‘วราสาส์น’ ร้านเช่าหนังสืออายุ 4 ทศวรรษ ที่มีหนังสือกว่า 100,000 เล่ม ให้เด็ก ๆ อ่านฟรีได้ในทุกวันเด็ก

“ตั้งแต่เปิดร้านมา ทุกวันเด็กป้าจะเปิดให้เด็กอ่านหนังสือฟรีทุกปี ตอนเช้า ๆ เด็ก ๆ เขาจะไปเที่ยวกัน พอบ่าย ๆ กลับมา เขาก็จะมาแวะดูหนังสือ รื้อหนังสือดูกันกระจุยกระจาย แต่เห็นแล้วเราก็มีความสุข”

“ตอนนี้ที่ร้านมีหนังสือประมาณ 100,000 กว่าเล่ม มีหลายประเภท ทั้งการ์ตูน นิยายไทย นิยายจีนกำลังภายใน นิยายวาย เรื่องสั้นทั้งเก่าและใหม่ การ์ตูนเก่า ๆ ที่หาอ่านยากตั้งแต่รุ่นที่ยังไม่มีลิขสิทธิ์ การ์ตูนดัง ๆ อย่างโคนัน วันพีซ นิยายแปล ทั้งแปลฝรั่ง แปลญี่ปุ่น นิยายแนวสืบสวนสอบสวน การ์ตูนจีน พวกสามก๊ก มังกรหยก ฯลฯ

ในยุคที่เทคโนโลยีต่าง ๆ มีความทันสมัย ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส ทำให้ผู้คนนิยมอ่านหนังสือเล่มน้อยลงเรื่อย ๆ เด็ก ๆ หลายคนก็แทบจะไม่ได้จับหนังสือเล่มแล้วถ้าหากไม่ได้ใช้ตำราเรียน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยยังคงมีร้านเช่าหนังสือเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ซ่อนตัวเงียบ ๆ อยู่ใจกลางเมืองในย่านการศึกษาอย่างย่านพญาไทที่หลายคนอาจจะเคยเดินผ่านไปมาแต่ไม่ทันได้สังเกต

มนุษย์ต่างวัยพาทุกคนไปสัมผัสเรื่องราวของความรัก ความผูกพันกับตัวหนังสือ กลิ่นกระดาษ และความตั้งใจที่จะส่งต่อนิสัยรักการอ่านให้กับเด็ก ๆ ของ ‘ป้าน้อง’ วราภรณ์ เชฎฐาวิวัฒนา วัย 70 ปี เจ้าของร้านเช่าหนังสือ ‘วราสาส์น’ ร้านเช่าหนังสืออายุกว่า 44 ปี ที่ไม่ได้ตั้งใจทำให้เป็นธุรกิจแต่ทำเพราะเป็นความสุขของชีวิตที่เหลืออยู่ นั่นคงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ป้าน้องเลือกที่จะเปิดร้านต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว และยังคงเปิดให้เด็ก ๆ ได้มาอ่านหนังสือฟรีในวันเด็กของทุกปี ถึงแม้ว่าเด็ก ๆ ที่เข้ามาจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนเหลือแค่ปีละคนก็ตาม

ร้านที่เกิดจากความรักของนักอ่านหนังสือ

“ป้าเปิดร้านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 นับจนปัจจุบันก็ 44 ปีแล้ว ร้านนี้เริ่มจากการที่ป้าเป็นคนรักการอ่าน ป้าอ่านหนังสือมาตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร นิยาย สารคดี อ่านทุกอย่าง แล้วก็เกิดความผูกพันกับหนังสือ เมื่อก่อนป้าทำงานรับราชการ ช่วงเย็นมาก็เปิดร้าน พอเกษียณแล้วก็เลยเข้ามาดูแลร้านเต็มเวลา

