ความลับในเครื่องพิมพ์ดีดกับแพสชันของช่างซ่อมวัย 71 ปี

วัยชราเหมือนเครื่องพิมพ์ดีด ไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปข้างหน้าเพียงใด แต่ประสบการณ์ความเก๋ายังคงมีคุณค่า หากค้นหา ย่อมพบ หากฟัง ย่อมได้ยิน

สมศักดิ์ หัตรกิต เป็นช่างซ่อมพิมพ์ดีดมาตั้งแต่หนุ่ม เขาเกิดปี 2495 ปัจจุบันในวัย 71 ปี มีลูกค้าเข้ามาเยอะกว่าสมัยก่อน

จำนวนเครื่องพิมพ์ดีดในร้านของลุงสมศักดิ์ทำให้ทีมงานมนุษย์ต่างวัยสงสัยว่า อะไรทำให้เครื่องพิมพ์ดีดที่เป็นเทคโนโลยีพ้นสมัย ยังคงเดินทางเข้ามาหาช่างซ่อมพิมพ์ดีดวัยชราคนหนึ่งอย่างไม่ขาดสาย

ช่างฝึกหัด เงินเดือน 150 บาท หน้าที่หลักซื้อโอเลี้ยง

“ผมชื่อ สมศักดิ์ หัตรกิต เกิดปี 2495 เดือน 11” ระหว่างแนะนำตัวต่อหน้ากล้องของทีมงานมนุษย์ต่างวัย เสียงรถมอเตอร์ไซค์ละแวกนั้นดังเข้าไมค์ ทำให้ทีมงานต้องขอให้คุณลุงหยุดชั่วครู่และเริ่มต้นกล่าวแนะนำตัวใหม่

“ต้องพูดใหม่เหรอ” ลุงสมศักดิ์ถามทีมงาน ก่อนจะเริ่มต้นใหม่ “ผมชื่อ สมศักดิ์ หัตรกิต เกิดปี 2495 เดือน 11 ไม่รู้วันที่ ผมเปิดร้านในปี 2522 เดือนกรกฎา เป็นช่างซ่อมมา 55 ปี เรามีชื่อร้าน แต่ไม่ได้ติด ชื่อร้าน สมศักดิ์พิมพ์ดีด”

เราชอบสไตล์การแนะนำตัวของคนรุ่นคุณลุงสมศักดิ์ ซึ่งหาฟังได้ยากเต็มที จะมีใครบ้างที่แนะนำตัวแล้วลงรายละเอียดแบบนี้

“เริ่มแรกเดิมทีผมขายขนมที่สุพรรณบุรี” ลุงสมศักดิ์เริ่มต้นบรรทัดแรกของชีวิต ญาติทำงานที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดินทางกลับบ้านนอกเห็นหลานชายคนนี้ทำงานอดิเรกด้วยการซ่อมรถเด็กเล่น จึงเห็นหน่วยก้านเชิงช่าง

“เขาเห็นผมนั่งซ่อมรถเด็กเล่น หลาย ๆ คันที่พัง ผมก็ซ่อมให้มันกลับมาใช้ได้อย่างเก่า เขาเห็นเราทำทุกวันก็ชวน ‘เอ็งไปทำพิมพ์ดีดไหม’ เราอยากเข้ากรุงเทพฯ ก็ตามมา มาหัดงานที่ร้านพระนครพิมพ์ดีด สี่กั๊กเสาชิงช้า เจ้าของชื่อ นายจรูญ ตันเจริญผล”

หนุ่มสุพรรณเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นช่างฝึกหัดที่ร้านซ่อมพิมพ์ดีด แต่ job description ของช่างฝึกหัดไม่ได้อยู่ที่เครื่องพิมพ์ดีด

“หน้าที่หลักตอนนั้นคือซักผ้าให้ช่าง เช็ดเครื่องมือ ซื้อข้าวซื้อกาแฟซื้อโอเลี้ยงให้ช่าง ทำแบบนี้อยู่ 3 ปี จนได้เป็นช่าง” ลุงสมศักดิ์เล่าย้อนถึงวันที่เป็นช่างฝึกหัด

