#ชีวิตนี้บอกให้รู้ว่า ปีเก่ากำลังผ่านพ้นไป ปีใหม่กำลังเริ่มต้นขึ้น

“มนุษย์ต่างวัย” ชวนอ่านเรื่องราวบทเรียนชีวิตของคนหลากหลายวัย พร้อมทั้งชวนมองย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ว่าที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะเป็นเรื่องราวแห่งความสุขจนอิ่มเอมในหัวใจ หรือความทุกข์ที่เข้ามาเป็นบททดสอบให้กับชีวิตของเรา

เพราะการทบทวนชีวิตอาจจะเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้ชีวิตเรา ก้าวต่อในปีหน้าอย่างมั่นคงและเข้มแข็ง

“ผมคิดถึงคู่ชีวิตจนสุดหัวใจ แต่มันคือกฎธรรมชาติที่ต้องยอมรับและต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง”

อาจารย์ประเศียร สำเร็จกิจ อายุ 85 ปี ได้เล่ามุมมองของชีวิตหลังจากที่ต้องเริ่มต้นใช้ชีวิตคนเดียวอีกครั้งในวันที่อาจารย์จีรพันธ์ สำเร็จกิจ คู่ชีวิตได้เสียชีวิตและจากไปกว่า 1 ปี

“ทั้งผมและภรรยารับราชการเป็นครู หลังจากเกษียณตัวผมเองด้วยความเป็นครูก็ยังอยากที่จะอุทิศตนเองเพื่อทำประโยชน์แก่สังคม บทบาทหน้าที่ในวัยเกษียณของผมคือเป็นประธานชมรมผู้สูงอายุวัดสารอด และผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุวัดราษฎร์บูรณะ เพื่อพาให้ผู้สูงอายุในวัยเดียวกันออกมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ คนที่เคียงข้างและสนับสนุนผมเป็นอย่างดีนั่นคืออาจารย์ จีรพันธ์ ภรรยาและคู่ชีวิตเพียงคนเดียวของผมนั่นเอง

“ภาพชินตาที่เห็นคือไม่ว่าจะเป็นของที่ระลึก หรือการจัดงานใดใด ภรรยาจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังทุกๆ ความสำเร็จของผมเสมอ ไม่ว่าจะงานนอกบ้าน หรือแม้กระทั่งงานในบ้าน ตั้งแต่แต่งงานกันมา เขาทำหน้าที่ได้อย่างดีที่สุด ทั้งช่วยดูแลเรื่องอาหารการกิน  ทำความสะอาดบ้าน ทำทุกอย่างเพื่อผมและลูกมาโดยตลอด จนผมเองก็คิดภาพไม่ออกเหมือนกัน ถ้าภรรยาจากไปก่อนผมจะอยู่กับมันได้อย่างไร”

9 มกราคม ครบรอบ 1 ปีของการสูญเสียที่ไม่มีวันย้อนกลับมา

“ในวัยนี้ความรักคงไม่มีความหวานซึ้งเหมือนวัยรุ่น มีแต่ความผูกพันระหว่างกัน โดยเฉพาะในวันที่ต้องจากกัน หลังจากภรรยาจากไป ความคิดถึงมันยิ่งก้องดังในหัวใจ เราต้องอยู่คนเดียว เพราะลูกๆ เขาต้องมีหน้าที่ทำงานตามเส้นทางของเขา เวลาเดินไปมุมไหนในบ้านมันมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ภรรยาทำให้ ทั้งการเก็บบ้าน เสื้อผ้า อาหาร นั่นยิ่งทำให้เราคิดถึงเขาจนสุดหัวใจไปอีก”

ชีวิตนี้บอกให้รู้ว่า

“แม้เราทั้งสองคนจะศึกษาธรรมมะมาพอสมควร เรียนรู้ว่ามีเกิดย่อมมีดับ แต่พอเกิดขึ้นจริง สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวัยนี้คือต้องมูฟออนให้ได้ อยู่ต่ออย่างไรให้ใจไม่จมกับความทุกข์ คงไม่สามรถเลิกคิดถึงได้ แต่ต้องเรียนรู้ที่จะคิดถึงแบบที่ไม่ทำร้ายตัวเองให้ลูกๆ เป็นห่วง

