“คำถาม”
ก๋า-สิริลักษณ์ ธรรมาภรณ์ เป็นคนพระนครศรีอยุธยาโดยกำเนิด เธอเกิดที่อำเภอบางปะหันเมื่อ 57 ปีที่แล้ว ในครอบครัวที่พ่อเป็นครูและแม่เป็นช่างตัดเสื้อฝีมือดี ในยุคนั้นบ้านแต่ละหลังยังหันหน้าออกริมน้ำ เนื่องจากผู้คนยังสัญจรทางเรือเป็นหลัก บ้านแทบทุกหลังจะมีความเป็นธรรมชาติ ร่มรื่น ซึ่งสิริลักษณ์ยังจำบรรยากาศเหล่านั้นได้ดี
“เราโตมาจากบ้านริมน้ำ ซึ่งบ้านแต่ละหลังในตอนนั้นจะเป็นบ้านแบบยกใต้ถุนสูง มีต้นไม้ มีแปลงผัก ผู้คนสัญจรทางน้ำกันเป็นหลัก มีการค้าขายทางเรือ มีก๋วยเตี๋ยวเรือที่ขายกันในเรือจริง ๆ กาแฟ ไอติม พวกนี้ก็ซื้อจากเรือ แม้แต่เนื้อหมูก็ซื้อในเรือ” หญิงวัย 57 เล่าย้อนความหลังเมื่อครั้งยังเด็ก
ชีวิตวัยเด็กที่อยู่กับวิถีริมน้ำและธรรมชาติที่บ้านเกิดของสิริลักษณ์ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเธอมีอันต้องเข้าไปเรียนต่อในระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะได้งานทำเป็นสถาปนิกในบริษัทแห่งหนึ่ง
หลังทำงานเป็นสถาปนิกอยู่พักหนึ่งสิริลักษณ์ก็ลาออกมาเปิดโรงงานผลิตของแต่งบ้านส่งออกเป็นของตัวเอง กระทั่งอายุใกล้ 40 ก็มีเหตุต้องถอนตัวออกจากกิจการ เหตุส่วนหนึ่งคือ ไม่สามารถสู้กับสินค้าที่มาจากต่างประเทศได้
“หลังจากเราเลิกทำโรงงานก็ไปทำบริษัทออกแบบภูมิสถาปัตย์กับเพื่อน ๆ ซึ่งทำได้อยู่ราว 10 ปี ก็ค่อย ๆ ขยับตัวออกมา ช่วงนั้นงานไม่ค่อยมี ประกอบกับเราเริ่มมีคำถามเข้ามาในชีวิตด้วย”
คำถามของสิริลักษณ์ในเวลานั้นก็คือ เธอจะมีชีวิตเป็นแบบไหนเมื่ออายุเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างในเวลานั้นยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่ต่างอะไรจากหมอกควันที่ลอยอยู่ในอากาศ มันเป็นเพียงคำถามที่โผล่ผุดขึ้นมาแต่ยังคงหาคำตอบไม่ได้
“ในเวลานั้นความคิดของเรายังคงลอย ๆ อยู่ คือเรามีคำถามว่าเมื่ออายุมากขึ้นเราจะมีชีวิตแบบไหน เรารู้แค่ว่าเราปรารถนาที่จะตายดี อยากอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ อยากปฏิบัติธรรม แต่ไม่ใช่การไปนั่งนุ่งขาวห่มขาว แล้วก็ได้ดูแลพ่อแม่ เรารู้คร่าว ๆ ประมาณนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร หรือถ้ากลับบ้านไปแล้วจะมีงานทำหรือเปล่า ถ้าต้องกลับบ้านจริง ๆ ชีวิตจะไปรอดไหม มันจะเป็นจริงอย่างที่เราคิดหรือเปล่า”
ในช่วงเวลาดังกล่าวสิริลักษณ์มีอายุจะย่างเข้า 50 หากเปรียบชีวิตเป็นการเดินทางก็นับได้ว่าเธอเดินทางมาไกลเกินกว่าครึ่งชีวิตแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะเดินทางมายาวนาน แต่ดูเหมือนหนทางข้างหน้าของสิริลักษณ์ในช่วงขึ้นต้นเลข 5 กลับยังเต็มไปด้วยความขมุกขมัวไม่แน่นอน
น่าสนใจเหลือเกินว่า ท่ามกลางหมอกควันและคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หญิงวัยครึ่งศตวรรษคนหนึ่งจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรในชีวิต
“คำตอบ”
แม้จะเรียนและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มานานแต่สิริลักษณ์ไม่เคยมีความคิดที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง หรือฝากบั้นปลายชีวิตเอาไว้ที่เมืองหลวงแห่งนี้