“สมัยก่อนบรรยากาศคึกคัก ลูกค้าเข้าร้านทั้งวัน เด็ก ๆ อายุ 6-7 ขวบเข้าร้านตลอด ถ้าเขาอ่านหนังสือไม่ออก เขาก็จะมาขอเปิดดูรูป เด็กบางคนไม่มีตังค์ เขาก็มาขออ่านหนังสือฟรี เราสนับสนุนให้เยาวชนอ่านหนังสืออยู่แล้ว ตั้งแต่เปิดร้านมา ทุกวันเด็กป้าจะเปิดให้เด็กอ่านหนังสือฟรีทุกปี ตอนเช้า ๆ เด็ก ๆ เขาจะไปเที่ยวกัน พอบ่าย ๆ กลับมา เขาก็จะมาแวะดูหนังสือ รื้อหนังสือดูกันกระจุยกระจาย แต่เราเห็นแล้วเราก็มีความสุข เพราะเด็ก ๆ มาเยอะมาก แต่ช่วง 10 กว่าปีหลังมานี้เด็กอ่านหนังสือน้อยลงมาก วันเด็กปีที่ผ่านมาที่ป้าเปิดให้อ่านหนังสือฟรี ก็มีเด็กแวะมาแค่คนเดียว วัยรุ่นก็อ่านหนังสือน้อยลงเหมือนกัน

“เมื่อก่อนเด็กผู้หญิงจะชอบอ่านนิยายไทย ส่วนเด็กผู้ชายจะอ่านนิยายกำลังภายในหรือไม่ก็การ์ตูน ช่วงประมาณ 30 ปีที่แล้วการ์ตูนฮอตมาก ซื้อมาเรื่องละ 5 ชุดก็ยังไม่พอ บางเรื่องมีคนเช่าไปแล้วเขาเอามาคืนไม่ทัน ลูกค้าก็ต้องรอคิว รองลงมาคนก็นิยมอ่านพวกนิยายแปลโรมานซ์ ส่วนการ์ตูนแฟนตาซีมาฮอตอีกทีหนึ่งก็ตอนที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ดัง ๆ ตอนนี้ก็เงียบไปแล้วตามกระแสสังคม

“ช่วง 10 กว่าปีหลังมาวัยรุ่นจะชอบอ่านนิยายจีนที่ตัวเอกผู้หญิงเก่ง ๆ และพอช่วง 5 ปีหลังมานี้ก็จะชอบอ่านนิยายวาย (Yaoi หรือ Boy love) ซึ่งหนังสือมันค่อนข้างแพง ร้านเช่าก็ไม่ค่อยเอาเข้ามา แต่เราเอามาลองตลาด พอลองแล้วผลตอบรับมันดีก็เอาเข้ามาเรื่อย ๆ

“เราค้าขาย เราก็ต้องเอาหลักการตลาดมาใช้ คือ ดูความต้องการของลูกค้าเป็นหลักไม่ใช่เอาเราเป็นตัวตั้ง ป้าไม่ได้เรียนการตลาดมา แต่ก็ซึมซับเรื่องพวกนี้จากการอ่านหนังสือ รู้ว่าเราต้องทำตามเทรนด์ ตามความชอบของลูกค้า ต้องติดตามข่าวสารว่าช่วงนี้กลุ่มเป้าหมายของเราเขาชอบแบบไหน ป้าจะเปลี่ยนการเลือกประเภทหนังสือเข้าร้านไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย เพื่อให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าป้าก็จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงวัยกลางคน”

หนังสือคือเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกัน

“สมัยเด็ก ๆ เราเข้าห้องสมุดบ่อย เพราะเมื่อก่อนการซื้อหนังสือสักเล่มมันก็ไม่ได้ง่าย หนังสือเล่มหนึ่งราคา 100 กว่าบาท ถือว่าแพงมากสำหรับค่าครองชีพในสมัยนั้น เราก็อาศัยอ่านจากหนังสือในห้องสมุด จากนิตยสาร หนังสือพิมพ์ เมื่อก่อนนิยายเขาก็จะลงในหนังสือพิมพ์เป็นตอน ๆ ให้เราอ่าน พอมาเปิดร้านเราก็ใช้ความรู้จากการอ่าน การเข้าห้องสมุดบ่อย ๆ มาจัดหนังสือให้เป็นระบบเหมือนห้องสมุด ที่ร้านป้าถึงจะหนังสือเยอะ แต่ก็จะจัดเป็นระเบียบ แยกชั้นตามประเภทของหนังสือ เรียงตามตัวอักษร เรียงตามชื่อคนแต่ง ชื่อเรื่อง พอลูกค้ามาหาปุ๊บ เราก็สามารถหยิบให้เขาได้ในเวลาอันรวดเร็ว

