อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองต้องมี New value ในการฝึกตน หาเวลาให้สติกลับมาอยู่กับใจเรา

#ก้าวสู่ปี2025อย่างมีสติ

อีกไม่กี่วันเราก็จะโบกมือลาปีเก่าและก้าวเข้าสู่ปีใหม่กันแล้ว ช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะหยุดพัก หันกลับมาทบทวนชีวิตที่ผ่านมา และเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิต หลายคนอาจกำลังตั้งเป้าหมายใหม่ หลายคนอาจยังลังเลว่า อยากให้ปี 2025 นี้เป็นปีที่เราจะเปลี่ยนแปลงอะไร?

“มนุษย์ต่างวัย” ขอนำบทสนทนาส่วนหนึ่งจาก “พระธรรมพัชรญาณมุนี” หรือที่เรารู้จักกันในนาม “พระอาจารย์ชยสาโร” ซึ่งได้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองไว้ในรายการ มนุษย์ต่างวัย Talk เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เราก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง และเริ่มต้นปีใหม่ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นกันครับ

การเดินออกจากความคุ้นเคยคือการขัดเกลาเพื่อค้นพบตัวเอง

พระอาจารย์ชยสาโรกล่าวไว้ว่า สำหรับพระ “การเดินธุดงค์” คือการ “ขัดเกลา” ถือเป็นโอกาสที่ทำให้ได้เดินออกจากความแน่นอนไปสู่ความไม่แน่นอน ออกจากสิ่งที่คุ้นเคยเพื่อทดสอบตัวเอง ปล่อยวางสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น คล้ายกับการถือศีลแปดในวันพระ ไม่ได้เกี่ยวกับความดี หรือความชั่ว บุญ หรือบาป แต่เป็นการทำให้ชีวิตเรียบง่าย เป็นเหมือนการลองละวางความสนุกสนานหรือความสะดวกสบายชั่วคราว เพื่อดูว่าเราเป็นทุกข์ไหม หรือกำลังหลงใหลกับอะไรอยู่หรือเปล่า

“หลัง ๆ อาตมาไม่ค่อยได้เดินธุดงค์ในเมืองไทย เพราะเป็นที่รู้จัก แต่ไปอินเดียไม่มีใครรู้จัก ถ้าเรามีชื่อเสียงเราก็ต้องหาโอกาสเป็น Nobody บ้าง เพื่อจะดูว่าเรายินดีไหมในการเป็น Somebody”

สำหรับคนทั่วไป การเดินออกจาก Comfort Zone ก็สำคัญเช่นกัน พระอาจารย์กล่าวว่า “คนเราต้องพาตัวเองออกไปอยู่ในที่ไม่คุ้นชินบ้าง ถ้าเราสนใจในการฝึกตน ในการพัฒนาตน เราก็จะต้องมีการท้าทาย ออกจาก Comfort Zone เป็นระยะ ๆ อาตมามีอุดมการณ์ มีเป้าหมายชีวิตในการฝึกตน อาตมาพูดอยู่เสมอ เรื่องศีล 5 ศีลข้อแรกชัดเจน เป็นเรื่องของความดี ความชั่ว แต่ข้อที่ 5 คนมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญ เพราะข้อที่ 5 จะเห็นความหมาย และความจำเป็นต่อเมื่อ เรามีอุดมการณ์ในการพัฒนาจิต เพราะจะเห็นว่าการดื่มเหล้า แม้แต่เล็กน้อย มันก็ขัด และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาจิตใจ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่มีอุดมการณ์ในการพัฒนาจิตใจ ไม่รู้ว่าการพัฒนาจิตใจเป็นยังไง ก็จะเฉย ๆ แต่พอเราตั้งใจจะฝึกจิตแล้วก็จะเข้าใจว่าทำไม่ได้”

จะเริ่มต้นฝึกตนเพื่อพัฒนาจิตได้อย่างไร?

