ปิดเทอมสร้างสรรค์ ทำไมผู้ใหญ่ต้องลงทุนสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้เด็ก ๆ

ปิดเทอมเป็นช่วงเวลาหรรษาสำหรับเด็ก ๆ ได้พักผ่อน ใช้เวลาว่างทำในสิ่งที่ชอบ แทนที่จะใช้เวลาไปกับการไปโรงเรียน แต่คำถามก็คือเราจะทำอย่างไรเพื่อให้วันว่างในช่วงปิดเทอมของเด็ก ๆ เป็นเวลาที่มีคุณภาพเล่นสนุก และเรียนรู้ ฝึกฝนไปพร้อมกันเพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ตระหนักถึงการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน มารวมกลุ่มกันเป็นภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมคิด ร่วมสร้างพื้นที่กิจกรรมดีเพื่อให้เด็กใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมไปกับเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในชีวิต เกิดความคิดสร้างสรรค์จนนำไปต่อยอดความฝันในอนาคตได้อีกด้วย

“ปิดเทอมสร้างสรรค์” คือโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กโดยเริ่มต้นเมื่อปี 2555 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน มาร่วมกันจัดกิจกรรมที่มี ทั้ง On site – Online ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีเกินคาดทำให้มีศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ และค่ายเยาวชน ฯลฯ เกิดขึ้นมากมายในหลายจังหวัดเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเด็กได้สนุกไปกับการเรียนรู้อย่างอิสระ

มนุษย์ต่างวัยชวนคุยกับบุคคล 4 ท่านที่อยู่เบื้องหลังโครงการนี้ ที่จะมาบอกเหตุผลว่า ทำไมผู้ใหญ่จึงควรลงทุนและลงแรง สร้างพื้นกิจกรรมที่มีความสร้างสรรค์ให้กับลูกหลานของเรา

“การเรียนรู้มีความหมายกว้างกว่าคำว่าการศึกษา ทุกวันนี้เด็กสามารถเรียนรู้ในวันว่างของตนเองซึ่งเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ไม่แพ้การเรียนรู้ในห้องเรียน”

“จากการที่เราพยายามปฏิรูปการศึกษามาหลายครั้ง ทำให้เราพบว่านอกจากระบบการศึกษาในรั้วโรงเรียนที่เป็นเรื่องหลักแล้ว การใช้เวลาว่างของเด็กช่วงปิดเทอมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะในหนึ่งปีเด็กจะมีเวลาว่างประมาณ 150 วัน จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 20,000 คน พบว่าเด็กไม่รู้จะไปไหนนอกจากห้างหรือแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป ทั้ง ๆ ที่พวกเขาต้องการพื้นที่ที่สามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อย่างศูนย์ฝึกทักษะ พิพิธภัณฑ์ หรือพื้นที่เรียนรู้ใกล้บ้านที่เดินทางไปได้สะดวก

“เมื่อเราเห็นช่องว่างตรงนี้ เราจึงทำหน้าที่ประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ ที่อยากเข้ามาร่วมกันเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งพบว่ามีผู้สนใจจำนวนมาก และต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้นสำคัญไม่แพ้การเรียนรู้ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เนื่องจากเด็กได้ทำในสิ่งที่ชอบในวันว่างของตัวเอง โดยไม่รู้สึกถูกบังคับเหมือนเวลาเรียน ซึ่งทุกวันนี้เราก็ทำสำเร็จแบบวัดผลได้ ทั้งในแง่ของสถานที่จัดกิจกรรม ที่มีอยู่หลายจังหวัดในประเทศไทย และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแง่การเติบโตของเด็กเองพวกเขามีพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

“ผมอยากบอกว่า ไม่มีการลงทุนไหนคุ้มค่าไปกว่าการลงทุนกับเด็ก ๆ อีกแล้ว มันก็เหมือนการสร้างฮาร์ดแวร์ ถ้ามันไม่แข็งแรง ต่อให้เราเอา ซอฟต์แวร์ ใส่ไปเพิ่มเท่าไรมันก็ไม่เกิดผล การลงทุนในเด็กจึงส่งผลดีในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาเราฝากทั้งหมดไว้กับระบบการศึกษาอย่างเดียว แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่าทุกหน่วยงานมีส่วนช่วยส่งเสริมศักยภาพเด็ก ๆ ได้จริงเราก็อยากให้พื้นที่ตรงนี้ขยายกว้างขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้เด็กและเยาวชนเป็นรากฐานที่แข็งแรงของประเทศต่อไป

