คน Gen Y หรือ ชาวมิลเลนเนียล คือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง ปี พ.ศ. 2523 – 2540 โดยมีอายุ 26 – 40 ปี ซึ่งเติบโตมาพร้อม ๆ กับโลกอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียและยุคสมัยแห่งการแข่งขัน
แม้คนเจเนอเรชันนี้จะเปี่ยมไปด้วยพลังและมีความมุ่งมั่นที่จะไขว่คว้าความสำเร็จในชีวิตแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกแห่งการแข่งขันและการเห็นชีวิตเพื่อน ๆ ผ่านโซเชียลมีเดียทำให้พวกเขาเกิดความทุกข์ หากรู้สึกว่าชีวิตตนเองนั้น “ยังดีไม่พอ” มิหนำซ้ำการกดดันตนเองแบกความคาดหวังของครอบครัวไว้ก็ยิ่งทำให้รู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้นเรื่อย ๆ
เพื่อให้เข้าใจความเจ็บปวดที่คน Gen Y ต้องเผชิญ มนุษย์ต่างวัยเปิดใจคน Gen Y ว่าเขารู้สึกอย่างไร อะไรที่ทำให้เขาอ่อนแอในบางช่วง และการเปรียบเทียบชีวิตของเขากับผู้อื่นนั้นเจ็บปวดเพียงใด ไม่แน่ว่าชีวิตของเพื่อน ๆ Gen Y ที่เราได้รู้จักอาจไม่ต่างจากสิ่งที่คุณรู้สึกอยู่ตอนนี้ก็ได้
“เตย” พนักงานบริษัท Gen Y เปิดใจกับเราว่า สมัยเรียนตนเองเป็นคนสดใสร่าเริง มีพลังในตัวเองมาก กล้าแสดงออก ชอบอยู่กับเพื่อนฝูง และชอบเข้าสังคม แต่เมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานได้ 4-5 ปี และเริ่มเห็นชีวิตของเพื่อน ๆ ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ตัวเองยังอยู่กับที่ จึงมีความรู้สึกด้อยค่าในตัวเองเกิดขึ้น
“เดิมทีเราเป็นคนชอบเล่นโซเชียลมีเดียมาก แต่ตอนนี้ไม่ค่อยอยากเล่นแล้ว เพราะรู้สึกว่าเพื่อน ๆ ที่โตมาด้วยกันเขานำหน้าเราไปไกล แต่เรายังเหมือนเดิมตั้งแต่เรียนจบมา ทั้ง ๆ ที่เราก็พยายามไม่ต่างจากใคร
“เราคิดว่าตัวเองเป็นคนเก่งคนหนึ่ง ไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่นเลย แต่เร็ว ๆ นี้เลื่อนดูโพสต์ในโซเชียลแล้วเห็นเพื่อนบางคนกำลังแต่งงาน บางคนก็เพิ่งได้เลื่อนตำแหน่งในที่ทำงาน หรือบางคนก็ชอบโพสต์ไปเที่ยวต่างประเทศบ่อย ทำให้เราสงสัยว่าทำไมชีวิตตัวเองไม่ประสบความสำเร็จแบบนั้นบ้าง ทั้ง ๆ ที่เราก็พยายามกับชีวิตตัวเองเต็มที่แล้ว ทั้งทุ่มเทกับทั้งเรื่องงานและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แต่ทำไมชีวิตถึงไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเหมือนคนอื่นสักที”
“ทุกวันนี้เลิกงานแล้วกลับมาห้อง ก็ชอบถามตัวเองว่า ทำไมเรายังเป็นแค่พนักงานบริษัทธรรมดา ทำไมเรายังไม่เป็นเจ้าของธุรกิจ ทำไมยังไม่แต่งงาน ทำไมยังไม่มีบ้านมีรถเป็นของตัวเอง ที่เป็นแบบนี้เพราะเราจัดการชีวิตตัวเองได้ต่ำกว่ามาตรฐานหรือเปล่า
“สิ่งที่แย่กว่าคือ เรารู้สึกว่าคนในครอบครัวก็ไม่ได้ภูมิใจในตัวเราถ้าเทียบกับพี่น้องคนอื่น ๆ เพราะเรารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นสู้พวกเขาไม่ได้สักอย่าง จนตอนนี้จากที่เคยชอบไปเที่ยวหรือไปเจอผู้คนในวันหยุด เรากลับไม่อยากออกจากห้องตัวเองและไม่อยากเจอใคร เพราะขี้เกียจต้องมาตอบคำถามอย่าง เมื่อไหร่จะแต่งงาน เมื่อไหร่จะได้เลื่อนตำแหน่ง หรือเมื่อไหร่จะซื้อบ้าน และเรารู้สึกว่าต่อให้เพื่อน ๆ ไม่บอกเงินเดือนของพวกเขา แต่เราก็รู้สึกว่าเงินเดือนตัวเองน่าจะน้อยที่สุดในกลุ่มเพื่อน ๆ อยู่แล้ว”
