มือเบสหน้าใหม่วัย 73 สมาชิกวงดนตรี ‘Whatfalse’ ที่ลูกชายปลุกปั้น

คลิปที่มียอดยี่สิบเจ็ดล้านวิวในยูทูป วงดนตรีเล็กๆ ที่มีแฟนคลับไปตามดูคอนเสิร์ตของพวกเขาทั่วประเทศ กีตาร์ละมุนเริ่มขึ้น ก่อนเสียงร้องสบายกึ่งตัดพ้อ เล่าถึงป่าเขา การเดินทาง และความรักคลอขึ้นมา จากเพลงที่แสนเป็นเอกลักษณ์และเหมาะกับวันฝนตกนี้ มีมือเบสอายุ 73 ปีเป็นสมาชิกวง

“หลังเกษียณคือชีวิตบั้นปลาย คงอยู่แบบคนแก่เลี้ยงลูกหลานไปวันๆ ไม่ได้คิดเลยว่าจะได้มาเล่นดนตรีมีเอฟซี” หรั่ง–สุรางค์ จิตรศาลา สรุปช่วงเวลาชีวิตในปัจจุบันให้ฟัง

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต เขาเป็นนักเรียนจ่าอากาศ และทำงานรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ทหารอากาศ จากนั้นก็ถูกคัดเลือกให้เป็นนักดนตรีของกองทัพอากาศ ประจำตำแหน่งมือไวโอลิน เล่นดนตรีต้อนรับแขกบ้านต่างเมือง และงานต่างๆ ที่ราชการจะจ้างไปทำการแสดง

เวลาเปลี่ยนผ่านจากนักดนตรีก็กลายเป็นอาจารย์สอนจ่าอากาศรุ่นใหม่ โดยถ่ายทอดความรู้จากการทำงานเล่นดนตรี จนถึงวัยเกษียณก็ออกมาเป็นครูอยู่โรงเรียนอนุบาลแถวบ้านราวสองปี ลูกชายคนโตเรียนจบและมีงานทำอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนลูกคนเล็กก็จบมหา’ลัยพอดี หรั่งเลือกใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยการพักผ่อนอยู่กับครอบครัวพร้อมหน้ากันที่บ้านสิงห์ในจังหวัดราชบุรี

“หลังจากเกษียณมาประมาณ 10 ปี นั่งเล่น ดูทีวี ตอนเย็นก็ไปออกกำลังกายบ้าง ก็ไม่ได้ทำอะไร สงสัยลูกกลัวเราจะอายุสั้นมั้ง เลยมาถามว่า พ่อเคยเล่นดนตรีมาก่อน จะทิ้งดนตรีเลยเหรอ เรามาเล่นด้วยกันมั้ย”

วงดนตรีของลูกชายคนเล็ก

วงดนตรีของลูกชายคนเล็ก มาร์ค–สุรวัฒน์ จิตรศาลา ชื่อ Whatfalse เกิดขึ้นเมื่อลูกจบดนตรีและเลือกกลับมาอยู่บ้านเขียนเพลงและทำดนตรีจากวิชาที่ศึกษาและค้นคว้า ทำงานเพลงคนเดียวไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมาร์คก็คิดว่า ถ้าเพลงของเขาต้องออกไปแสดงโชว์จะทำยังไงได้บ้าง การเล่นและร้องคนเดียวอาจไม่ได้อารมณ์ที่ต้องการ ลูกจึงต้องออกตามหาสมาชิกเครื่องดนตรีอื่นๆ และสุดท้ายหลังจากใช้เวลาตามหาเพื่อนร่วมเล่นดนตรีอยู่นาน คำตอบสุดท้ายกลับมาเป็นคนในครอบครัว

“ลูกชอบเพลงแบบที่เราเคยฟังและเคยเล่นดนตรีเมื่อตอนวัยรุ่นอายุ 18 – 19 เราก็พยายามจะช่วย เราเคยเล่นดนตรีเป็นคนสีไวโอลีน พอต้องมาเล่นเบส วิธีการเล่นก็ต่างไป แต่ก็บอกเขาว่าพ่อจะลองฝึกดู ตอนที่เล่นดนตรีอยู่ก็พอรู้บ้างว่า เบสเขาจับกันยังไง ทิ้งไปเป็นสิบปีที่ไม่ได้เล่น”

เมื่อตกปากรับคำว่าจะช่วย จิตวิญญาณนักดนตรีในเนื้อตัวก็พาให้หรั่งเริ่มลองหยิบเครื่องดนตรี มาจับ มาไล่สเกล โด เร มี ฟา ซอล ลองผิดลองถูกไป เพื่อให้นิ้วที่แข็งได้คลายกล้ามเนื้อและลองเอาเพลงของลูกมาเล่น รวมถึงชวนลูกชายคนโต ม่อน–สุรนารถ จิตรศาลา เข้ามาร่วมวงในตำแหน่งมือกีตาร์ และเลยไปถึง ต้น–พิพัฒน์ ศิริอินทร์ เพื่อนข้างบ้านที่ทุกคนในครอบครัวคุ้นหน้าตากันตั้งแต่เด็กมาตีกลองด้วย