“เราเบื่อกรุงเทพฯ ไม่อยากมีบั้นปลายชีวิตอยู่ที่นี่ เราไม่เคยมีความคิดที่จะซื้อบ้านเพื่ออยู่เป็นของตัวเองเลย อยู่ด้วยการเช่าเอาตลอด”
สิริลักษณ์ตั้งเป้าหมายในชีวิตในบั้นปลายเอาไว้ 3 ข้อ คือ 1. ต้องอยู่ในที่ที่อากาศดีมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ 2. งานที่ทำต้องเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้และเป็นเหมือนการได้ปฏิบัติธรรมไปพร้อม ๆ กัน และ 3.ได้ดูแลอยู่ใกล้ชิดบุพการี โดยในพี่น้องทั้งหมดเธอเป็นคนเดียวที่ไม่มีครอบครัว จึงน่าจะมีเวลาให้พ่อและแม่มากกว่าใคร
หลังจากตั้งเป้าหมาย สิ่งหนึ่งที่สิริลักษณ์ล่วงรู้ได้ทันทีก็คือ การต้องกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด เธอซื้อที่ดินในตำบลบ้านเกาะ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านพ่อแม่มากนัก
สิริลักษณ์เลือกปักหมุดที่บ้านเกิดแต่ยังไม่รู้ว่าชีวิตจะเลี้ยงชีพหรือทำอะไรต่อไป จนกระทั่งมีโอกาสได้ไปอบรมเกี่ยวกับการทำเกษตรพอเพียงในหลักสูตร ‘ธรรมธุรกิจ…ยักษ์กับโจน’ ของ ‘อาจารย์ยักษ์’ วิวัฒน์ ศัลยกำธร และโจน จันได ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี คำถามมากมายในชีวิตก็ค่อย ๆ คลี่คลายและได้รับคำตอบ
“พอไปอบรมกลับมา เราได้คำตอบเลยว่าเราจะทำเกษตรอินทรีย์ โคก-หนอง-นาโมเดลที่บ้าน โดยนำแนวความคิดและองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของเรา อธิบายง่าย ๆ ก็คือเรากลับมาจัดการสร้างที่อยู่อาศัย สร้างแหล่งอาหาร และระบบนิเวศขึ้นมาในพื้นที่ของตนเอง โดยมีเป้าหมายว่าจะใช้จ่ายให้น้อยลงและพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด”
หลังกลับมาจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติฯ หญิงร่างเล็กก็จัดการออกแบบพื้นที่ 8 ไร่ครึ่งของตนเองโดยกำหนดพื้นที่จำนวน 3 ไร่เศษ เป็นพื้นที่สำหรับการทำสวนและเกษตรกรรม ถัดมาตรงบริเวณริมน้ำจำนวน 1 ไร่จะเป็นสำหรับการทำที่อยู่อาศัย
ในส่วนของการทำเกษตรนั้น เธอลงแรงปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ เอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น คะน้า กวางตุ้ง กะเพรา โหระพา น้ำเต้า มะเขือ ขึ้นฉ่าย หอม ฟักทอง ฟักแฟง บวบ ขนุน ฝรั่ง สาเก มะขามเทศ ฯลฯ รวมทั้งไม้ใหญ่อย่างตะเคียน พยุง แคนา มะฮอกกานี ฯลฯ ขณะเดียวกันพื้นที่ที่เหลือตรงบริเวณโซนกลางทุ่งก็ตั้งใจไว้ว่าจะทำนาปลูกข้าว
ด้านที่อยู่อาศัยสิริลักษณ์ตั้งใจว่าจะสร้างบ้านไม้ในสวน โดยเธอได้ออกแบบตัวบ้านให้ช่างมาปรับพื้นที่ และเตรียมไม้เตรียมอุปกรณ์สำหรับสร้างบ้านไว้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ไปเห็นต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ริมน้ำ หญิงวัยกลางคนก็เปลี่ยนใจทันที