“ทุกวันนี้การกลับมาจับไม้กวาด ได้กลับมาหุงหาอาหารเองในรอบหลายสิบปี ก็เป็นบทบาทใหม่ที่ผมในวัย 85 กำลังเรียนรู้ ทุกวันนี้เริ่มทำอาหารเก่งขึ้น แต่บ้านอาจจะไม่เป็นระเบียบ หาของไม่เจอบ้าง ก็ต้องฝึกกันต่อไป”

Midlife crisis  ของมารีญา

“แต่ก่อนเราก็ไม่รู้ว่าคำว่า  Midlife crisis คืออะไร และก็ไม่คิดว่า ภาวะแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ในวัยเริ่มต้นเลข 3 ถ้าลองทบทวนดูมันน่าจะมาจากที่หลายๆ คน คาดหวังให้เราเป็นในแบบที่ควรจะเป็น เช่น ตอนวัยรุ่นก็ถูกตั้งคำถามทั้งกับตัวเองและคนรอบตัวว่า ความสำเร็จคืออะไร ซึ่งก็ค้นหามาทุกรูปแบบ และวันนี้ก็ยังค้นหาอยู่

“แต่พอเข้าเลข 3 ในวัยที่เพื่อนๆ คนรอบตัวแต่งงาน เริ่มมีลูก คนรอบข้าง สังคม ก็เริ่มมีคำถามกับเราแบบนี้บ่อยขึ้นว่า จะแต่งงานหรือยัง แต่ความรู้สึกข้างในเรากลับไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำในเวลานี้ ซึ่งเราเข้าใจว่าความรู้สึกนี้หลายๆ คนที่อยู่ในวัยเดียวกันก็น่าจะต้องเจอ เหมือนกับที่เรากำลังเจอ”

 ชีวิตนี้บอกให้รู้ว่า

“พอเดินทางมาถึงวัยที่เริ่มตกตะกอนอะไรหลายๆ  อย่าง เรากลับรู้สึกว่า ยิ่งโตขึ้น เรายิ่งไม่รู้อะไรเลย ทุกอย่างที่เราเคยคิดว่าเรารู้จริงๆ เราไม่ได้รู้ดีขนาดนั้น ตอนเรายิ่งเด็กเราคิดว่าเรารู้มาก รู้เยอะ สิ่งนี้ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ทุกอย่างมีแค่ขาวกับดำ แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่

“ในวันที่เราโตขึ้น เราค้นพบว่า ในสีขาวและสีดำมันยังมีตรงกลางที่สามารถเป็นสีเทาได้ด้วย มันทำให้เราเปิดตามากขึ้น และเรียนรู้ที่จะไม่ตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิดทันที แค่ให้พร้อมยอมรับและพร้อมพัฒนาตัวเองก็พอ”


เมื่อชีวิตเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน

“ชีวิตคนเรามีขึ้นมีลง และมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัยของชีวิต สำหรับป้าเดินทางมาถึงอายุ 74 หลังจากพ้นเลข 6 ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องชีวิตคู่อาจจะไม่ใช่ความรัก แต่มันคือความเจ็บป่วย ไม่ก็ตายจาก สิ่งที่เปลี่ยนชีวิตป้าที่สุดคือการที่สามีป่วยติดเตียงเป็น 10 ปี ทำให้เราต้องรับผิดชอบหลายอย่าง

“สิ่งที่หนักมากที่สุดคือจิตใจ ในช่วงแรกป้าต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำครอบครัวในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ  ดูแลทุกอย่างในบ้าน มองเห็นสามีที่ป่วยป้าก็สงสารเขา ป้ารับรู้เลยว่าเขาก็ไม่อยากให้ตัวเองเป็นเช่นนี้ จากชีวิตที่เคยเสรี รื่นรมย์ พบปะเพื่อนฝูงได้บ้าง ทุกอย่างต้องหยุดลงเพื่อดูแลสามี ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำและก็เต็มใจที่จะทำ  การดูแลคนป่วยไม่ใช่เรื่องง่าย วันทั้งวันเราจะทำแบบเดิมซ้ำๆ เห็นภาพคนป่วยแบบเดิมซ้ำๆ แบบที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร ก็เป็นเรื่องที่ยากที่สุดในชีวิตที่จะผ่านไปได้สำหรับป้า