“เราก็บอกลูกว่าถ้าเพลงเอ็งเล่นยากก็ต้องเขียนเป็นโน้ตมาให้พ่ออ่านนะ ถ้าให้จำบางทีมันจำไม่ได้ ตาไม่ค่อยดี สมองหรือหู ก็ไม่ค่อยทันแล้ว (หัวเราะ)

“คนรุ่นใหม่เล่นรอบสองรอบก็ได้แล้ว ของเราเป็นสิบรอบ เล่นไม่ได้บ่อยเข้าก็มีความรู้สึกถอดใจ ถอดใจก็ทะเลาะกันบ้าง ก็บอกให้ลูกไปหาเพื่อนมาเล่นแทนพ่อดีกว่า คิดแล้วคิดอีกว่าเราอายุเยอะแล้วไม่มั่นใจว่าตัวเองจะเล่นทันลูก ลูกก็บอกให้อดทนต่อ ลองทำไปเรื่อยๆ เราก็คิดว่าการทำไปเรื่อยๆ มันก็น่าจะดีขึ้น แล้วมันก็ดีขึ้นจริงๆ”

ความต่างของช่วงวัยก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการเล่นดนตรีของครอบครัวนี้ หรั่งบอกว่า “เพราะผมมันหัวโบราณ อยากจะเล่นแบบที่ตัวเองรู้สึกชำนาญ แต่ลูกๆ ก็คอยขัดว่าอยากให้เล่นแบบที่ลูกๆ คิดว่าน่าจะเป็นการผสมผสานความเก่าใหม่ได้ลงตัวและเหมาะกว่า” เพราะเชื่อและเห็นในสิ่งที่ลูกศึกษามา มือเบสวัยหลังเกษียณจึงเห็นดีงามด้วยและเปิดรับสิ่งใหม่ๆ จากคนรุ่นลูก

“มีดนตรีอะไรดีๆ เขาจะชวนมาดู มาฟัง มาวิเคราะห์ พยายามหาแรงบันดาลใจให้ผม เขาเก่งเรื่องดนตรี เป็นคนที่ชอบศึกษาดนตรี เรียนมาด้านนี้จนประสบความสำเร็จได้เกียรตินิยมทางดนตรีแจ๊สมา เคยไปประกวดในกรุงเทพฯ ก็ได้รางวัล เขามีฝีมือ เขียนเนื้อ อัดกีตาร์ อัดเบส อัดกลอง อัดทุกอย่าง

“เพลงที่ยอดวิวสูงที่สุดของเขาคือเพลง โดยปราศจากฉัน เพลงนี้หลักสิบล้านวิว ทำเองคนเดียวทั้งหมด ยังนึกในใจว่ามันจะเป็นไปได้ยังไง นอนคุยกับแม่เขาว่ายอดวิวเยอะ เริ่มมีงานเข้ามา เออมันก็ไปได้

“มีลูกชายเป็น Front Man มีพี่ชายเล่นกีตาร์ มีเราเล่นเบส เป็นเพื่อนที่คอยสนับสนุนกัน ได้ไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ลูกได้เงินค่าจ้างมาก็แบ่งมาให้พ่อเอาไปบ้าง เป็นเงินที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้และมีบำนาญกินเล็กๆ น้อยๆ เราว่ามันมีความสุขแล้วแหละ การได้เล่นดนตรีมันก็เลยสุขยิ่งกว่าจำนวนเงินที่ได้รับมา”

วงดนตรีของครอบครัว

วันนี้ผลงานเพลงของลูกชายซึ่งใช้เวลาทำงานเงียบๆ มาเกือบสิบปี เริ่มเป็นที่พูดถึงของกลุ่มคนฟัง วงดนตรี Whatfalse เริ่มมีงานทัวร์มากขึ้น มีแฟนเพลงที่ชื่นชอบผลงาน

หรั่งย้อนให้ฟังว่า “สมัยก่อนเราเคยเล่นแบ็กอัปเป็นข้าราชการยศน้อยๆ เงินเดือนอยู่ที่ 7,000 – 8,000 บาท ช่วงนั้นเป็นช่วงสร้างครอบครัว เราก็มีความสุข ส่งลูกเรียนสูงๆ ได้ หาที่เรียนดนตรีให้ลูกเหมือนคนอื่นที่เขาได้เรียนดีๆ เราส่งคนเล็กเรียนเปียโน คนโตไปเรียนกีตาร์

“ยุคหนึ่งคนที่ได้เรียนดนตรีเขาจะมองกันว่าเป็นลูกคนมีตังค์ แต่เราไม่ได้มีอะไรหรอก เงินเดือนก็ไม่กี่ตังค์ ส่งลูกเรียนจนจบมาได้ถึงทุกวันนี้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร การเล่นดนตรีนอกจากความสุขแล้วมันยังได้ปัจจัยหลายๆ อย่างมาเลี้ยงดูแลครอบครัวด้วย”