“ที่ร้านจะมีหนังสือใหม่เข้าตลอด ป้าเป็นคนไปซื้อเอง เลือกเอง หนังสือจะเข้าใหม่อาทิตย์ละ 2 วัน ถ้าเป็นนิยายจะเข้าทุกวันเสาร์ ส่วนการ์ตูนจะเข้าทุกวันพฤหัสบดี สมัยก่อนเวลามีงานหนังสือช่วงเดือนมีนาป้าก็จะซื้อหนังสือเข้าร้านประมาณ 100 กว่าเล่ม พอมีงานหนังสืออีกรอบช่วงเดือนตุลาก็ซื้ออีก 100 กว่าเล่ม ส่วนเดือนอื่น ๆ ก็จะซื้อประมาณ 50 เล่ม สมัยก่อนจะซื้อหลายชุด เพราะลูกค้าเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ซื้ออย่างละชุดก็พอ

“ถ้าจะเช่าหนังสือที่ร้านสามารถทำได้ 2 วิธี คือ วิธีแรก วางมัดจำไว้ ค่ามัดจำก็จะแตกต่างกันไปตามราคาหนังสือ เวลาเอาหนังสือมาคืนป้าก็จะคืนมัดจำให้ ส่วนอีกวิธี คือ สมัครสมาชิก ซึ่งมีให้เลือก 2 แบบ ถ้าอ่านเฉพาะหนังสือการ์ตูนค่าสมาชิกก็จะอยู่ที่ 100 บาทต่อปี แต่ถ้าอยากอ่านหนังสือทุกเล่ม ทุกประเภท ค่าสมาชิกก็จะอยู่ที่ 200 บาทต่อปี ส่วนค่าเช่าถ้าเป็นการ์ตูนจะอยู่ที่ 10% แต่ถ้าเป็นนิยายก็จะอยู่ที่ 6-8% ของราคาหนังสือ การเช่าแบบสมาชิกกับมัดจำป้าก็คิดค่าเช่าเท่ากันต่างกันตรงที่ถ้าเช่าแบบสมาชิกจะจำกัดจำนวนเล่ม แต่ถ้าเช่าแบบมัดจำจะเช่าหนังสือไปกี่เล่มก็ได้

“เราอยู่กับหนังสือ เวลาเหนื่อย เราก็พักอ่านหนังสือ แต่เวลาที่เราไม่เหนื่อย เราก็ทำนั่น ทำนี่ จัดหนังสือ เก็บหนังสือ ซ่อมหนังสือ ปีนขึ้น ปีนลง ปัดฝุ่น อย่างน้อย ๆ ก็ 2 อาทิตย์ครั้ง ทำทุกอย่างเองหมด พยายามรักษาหนังสือให้ดูใหม่อยู่เสมอ เพราะหนังสือเรามันผ่านมือคนเป็นร้อย ๆ มันช้ำได้ง่าย เราก็ลงทุนซื้อปกพลาสติกอย่างดีที่เหนียวและหนามาห่อปกเกือบทุกเล่ม พอปกมันเก่าก็ถอดทิ้งแล้วเปลี่ยนปกใหม่ หนังสือบางเล่มอยู่กับเรามาเป็นสิบ ๆ ปี แต่สภาพมันก็ยังดูดีอยู่

“ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม มันก็เหนื่อยแหละ แต่เราทำแล้วมีความสุข เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารัก เราชอบ เราผูกพัน แค่เราได้เห็นคนเดินเข้าร้านเยอะ ๆ เราก็มีความสุขแล้ว”

มองลูกค้าเหมือนลูกหลาน

“ร้านป้าจะหยุดทุกวันอาทิตย์ เท่ากับว่าวันอาทิตย์จะได้อ่านฟรี ส่วนช่วงเทศกาลอย่างปีใหม่ไทย จีน ฝรั่ง ป้าจะหยุดยาวทีละ 5-6 วัน ลูกค้าหลายคนเลยมาเช่าหนังสือไปเยอะในช่วงนั้น เพราะถ้าเป็นวันหยุดป้าก็จะไม่คิดค่าเช่า ที่ป้าให้อ่านฟรีช่วงวันหยุด เพราะป้าคิดว่าเราต้องไม่เอาเปรียบลูกค้า ลูกค้ากับเราก็เหมือนเป็นเพื่อนสนิทกัน เป็นคู่ชีวิตที่เดินไปด้วยกัน ถ้าเขามีความสุข เราอยู่ได้ ธุรกิจเราก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นวันที่เราหยุด ถ้าเราไปคิดค่าเช่าเขา มันก็คงจะไม่เป็นธรรม เพราะเราเป็นคนปิดร้านเอง ด้วยเหตุผลของเรา เราก็ต้องไม่คิดค่าเช่ากับลูกค้า