แต่ไม่ใช่ว่าการซื้อกาแฟให้ช่างจะทำให้ความรู้เชิงช่างซึมเข้ามาในหัว ช่างฝึกหัดต้องออกแรงฝึกและหมั่นศึกษาหนักเป็น 2 เท่า จึงจะได้ขึ้นมาเป็นช่าง

“ตอนนั้นที่ร้านมีช่างซ่อมพิมพ์ดีด 10 กว่าคน แต่ละคนได้เงินเดือนแพงทั้งนั้น เดือนละ 1,200 สมัยนั้นทองบาทละ 400 ผมก็บอกตัวเองว่า ‘กูต้องเป็นช่างให้ได้’ แล้วก็โดนเขาดูถูกว่าเป็นคนสุพรรณบ้าง เป็นคนบ้านนอกบ้าง เราก็ตั้งใจอย่างเดียว งานเข้าแปดโมง เรามาหกโมง ลักจำเอาตอนเช้า ๆ

“สมัยก่อนไม่มีโรงเรียนสอน ต้องให้เขาใช้งาน ให้เขาเขกหัว ให้เขาตี ตอนนั้นได้วันละ 5 บาทนะ เข้าไปฝึกหัดกัน 5 คน ช่างฝึกหัดก็เหลือคนสองคน เพราะทนไม่ได้ แต่เราทนได้ เขาเลี้ยงข้าวกลางวัน ตอนนั้น 150 ต่อเดือนไม่น้อยนะ ผมมีเงินเหลือเก็บนะ ผมตั้งใจว่าจะเป็นช่างให้ได้ ตอนนั้นเขาส่งผมเป็นเซลส์แมน ผมไม่เอา ผมจะเป็นช่าง”

ในที่สุดเขาก็ได้เป็นช่างซ่อมพิมพ์ดีดสมปรารถนา

ช่างซ่อมพิมพ์ดีดกับหลักการ 5 ไม่พูด

ลุงสมศักดิ์ใช้เวลาฟูมฟักความรู้และทักษะที่ร้านของนายจรูญ 12 ปี จนถึงเวลาของตัวเอง ร้าน ‘สมศักดิ์พิมพ์ดีด’ ถือกำเนิดเมื่อปี 2522 ตราบปัจจุบัน ซึ่งก็ยังไม่มีป้ายชื่อร้าน แต่ยังคงทำงานซ่อมพิมพ์ดีดอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง แม้ว่าโลกแห่งการพิมพ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว

“เราทำให้เขาอย่างดี ลูกค้ามาหาเรา เราไม่ให้เขาผิดหวังกลับไป” ลุงสมศักดิ์เน้นย้ำหัวใจของการทำงานให้เราฟังว่า ความจริงใจกับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ รูปธรรมความจริงของช่างซ่อมพิมพ์ดีดก็คือการทำให้เครื่องพิมพ์ดีดของลูกค้ากลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เครื่องพิมพ์ดีดที่ชำรุดกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“ถ้าเราทำไม่ดีเขาตำหนิ ถ้าเราทำดีเขาบอกต่อ ถ้าซ่อมแล้วไม่คุ้มเราแนะนำให้ซื้อใหม่” บอกตรง ๆ แบบนั้นเลย นี่แหละ ความจริงใจของลุงสมศักดิ์

“หลักสำคัญเราต้องจริงใจกับลูกค้า ให้เขาสมประสงค์ ถ้าเขาพอใจเขาจะบอกต่อ เราต้องได้ค่าตอบแทนด้วยนะ ไม่ใช่ทำเฉย ๆ แต่ถ้าทำไม่ดีมันตรงกันข้าม ถ้าไม่ดีเราไม่ยอมให้เครื่องออกจากร้าน ทำจนมันดีที่สุด เราจริงใจกับลูกค้า เขาไว้ใจเราแล้ว เราไม่อยากให้เขาผิดหวัง” ลุงสมศักดิ์กล่าว

