Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

กาดต๋องตึง-ตลาดแห่งการแบ่งปันโอกาสและความสุข

ชีวิตก่อนเกษียณ

ป้าตู๋-ธันยา จันทร์วิทัน เป็นคนเมืองเชียงใหม่โดยกำเนิด เธอเกิด เติบโต เล่าเรียน และใช้ชีวิตที่นี่ก่อนจะบินไปเรียนต่อที่แคนซัส สหรัฐอเมริกา แล้วกลับมาทำงานที่เมืองไทย

“เราทำงานเป็น instructor อยู่ที่การบินไทย มีหน้าที่ในการพัฒนาบุคคล คอยจัดอบรมพนักงาน ทำได้อยู่ราว 10 ปี ก็ลาออกเนื่องจากสามีทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ต้องเป็นผู้ติดตามสามีเมื่อย้ายไปยังประเทศต่างๆ ที่เขาไปทำงานและประจำการอยู่ เพื่อคอยช่วยงานด้านต่างๆ ของสถานทูต แล้วก็ทำยาวไปจนถึงเกษียณ”

ป้าตู๋ทำงานในฐานะผู้ติดตามสามีไปทั้งหมด 7 ประเทศ 8 วาระ กินเวลายาวนานกว่า 35 ปี โดยแทบไม่ได้อยู่เมืองไทยแบบเป็นเนื้อเป็นหนัง ตลอดเวลา 30 กว่าปี งานของเธอมีความยุ่งยากวุ่นวายอยู่ไม่น้อย เมื่อเกษียณแล้ว ป้าตู๋ก็มีความตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างเงียบสงบอยู่ที่เมืองไทย

“หลังเกษียณเราตั้งใจว่าจะไม่รับแขกหรือต้อนรับดูแลใครอีก เพราะทำมามากแล้ว ตั้งใจว่าจะอยู่เงียบๆ วาดรูป ซ้อมกอล์ฟ เรียนโยคะ เข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ฯลฯ ทำอะไรไปเรื่อยตามแต่ใจของเรา”

ความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตตามที่ออกแบบไว้ในวัยเกษียณดูแล้วน่าจะเป็นจริงได้ไม่ยาก เนื่องจากในเรื่องรายได้ ป้าตู๋ก็มีกิจการห้องแถวให้เช่าเลี้ยงตัวเองได้เรื่อยๆ โดยไม่เดือดร้อนอยู่แล้ว ชีวิตหลังเกษียณของป้าตู๋น่าจะเป็นชีวิตที่เงียบสงบเบาสบาย และมีความสุขกับหนทางที่ตัวเองเลือก

เรื่องจะเป็นเจ้าของตลาดในเวลานั้นยังไม่ได้อยู่ในความคิดแม้แต่น้อย


เจ้าของกาด

“เรื่องความคิดจะมาเปิดตลาดนี่ไม่เคยมีอยู่ในหัวเลย จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งพวกเพื่อนๆ สมัยมัธยมเขาเห็นว่าเรามีที่ดินแปลงหนึ่ง เส้นจะไปมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เราเองก็ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่ามานานโดยไม่ได้ทำอะไร เพื่อนก็มาถามว่าทำไมไม่ทำอะไรสักอย่าง แล้วก็ชักชวนว่าน่าจะลองทำตลาดดู เราก็คิดว่าดีกว่าปล่อยที่ทิ้งไว้เฉยๆ ก็เลยลองนำผ้า นำผักมาขายดู ก็พอมีคนมาเดินอยู่ จากนั้นเราก็เริ่มลงมือปรับพื้นที่ ทำศาลาสำหรับให้คนมาขายของ”

ด้วยความที่ที่ดินของป้าตู๋นั้นมีความร่มรื่นและเต็มไปด้วยต้นไม้ครึ้ม คุณป้าจึงต้องการทำตลาดแห่งนี้ให้ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด ไม่มีการโค่นร้างถางพง ตัดต้นไม้ ถมที่ให้เตียนโล่ง ลงเสาอิฐเสาปูน สร้างเป็นตลาดใหญ่โต สิ่งที่ทำเพิ่มก็เพียงการสร้างศาลาขายของเล็กๆ ที่หลังคาทำจากใบตองตึง อันเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีคุณสมบัติทั้งทนทานและถ่ายเทอากาศได้ดี