“ถ้าเด็กเรียนรู้ที่จะรักบ้านเกิดเหมือนรักแฟน รักคนในครอบครัวได้ เขาก็จะทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเกิดของเขาน่าอยู่ได้เอง”

“แม้ยะลาจะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่ก็มองเห็นความสำคัญถึงช่วงปิดเทอมและเวลาว่างของเด็กในพื้นที่มาตลอด เพราะไม่ว่าจะยุคสมัยไหนเยาวชนก็มีความสำคัญ ยะลาจึงมีศูนย์การเรียนรู้มากมายเกิดขึ้นในจังหวัดมาตลอด 15 ปี เช่น ทีเคปาร์ค ค่ายเยาวชน ค่ายกีฬา ค่ายดนตรี และอีกมากมาย ซึ่งเป็นกิจกรรมช่วงปิดเทอมที่

สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเด็ก ๆ ไปจนถึงแก้ปัญหาแต่ละชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “LEARN TO LIVE TOGETHER”

“ทุกค่ายที่เราจัดไม่ได้มีแค่กิจกรรมให้เด็กมาร่วมสนุกเท่านั้น แต่ยังเน้นกระบวนการคิดเพื่อให้พวกเขาฝึกการอยู่ร่วมกันไปด้วย ซึ่งเรายังใช้ทฤษฎีของโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ที่ดูแววของเด็กว่าแต่ละคนชอบทำอะไร เล่นตรงไหน หรือถนัดอะไรเป็นพิเศษ แล้วเราก็จะต่อยอดสิ่งนั้นให้

“อีกสิ่งที่สำคัญคือการทำให้เขาเข้าใจหน้าที่ของการเป็นพลเมือง กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครยะลาของเราจัดค่ายแบบเปิดกว้างเพื่อให้เยาวชน จากหลากหลายวัฒนธรรม หลายฐานะมาอยู่ร่วมกันแล้วมาเรียนรู้ว่างานเทศบาลมีหน้าที่สำคัญอะไรบ้าง และในฐานะที่คุณเป็นเยาวชนยะลา คุณจะสร้างเมืองให้น่าอยู่หรือจะนำสันติสุขมาสู่บ้านเกิดอย่างไร ซึ่งเราพบว่าเด็กหลายคนมีความคิดน่าสนใจมาก และเรายังสามารถสร้างทักษะการเป็นผู้นำและทักษะความคิดสร้างสรรค์ในตัวพวกเขาแบบเห็นผลชัดเจนได้อีกด้วย

“นอกจากจะช่วยให้เด็กได้สนุกกับเวลาว่างช่วงปิดเทอมแล้ว ยังทำให้คนในชุมชนของเรามีความสามัคคีมากขึ้น เด็กรุ่นพี่ที่จบจากค่ายก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังกลับมาเป็นผู้นำกิจกรรมให้น้อง ๆ รุ่นใหม่ เด็กบางคนกลายมาเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนที่ขับเคลื่อนกิจกรรมต่อไป และหลายคนก็มีจิตสาธารณะมากขึ้นและถ้าเราช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะรักบ้านเกิดเหมือนรักแฟน รักคนในครอบครัวได้ เขาก็จะทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเกิดของเขาน่าอยู่ได้เอง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องสอนแต่ในห้องเรียนเสมอไป

“ผมเชื่อว่าในอนาคต เมืองจะมีความสำคัญ และมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น เราต้องเสริมสร้างสมรรถนะให้เมืองของเราพร้อมสำหรับการแข่งขัน ซึ่งก็ต้องเริ่มจากพัฒนาชีวิต และทักษะของพวกเขา ให้พร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง ถ้า 76 จังหวัดของประเทศไทยมีชุมชนที่แข็งแรงของตัวเอง ความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง ทุกอย่างก็ไม่ต้องไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ เสมอไป ซึ่งนี่คือทิศทางที่ชัดเจนของเรา”