มีคำพูดอยู่ 5 คำที่ลุงสมศักดิ์ยึดไว้ในใจว่าจะไม่พูดเด็ดขาด

1. ท้อ เพราะคำนี้จะทำให้เราไม่อยากจะทำอะไรต่อ

2. เหนื่อย เพราะยิ่งพูดยิ่งเหนื่อย

3. ทำไม่ได้ แค่คิดก็หมดปัญญา

4. ขี้เกียจ บิดไปมาไม่อยากตื่น ไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง

5. ยาก อย่าบอกว่ายาก แต่ให้พูดว่า อยากลอง

“ผมยึดไว้ในใจตั้งแต่เป็นช่างฝึกหัด บางทีคิดเรื่องกลุ้มแล้วมันบั่นทอนกำลังเราเปล่า ๆ สู้หาพลังบวกให้ไปข้างหน้าดีกว่า ที่ผมยังทำงานอยู่จนวันนี้เพราะผมรักงานที่ทำ ถ้าไม่ได้ทำจะเป็นไข้เลยแหละ วันหยุดนี่นะ ไม่ได้เลย จับนิดจับหน่อยก็ยังดี เพราะงานมันจะได้ไม่ไปเยอะในวันเดียว ทำวันละนิดวันละหน่อยดีที่สุด ทำต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เดี๋ยวมันก็เสร็จ อย่าให้มันรุมมาในวันเดียวกัน”

ทีมงานมนุษย์ต่างวัยถามลุงสมศักดิ์ว่า คิดถึงการเกษียณบ้างไหม

“คิดครับ” ลุงสมศักดิ์ตอบทันที “แต่วันนี้ผมยังไม่แก่นี่ ผมตื่นเช้ามา ผมสดชื่น ผมไม่ได้คิดว่าตัวเอง 70 ผมรู้ตัวเองยังหนุ่มอยู่เสมอ มันไม่มีเรื่องกลุ้ม”

เรามีสมมติฐานว่า คนที่ยังรู้สึกหนุ่มเสมอเหมือนลุงสมศักดิ์ คือคนที่ค้นพบว่าตนรักอะไรและได้ทำมัน มีการงานที่รักรออยู่ในเช้าวันถัดไป สำหรับช่างซ่อมเครื่องพิมพ์ดีด มันคือเครื่องพิมพ์ดีดที่รอให้เขาปลุกมันขึ้นมา

ความรู้ในกลไกโบราณ

ช่วงเวลาที่ลุงสมศักดิ์เป็นช่างฝึกหัดคือทศวรรษที่ 2510 เครื่องพิมพ์ดีดเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์หลัก ถ้าเปรียบเทียบก็น่าจะเป็นคอมพิวเตอร์พกพาหรือแท็บเล็ตของสมัยนี้ ยุคสมัยถัดมา เครื่องพิมพ์ดีดถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบใหม่ ๆ

โลกเปลี่ยน แต่ลุงสมศักดิ์ยังคงทำในสิ่งเดิมมา 55 ปี ในโลกที่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องพิมพ์ดีดเลยก็ได้ แต่ก็ยังมีคนใช้เครื่องพิมพ์ดีดในฟังก์ชันที่แตกต่างกันออกไป เครื่องพิมพ์ดีดบางเครื่องเป็นเหมือนความทรงจำของผู้ใช้

“มีหลายประเภทครับ” ลุงสมศักดิ์เกริ่นถึงเหตุผลของการฟื้นคืนชีวิตให้เครื่องพิมพ์ดีด “บางเครื่องทำให้บางคนเติบโตทางธุรกิจ เขาใช้มา 40 ปี เขาอยากซ่อมอนุรักษ์ไว้ เพราะมันมีคุณค่าทางจิตใจกับเขา มาขอให้เราทำให้ได้ มันยากหน่อย แต่เราก็อยากทำ เพราะพิมพ์ดีดเครื่องนั้นมีความทรงจำของเขาอยู่ในนั้น” นี่คือเหตุผลที่เครื่องพิมพ์ดีดยังคงเดินทางมาหาช่างซ่อมพิมพ์ดีดที่ชื่อสมศักดิ์อย่างต่อเนื่อง