“ลักษณะเด่นทางโครงสร้างของตลาดเราก็คือร้านขายของต่างๆ ที่มุงหลังคาด้วยใบตองตึง ต้นตองตึงนี้จะมีลักษณะคล้ายต้นสัก ซึ่งคนสมัยก่อนจะใช้ใบแห้ง นำ มามุงหลังคา เพราะมีความทนทาน อากาศถ่ายเทได้ดี ทำให้บ้านไม่ร้อน ส่วนใบสดก็จะนำมาห่อข้าว ความคิดในการนำใบตองตึง ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติมาใช้ประโยชน์นี้ ต้องยกความดีให้ลูกสาวของเรา เพราะเขาเป็นคนออกแบบ เราเพียงแต่นำเรื่องที่จะเราจะทำตลาดบนที่ดินผืนนี้ไปปรึกษา แล้วก็บอกความต้องการของเราให้เขาฟัง”

หากจะบอกว่ากาดแห่งนี้ได้รับการสรรสร้างขึ้นมาจากคนสองรุ่นก็คงไม่ผิดนัก หลังจากที่ได้เนรมิตศาลาขายของเสร็จ ป้าตู๋ก็ประกาศว่าจะเปิดตลาด ซึ่งตรงกับช่วงที่โรคโควิด – 19 เริ่มลดความอันตรายลง

“เราเริ่มเปิดตลาดเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตอนนั้นโควิด- 19 เริ่มซาลงแล้ว แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ค่อยมีคนที่มาสมัครเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดของเรา โดยมากจะเป็นผู้ที่โดนผลกระทบโดยตรงจากช่วงโควิด ไม่ว่าจะเป็นไกด์ที่ตกงาน หรือพนักงานบริษัทที่ถูกให้ออจากงาน ซึ่งถ้าไม่ติดปัญหาอะไร เราก็ยินดีต้อนรับ อย่างน้อยที่สุดการขายของเป็นพ่อค้าแม่ค้าก็ทำให้พวกเขาได้เงินทันที ไม่ต้องรอเหมือนงานอื่นๆ เป็นโอกาสที่จะฟื้นชีวิตขึ้นมาได้หลังจากล้มฟุบไปในช่วงที่ผ่านมา”

กฎในการรับสมัครผู้ที่จะเข้ามาค้าขายในกาดของป้าตู๋ ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อนมากมาย ขอแค่ไม่ค้าขายสิ่งของที่ผิดกฎหมาย ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหากค้าขายอาหารก็ขอให้ถูกสุขลักษณะ ไม่สกปรก

“เราไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์อะไรมากมาย เพราะเราไม่ได้จะทำพื้นที่ตรงนี้ให้หรูหราใหญ่โต หรือเน้นผลประกอบการทางธุรกิจ เราอยากให้เป็นพื้นที่เปิด เป็นพื้นที่สาธารณะปลอดโปร่งที่คนจะมาเดิน มานั่งเล่นนอนเล่นได้สบายๆ เราถึงไม่ได้สร้างรั้วหรือประตูขึ้นมา เรียกว่าใครอยากจะมาก็มาได้เลย ไม่ต้องมาวันที่ตลาดเปิดก็ได้ ห้องน้ำห้องท่าเราก็สร้างไว้ให้”

แม้จะมีสถานะเป็นเจ้าของกาด แต่สิ่งที่ป้าตู๋ริเริ่มและสร้างสรรค์มันขึ้นมากำลังบอกกับเราว่ากาดแห่งนี้เป็นของทุกคน


พื้นที่แห่งการแบ่งปัน

กาดของป้าตู๋มีชื่อว่า ‘กาดต๋องตึง’ อันเนื่องมาจากลักษณะเด่นของตลาดที่นำใบตองตึงมามุงหลังคา แต่ผู้คนทางเหนือจะออกเสียงเป็นคำว่า ‘ต๋องตึง’ แทน

สำหรับผู้คนที่มาเดินเที่ยวในกาดต๋องตึงจะรู้สึกว่าที่นี่มีบรรยากาศที่ร่มรื่น เย็นสบาย ไม่แออัด นักท่องเที่ยวหลายคนบอกว่า พวกเขาไม่ได้มาเดินตลาด หากแต่รู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในสวนสาธารณะ หรือสวนหลังบ้าน เพียงแต่เป็นส่วนที่มีร้านขายของ อาหาร และดนตรีสดอยู่ภายใน