“เราเคยถามเด็กว่า เวลาปิดเทอมหนูไปอยู่ไหน เขาก็บอกไม่มีที่ไป ผู้ใหญ่อย่างเราจึงต้องเป็นผู้สร้างพื้นที่เรียนรู้ให้กับพวกเขา”

“สิ่งที่จะทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้คือพวกเขาต้องได้รับโอกาส ความรัก และความเชื่อใจ ซึ่งผู้ใหญ่ต้องมีความเชื่อก่อนว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและคุณค่าซ่อนอยู่ในตัวพวกเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากสังคมอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นสิ่งที่ ทีทีบีพยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง” มาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เล่าถึงจุดเริ่มต้นการสร้างศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ

“กิจกรรมพัฒนาสังคมของเราคือสร้างศูนย์เรียนรู้ไฟ – ฟ้า เป็นพื้นที่ให้เด็กในชุมชนได้ใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง จุดประกายเยาวชนให้เกิดมุมมองใหม่ โดยเราไม่ได้เป็นศูนย์การสอนไฟฟ้าเหมือนชื่อ แต่ไฟในที่นี้หมายถึงพลังที่มีอยู่ในเด็กทุกคน โดยแหล่งเรียนรู้ที่เราสร้างขึ้นจะอยู่ใกล้แหล่งชุมชนซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 5 แห่งทั้งในกรุงเทพ และปริมณฑล เป็นพื้นที่เรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เด็ก ๆ ทั้งทักษะการใช้ชีวิต และทักษะทางศิลปะ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่าง การทำอาหาร การแสดงดนตรี เทควันโด มวยไทย

“เราเน้นเชิญชวนเด็กที่มีอายุระหว่าง 12- 17 ปี ที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย ถึงปานกลาง ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพในตัวเอง แต่ไม่รู้จะไปหาที่ไหนให้มาหาเราโดยตรงซึ่งความตั้งใจของเราคือการมอบองค์ความรู้ที่จำเป็นในชีวิต เหมือนการสอนให้เด็กรู้วิธีจับปลาด้วยตัวเองแทนการให้ปลา เราไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือแค่นำสิ่งที่เรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ไปพัฒนาชุมชนของตัวเองต่อไปก็พอ

“ตลอด 14 ปีที่ทำมา ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าของเราพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยให้เด็กค้นพบศักยภาพในตัวเองได้นับหมื่นคน อย่างเด็กหลายคนที่เคยตื่นสาย แต่พอมีศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าอยู่ใกล้บ้านก็กลายเป็นเด็กตื่นเช้าทันที หรือเด็กหลายคนจากที่อยู่โรงเรียนเป็นเด็กหลังห้อง ไม่ค่อยพูด แต่พอมาร่วมกิจกรรมกับเราก็มีความมั่นใจในตัวเองและกล้าพูดกล้าแสดงออก ส่วนบางคนก็ค้นพบว่าตัวเองชอบทำอาหาร ชอบร้องเพลง ชอบเต้น ซึ่งสามารถเอาไปต่อยอดจนทำเป็นอาชีพหลังเรียนจบได้ และหลายคนก็ยังกลับมาเป็นรุ่นพี่ที่ดูแลกิจกรรมในศูนย์ให้รุ่นน้องอีกด้วย

“หากโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็กๆ บ้างหลังที่สามก็อยากให้เป็นศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ของเราที่เปิดโอกาสให้เด็กมาใช้เวลาด้วยกัน เจอเพื่อนใหม่ ๆ รู้จักรุ่นพี่รุ่นน้องในชุมชนของตัวเอง จะได้ช่วยกันแนะนำไม่ให้พวกเขาหลงผิด หรือในวันที่หลงผิดเราก็อยากเป็นเบาะลองไม่ให้พวกเขาหล่นลงลึกเกินไป ซึ่งไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนเราก็อยากทำ มันเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่อยู่แล้ว

