิตจากความเชื่อเก่า ๆ แบบหน้ามือเป็นหลังมือ และมันเป็นปรากฏการณ์ของยุคสมัยที่เหมือนกับการเกิดขึ้นของลัทธิใหม่อย่างแท้จริง
“ผมสงสัยว่ากฎ 4 % มันยั่งยืนหรือไม่ ลองคิดดูถ้าคุณเกษียณตอนอายุ 40 ซึ่งเร็วมาก คุณก็ต้องอยู่กับกฎนี้ไปอีกหลายทศวรรษ ซึ่งอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือภาวะโรคระบาด ที่อาจทำให้แผนการลงทุนของคุณไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้”
“หากเงินออมของคุณไปหมดลงในตอนนั้น คุณอาจมีปัญหาในการกลับมาหางานทำอีกครั้งก็ได้ เพราะคุณไม่ได้ทำงานมาเป็นเวลานาน และคุณอาจเผชิญภาวะเจ็บป่วยยิ่งกว่าเดิมอีก”
เช่นเดียวกับ “ลินน์ เจมส์ (Lynn James)” ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินส่วนบุคคลชื่อดังชาวอังกฤษ และผู้เขียนบล็อก “Mrs Moneypenny” ที่ออกมาบอกผ่านช่องทางออนไลน์ของเธอว่า การจะมีอิสรภาพทางการเงินแบบ “Fire” ได้ คุณต้องมีเงินเดือนที่มากพอ ไม่มีภาระ ไม่มีลูก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนในวัย 20 จะอยากทำแบบนี้”
“ถ้าฉันยังเป็นวัยรุ่น ฉันก็ยังอยากเที่ยวรอบโลก กินอาหารรสเลิศ ไปคอนเสิร์ตและสัมผัสประสบการณ์ชีวิตให้ได้มากที่สุด เพราะพ่อแม่ของฉันทำงานเก็บเงินมาทั้งชีวิต แต่พวกเขาก็เสียชีวิตหลังจากเกษียณอายุงานได้ไม่นานโดยที่ไม่มีโอกาสได้ใช้เงินที่เก็บมาอย่างคุ้มค่าเลย”
“จริงอยู่ที่การเก็บเงินตั้งแต่เด็กคือเรื่องสำคัญ แต่การใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าทุกวันก็สำคัญสำหรับฉันเช่นกัน”
ถึงแนวคิดแบบ Fire จะมีความเสี่ยงสูง ทว่าผู้เชี่ยวชาญทางการเงินหลายคนทั่วโลกก็มองว่าเป็นเรื่องดีที่คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่ทางที่ดีที่สุดคือทุกคนควรปรึกษาผู้ที่มีความรู้เรื่องการเงินอย่างสม่ำเสมอ ถึงจะเป็นการวางแผนทางการเงินที่ปลอดภัยที่สุด
ไม่ว่าจะเกษียณ “ช้า” หรือ “เร็ว” ก็ยังต้องตามหาเป้าหมายของตัวเองต่อไป
“Gallup” บริษัทเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลของอเมริกาเคยออกมาเปิดเผยว่า คนมิลเลนเนียมจำนวนมากไม่เคยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรที่ทำงานด้วย และจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่ามีชาวมิลเลนเนียมแค่ 29% เท่านั้นที่ทำงานประจำ อีก 16 % ถูกปลดออกจากงาน และ อีก 55 % ที่เหลือไม่ได้ทำงานในระบบ ซึ่งแซงหน้าคนรุ่นอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบการทำงาน นอกจากนี้ “เว็บไซต์ Vox” ของอเมริกายังระบุว่าในปี 2018 มีคนค้นหาคำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” และ “เกษียณก่อนกำหนด” เพิ่มขึ้นถึง 96 เปอร์เซ็นต์ในเวลาแค่ห้าปี
จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะมองหาโอกาสอื่น ๆ ในการมีชีวิตที่ดีกว่าการอยู่กรอบเดิม ๆ ที่พวกเขาไม่เชื่อมันอีกต่อไป เพราะฉะนั้นความคิดที่ว่าจะทำงานเก็บเงินและมีอิสระในชีวิตหลังอายุ 60 ปี คงเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยและช้าเกินไปสำหรับพวกเขาไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แน่นอนคือไม่ว่าคุณจะเกษียณเร็วหรือช้าแค่ไหนก็ตาม ก็จะมีคำถามหนึ่งที่ทุกคนต้องเจอคือ “หลังจากนั้นจะพาชีวิตไปทางไหนต่อ ?”
“ย้อนกลับไปที่เรื่องของรีเบคก้าข้างต้น เธอเล่าว่าเมื่อถึงวันที่เธอบรรลุเป้าหมายด้วยการเกษียณตัวเองได้แล้ว เธอก็ยังไม่ได้สบายใจแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะจู่ ๆ ความวิตกกังวลก็พุ่งเข้ามาแบบไม่คาดคิด และเธอก็กลัวที่จะเดินออกมาจากงานประจำที่มีรายได้แน่นอน ถึงแม้จะเก็บเงินได้เยอะแล้วก็ตาม”
“แม่และน้าเขยของฉันแทบคลั่ง เมื่อรู้ว่าฉันกำลังจะออกจากงาน ฉันไม่โทษพวกเขาหรอก เพราะการเกษียณเร็วเกินไปก็มีความเสี่ยง ใครจะไปรู้ว่าอนาคตสิ่งที่เราลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน หรือจะมีการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงเหมือนกับโควิด 19 อีกไหม และการไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตต่อไปน่ากังวลจริง ๆ ซึ่งฉันไม่คิดว่ามันจะน่ากลัวขนาดนี้ !”
ขอขอบคุณภาพจาก
- Freepik