“เราเห็นต้นไม้ใหญ่ 3 ต้นที่อยู่ริมน้ำ ด้านหนึ่งเป็นต้นก้ามปูกับต้นก้านเหลืองที่รากพันกันจนแทบจะเป็นต้นเดียว ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นต้นก้ามปูอีกต้น เราเห็นแล้วก็คิดว่าน่าจะสร้างบ้านบนต้นไม้ได้ทั้ง 2 ด้าน เจตนาในตอนนั้นคิดว่าจะสร้างให้เพื่อนฝูง แล้วก็ผู้คนที่เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติฯ มาพัก ไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจหรือรายได้อะไรหรอก”
สิริลักษณ์ตัดสินใจบอกช่างถึงสิ่งที่เธอคิดไว้ คำพูดที่สื่อสารออกไปไม่มีอะไรมาก “หยุดการสร้างบ้านในสวนเอาไว้ก่อน อุปกรณ์ที่เตรียมไว้ให้นำมาสร้างบ้านต้นไม้แทน”
บ้านต้นไม้
บ้านต้นไม้ทั้ง 2 หลังของสิริลักษณ์ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ในการสร้างจนแล้วเสร็จ โดยหลังแรกเป็นบ้านไม้หลังเล็ก 2 ชั้น ด้านล่างเป็นระเบียง ด้านบนเป็นห้องพัก 1 ห้องมีเตียง 2 ชั้น ขณะที่อีกหลังเป็นบ้านต้นไม้หลังใหญ่กว่า มีห้องพัก 1 ห้องด้านบนเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงมีเตียงนอนคู่ และชั้นล่างจะเป็นห้องนั่งเล่น
นอกเหนือจากนั้นยังได้สร้างบ้านริมน้ำ 3 ชั้นเอาไว้ในบริเวณเดียวกัน ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง ชั้น 2 เป็นห้องนอนเตียงเดี่ยว 4 เตียง ขณะที่ชั้น 3 เป็นห้องเตียงนอนคู่ เป็นห้องเดียวที่มีห้องน้ำในตัว และมีวิวสวยที่สุดในบรรดาห้องพักทั้งหมด ชื่อว่า ‘ห้องชมนก’
“อย่างที่บอกตอนแรกว่าเราไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจหรอก แต่พอเพื่อนที่มาเยี่ยมเขาแนะนำว่าให้ลองแชร์ลงใน Air bnb ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันสำหรับจองที่พักทางเลือกขนาดกลางและเล็กจำพวกเกสต์เฮ้าส์ โฮมสเตย์ แบบต่าง ๆ เช่น เรือบ้าน รถบ้าน บ้านต้นไม้ ดู ปรากฏว่าลงไปไม่ถึง 1 เดือนมีคนติดต่อเข้าพัก เป็นนักท่องเที่ยวคู่รักชาวอเมริกัน ที่มาฮันนีมูนที่ภูเก็ต แล้วแวะมาเที่ยวต่อที่อยุธยา จากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ แวะมาพักอีกเรื่อย ๆ
“ส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวที่มาพัก เมื่อกลับไปก็จะรีวิวไว้ แล้วโดยมากก็จะมาพักตามที่รีวิวกัน ที่ผ่านมา 80 เปอร์เซ็นต์ ของนักท่องเที่ยวจะเป็นชาวต่างชาติ มีทั้งเยอรมัน ฮอลแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม ญี่ปุ่น ฯลฯ จะมีช่วงหลังที่เริ่มมีคนไทยทยอยมาพักมากขึ้น”
นักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนที่บ้านต้นไม้ โดยมากจะมาเป็นครอบครัว แต่ก็มีไม่น้อยที่แบ็คแพ็คมาคนเดียว ด้วยเหตุนี้ห้องพักบางห้องจึงมีอารมณ์คล้ายกับโฮสเทลที่คนไม่รู้จักกันมาก่อนก็สามารถมาแชร์พื้นที่พักในห้องเดียวกันได้
“จะมีห้องพักที่เป็นห้องนอนเตียงเดี่ยว 4 เตียง สำหรับสาว ๆ ที่เดินทางมาคนเดียว ถ้าราคาเหมาแบบมาด้วยกันเป็นกลุ่ม ห้องนี้จะอยู่ที่วันละ 2,800 บาท แต่ถ้าพักคนเดียวก็จะคิดรายคน คนละ 700 บาท ซึ่งเราก็จะมีจักรยานไว้ให้ เผื่อเขาอยากปั่นไปเที่ยวในเมือง หรืออยากจะพายเรือดูวิถีชีวิตคนสองฝั่งคลอง ไปดูช้างอาบน้ำ ก็พายเรือจากบ้านเราไปได้เลย”
นอกเหนือจากรายได้ที่พอเลี้ยงชีวิตได้แล้ว สิ่งสำคัญที่หญิงวัย 57 ได้รับจากบ้านต้นไม้ก็คือมิตรภาพจากผู้คนมากมายที่มาเยี่ยมเยือนที่นี่
