สำนวนที่ว่า ‘ชีวิตเริ่มต้นตอนอายุ 40’ เป็นความจริงที่เกิดกับ อารยา นันตยุ แต่การเริ่มต้นตอนอายุ 40 ในชีวิตของอารยา เป็นการเริ่มต้นชีวิตในโลกที่เธอไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดได้อีกต่อไป
ชีวิตในวัย 40 ของอารยา เป็นชีวิตที่กำลังลงตัว การงานกำลังก้าวหน้า ความรักกำลังถักทอผืนผ้าที่สร้างความอบอุ่นให้ครอบครัว ร่างกายกำลังแข็งแรง เธอออกแบบชีวิตได้ตามใจปรารถนา ทำงานหนักและใช้เวลาว่างไปกับงานอดิเรกอย่างการดำน้ำสกูบา แต่เริ่มมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับภาพที่เธอมองเห็น อารยาพบว่าตัวเองเป็นโรคเส้นประสาทตาเสื่อม ก่อนที่จะค่อย ๆ สูญเสียความสามารถในการมองเห็น จนกลายเป็นคนตาบอดในวัย 47 ปี เธอกลายเป็นผู้พิการทางสายตา มองไม่เห็นทั้งอดีตและอนาคตของตัวเอง แต่ตอนนี้ ในวัย 54 เธอเป็นคนตาบอดที่เดินทางไปไหนต่อไหนได้ด้วยตัวเอง ทำอาหาร ถ่ายรูป ว่ายน้ำ ดำน้ำสกูบา และใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติเหมือนที่เคยเป็นมา
การใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เป็นของขวัญล้ำค่าของชีวิต
มืดมิดและโดดเดี่ยว
“ในตอนที่เรายังมองเห็น เราทำงานธนาคาร ใช้ชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไป ตื่นเช้าขับรถไปทำงาน ว่างจากงานก็ไปเที่ยว ช่วงลาพักร้อนก็ไปดำน้ำสกูบา ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและปรารถนาเหมือนคนทั่วไป แต่ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งตัวเองจะตาบอด คนเรามีเกิดแก่เจ็บตาย แต่ไม่เคยมีความคิดในหัวเลยว่า เราจะเป็นผู้พิการ เราไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเราหรอกค่ะ”
ความผิดปกติทางสายตาค่อย ๆ เกิดขึ้นกับอารยาอย่างช้า ๆ สัญญาณบอกเหตุแรก ๆ ที่บ่งชี้ว่าอารยากำลังเป็นโรคเส้นประสาทตาเสื่อมคือวิสัยทัศน์ในการมองที่ผิดปกติ แต่ตอนนั้นเธอยังอ่านสัญญาณนี้ไม่ออก
“มีสัญญาณบอก แต่เราอ่านไม่ออก เราคิดว่าสายตาของเราปกติ เพราะเรามองเห็นทุกอย่างชัดเจน จนกระทั่งมันแสดงอาการออกมาจริง ๆ ตอนนั้นลานสายตาดรอปลงมากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จนต้องไปหาหมอ
“เราขับรถออกจากบ้านในตอนเช้า มองไปทางไหนก็เหมือนมีหมอกปกคลุมเมือง เราก็ไปคุยกับเพื่อน ทำไมช่วงนี้หมอกลงหนักจัง อากาศดีจังเลยนะ เพื่อนบอกว่าช่วงนี้ไม่มีหมอกเลยนะ เราก็รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติแล้ว และอีกครั้งที่ทำให้เรารู้สึกว่าสายตาของเราผิดปกติคือตอนไปดูงานศิลปะ เป็นรูปม้าในกรอบ เราดูในระยะนี้ แต่ไม่สามารถมองเห็นม้าเต็มตัวได้ เพราะโฟกัสเราเริ่มเล็กลง เราต้องถอยไปไกลถึงจะมองเห็นม้าเต็มตัว เราก็ถามคนที่มาด้วยว่า ถ้ายืนในระยะนี้สามารถมองเห็นม้าเต็มตัวไหม เขาบอกว่าเห็นม้าเต็มตัว เราก็รู้แล้วว่าผิดปกติ”
หมอวินิจฉัยว่า อารยาป่วยเป็นโรคเส้นประสาทตาเสื่อม ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ การมองเห็นจะลดระดับลงจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะตาบอด คำวินิจฉัยของหมอทำให้โลกของอารยาหยุดนิ่ง โลกของเธอพังทลาย