“เราไม่เคยกำหนดหรือพยายามว่าตลาดของเราจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตลาดสร้างลักษณะของมันเอง เราแค่เพียงออกกฎกติกาในการค้าขาย 2 – 3 ข้อ แล้วก็อยากให้ตลาดมีความเป็นธรรมชาติแค่นั้น เราไม่ได้คิดหรอกว่ากาดต๋องตึงต้องเหมือนกับอะไร แต่หลายๆ คนที่มาเที่ยว เขาพูดตรงกันว่าไม่เหมือนมาเดินตลาด แต่มีความรู้สึกกำลังเดินอยู่ในสวนสาธารณะที่มีร้านขายของ ร้านอาหาร แล้วก็ดนตรีให้ฟัง

“อาหารในกาดต๋องตึงของเราจะมีหลากหลาย ที่ขึ้นชื่อก็จะมีข้าวห่อใบบัว โรตีไส้แกงเขียวหวาน อาหารเหนือจำพวกข้าวเหนียว ขนมจีนน้ำเงี้ยว อาหารไทใหญ่ หรือแม่ค้าบางคนเป็นสะใภ้เวียดนาม ก็จะทำอาหารเวียดนามมาขาย เรียกว่าใครมีสินค้า อาหาร หรือความคิดสร้างสรรค์ อยากทำอะไรใหม่ๆ ที่จะทำให้ของที่เอามาขายแปลก แตกต่าง จากตลาดทั่วไป ถ้าไม่ผิดกฎกติกาที่กำหนดไว้ เราเปิดโอกาสเต็มที่”

นอกจากจะเปิดโอกาสและพื้นที่ให้บรรดาพนักงานรัฐวิสหากิจ พนักงานธนาคาร พนักงานบริษัท หรือคนทำงานรับจ้างทั่วไป ซึ่งประสบปัญหาชีวิตจากช่วงโควิด- 19 ที่ผ่านมา ได้มีอาชีพหาเลี้ยงปากท้องตัวเองได้แล้ว ป้าตู๋ยังสร้างพื้นที่เล็กๆ แห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้นในกาดต๋องตึงแห่งนี้อีกด้วย

“เรามีพื้นที่ที่ชื่อว่า ‘สละ’ และ ‘สลวย’ ร้านสละเป็นร้านที่รับบริจาคของทุกอย่างที่เพื่อนๆ หรือใครก็ตามต้องการจะบริจาค จากนั้นเราก็จะนำมาขายเป็นของมือสอง ราคาก็ตามอัธยาศัย แล้วแต่ผู้ซื้อว่าเขาพอใจให้ราคาเท่าไหร่ ก็นำมาหยอดกระปุกที่เราเตรียมไว้ แล้วค่อยรวบรวมนำรายได้ส่วนนี้ไปทำประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ให้สังคม เช่น นำไปซื้ออุปกรณ์สำหรับใช้ในการเก็บขยะที่ดอยสุเทพ หรือในแม่น้ำปิง ทำแนวกันไฟป่า ล้างบันไดทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ฯลฯ

“ส่วนโซนสลวยก็จะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับจัดกิจกรรมเวิร์คชอป อบรมให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างที่ผ่านมาก็มีการจัดอบรมสอนการวาดรูป สอนปักผ้า หรือสาธิตการทำโยเกิร์ต ใครอยากทำอะไรที่เป็นการแบ่งปันความรู้ก็สามารถมาใช้พื้นที่ตรงนี้ได้เลย”

จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่า กลายเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันที่มอบให้กับผู้คน และสังคมได้มาประกอบอาชีพ ทำกิจกรรมจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ที่สำคัญกาดต๋องตึงยังได้กลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขสำหรับคนที่มาใช้บริการรวมทั้งเจ้าของของป้าตู๋ด้วยเช่นกัน

แม้ว่าตัวเลขของผลประกอบการจะแทบไม่ได้อะไรกลับมาเลยก็ตาม

ความสุขของป้าตู๋

ในช่วง 3 เดือนแรกที่เปิดตลาด ป้าตู่ไม่ได้คิดราคาค่าเช่ากับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในกาดต๋องตึงแต่อย่างใด โดยคิดแต่เพียงค่าน้ำค่าไฟแค่ 30 บาทต่อวันเท่านั้น

“ช่วง 3 เดือนแรก เราตั้งใจที่จะไม่เก็บเงินค่าเช่าเพื่อจะให้คนที่มาลงทุนขายของในตลาดของเราได้มีกลุ่มลูกค้าของตัวเองก่อน จากนั้นเราจึงค่อยเก็บค่าเช่า ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ไม่ได้เก็บในราคาที่สูงอะไร แรกๆ ก็มีคนสมัครกันมาเป็นร้อยๆ ใครอยากมา เราก็จัดที่รองรับไว้ให้