“ยิ่งอายุมากขึ้นทุกปี ๆ ก็ยิ่งหมดไฟในการทำงาน จากที่เคยมีความฝัน มีเป้าหมาย แต่ตอนนี้เหนื่อยล้ามากจนไม่อยากทำอะไรอีกแล้ว แค่อยู่ให้รอดไปวัน ๆ ก็พอ เพราะเราไม่มั่นใจว่าตัวเองเป็นคนเก่งอีกต่อไปแล้ว และก็รู้สึกว่ากำลังป่วย เพราะหยุดไม่ได้ที่จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลา
“จริง ๆ เราก็อยากเป็นคนที่ก้าวหน้า เป็นคนที่คนอื่นพูดได้เต็มปากว่าภูมิใจในตัวเรา แต่ตอนนี้มองไม่เห็นทางที่จะเติบโตไปเป็นคนที่อยากเป็นได้เลย”
จากเรื่องราวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่อยู่ในสังคมแห่งการแข่งขัน และเพื่อไม่ให้คนGen Y หรือคนที่กำลังทำงานอยู่ทุกวัย ต้องเหนื่อยล้าไปมากกว่านี้ มนุษย์ต่างวัยพาไปฟังความคิดเห็นจาก ผศ. ดร.ดลดาว วงศ์ธีระธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อให้คนที่กำลังเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ได้กลับมามองเห็นคุณค่าในตัวเอง เพื่อเดินหน้าต่อไปด้วยเป้าหมายของเราอย่างแท้จริง
ดร.ดลดาว กล่าวว่า “การเปรียบเทียบคือเรื่องปกติของมนุษย์ ถ้าเราเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วเกิดพลังบวก อันนี้พาชีวิตไปต่อได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่การเปรียบเทียบทำให้เกิดพลังลบ จนเริ่มรู้สึกว่าทำไมเราทำไม่ได้แบบเขา หรือเริ่มไม่อยากเข้าสังคมเพราะสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ให้หยุดทันที ซึ่งวิธีหยุดก็คือให้เราตระหนักว่า เรากำลังทำร้ายตัวเองด้วยการเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่หรือเปล่า
“เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยมาตรฐานมากมาย ซึ่งอาจเป็นมาตรฐานของสังคม หรือมาตรฐานที่โลกโซเชียลสร้างขึ้น เราเลยพยายามจะไปให้ถึงมาตรฐานเหล่านั้น แล้วตั้งความสำเร็จในอุดมคติขึ้นมาเอง เพราะเราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า คนที่ประสบความสำเร็จ คือต้องมีคนอื่นชื่นชม เราเลยล็อกความคิดตัวเองว่า เราอยากเป็นคนนั้น แต่พอทำไม่ได้เราก็เลยน้อยเนื้อต่ำใจในตัวเอง”
“การอยากมีชีวิตที่ดีแบบคนอื่นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้ามันเป็นการกดดันตัวเองเพื่อให้วิ่งตามคนอื่นให้ทันนั้น เราจะไม่มีวันรู้สึกสงบ เพราะคนอื่นก็จะวิ่งหนีเราไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายก็จะจบลงที่เราไปแปะฉลากตัวเองว่าเป็นคนต่ำกว่ามาตรฐานสังคม เพราะไม่ว่ายังไงเวลาที่เรามองไปยังคนที่ประสบความสำเร็จ เราก็จะเห็นข้อดีในตัวเขา แต่ไม่เห็นข้อดีของตัวเอง
“เพราะฉะนั้นให้เริ่มหันกลับมามองที่ตัวเอง เติบโตมาขนาดนี้ ทำอะไรได้มากมายขนาดนี้ เราลืมสิ่งที่เราทำได้เพราะมัวแต่มองไปที่ชีวิตคนอื่นมากไปหรือเปล่า อยากให้คนที่กำลังเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นหันมามองว่าแท้จริงแล้วเราปรารถนาจะเป็นเหมือนเขาทั้งหมดหรือเปล่า หรือเราวางเงื่อนไขชีวิตตัวเองมากไปจนไม่มี ๆ ความสุขกันแน่
