“ป้าไม่เคยคิดว่าคนที่เป็นเหมือนทั้งชีวิต อยู่กับเรามา 30 ปี ในที่สุดก็ต้องแยกทางในวัย 60 ปี สุดท้ายชีวิตก็สอนให้รู้ว่าการกลับมารักตัวเองไม่มีคำว่าเสียใจ”
มนุษย์ต่างวัย พามาคุยกับ “ป้าไก่-อุษณีย์ จรเขต” อายุ 68 ปี อดีตพยาบาลดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อเตรียมความพร้อมให้ญาติ และผู้ป่วยในระยะท้ายได้ ‘ตายดี’ แล้วไม่มีอะไรติดค้างในใจ แต่ในชีวิตจริงของป้าไก่อีกมุมหนึ่งกลับต้องเผชิญกับความผิดหวังในความรักที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น จากคนที่เคยคิดว่าจะอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต ก่อเกิดเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยวที่ยากจะข้ามผ่านในวัย 53 ปี
ช่วงเวลาฟ้าสงบก่อนพายุจะมา
“ป้าเจอเขาตั้งแต่สมัยเรียนแต่ตอนนั้นยังไม่ได้พูดคุยกัน จนกระทั่งได้กลับมาเจอกันอีกครั้งตอนอายุประมาณ 23 ปี เขาเป็นคนเรียบร้อย นิสัยดี เอาใจใส่ เลยได้คบหากันตั้งแต่ตอนนั้น หลังจากแต่งงานเรามีลูกกัน 2 คน เขาเป็นทั้งสามีที่ดี และเป็นพ่อที่ดีของลูก คอยไปรับไปส่ง ดูแลลูกและตัวป้าไก่ดีเสมอต้นเสมอปลาย
“ป้าไก่เป็นคนที่รักแล้วจะรักหมดทั้งใจ และพร้อมให้อภัยคนที่รักเสมอ ที่ผ่านมาชีวิตที่แต่งงานมีความสุขมาตลอด ไม่เคยทะเลาะ อาจมีงอนบ้างนิดหน่อยแต่เรื่องใหญ่ที่เข้ามาแทบไม่มี มันทำให้เรารู้สึกว่าการแต่งงานกับเขามันไม่มีทุกข์เลย ป้าเป็นผู้หญิงที่โชคดีมากที่มีเขา ป้าจึงพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในฐานะที่เราเป็นภรรยาและหน้าที่ของผู้เป็นแม่ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นเราจะได้ไม่เสียใจ
30 ปี จากรักมั่นคงสู่ความสั่นคลอน
“เมื่อถึงปีที่ 30 ของการใช้ชีวิตคู่ ช่วงนั้นเขาสามารถขายที่ดินได้เยอะแล้วได้ติดต่อกับธุรกิจกับคนอื่น ป้าเริ่มสังเกตได้ว่าในครอบครัวมีบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้น หลังจากนั้นตลอดระยะเวลา 1 ปี จากบ้านที่เคยสงบกลับเหมือนมีไฟอยู่ตลอดเวลา ป้าทะเลาะกับเขารุนแรงแทบทุกวัน จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งเขาก็ออกจากชีวิตเราและมีครอบครัวใหม่
“ป้าไม่ได้บอกใคร จมอยู่กับความรู้สึกเศร้า สูญเสียของตัวเอง ตอนนั้นเหมือนหัวใจของเรามันแตกสลาย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จากคนที่เคยร่างกายแข็งแรงกลับมาซูบผอมจนมีคนมาทัก ได้แต่สงสัยแล้วโทษตัวเองว่าเราทำไม่ดีตรงไหน ทำให้ป้าเข้าใจคำว่าตรอมใจเลยว่ามันเป็นอย่างไร
“ป้าพยายามหาทางว่าจะทำอย่างไรให้หลุดจากความรู้สึกนี้ไปได้ จากคนที่ไม่ได้สนใจศาสนาหรือหลักธรรมอะไร แต่ด้วยเหตุการณ์ตอนนั้นทำให้ป้านึกถึงพระอาจารย์รูปหนึ่งที่เคยให้คำแนะนำกับป้าไก่เมื่อนานมาแล้ว จึงตัดสินใจเข้าวัดไปพูดคุยกับท่านอีกครั้ง ท่านบอกกับป้าไก่ว่า ‘เวลาความทุกข์มันเกิดกับเราก็เหมือนกับลิงตัวหนึ่งที่เอามือล้วงเข้าไปในขวดโหล ตอนเอามือเขาไปเราเอามือแยงเข้าไปได้ แต่พอเรากำขนมแล้วจะเอามือออกมาไม่ได้ ก็เหมือนที่เรากำความทุกข์ไว้ที่ต่อให้ใครจะบอกยังไงถ้าเราไม่ปล่อยมือเองเราก็จะไม่หลุดจากความทุกข์’ คำสอนนี้ทำให้ป้าตระหนักได้ หลังจากนั้นป้าไก่ตัดสินใจนั่งสมาธิ ภาวนาอยู่กับตัวเองตลอด 6 เดือน โดยไม่ได้เอาความทุกข์นี้ไปเล่าให้ใครฟัง