เราไม่ได้คาดหวังว่าเด็กที่มาต้องเก่งที่สุด แต่เราคาดหวังให้เขาค้นพบศักยภาพในตัวเอง มีต้นทุนในการใช้ชีวิตที่เพียงพอ และสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคมได้”

“ในฐานะคนเป็นพ่อ เรามองว่าการที่ลูกมีพื้นที่เล่นเยอะ ๆ นี่แหละ คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเขา”

ณัฐพล คุ้มเมธา เป็นนักแสดงละครใบ้ ที่ใช้เวลาว่างช่วงโควิด 19 เอาของรอบตัวมาสร้างสรรค์ให้เป็นนิทานเพื่อคุยเล่นกับลูกจนพัฒนากลายเป็นการแสดงละครใบ้โชว์สุดสร้างสรรค์แสนสนุกที่ไม่ว่าใครก็ตามจะผู้ใหญ่หรือเด็กเมื่อได้ดูการแสดงของเขาแล้วก็อดที่จะมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะไม่ได้

“เดิมที่เราชอบทำงานกับเด็กอยู่แล้วเพราะเด็กจะพาจินตนาการของเราไปไกลมากขึ้น เราเชื่อว่าการเล่นคือวิธีที่ทำให้เด็กเติบโตมากที่สุด ถ้าเขาสนุกเขาก็จะอยากเรียนรู้ต่อด้วยตัวเองโดยที่เราไม่ต้องไปบังคับ เวลาที่ผมมองพวกเขาผ่านเวทีจะเห็นแววตาของพวกเขาเหมือนต้องมนต์สะกด กำลังสนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้าซึ่งยุคนี้ถือเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะสนใจสิ่งอื่นที่ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ”

“เราเลยอยากบอกเด็กๆ และคนเป็นพ่อเป็นแม่ว่า โลกนี้ยังมีกิจกรรมสนุก ๆ อีกมาก ที่อยู่นอกจออยากให้พวกเขาหันหน้าเข้าหากันสบตากันมากขึ้น ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวให้เต็มที่ ซึ่งการแสดงของเราก็ช่วยอุดช่องว่างตรงนี้ เพราะมีพ่อแม่หลายคนมาบอกเราว่าหลังจากพาลูกมาดูการแสดงของเรา เด็ก ๆ สามารถกลับไปเล่นกับข้าวของที่บ้านได้อย่างสนุกสนาน และยังช่วยให้ลูกมีจินตนาการมากขึ้นอีกด้วย”

“เราเติมอะไรใส่ลงไปให้โลกใบนี้โลกก็จะเต็มไปด้วยสิ่งนั้น ซึ่งเด็ก ๆ เหล่านี้จะเติบโต เป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ถ้าเราลงทุน ลงแรงเติมในสิ่งดี ๆ ให้เด็กในวันนี้ หมายความว่าหลังจากนี้ไปอีก 10-20 ปี เราจะมีคนที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และเด็ก ๆ ที่มีคุณภาพเหล่านี้ เขาก็จะเติมสิ่งดี ๆ ให้กับโลกที่เขาอยู่เพิ่มมากขึ้นต่อไป

สสส. และ ภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมกิจกรรมดี ๆ จากทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยมารวมไว้ในที่เดียวเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ปกครองที่อยากหาพื้นที่ให้เด็ก ๆ แต่ละช่วงวัยได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ มีรายได้เสริม และมีทักษะที่จำเป็นกับชีวิตติดตัวในช่วงปิดเทอม โดยไม่จำเป็นต้องรอให้โรงเรียนเปิดเทอม

กิจกรรมมีตั้งแต่ เสริมทักษะ จิตอาสา เวิร์กช็อป งานคราฟท์ ไปจนถึงท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชุมชน ซึ่งหลังจบกิจกรรมแล้ว สามารถนำประสบการณ์ที่ได้มาต่อยอด หรือทำเป็นอาชีพหลักได้อีกด้วย

หากใครอยากรู้ว่า ปิดเทอมสร้างสรรค์ มีกิจกรรมดี ๆ อะไรบ้าง สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ ปิดเทอมสร้างสรรค์.com

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