จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกรับราชการ มีอาชีพที่มั่นคง แต่ลูกกลับอยากทำงานศิลปะ ที่หลายคนมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่แน่นอน?
สำหรับบ้านแซไชย แม้จะเคยแอบหวังอยากให้ลูกรับราชการเหมือนตัวเอง แต่พ่อต้อยก็เข้าใจและยอมรับการตัดสินใจของลูกๆ แถมยังสนับสนุนด้วยการพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกศิลปะของลูกทั้งสองคน จนกลายมาเป็นครอบครัวศิลปะในโลก TikTok ที่ใช้ชื่อว่า Kakkatoon และ cutting.cut ที่มีคนติดตามกว่า 300,000 คนและมียอดวิวพุ่งทะยานไปถึงหลักล้านวิว
“พ่อจะไม่บังคับให้ลูกทำงานเหมือนพ่อ แต่จะคอยสนับสนุนความชอบของลูกอย่างเต็มที่”
มนุษย์ต่างวัยชวนคุยกับพ่อต้อย-สุทธิพงศ์ แซไชย วัย 59 ปี หลอด-ชลิตา แซไชย วัย 29 ปี และตาล-ชนนิกานต์ แซไชย วัย 25 ปี สามพ่อลูกต่างเจนฯ ครอบครัวศิลปะที่สร้างชื่อมาจากการนำวัสดุเหลือใช้มา DIY ให้กลายมาเป็นผลงานศิลปะสุดน่ารัก โดยมีพ่อต้อยเป็นพรีเซ็นเตอร์ประจำช่อง ทุ่มสุดตัว แบบที่เรียกได้ว่าลูกจ้างร้อยแต่พ่อเล่นล้าน
จากความชอบวัยเด็ก สู่อาชีพที่ใช่
หลอด – ตอนเด็กๆ เราทำอะไรได้ไม่นาน จะวอกแวกไปทำอย่างอื่นตลอด แต่ตอนเรียนอยู่ ป.3 เห็นเพื่อนระบายสีภาพรุ้งแล้วมันสวยมาก เราอยากระบายบ้างเลยบอกแม่ให้ซื้อสีให้ หลังจากนั้นก็ชอบระบายสีมาตลอด เราเป็นคนสมาธิสั้น แต่พวกงานศิลปะเป็นสิ่งเดียวที่เราทำได้นาน พ่อกับแม่เห็นว่าเราชอบก็เริ่มให้ลองไปเรียนศิลปะดู พอเราได้ไปเรียนเราก็ชอบทำพวกงานประดิดประดอย หลังจากนั้นเราก็ฝึกทำมาตลอด
ตาล – เราเห็นพี่สาวทั้งระบายสี ทำงานประดิษฐ์ก็ซึมซับอะไรพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก พอที่โรงเรียนให้ทำการ์ดวันสำคัญต่างๆ การตกแต่งใบงานเราก็จะทำเวอร์กว่าคนอื่น โรงเรียนจัดประกวดวาดภาพก็เข้าประกวดมาตลอดแล้วทำได้ดี เลยชอบศิลปะตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
ธุรกิจที่เริ่มต้นจากวัยเรียน จากอาชีพเสริมมาสู่อาชีพหลักในปัจจุบัน
หลอด – ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเราก็ลองทำงานศิลปะแบบจริงจังดู เหมือนเราชอบทำอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งงานเพ้นท์ เย็บผ้าสักหลาด เปเปอร์มาเช่ เราเลยทำงานพวกนี้ขายออนไลน์ บวกกับตอนนั้นเราได้ไปจัดแสดงผลงานในคาเฟ่ร้านดัง แล้วผลตอบรับดีมาก ทำให้มีงานเข้ามาเรื่อยๆ จนปัจจุบันแบรนด์เราได้ไปวางขายในห้างด้วย ส่วนน้องก็มีร้านเหมือนกันเป็นงาน Paper Craft ในอินสตาแกรม