เมื่อวงดนตรีเริ่มมีชื่อเสียง มีงานแสดงมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้เป็นความภูมิใจและกลายเป็นสิ่งใหม่ในชีวิตที่คนอายุมากอย่างเขาได้เจอ

“ได้ไปเจอเด็กรุ่นใหม่ เพลงที่ลูกทำเป็นเพลงนอกกระแส หรือ เพลงอินดี้ เราก็มารู้จากตอนที่วงดนตรีของลูกดัง เราเริ่มสงสัยไม่ว่าจะไปเล่นที่จังหวัดไหน ทำไมมีคนตามมาดูทุกที่ ทำไมเขาชอบเราขนาดนี้ เรารู้สึกมีความสุขที่ได้เห็น คนแก่อย่างเรายังได้เจอสิ่งนี้ เพราะในชีวิตเราไม่เคยเจอ เริ่มมีแฟนคลับส่งข้อความมาหาบอกให้รักษาสุขภาพด้วยนะคุณพ่อ อยากได้ฟังเพลงไปอีกเรื่อยๆ ในวงเราไม่ได้เล่นเบสอย่างเดียวก็ร้องประสานเสียงได้บ้าง ได้รู้ว่ามีคนที่ชอบเราก็มี ยังบอกพวกเขาไปว่า เออดีนะหนู ได้มาต่ออายุให้กับคนแก่” เขาเล่าด้วยเสียงหัวเราะสดใส

การได้เล่นดนตรีร่วมกับลูกๆ ทำให้วัยเกษียณของเขาสดชื่น มีชีวิตชีวากว่าที่ผ่านมา ทุกคนในครอบครัวได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกันและกลายเป็นครอบครัวที่ทุกคนเสริมสร้างความสุขให้กัน ในแบบที่ทุกคนได้ทำสิ่งที่รัก ที่ชอบ จนก่อเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า ความสุขไม่ยากนัก ความรักไม่ยากเย็น เช่นในเพลงหนึ่งของวงดนตรี Whatfalse

วัยเกษียณในวิถีวัยรุ่น

“ถ้าเราท้อแท้ไปตั้งแต่แรก คงไม่ได้เจอสภาพแบบนี้ เด็กรุ่นใหม่ยอมรับเรา ได้ไปเห็นทั้งงานที่เล่นในป่าเขา งานเฟสติวัล เห็นสิ่งต่างๆ สถานที่ที่ได้ไปเล่นดนตรีกับลูกมันแตกต่างจากสถานที่ที่เราเคยไป เราสามารถทำให้เขามีความสุขได้ นี่คือความสุขที่พ่อได้รับมา”

Whatfalse เป็นวงดนตรีสายป่า คือจะรับงานที่เล่นใกล้ชิดธรรมชาติ หรืองานเฟสติวัลสายนอนแคมป์กางเต็นท์ หรือเฟสติวัลต่างๆ ที่ทุกคนต่างตั้งใจซื้อบัตรมาเพื่อชมและฟังดนตรี ร้านเหล้า ผับบาร์ ไม่เหมาะกับแนวเพลงของวงดนตรีนี้ และแน่นอนเรื่องสุขภาพร่างกายของนักดนตรีอาวุโสด้วย

หากใครได้ติดตามจากยูทูปหรือการแสดงสดของวง จะเห็นลีลาท่วงทำนองจังหวะเดินเบสด้วยท่าทีกระฉับกระเฉงของหรั่งที่ฉายแสงแห่งความสุขใจมาให้ผู้ฟังได้รับ รวมถึงรอยยิ้มที่มาจากการได้ทำในสิ่งที่เขาชื่นชอบอยู่เสมอ

“บอกลูกๆ ทุกคนว่าถึงอายุจะยังน้อยก็จริง อยากทำอะไรทำ ชีวิตคนๆ หนึ่ง เดินทางมาถึงอายุ 70 กว่า ยังได้ทำในสิ่งที่ชอบ เวลาข้างหน้าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ตายไปมันก็ไม่เสียดาย เราได้ทำแล้ว” เขาทิ้งท้ายและสรุปรอยต่อหลังวัยเกษียณที่เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาใหม่ของชีวิตมือเบสวัย 73 ปี ไว้ว่า

“เหมือนความฝัน ยุคนี้เดินเข้างานก่อนจะขึ้นเวที มีคนขอถ่ายรูป มีคนขอเข้ามาทักทาย มาขอเป็นเอฟซี เป็นสิ่งที่ในยุคของเราไม่เคยมี คิดว่าถ้าสิ่งนี้เคยเป็นแค่ฝัน เวลานี้มันก็เป็นความจริงแล้ว แต่เป็นลูกที่พาเราเดินมาจนเจอความฝันนี้”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