“ลูกค้าหลายคนอยู่กับเรามานาน บางคนมาตั้งแต่สมัยเขายังเด็ก ตั้งแต่ตอนที่ร้านยังไม่แน่นขนาดนี้ เมื่อก่อนป้าจะมีโต๊ะกลางอยู่ตัวหนึ่ง มีเก้าอี้ แล้วก็มีพัดลมให้ลูกค้านั่งอ่านหนังสือ แต่พอหนังสือเยอะขึ้นเรื่อย ๆ มันก็เลยไม่มีที่ให้นั่งแล้ว บางคนอ่านมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ จนทุกวันนี้เขาย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว เขาก็ยังแวะเวียนกลับมา หลายคนอยู่ไกล แต่เขาก็ยังแวะเวียนกลับมาอุดหนุนเราด้วยความผูกพันอยู่ตลอด ก็รู้สึกซึ้งใจ มีความสุข ที่เรายังมีความผูกพันกับลูกค้าเก่า ๆ อยู่

“บางคนที่เขาย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดนานแล้ว แวะมาทำธุระที่กรุงเทพฯ เขาก็ยังกลับมาหา มาถามไถ่ว่าป้าสบายดีไหม มันก็เป็นความสุขของเรานะ บางคนเราเห็นเขามาตั้งแต่เด็ก ๆ แม้จะผ่านไปหลายสิบปีแล้วแต่เขาก็ยังนึกถึงเราอยู่ มันก็เป็นความสุขที่ลูกค้าเก่า ๆ กลับมาทักทาย เป็นอะไรที่ทำให้เราก็ภูมิใจว่าร้านเรายังมีคุณค่าในสายตาของคนอื่น แล้วเขาก็ยังคิดถึงเราอยู่ตลอด”

‘การอ่าน’ คือ ความสุขที่อยากส่งต่อ

“การอ่านหนังสือมันทำให้เรามีความรู้ รู้จักการคิดวิเคราะห์ ได้วิธีคิดเชิงระบบ และได้สมาธิ พอเราเรียนจบมา เราเอาสิ่งเหล่านี้ไปใช้ในการทำงานได้เยอะมาก อย่างสมัยก่อนเวลาประชุม ป้าก็จะใช้หลัก “ตาดู หูฟัง มือจด ปากพูด” ซึ่งถ้าเราไม่มีสมาธิ เราก็จะทำมันไม่ได้ และการที่เรามีสมาธิดีได้นั้นก็ได้มาจากการอ่าน เพราะฉะนั้นมันถึงเป็นเป้าหมายที่ป้ามองเห็นว่าถ้าเด็ก ๆ หรือ เยาวชนบ้านเราอ่านหนังสือ มันจะช่วยให้พวกเขาเติบโตอย่างมีคุณภาพ

“ทุกวันนี้คนอ่านหนังสือน้อยลงไปเยอะแล้ว น่าจะหายไปเกินครึ่ง แต่ที่เราอยู่มาได้ เพราะความรัก วัยขนาดนี้แล้ว เราก็มีความสุขอยู่กับสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เรารัก ถ้าถามว่าคุ้มไหมในเชิงธุรกิจ ตอบได้เลยว่าก็ไม่คุ้มหรอก แค่อาศัยว่าพอกินพอใช้ อยากให้ที่นี่เป็นแหล่งข้อมูลที่จะให้เด็ก ๆ ไปสร้างสิ่งต่าง ๆ ต่อไปได้ เหมือนอย่างที่ป้าเคยได้รับมากับตัวเอง

“ป้าไม่ได้ทำร้านนี้ในเชิงธุรกิจ แต่ทำเพราะมีความสุขที่ได้อยู่กับหนังสือ ได้ช่วยสนับสนุนให้เด็ก ๆ และเยาวชนรักการอ่าน เป็นแหล่งที่เขาจะมาหาหนังสือได้ เพราะที่ร้านมีหนังสือทุกประเภท อะไรที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ๆ มีหมด ป้าถือว่าป้ามีความสุขที่ได้ทำมัน วัยอย่างเราก็ไม่รู้จะแข็งแรงไปถึงเมื่อไร ตอนนี้ วันนี้ เรายังแข็งแรงอยู่ ก็จะทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว”

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