“เราได้เพื่อนใหม่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ได้มารู้จักกันที่บ้านต้นไม้เยอะมาก เราอยู่กันคนละซีกโลก แต่ได้มานั่งคุยนั่งแลกเปลี่ยนความคิด วิถีชีวิต และวัฒนธรรมกัน ซึ่งนี่คือเรื่องราวและมิตรภาพที่งดงามมาก บางคนทุกวันนี้เรายังพูดคุยทักทาย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันอยู่เลย ทั้ง ๆ ที่เขากลับประเทศของเขาไปหลายปีแล้ว”
“ขณะที่เพื่อนเก่าหลายคนเมื่อรู้ว่าเราสร้างบ้านต้นไม้ก็แวะมาเยี่ยม มาพูดคุย ที่สำคัญยังได้พาอาจารย์ที่สอนเราสมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เรานับถือเหมือนพ่อเหมือนแม่มาด้วย เราเคยตั้งใจว่ายังไงชีวิตนี้ก่อนตายเราจะไปหาอาจารย์ให้ได้อย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ตั้งแต่สร้างบ้านต้นไม้ อาจารย์ท่านมาหาเราถึง 3 ครั้งแล้ว สุดท้ายกลายเป็นว่าเราได้รับมิตรภาพ และสิ่งดี ๆ จากเพื่อนใหม่ เพื่อนเก่า รวมทั้งคนที่ศรัทธานับถือ”
เป็นเวลาร่วม 8 ปีแล้ว ที่บ้านต้นไม้เปิดให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ทุกวันนี้สิริลักษณ์ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขดี อาจจะมีวุ่นวายบ้างในบางครั้งที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ เนื่องจากเธอต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวจะมีก็เพียงแม่บ้านและน้าชายที่มีจิตอาสามาช่วยผ่อนแรงบ้างในบางเวลา
“ในแต่ละวันเราจะตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้ามาทำอาหารให้แขกที่เข้าพัก ทุกคนจะได้รับประทานประมาณ 8 โมง ซึ่งเราก็จะพูดคุยกับเขาว่าอะไรบ้างในจานที่เราปลูกเอง เขาก็จะชอบใจ เมื่อกินเสร็จแขกทุกคนจะล้างจานเอง จากนั้นเราก็จะมาปลูกผักเตรียมดิน เพาะเมล็ด ถ้ามีงานซ่อมบ้านก็ทำเอง ถ้าน้ามาก็ช่วยกัน ถ้าไม่มาก็ทำคนเดียวไปเพลิน ๆ ตกเย็นถ้ามีเวลาว่างก็ไปหาพ่อแม่ ไปดูแล และนั่งคุยกับท่าน บางวันถ้าวุ่นจริง ๆ ก็อาจจะไม่ได้ไป นี่คือชีวิตของเราคร่าว ๆ ในแต่ละวัน”
เป็นแต่ละวันที่เต็มไปด้วยความด้วยความเรียบง่าย งดงาม และมีความสุขตามเป้าหมายที่เคยตั้งไว้
ความสุขและการเรียนรู้
แม้จะมีความสุขดีแต่เมื่อถามถึงเป้าหมาย 3 ข้อที่วางไว้แต่แรก สิริลักษณ์ยอมรับว่าถึงวันนี้เธอยังทำมันไม่ได้ทั้งหมด
“ถ้าพูดถึงเป้าหมายที่วางไว้ตั้งในตอนแรก 3 ข้อแล้ว เราว่าข้อ 3 ยังไม่ค่อยตอบโจทย์สักเท่าไหร่ อย่างข้อแรกอยู่ในที่ที่อากาศดีและสิ่งแวดล้อมเป็นธรรมชาติ ข้อนี้เราทำได้แน่นอน เพราะในพื้นที่ของเราร่มรื่น อากาศเย็นสบาย เต็มไปด้วยต้นไม้ ส่วนข้อ 2 เป็นเรื่องจิตวิญญาณ อยากทำงานให้เหมือนว่าเราได้ฝึกปฏิบัติธรรมไปในตัว ก็ทำได้ค่อนข้างดี การที่เราได้ปลูกต้นไม้ ทำสวนก็ทำให้เราได้พบกับความสงบ มีสมาธิค่อย ๆ ทำงานไปช้า ๆ ยกเว้นว่าในช่วงที่แขกเยอะก็มีวุ่นวายบ้าง”