“เป้าหมายมีไว้พุ่งชนก็จริง แต่ในวันที่ไปถึงเป้าหมายแล้วเราอาจจะมีสุขภาพร่างกายที่แย่กว่าตอนนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าตอนนี้เรายังตื่นขึ้นมามีลมหายใจ และยังมีโอกาสใช้ชีวิต ก็ถือว่าเป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จแล้ว เลยอยากให้คนที่กำลังทุกข์จดจ่ออยู่กับปัจจุบันมากขึ้น และหาความสุขที่พอดีกับตัวเราให้เจอ
“เราทุกคนมีศักยภาพที่จะก้าวหน้าและพัฒนาตัวเองในทุก ๆ ด้าน แต่เราต้องเชื่อมั่นและยอมรับสิ่งที่เราเป็นให้ได้ก่อน เพื่อให้มีความภูมิใจเกิดขึ้น เพราะมนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าในตัวเอง ทว่าต้องไม่ใช่ในแบบ ‘ฉัน’ VS ‘คนอื่น’ แต่เป็น เป็น ‘ฉัน’ VS ‘ฉัน’ ถึงจะถูกที่สุด เพราะสุดท้ายเขาก็ไม่ใช่เรา และเราก็ไม่ใช่เขา ในเมื่อไม่สามารถหยุดเปรียบเทียบได้ คู่เปรียบเทียบที่ดีที่สุดก็คือตัวเราในอดีต โดยให้คิดว่าเราไม่จำเป็นต้องเก่งกว่าใคร แค่ดีขึ้นกว่าตัวเราในเมื่อวานก็พอแล้ว เนื่องจาก ข้อดีของการมีคู่เปรียบเทียบเป็นตัวเองก็คือ เราจะอุดช่องว่างในการวิ่งไล่ตามคนอื่นได้ และตัวเราจะไม่มีวันกลบข้อดีของตัวเองแน่นอน”
“แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะจัดการกับอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้น แต่เราต้องหมั่นฝึกฝนอยู่บ่อย ๆ เพื่อให้สมองและร่างกายเรียนรู้ที่จะรับมือกับเรื่องเหล่านั้น ในยุคที่โลกถูกย่อให้แคบลงจนเราเห็นชีวิตของคนอื่นได้ง่าย มันจะทำให้ความรู้สึกของเราแปรปรวนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเจอเรื่องที่ไม่รู้จะรับมือยังไง แต่ถ้าเราฝึกฝนบ่อย ๆ และมองเรื่องต่าง ๆ ให้ช้าลงอีกนิด เราก็จะหยุดอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นได้มากขึ้น
“เวลาเรามองไปที่คนอื่น เราสแกนพวกเขาอย่างละเอียด แต่เวลาย้อนกลับมามองตัวเอง เรากลับสแกนตัวเองแค่ผิวเผิน จึงทำให้เราคิดกับตัวเองในแง่ลบเกินจริง ทั้ง ๆ ที่เราก็มีข้อดีมากมายซ่อนอยู่ อย่างเช่นเราอาจจะเป็นคนทำงานไม่เก่ง แต่เรื่องกีฬาเราก็ไม่น้อยหน้าใคร หรือเราอาจจะเป็นตัวเล็กที่กล้าแสดงออกมากกว่าคนอื่น หรือต่อให้เราไม่เก่งอะไรเลย แต่เราก็ยังให้โอกาสตัวเองได้ทำงานและ ลองผิดลองถูกต่อไป เพื่อค้นหาตัวเองให้เจอในสักวันหนึ่งก็ได้”
ดร.ดลดาว กล่าวสรุปว่า สิ่งสำคัญคือให้ตระหนักเสมอว่าการเปรียบเทียบคือเรื่องปกติ แต่ถ้าเราไม่กล้าออกแบบชีวิตตัวเอง ก็จะมีคนอื่นมาออกแบบให้ เมื่อนั้นเราก็จะวิ่งไล่ตามคนอื่นอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด แต่ถ้าเรายอมรับทั้งข้อดีกับข้อเสียของตัวเอง และอยู่กับปัจจุบันได้มากเท่าไหร่ เราก็จะเรียนรู้ที่จะเดินทางในชีวิตของเราได้อย่างมั่นคงและมั่นใจมากขึ้นเท่านั้น เพราะสุดท้ายต่อให้เราจะเป็นคนแบบไหนคำว่า “พอดี” ก็จะ คู่กับคำว่า “ดีพอ” เสมอ ซึ่งความจริงของชีวิตเป็นแบบนั้น
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ของผศ. ดร.ดลดาว วงศ์ธีระธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา ที่เผยแพร่ผ่านคลิปวิดีโอ “Gen Y ใช้ชีวิตเพื่อตามใจคนอื่น แต่กลับฝืนใจตัวเอง | รู้สู้โรค | คนสู้โรค ในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ทางไทยพีบีเอส”