เครื่องพิมพ์ดีด Remington สีดำที่วางอยู่ภายในร้านของลุงสมศักดิ์ ผลิตขึ้นในยุคสงครามโลก ซึ่งก็มีเทคโนโลยีและกลไกในยุคสมัยนั้น เป็นเหมือนบันทึกทางสังคมที่ถูกในเนื้อในตัวเครื่องพิมพ์ดีดที่ล่วงสมัยไปแล้ว

“เครื่องนี้ผลิตในอเมริกา ซึ่งผมยังไม่เกิด ลูกค้ามาขอให้ซ่อม ผมก็จะทำให้ใหม่เอี่ยมเลย ให้มันฟื้นขึ้นมาใหม่” ลุงสมศักดิ์แนะนำให้ทีมงานฟัง

“จากสภาพเก่าคร่ำ เราทำจนใหม่กริบเลย ขูดสนิมทิ้ง ล้างด้วยน้ำยา เคลือบลงพื้นอะคริลิก เราทำสีเดิม ไปจ้างช่างทำสติกเกอร์เพื่อเอามาติดใหม่ แล้วมันจะกลับมาเหมือนวันที่เพิ่งออกจากโรงงาน” นี่คือสายตาของช่างซ่อมพิมพ์ดีด

เครื่องพิมพ์ดีด Underwood Champion สีสนิม มีป้ายธงชาติไทยและสหรัฐฯ ติดที่ตัวเครื่อง เครื่องนี้มีอายุเท่ากับลุงสมศักดิ์ นอกจากนี้ภายในร้านสมศักดิ์การพิมพ์ยังมีเครื่องพิมพ์ดีดหลายรุ่นไล่เรียงไปจนถึงรุ่นที่ใช้ไฟฟ้า

“เราทำวันนี้ให้ดีกว่าวันก่อน นี่คือพัฒนาการของทักษะที่เราสั่งสมมา แล้วความรู้มันไม่หยุดนิ่ง อุปกรณ์อะไหล่ที่ทุกวันนี้มันไม่มีขายแล้ว เราต้องใช้หัวและมือของเราทำขึ้นมา อะไหล่เหล่านี้เมืองนอกเลิกผลิตแล้ว” ลุงสมศักดิ์กล่าว ก่อนจะบอกว่า “มันเป็นงานไม่น่าเบื่อนะ รายละเอียดของงานมันแตกต่างกันไป เห็นเครื่องไหนยาก ๆ เราวิ่งใส่ก่อน เพราะมันเพิ่มความรู้ให้เรา”

คำตอบของลุงสมศักดิ์ชวนให้เราประทับใจ มันแสดงให้เห็นว่าความรู้มีอยู่ในทุกหนแห่งจริง ๆ แม้แต่ในเครื่องพิมพ์ดีดอายุร่วม 100 ปี กับคนวัยเลขเจ็ดที่ยังตื่นเต้นกับการพบสิ่งใหม่ ๆ และความรู้ใหม่ ๆ

“ตอนนี้เครื่องที่เข้าร้านมันมากขึ้น แต่อายุเราเหลือน้อยลงทุกที มันก็เลยเหนื่อยมาก (หัวเราะ) แต่ยิ่งแก่ยิ่งเก่ง ยิ่งทำดี ละเอียดขึ้น แต่เวลาเหลือน้อย” ลุงบอก

เมื่อทีมงานมนุษย์ต่างวัยถามว่า อะไรที่ทำให้ช่างซ่อมพิมพ์ดีดอย่างเขายังมีแพสชันกับงานตรงหน้า ลุงสมศักดิ์ถามทีมงานกลับ “แพสชัน แปลว่าอะไร”

หลังจากได้รับคำอธิบาย เขาจึงตอบว่า “ใช่ ผมมีแพสชัน ทำไปจนกว่าจะทำไม่ได้ ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ ที่เด็กรุ่นใหม่เขาเรียกว่าอะไรนะ แพสชัน มันก็อันเดียวกันแหละ “ผมทำด้วยความรักในอาชีพ ทำด้วยความศรัทธา”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