“แต่กับข้อสุดท้าย เรื่องการดูแลบุพการีนี่แหละที่ยังไม่ตอบโจทย์เสียทีเดียว เนื่องจากเรายังทำได้แค่เพียงไปหาไปดูแลท่านในช่วงเย็น ๆ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ควรจะต้องดูแลโดยการอยู่ในบ้านเดียวกัน เนื่องจากถ้ามีเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้นมาจะได้สามารถช่วยได้ทัน ก็มีข้อนี้แหละที่เราคิดว่าเราทำได้ไม่สมบูรณ์”
แม้จะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ทั้งหมด กระนั้น สิริลักษณ์ยืนยันว่า ถึงวันนี้เธอคิดไม่ผิดที่เลือกกลับบ้าน ปลูกพืชปลูกผัก และมีรายได้จากการสร้างบ้านต้นไม้เปิดเป็นบ้านพัก
“เราว่าเราได้ชีวิตอย่างที่เราปรารถนาและต้องการเกินกว่า 80% นะ อีก 20% ก็จะเป็นสิ่งที่เราต้องไปทำการแก้ไขว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นในอนาคต”
นอกเหนือจากได้ใช้ชีวิตในแบบที่คิดไว้ สิริลักษณ์บอกว่าเธอยังได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากชีวิตในปัจจุบันอีกด้วย
“ถ้าจะถามว่าทุกวันนี้เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการมีบ้านต้นไม้ และการที่เราเลือกกลับมาเป็นใช้วิถีเกษตร ก็ต้องบอกว่าเราได้เรียนรู้หลายอย่างเลย ที่แน่ ๆ อย่างแรกเราได้เรียนรู้ว่า ความสงบมีคุณค่ามากกว่าความสบาย มันเหมือนกับว่าถ้าข้างในเรารู้สึกสงบ เราจะรู้สึกว่ามันมีความพออยู่ข้างใน มันจะไม่ได้เรียกร้องหาความสบายอะไรอย่างอื่นเพิ่มเติมอีก”
“ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวแทบทุกคนที่มาพักที่บ้านต้นไม้ เราไม่ได้มีอะไรที่หรูหรา หรืออำนวยความสะดวกมากมายเหมือนกับโรงแรมหรือที่พักอื่น ๆ ไม่ได้มีแอร์ ไม่ได้มีพนักงานคอยบริการตลอดเวลา แต่ก็ไม่มีแขกคนไหนเรียกร้องต้องการอยากได้สิ่งเหล่านี้ พวกเขาพึงพอใจที่จะอยู่กับความสงบและธรรมชาติมากกว่า”
“ข้อต่อมาที่ได้เรียนรู้ก็คือ ทุกที่ทุกแผ่นดินล้วนแล้วแต่มีข้อดี ข้อด้อย ด้วยกันทั้งนั้น บ้านเราเอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้แย่ เรามีองค์ประกอบ มีทรัพยากร มีธรรมชาติที่ดีมาก เพียงแต่เราไม่รู้ว่าเรามีดีอะไร เราจะไปเป็นสุดยอดด้านอุตสาหกรรม ด้านเทคโนโลยี หรือหลาย ๆ อย่าง ซึ่งมันไม่ใช่รากของเรา”
“การที่พูดแบบนี้บางคนอาจจะคิดว่าเรากำลังถอยหลังเข้าคลอง แต่ในขณะที่เรากำลังเดินตามก้นเขา หากเราแค่กลับหลังหัน เราก็กลายเป็นฝ่ายนำหน้าแล้วนะ (ตามคำกล่าวของปราชญ์ชาวบ้าน พ่อคำเดื่อง ภาษี) เพราะฉะนั้นถ้าเราต่อยอด และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามี มันน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า”
มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเชื่อเป็นของตัวเอง สำหรับหญิงวัย 57 ปีอย่างสิริลักษณ์ เธอเองก็มีความเชื่อในแบบของเธอ และไม่ได้บังคับให้ใครต้องคิดเหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือท่ามกลางความเชื่อนั้น เธอไม่ได้ปล่อยให้มันล่องลอยอยู่ในอากาศ หากแต่ลงมือทำความเชื่อนั้นให้สำเร็จและเป็นจริง
บ้านต้นไม้ และชีวิตของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ไว้ใกล้เกษียณกำลังบอกกับเราทุกคนว่า จงอย่าเป็นแค่คน ’กล้าคิด’ แต่ทุกครั้งที่มีความคิด จงเป็นคนที่ ’กล้าทำ’