เมื่อถึงเวลาต้อง “ยอมรับ” ก็ต้องฝึก “ยอมรับ” ให้ได้

“หนึ่งอย่างที่เราต้องฝึกและเรียนรู้คือการปลงให้เป็น เพื่อที่จะอยู่กับสิ่งนี้ให้ได้ เพราะถ้าเราทุกข์ ร่างกายเราก็ทุกข์ คนข้างหลังที่เขายังอยู่และเรายังต้องดูแลเขาก็ทุกข์ไปด้วย ป้าใช้ธรรมะ ใช้การเข้าวัดบ้าง เพื่อทำให้เราผ่านความทุกข์ และมองความสุขให้เป็นไปตามสัจธรรมของโลกให้ได้

ชีวิตนี้บอกให้รู้ว่า

“ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ตอนเป็นเด็กเราอาจจะมีความสุขง่าย หัวเราะง่าย ยิ้มง่าย เพราะหน้าที่ความรับผิดชอบเราอาจจะไม่เยอะ พอวันที่วัยเราเปลี่ยน ความสุขมันเริ่มซับซ้อน เรายิ่งต้องหามันให้เจอว่าอะไรที่ควรปล่อยวางแล้วทำให้ใจเป็นสุข สิ่งนั้นคือสิ่งที่ต้องเรียนรู้

“ตอนนี้สามีของป้าก็เสียชีวิตแล้ว มันก็โหวงเหวง เพราะเราอยู่ดูแลตอนเขาป่วยเป็น 10 ปี สิ่งที่ต้องเรียนรู้และหาความสุขให้เจอคือ การอยู่คนเดียวให้ได้ในวันที่สามีตายจากเราไปแล้ว”


เดินทางมาถึงวัยที่ค้นพบความสุขที่สมดุล

“สำหรับผมวัยใกล้ 40 คือวัยกลางคนที่เราผ่านการทำงานมาพอสมควร เราผ่านวัยที่ต้องดิ้นรนตามหาความฝันเหมือนเด็กทุกคน ในสมัยนั้นงานทุกงานคือโอกาส 10 กว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นทั้งพิธีกร ครีเอทีฟ ทำช่อง YouTube เปิดโปรดักชั่นโฆษณา หรือแม้กระทั่งบทบาทล่าสุดคือการเป็น Influencer ในแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งตอนเป็นเด็กความหิวกระหายในความสำเร็จก็เป็นตัวขับเคลื่อนให้เราทำทุกอย่างแม้จะชอบและไม่ชอบก็ตาม สิ่งเดียวที่โฟกัสคืองาน

“แต่พอเวลาผ่านไปประสบการณ์สูงขึ้น เราเติบโตทั้งความสามารถและรายได้ สิ่งที่ผมค้นพบก็คือ ในวัยนี้เราเลือกงานที่เราสุขที่จะทำได้ เรามีสมดุลในชีวิตมากขึ้น สามารถแบ่งเวลาให้ครอบครัวได้ เราให้เวลากับการมองหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรายังคงชอบทำงานและมองเห็นงานเป็นสิ่งสำคัญ แต่เรามองเห็นมิติอื่นของชีวิตมากขึ้นด้วย ซึ่งผมมองว่ามันคือช่วงชีวิตที่สมดุลและผมชอบมันมากที่สุด ทั้งเรื่องงาน เรื่องการจัดสรรเวลาให้ครอบครัว”

ชีวิตนี้บอกให้รู้ว่า

“แม้ความมั่นคง ชื่อเสียงที่เรามีในวันนี้คือความสุข แต่สิ่งหนึ่งที่ผมตกตะกอนและเรียนรู้จากประสบการณ์คือ ความไม่แน่นอนมันเกิดขึ้นแน่นอน คนที่เป็นที่รักเป็นที่นิยมชมชอบมากๆ วันหนึ่งเขาก็อาจจะกลายเป็นคนที่เสื่อมความนิยมลงไป หรืออาจจะมีคนพูดถึงในแง่ที่ไม่ดีด้วยซ้ำไป ซึ่งเราเห็นเหตุการณ์แบบนี้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ มันยิ่งทำให้ผมพยายามไม่ยึดติด  และเตรียมรับกับความไม่แน่นอน เราต้องเตรียมใจไว้ว่าไม่มีอะไรอยู่กับเราตลอดไป ”

Credits

Author

  • นันท์นภัส โอดคง

    Authorครีเอทีฟตัวกลม อารมณ์ดี รักภูเขา หลงรัก จ.เชียงใหม่ ชอบการเดินทาง enjoy กับการกินอาหารท้องถิ่น สนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ อนาคตที่ฝันไว้สูงสุดคืออยากเป็นคนที่ถูกหวย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