ตาล – จุดเริ่มต้นของร้านเราในอินสตราแกรม มันเริ่มมาจากช่วงมหาวิทยาลัยที่เราลงเรียนวิชา Paper Craft แล้วก็เอาผลงานไปลงในเฟซบุ๊ก เพื่อนก็มาแสดงความคิดเห็นว่าให้เปิดร้านขายผลงานในอินสตาแกรม เราก็เลยลองเอาผลงานไปใส่กรอบรูปแล้วเปิดร้านขายตามที่เพื่อนแนะนำดู ตอนแรกคิดว่าจะขายได้แค่กับเพื่อน แต่ปรากฏว่ามันขายได้ มีคนทั่วไปทักมาสั่งทำเยอะมาก ต่างประเทศสั่งมาก็มี เราก็เลยมีงานมาตลอดจนถึงตอนนี้ แล้วก็ต่อยอดโดยจัด Work Shop สอนทำ Paper Craft ตามห้างและคาเฟ่อยู่บ่อยๆ
ความกังวลใจของคนเป็นพ่อ
พ่อต้อย – สมัยก่อนถ้าจะทำงานศิลปะเป็นอาชีพก็คงจะยาก พอมีลูก ในใจเราอยากให้ลูกรับราชการเหมือนผม ตามประสาคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็อยากให้ลูกมีงานที่มั่นคง เลี้ยงดูตัวเองได้ ผมทำอาชีพนี้แล้วดี ผมก็อยากให้ลูกมาสายนี้เหมือนกัน
หลอด – สมัยก่อนอาชีพยังไม่เยอะ ตัวเลือกยังไม่หลากหลายเท่ากับปัจจุบัน เราก็เข้าใจในมุมของคนเป็นพ่อเป็นแม่ อะไรที่พวกเขาทำมาก่อนแล้วมันดี ก็ไม่ผิดที่เขาจะแนะนำเราให้เดินตามทางของเขา แต่พอเราลองเรียนคณะที่ไม่ใช่ตัวเราแล้ว มันไม่มีความสุขเลยแม้แต่นิดเดียว เราจึงตัดสินใจบอกพ่อกับแม่ว่าขอซิ่วไปเรียนคณะที่คิดว่าเหมาะกับตัวเรามากกว่า
ตาล – พ่อแม่ทุกคนก็ห่วงลูกเป็นธรรมดา กลัวว่าถ้าลูกเรียนศิลปะแล้วจะลำบาก เราเลยต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เราเลือกนั้นมันมีทางทำให้เรามีเงินและเลี้ยงตัวเองได้ แล้วเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเรา 2 คนทำได้จริงๆ
โชคดีที่พ่อแม่เคารพการตัดสินใจของเรา และพร้อมที่จะสนับสนุนเราทุกอย่าง งานที่เราทำกันสองพี่น้อง ก็มีครอบครัวช่วยมาตลอด จะไปขายของที่ไหนพ่อกับแม่ก็พาเราไป เราทำงาน พ่อก็ช่วยเป็นช่างไม้ให้ ถ่าย TikTok ด้วยกันแบบนี้เหมือนเป็นกิจกรรมครอบครัวไปแล้ว
กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
พ่อต้อย – พอเห็นแบบนี้ เราก็ไม่มีความกังวลใจอะไรแล้ว เขาทำให้เราเห็นตั้งแต่สมัยเรียนแล้วว่าพวกเขาชอบหาเงิน (หัวเราะ) เขาสามารถนำสิ่งที่เขาถนัดมาหาเงินได้ เราก็ไม่มีอะไรต้องห่วงเขาแล้ว เรามีหน้าที่แค่เลี้ยงดูลูกให้เติบโต เรื่องความชอบและอาชีพเราจะไปบังคับลูกไม่ได้ เขาจะสนใจศิลปะหรืออะไรก็ตามเรามีหน้าที่สนับสนุนพวกเขา ดีเสียอีกที่เราได้ปรับตัวเข้ามามีส่วนร่วมกับงานของลูกได้ ลูกทำแล้วมีความสุขเราก็สุขด้วย
ถ้าผมย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็คงไม่เลือกให้ลูกมารับราชการเหมือนผม ให้เค้าทำในสิ่งที่เขาชอบเหมือนเดิม เพราะลูกทำงานนี้ก็ไม่ต้องเดินทางออกไปทำงานทุกวัน เรากลับมาก็เห็นลูกอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ต้องร่ำรวยมาก แค่ได้ใช้เวลาร่วมกับพวกเขาให้ได้มากที่สุดเท่านี้ก็พอแล้ว”