“คุยกับหมอเสร็จ เรานั่งหน้าห้องตรวจ ทุกอย่างนิ่งไปหมด ไม่รู้จะไปทางไหน เหมือนโลกหยุดนิ่ง เหมือนคนประสบอุบัติเหตุ ชาไปหมดเลย งุนงงกับชีวิต เพราะเราใช้สายตาเป็นหลัก แค่คิดว่าหลับตาเดินไปไหนต่อไหน ชีวิตก็ลำบากแล้ว ทำอะไรก็ไม่ได้ ถ้าเรามองไม่เห็น เราก็ทำอะไรไม่ได้เลย
“ตอนนั้นอายุ 38 ปีค่ะ เป็นช่วงที่กำลังแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัย การทำงาน ทุกอย่างในชีวิตกำลังมั่นคง แต่ทุกอย่างก็พังลงตรงหน้า ไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิต คิดอะไรไม่ออก แม้ว่าหมอจะบอกว่ารักษาไม่หาย แต่เราไปทุกโรงพยาบาลเลยค่ะ แต่คุณหมอทุกท่านยืนยันคำเดิมว่าโรคนี้รักษาไม่ได้ จนได้ไปพบคุณหมอท่านหนึ่ง คุณหมอบอกให้เราหยุดไปหาหมอ แต่ให้เริ่มต้นฝึกใช้ชีวิตในแบบที่มองไม่เห็น”
ฝึกใช้ชีวิตเป็นคนตาบอด – คือคำแนะนำของนายแพทย์ท่านหนึ่ง แต่เธอยังรับความจริงนี้ไม่ได้
“ตอนนั้นไปหาหมอทีไรก็ร้องไห้ทุกที จะให้มาฝึกใช้ชีวิตมันทำไม่ได้หรอกค่ะ เพราะการตาบอดไม่ได้สูญเสียแค่การมองเห็น คนเราอาจจะสูญเสียไม่เหมือนกัน ตอนนั้นเรายังทำงานอยู่นะ แต่ความก้าวหน้าทุกอย่างก็หยุดชะงักลงไป ชีวิตครอบครัวก็ไม่เหมือนเดิม มันยากที่จะทำใจ ยากที่จะยอมรับความจริง แล้วลุกขึ้นมาใหม่ ต้องใช้เวลาหลายปีเลยค่ะ”
แม้ว่าจะยังมองเห็น แต่โรคเส้นประสาทตาเสื่อมได้ขโมยความหวังของชีวิต 10 ปีต่อมา เธอมองไม่เห็น และกลายเป็นคนตาบอดโดยสมบูรณ์ในวัย 47 ปี
“หลังจากที่ตาบอดสนิทแล้ว ก็ไม่ได้ลุกขึ้นมาเลยนะ ยังนิ่งและงุนงง ไม่รู้จะทำยังไง นิ่งแบบนั้นเป็นเวลา 3 ปี ช่วงที่เราตาบอดสนิท เราจะอึดอัดเพราะขาดอิสรภาพ ไม่มีใครที่จะคอยช่วยเราได้ตลอดเวลา เราเลี้ยงหมาไว้สองตัว เราจะห่วงเขามากเลย แต่นาทีนั้นเรารู้สึกไม่ไหวแล้ว ชีวิตมืดมนไปหมด มองก็ไม่เห็น ชีวิตไม่สามารถไปต่อได้”
หลังจากสูญเสียการมองเห็น เธอก็สูญเสียอิสรภาพ สูญเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิต และสิ่งที่สูญเสียในลำดับถัดมาคือ ความรัก
“ในตอนนั้นรู้สึกยิ่งกว่าตาบอดอีก ตาบอดเป็นเรื่องรองเลยนะนาทีนั้น เรารู้สึกว่าเราสูญเสียครอบครัว เวลาที่เราป่วย สิ่งที่จะอยู่กับเรา ไม่หนีหายไปไหนในความคิดของเราตอนนั้นคือ ครอบครัว แต่กลายเป็นว่าสิ่งนั้นก็ได้จากเราไป มันเป็นอะไรที่ตาบอดซ้ำซ้อนมาก ตาจริง ๆ ก็มองไม่เห็น ชีวิตก็มืดมิด บั่นทอนกำลังใจ มันทำให้เราลุกขึ้นได้ช้า นี่ก็ยอมรับว่าเราไม่ได้เข้มแข็งขนาดนั้น เราควรจะยืนด้วยขาของตัวเองและเป็นกำลังใจให้ตัวเอง ไม่ต้องพิงใคร กว่าจะคิดได้แบบนั้น ทำได้แบบนั้น ใช้เวลานานมาก”
สิ่งไม่คาดฝันคือของขวัญของชีวิต
จุดเปลี่ยนที่ทำให้อารยาลุกขึ้นมาจากซากปรักหักพังของชีวิต และกอบโกยมันขึ้นมาสร้างเป็นกำลังใจให้ตัวเองคือการได้พูดว่า “ฉันโดดเดี่ยว”
