คุยกับ นุ่น-ศิรพันธ์ และ ท็อป-พิพัฒน์ กับชีวิตคู่ที่ตัดสินใจ “ไม่มีลูก”

หากใครที่เป็นแฟนละคร หรือแฟนภาพยนตร์ ชื่อของ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา และ ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร คงเป็นชื่อที่คุ้นหูกันดีในแวดวงบันเทิง ไม่ใช่แค่ในฐานนะคู่รักนักแสดงมากฝีมือ แต่ทั้งคู่ยังได้รับความสนใจในด้านของการทำธุรกิจสร้างสรรค์ที่ตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับคู่รักดาราหลายต่อหลายคู่เมื่อแต่งงานแล้วข่าวคราวที่ตามมาก็คือการมีลูกสร้างครอบครัว แต่สำหรับ นุ่นกับท็อป ทั้งคู่กลับคิดในสิ่งที่ตรงกันข้าม ทั้งคู่ออกมาพูดถึงเรื่องการตัดสินใจว่าจะ “ไม่มีลูก” แม้อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะคู่รักหลายคู่ในยุคนี้ก็ตัดสินใจออกแบบชีวิตคู่ลักษณะเดียวกัน แต่คำถามก็คือเมื่อตัดสินใจเช่นนนี้ทั้งคู่มีการวางแผนชีวิตหลังจากนี้อย่างไร

มนุษย์ต่างวัย ถือโอกาสชวนคู่รักสาย ECO นุ่น และ ท็อป มาเปิดใจเล่าถึงมุมมองเกี่ยวกับการวางแผนชีวิตคู่ในวันที่ทั้งสองคนตกลงกันว่าจะ “ไม่มีลูก” และการเตรียมพร้อมในเรื่องของการดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเมื่อก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ ทั้งเรื่องการวางแผนเงินออม การวางแผนเรื่องที่อยู่อาศัย และการดูแลสุขภาพกายและใจไปพร้อมกัน

ชีวิตคู่ “ไม่มีลูก” ไม่เกี่ยวกับ “โลก” อยู่ที่การตัดสินใจของคนสองคน

ท็อป : ผมกับนุ่นเราทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง มีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น ผมว่ามันก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้คนเราตัดสินใจที่จะไม่มีลูก เพราะกลัวว่าลูกเราจะต้องเกิดมาเผชิญกับปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่อาจจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต แต่ส่วนตัวคู่เราไม่ได้เอาปัญหาสิ่งแวดล้อมมาเป็นเหตุผลที่ทำให้เราตัดสินใจที่จะไม่มีลูก

เรามองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมมันเป็นปัจจัยภายนอก ในอนาคตปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ ที่สุดแล้วตัวเราเองมากกว่าที่เป็นคนตัดสินใจว่าจะไม่มีลูก ปัญหามันเกิดขึ้นจากตัวเรา

เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้วเราจับมือกันไปตรวจร่างกาย พอตรวจเสร็จระหว่างที่คุณหมออธิบายว่าสุขภาพของเราเป็นอย่างไรบ้าง นุ่นบอกกับคุณหมอเลยว่า คุณหมอคะนุ่นอยากทำหมัน คุณหมอถามกลับว่าชั่วคราวหรือถาวร นุ่นบอกถาวรค่ะ พอคุณหมอได้ฟังก็บอกนุ่นเลยว่าเดี๋ยวก่อนดีกว่าเผื่อเรามีช่วงเวลาที่อยากเปลี่ยนใจ

นุ่น : จริงๆ แล้วมันก็มีช่วงหนึ่งที่เราอยากจะมีลูกเหมือนกันนะ เพราะเราเป็นคนที่รักเด็กมาก ชอบเล่นกับเด็ก เราก็คิดว่าหรือเราจะมีลูกกันดี แต่อีกใจหนึ่งก็กลัว มันเป็นความสับสนที่เกิดขึ้นมาในใจเรา เรากลัวการมีลูกมาก เราพูดกับตัวเองมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าโตไปแต่งงานเราจะไม่มีลูก สมัยตอนที่เรียนมัธยมบอกแม่เลยว่า แม่นุ่นจะไปทำหมัน แล้วความตลกคือเราจะฝันร้ายบ่อยๆ ถ้าฝันร้ายของคนอื่นอาจจะฝันร้ายเพราะเห็นผีในฝัน ฝันร้ายเรื่องธุรกิจ แต่ฝันร้ายของเราคือ ฝันว่าตัวเองท้องได้ 9 เดือนแล้วกำลังจะไปคลอด ตื่นมาเราร้องไห้ใหญ่เลยเพราะเราไม่ได้อยากมีลูก