ก้าวผ่านความทุกข์ ด้วยใจที่ปล่อยวาง
“หลังจากนั่งสมาธิ ภาวนา อยู่กับตัวเองไปเรื่อย ๆ จู่ ๆ ความทุกข์ที่มีก็หายไปเหมือนกับปล่อยลูกโป่ง สามารถให้อภัยเขาได้ภายใน 6 เดือน โดยไม่ได้นึกถึงเรื่องไม่ดีของเขาเลย เพราะตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันเขาดีกับเรามาตลอด ป้าเลยเลือกมองแต่สิ่งดี ๆ
“ป้าว่าความทุกข์ของป้าน่าจะเหมือนน้ำที่ขุ่น ถ้ายิ่งไปกวน ยิ่งไปพูดถึง มันก็จะขุ่นอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าวางมันนิ่ง ๆ เวลาผ่านไปมันจะค่อย ๆ ตกตะกอน และกลายเป็นน้ำที่ใส มีครั้งหนึ่งที่ลูกเห็นป้าเศร้า เขาเลยเอาเพลง ‘ครึ่งหนึ่งของชีวิต’ ของ แอม เสาวลักษณ์ มาให้ป้าฟัง เพลงนี้ทำให้ป้าเลือกที่จะมองว่าเรายังเหลือเวลาอีกตั้งเยอะในชีวิต ทำไมเราต้องมาสนใจความทุกข์ด้วย และมองหาว่าอะไรที่เป็นความสุขของเราอีกบ้าง
รักตัวเองไม่เจ็บสักวัน สิ่งสำคัญคือต้องกลับมารักตัวเอง
“ความผิดหวังในครั้งนั้นทำให้ป้ากลับมารักตัวเอง หาความสุขให้ตัวเองมากขึ้น แล้วป้าก็พบว่าป้ายังมีลูกอีก 2 คน และลูกอยากให้ป้าสุขภาพแข็งแรง จากที่ทำแต่งานไม่เคยออกกำลังกายหรือดูแลสุขภาพตัวเองเลย ป้าเริ่มออกกำลังกายตั้งแต่ตอนนั้นจนปัจจุบันป้าเป็นนักวิ่งมาราธอน และได้รับรางวัลมาหลายครั้ง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ป้ามีความสุขมาก
ให้อภัยได้ ใจก็เบาลง
“สำหรับป้าพูดได้เต็มปากว่าไม่มีความรู้สึกโกรธแค้นขุ่นมัว ไม่ไปกล่าวโทษอะไรใครทั้งตัวเอง และอดีตสามี ในวันที่เจอกันครั้งล่าสุดที่เขามาทำเรื่องโอนที่ดินให้กับลูก ป้าไม่ได้รู้สึกโกรธอะไรเขาเลย ยังสามารถเข้าไปโอบเอว จับมือ แล้วถามไถ่ว่าเป็นอย่างไรบ้างได้เหมือนเดิมโดยไม่ได้มีความรู้สึกไม่ดีต่อเขาเลย ทำทุกอย่างได้เป็นปกติเพราะว่าใจเรามันโล่งแล้ว
“ความผิดหวังในครั้งนี้สอนให้เรารู้ว่าเราต้องมองโลกบนความเป็นจริง เวลามีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นเราจะไม่มองในแง่ลบแล้วหาวิธีแก้ไขได้ อยู่กับปัจจุบัน ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดแล้วจะไม่มีเรื่องให้เสียใจภายหลัง
“การรู้จักให้อภัยกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเริ่มจากการให้อภัยในสิ่งเล็ก ๆ ก่อน ถ้าเรายังไม่เคยให้อภัยใครเลยแม้แต่เรื่องเล็กอย่างเราโกรธเพื่อน เรายังไม่ให้อภัยเพื่อนเลย ต่อไปเมื่อมีเรื่องที่ใหญ่ขึ้นเราก็จะให้อภัยยาก เพราะเรื่องเล็กเรายังไม่เคยให้อภัย
การที่ป้าเล่าเรื่องส่วนตัวป้าก็ไม่ได้จะโจมตีใคร แต่อยากส่งต่อกำลังใจถึงคนที่เผชิญภาวะแบบป้าว่าเทื่อเกิดขึ้นแล้วจะรับมือกับใจในวันที่ผิดหวังอย่างไร
“สุดท้าย ไม่มีใครรู้ว่าตลอดไปมีจริงหรือไม่ การกลับมารักตัวเอง มองถึงคุณค่าของชีวิต และสิ่งที่มีอยู่ในวันที่ผิดหวัง คือ ภูมิคุ้มกันทางใจที่จะทำให้เราผ่านเรื่องราวที่เป็นฝันร้ายนั้นได้”