“คุณหมอคนหนึ่งนัดให้เราไปพบ คุณหมอถามว่า มีอะไรจะเล่าให้หมอฟังไหม เท่านั้นแหละ เราร้องไห้จนหมดตัวเลย มันอัดอั้นตันใจ เราหลุดคำแรกเลยว่า “รู้สึกโดดเดี่ยวมาก” เราเดินทางไม่ได้ ไม่รู้จะให้ใครช่วย คุณหมอก็ใจดีและนั่งฟัง แล้วคุณหมอก็บอกว่า มีคนไข้ที่เป็นเเบบเรา แต่ตอนนี้พวกเขามีความสุขกับชีวิตใหม่ แล้วหมอก็หวังว่าเราจะมีชีวิตใหม่ที่มีความสุขและดำรงชีวิตได้ เราก็รู้สึกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวเหมือนที่รู้สึก เรามีคนรับฟัง คุยกับคุณหมอแล้วมันเต็มตื้น มีกำลังใจลุกขึ้นมา จำได้ว่าตอนที่คุยกับคุณหมอคือเดือนมกราคม หลังจากนั้นทุกอย่างก็กลับมา”
อารยาเริ่มต้นฝึกทักษะการใช้ชีวิตในแบบคนตาบอด และได้พบกำลังใจจากเพื่อนที่ตาบอดเหมือนกัน การเดินทางในโลกที่มองไม่เห็นจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริง
“เราเริ่มจากการสมัครไปอบรมเรื่องการใช้มือถือของคนตาบอด ก็ได้รู้จักเพื่อน ๆ ตาบอด เราเล่าให้เพื่อนฟังว่าเดินทางไม่ได้ เพื่อนก็บอกว่าถ้าตาบอดแล้วเดินทางไม่ได้ ก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตได้เลย เพราะเราจะรอให้หาคนช่วยเหลือเราไปตลอดไม่ได้ เพราะทุกคนก็มีธุระของตัวเอง เพื่อนก็เชียร์ให้ลองเดินทางด้วยตัวเองสักครั้ง เพื่อนก็นัดเจอกับเราที่สมาคมคนตาบอด โดยเชียร์ให้เราเดินทางด้วยรถตู้คนเดียว เพื่อนไปรอที่นั่นกัน เราก็เดินทางด้วยความกลัวแต่ก็ไป แต่ใจเริ่มสู้แล้ว ไม่มีทักษะ แต่ก็ไปเพื่อจะไปพบเพื่อนที่รออยู่
“พอเรานับหนึ่งให้ตัวเองได้ ก็มีความมั่นใจ จริง ๆ แล้วเราทำได้นะ พอมีก้าวแรกมันก็มีก้าวต่อไป ก็ฝึกตัวเองมาเรื่อย ๆ เริ่มที่จะจับสัมผัสอย่างอื่นได้ เช่น เสียง และที่สำคัญการใช้ชีวิตของคนตาบอดจะต้องพูดต้องถาม สมัยก่อนเราเงียบ พอเงียบ เขาก็ไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร ซึ่งคนทั่วไปมีน้ำใจมากนะ แต่เขาไม่รู้ว่าเราต้องการอะไรถ้าเราไม่พูด เราเริ่มเรียนรู้ว่าต้องพูด แต่วิถีของคนตาบอด เวลาที่เราพูดขอความช่วยเหลือ อาจจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ ก็ไม่ต้องเสียใจค่ะ เพราะในตอนนั้นเขาอาจจะไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือเรา เราก็รอที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ค่ะ”
หลังจากเดินทางได้ด้วยตัวเอง อารยาก็ไม่รอช้าที่จะฝึกทำอาหาร ว่ายน้ำ ถ่ายภาพ และกลับมาดำน้ำลึกอีกครั้ง
“การเดินทางสำคัญสำหรับคนตาบอดจริง ๆ พอเราสามารถเดินทางได้ เราก็ไปสมัครกิจกรรมต่าง ๆ กิจกรรมแรกที่สมัครคือ ไปเรียนทำอาหาร เขาสอนคนตาบอดทำกับข้าวด้วยหม้อหุงข้าว แล้วก็ไปเรียนว่ายน้ำ เราว่ายน้ำเป็นอยู่แล้ว แต่ไม่เคยเรียนว่าท่าว่ายน้ำที่ถูกต้องซึ่งถ้าเราเดินทางไม่ได้ เราจะไม่สามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้เลยค่ะ พอเราสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ก็ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็เริ่มนึกถึงเรื่องการดำน้ำ”
อารยาพบข่าวประชาสัมพันธ์รับสมัครคนตาบอดไปดำน้ำสกูบาในเฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้เธอพบพลังและความหวังของชีวิต