“ยอมรับว่า การทำตลาดแห่งนี้ก็ลงทุนไปเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งถ้าคิดในทางธุรกิจก็ต้องบอกว่าเราไม่ประสบความสำเร็จแน่นอน เพราะตลาดของเราเปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น รายได้ที่ตอบแทนกลับมาก็ไม่เหมือนกับตลาดที่เขาเปิดทุกวัน”

ป้าตู๋ลงทุนไปกับกาดต๋องตึงเป็นจำนวนหลายล้านบาท ขณะที่ค่าตอบแทนในแต่ละเดือน รวมกันอยู่แค่เพียงไม่กี่หมื่นบาทต่อเดือน ในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมว่าต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าจ้างคนงาน และอื่นๆ อีกจิปาถะ หักลบกลบหนี้แล้วเหลือกำไรอยู่ไม่กี่พันบาท

สำหรับเจ้าของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม การลงทุนไปเป็นล้านแล้วได้กำไรแค่หลักพัน เชื่อว่าพวกเขาคงคิดที่จะล้มเลิกปิดกิจการมากกว่าจะเปิดดำเนินการต่อ หลายคนอาจจมทุกข์กับจำนวนเงินที่หายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นกับชีวิตหลังวัยเกษียณ ทว่าสำหรับเจ้าของกาดต๋องตึงอย่างป้าตู๋แล้ว นอกจากยังยืนยันว่าจะเปิดตลาดต่อไปเรื่อยๆ คุณป้ายังไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อน ตรงข้ามกลับมองเห็นความสุขเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่อีกด้วย

“ถ้าเราคิดแต่เรื่องธุรกิจ หรือผลตอบแทน เราจะทุกข์แน่นอน เพราะเราจะเอาแต่คิดว่าเมื่อไหร่จะได้เงินที่ลงทุนไปคืนมา เมื่อเรายิ่งคาดหวังมาก เราก็จะยิ่งทุกข์มาก แรกๆ ก็ยอมรับว่าเสียดายเงินอยู่เหมือนกันนะ แต่ก็มาคิดว่าถึงอย่างไร ชีวิตเราก็ยังพออยู่ได้ ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรมาก เราก็เลยเริ่มที่จะลดความคาดหวังในเรื่องธุรกิจลง ขอเพียงแค่ตลาดมันอยู่ของมันได้ไปเรื่อยๆ ก็พอ

“ถ้าถามว่าความสุขในการทำกาดของเราทุกวันนี้คืออะไร ทั้งๆ ที่แทบไม่ได้อะไรกลับคืนมา คำตอบก็คงมาจากการได้เห็นรอยยิ้มของบรรดาพ่อค้าแม่ค้า และผู้คนที่มาเดินที่นี่ ลูกค้าหลายคนที่มากาดของเรา เขาบอกว่าแม่ค้าที่กาดต๋องตึงอัธยาศัยดี ตลาดสะอาด เดินแล้วมีความสุข ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าเวลาเห็นเรามากาด เขาก็ยิ้มแย้ม ทักทาย บอกป้าตู๋สู้ๆ นะ บางคนก็มีน้ำใจช่วยทำเพจเพื่อโปรโมตประชาสัมพันธ์กาดให้ บางคนพอเห็นเวทีว่าง ก็ขึ้นไปร้องเพลงโดยไม่คิดค่าตัว สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันคือความสุขที่ส่งต่อมาถึงเราโดยอัตโนมัติ

“ทุกคนมีความสุข เราก็มีความสุข”

ทุกประโยค ทุกพยางค์ของป้าตู๋ไม่มีน้ำเสียงใดที่เจือปน และบ่งบอกถึงความหม่นเศร้า หรือขึ้งเครียด

หากจะมีก็แต่เพียงรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเท่านั้น

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • วิเชษฐพงษ์ เผ่ากล้า

    Cameramanเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยความอยากเป็นดีเจ แต่สุดท้ายมาค้นพบว่าโลกข้างนอกห้องจัดรายการมันช่างเย้ายวลและมันส์กว่าการใช้เสียงเป็นไหนๆ ผมหลงใหลการเขียนภาพด้วยแสงพอๆ กับการวาดรูปด้วยดินสอ และที่สำคัญชีวิตเป็นเรื่องของเรา ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งแอ็คชั่น

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