การฝึกตนมี 3 อย่าง คือ  ศีล สมาธิ ปัญญา หรืออีกหลักคือ ทาน ศีล ภาวนา

“ทาน” คือการเริ่มต้นของการฝึกตนเพื่อพัฒนาจิตของฆราวาส เพื่อขัดเกลาความตระหนี่ การยึดมั่นถือมั่น ยึดติดอยู่กับทรัพย์สมบัติ เงินทอง และยังช่วยรักษาสุขภาพจิตให้ดีขึ้น

“ศีล” เป็นเรื่องของการฝึกพฤติกรรม ควรจะฝึกหัดพฤติกรรมด้วยการไม่เบียดเบียน ไม่ลักขโมยของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ประพฤติผิดในกาม เมื่อเราตั้งขอบเขตการกระทำ การพูด ด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครบังคับแล้วเราสามารถบริหารพฤติกรรมของเราภายในขอบเขตนั้นได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะมีความกดดัน หรือถูกสิ่งยั่วยุอย่างไร นาน ๆ เข้าจะทำให้เกิดความเคารพนับถือตัวเอง ทำให้ชีวิตมีความสุข เป็นอานิสงค์ของศีล

“สำหรับชาวพุทธ การฝึกตนควรเน้นเรื่องการป้องกันกิเลสที่ยังไม่เกิด การปล่อยวางกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว การปลูกฝังคุณธรรมที่ยังไม่เกิด และการพัฒนาคุณธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงาม

“ซึ่งกิจกรรมที่เราจะได้ฝึกในการตอบโจทย์ 4 ข้อนี้ เรียกว่า การนั่งสมาธิและการเดินจงกรม เช่น การกำหนดลมหายใจเพื่อทำให้จิตใจสงบ มีสติกับปัจจุบัน และลดกิเลส เมื่อจิตใจหลงไป การดึงกลับมาที่ลมหายใจ เมื่อเข้าใจหลักการเหล่านี้แล้วก็สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้”

ในส่วนของ “ปัญญา” พระอาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การฝึกปัญญาเริ่มต้นจากการคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผล และการรู้เท่าทันความคิดผิด จากนั้นก้าวเข้าสู่การพิจารณาเชิงพุทธ หรือที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” ซึ่งช่วยลดกิเลสและปลูกฝังคุณธรรม นอกจากนี้ยังช่วยให้เรามองเห็นความจริงของชีวิต เช่น ความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน ความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตา การฝึกเหล่านี้เป็นองค์รวมของชีวิตที่จะได้ผลก็ต่อเมื่อเรามีสติและความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

เปลี่ยนแปลงเริ่มที่ตัวเรา

สำหรับคนรุ่นใหม่ ๆ เรื่องนี้ฟังแล้วอาจเป็นเรื่องยากพอสมควร แค่จะจัดการเวลาก็ว่ายากแล้ว ต้องทำอย่างไร?

“ในแต่ละวันของเราเรามีเวลาหลายชั่วโมงให้กับกิจกรรมมากมายในชีวิต แต่ถ้าเป็นเรื่องที่จะมีผลมากที่สุดต่อคุณภาพชีวิต ต่อความทุกข์ และความสุข แค่ 30 นาที จะทำไม่ได้เลยเหรอ

“การฝึกตนไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก เป็นเรื่องของมุมมอง เป็นการพยายามทำให้ตัวเองมีสติอยู่ในระหว่างกิจกรรมประจำวัน เช่น ตั้งเป้าหมายไม่ให้โกรธใครขณะขับรถ หรือเปลี่ยนการเดินขึ้น-ลงบันไดให้กลายเป็นการเดินจงกรม พอว่างแล้วก็ไม่ต้องคุยกับใคร กลับมาอยู่กับลมหายใจ ให้จิตปล่อยวาง ผ่อนคลาย แทนที่จะปล่อยให้ความคิด ความเครียดสะสมทั้งวัน โดยไม่ต้องเปลี่ยนชีวิตไปเลย แต่เราต้องมี new value ในการฝึกตน คือการหาเวลาให้เรากลับมาอยู่กับใจเรา เพราะพอเรากลับมาอยู่กับใจเรา ความเครียด ความวุ่นวายก็จะลดน้อยลง เมื่อความฟุ้งซ่านในจิตน้อยลง ความคิดดี ๆ ก็มีโอกาสผุดขึ้นมา เพราะเมื่อจิตมีสติ ปัญญาก็จะเกิด จึงเรียกว่า “สติปัญญา” พอมีสติปัญญาก็จะมีมุมมองใหม่ ความรู้สึกจำเจ ซ้ำซากก็จะลดน้อยลง

“มันไม่ใช่เราไม่มีเวลา แต่เราไม่หาเวลา เวลาอยู่กับโทรศัพท์ทำไมเราหาเวลาได้ แต่ออกกำลังกายหาเวลาไม่ได้ ที่สุดแล้วมันอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ”

Credits

Author

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