“ตื่นเต้นมาก ไฟลุกพรึ่บเลย อยากจะไปดำน้ำมาก เพราะเราหยุดดำน้ำไปอย่างกะทันหัน ช่วงนั้นเราซื้ออุปกรณ์ดำน้ำครบชุด เพราะตั้งใจว่าจะดำน้ำไปจนกว่าจะไม่มีแรง แต่อยู่ดี ๆ มันก็หยุดชะงักไปเลยตอนเราป่วยด้วยโรคเส้นประสาทตาเสื่อม พอเราเดินทางได้ ใช้ชีวิตได้ เราก็อยากกลับไปดำน้ำอีกครั้งหนึ่ง เราไปดำน้ำสกูบาช่วงปลายปี เราก็กระตือรือร้นที่จะบอกหมอว่าเราใช้ชีวิตได้แล้วนะ เราไปดำน้ำสกูบามานะ คุณหมอก็เซอร์ไพร์สในสิ่งที่เราทำ”
โลกใต้น้ำของอารยายังคงเปี่ยมมนตร์เสน่ห์ดังเดิม แต่เธอมองเห็นความงามใต้น้ำด้วยวิสัยทัศน์แบบใหม่
“ถ้าพูดถึงความสุขในการดำน้ำ เรามีความสุขเหมือนเดิมนะ หรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะเราตาบอดแต่สามารถดำน้ำได้ แต่เรามองไม่เห็นค่ะ เราก็จะสัมผัสเสียงฟองอากาศ เสียงแท็งก์ สัมผัสความร้อนเย็น การลอยตัวในทะเลหรือกระแสน้ำ นอกจากนั้นก็ยังมีภาพที่เรามองไม่เห็น ภาพปลาต่างๆ ที่เราว่ายน้ำผ่าน มันจะมีภาษาสัมผัสจากครูดำน้ำที่ว่ายไปกับเรา เขาจะคอยบอกเราว่ามีปลาอะไรบ้าง เรากำลังว่ายน้ำผ่านอะไรบ้าง
“ภาษาสัมผัส เป็นภาษาที่สร้างสำหรับนักดำน้ำตาบอดโดยเฉพาะ ครูจะทำภาษาสัมผัส เราจะจับมือครูหรือไม่ครูก็จับมือเรา ถ้าเจอฝูงปลาเล็ก ครูจะจับนิ้วก้อยแล้วเขย่า หรือถ้าเป็นปลาฝูงใหญ่ก็จะจับอีกแบบ หรือถ้าจะเป็นแมงกระพรุน ครูจะขีดเป็นเส้นสายที่ฝ่ามือเรา หรือปลาหมึกที่มีหนวดครูจะทำอีกแบบ”
การได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างที่เคยทำมา เป็นของขวัญล้ำค่าที่สุดที่เธอได้รับมาจากความมืดของการตาบอด
“เป็นชีวิตใหม่ แต่เป็นชีวิตใหม่ที่ได้กลับไปใช้ชีวิตที่เป็นปกติเหมือนเดิม ก็คือชีวิตเก่าที่เราเคยใช้มา มันสำคัญสำหรับเรามาก ๆ เวลาเราตาบอดเราจะรู้สึกอึดอัดเพราะเราไม่สามารถทำกิจกรรมแบบเดิมได้ แต่พอวันหนึ่งเราปรับวิธีและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่เคยมีความสุข เราเคยมีความสุขกับการดำน้ำ เคยมีความสุขกับการเดินทางท่องเที่ยว เรากลับมาทำได้อีกครั้ง เพียงแต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเราตาบอด
“สิ่งที่ไม่คาดฝันในชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน เพียงแต่ว่ามันจะมาในแง่มุมไหน อย่างของเรา เรากลายมาเป็นผู้บกพร่องทางการมองเห็น เวลาที่เกิดปัญหาใหญ่ๆ ในชีวิตแบบนี้ ช่วงแรกๆ มันจะไม่มีเรี่ยวแรง หมดกำลังใจ
ในวัย 54 แม้จะมองไม่เห็นโดยสมบูรณ์ แต่อารยาบอกว่าตัวเองนี่แหละเป็นเพื่อนคนสำคัญที่สุด เพราะในวันที่เรามองไปข้าง ๆ แล้วมองไม่เห็นใคร เรายังมีที่พักพิงสุดท้ายคือตัวเรา
“ใครก็ตามที่กำลังเจอปัญหาใหญ่ ๆ ของชีวิต เราอยากบอกว่าการสร้างกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ สร้างกำลังใจภายในหัวใจของเราเอง อย่าหวังที่จะไปอิงคนอื่น เพราะมันมีเหตุผลหลายอย่างที่เขาไม่สามารถช่วยเหลือเราได้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือในชีวิตหรือกำลังใจ เราจะได้ไม่เซและล้ม พยายามใช้ชีวิตอีกครั้ง แรก ๆ เราอาจจะรู้สึกว่าทำไม่ได้ แต่ต้องลองดู”