แต่เราเชื่อว่าแต่ละคนมีเหตุผลของการไม่อยากมีลูกต่างกัน สำหรับเราแค่รู้สึกว่าเวลาที่เราเป็นห่วงใครมันเป็นทุกข์ อย่างตอนเด็กๆ เราจะชอบจินตนาการถึงพ่อแม่เวลาที่ท่านไปลงพื้นที่ต่างจังหวัด เราจินตนาการว่าเขาจะไม่กลับมา แล้วถ้าเขาไม่กลับมาจริงๆ เราจะทำยังไง เราก็ได้แต่ร้องไห้อยู่คนเดียว มันฝังใจก็เลยไม่อยากมีใครอีกคน เพราะเรารู้เลยว่าถ้าเรามีลูกเราจะรักเขามาก แล้วถ้าเขาเป็นอะไรขึ้นมาเราจะเสียใจมาก สุดท้ายเราก็ตัดสินใจได้ว่าไม่มีดีกว่า ประกอบกับตอนนี้เราอายุใกล้จจะแตะเลข 4 แล้ว ภาพของการไม่มีลูกมันก็เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเราคงจะอยู่กันไปสองสามีภรรยาแบบนี้จนแก่

ท็อป : นุ่นเขาชัดเจนมาตั้งแต่ตอนแรกที่คบกันแล้วว่าจะไม่มีลูก พอนุ่นเขาชัดเจนแบบนี้คนแรกที่ผมถามไม่ใช่ตัวเอง ผมถามพ่อแม่ว่าพ่อกับแม่ผมตกลงหรือเปล่า เพราะผมเกิดในครอบครัวคนจีนถ้าเกิดเราไม่ได้มีลูกพ่อแม่จะยอมรับได้ไหม พ่อบอกว่าไม่เป็นไรเพราะว่ามีหลานอยู่แล้ว 3 คน ถ้าผมไม่มีก็ไม่เป็นไร หลังจากนั้นเราก็มาถามตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไร ซึ่งส่วนตัวผมเองถ้านุ่นอยากมีหรือไม่อยากมีผมเคารพในการตัดสินใจของเขา

นุ่น : ต้องขอบคุณบ้านฝั่งเราและฝั่งสามีที่เขาไม่ได้มาฝากความหวังอะไรไว้ที่เรา ทำให้เราไม่ต้องกดดันว่าจะต้องมีลูก


เมื่อตัดสินใจว่า “ไม่มีลูก” ก็ต้องดูแลตัวเองได้

นุ่น : การที่เราตัดสินใจว่าจะไม่มีลูกในมุมของเราเราไม่ได้คิดว่า แก่ไปแล้วเราต้องมีเพื่อน ถ้าเรามีลูกเราก็ไม่ได้คิดว่าใครที่ออกมาจากตัวเราแล้วต้องมาดูแลเรา มาเป็นเพื่อนเรา เราไม่ได้อยากให้ใครเกิดเพื่อมาแบกความรับผิดชอบนี้ ไม่ว่าเราจะมีลูกหรือไม่มีก็ตามเราต้องดูแลตัวเองได้ เราต้องหาวิธีที่ไม่ทำให้ตัวเองไปเป็นภาระใคร การที่เราได้ดูแลตัวเองมันคือความสุขของเรา

ท็อป : สำหรับเรื่องที่หลายคนพูดว่าการมีลูกคือการมีโซ่ทองคล้องใจผมก็มองว่า หลายๆ คนที่มีลูกก็เลิกกันได้ ทุกวันนี้การมีลูกไม่ใช่สิ่งที่จะดึงให้คนสองคนอยู่ด้วยกันไปตลอด

นุ่น : เรารู้สึกว่าหน้าที่ของการรักษาครอบครัวมันคือการต้องเข้าใจกัน มีปัญหาก็ต้องปรับความเข้าใจกันถึงจะอยู่ด้วยกันได้ ถ้าอยู่ด้วยกันไม่ได้ก็ค่อยแยกทาง ต่างคนก็ต่างไปมีชีวิตที่ดี ถ้าเราแก่เราก็ควรแก่ไปอย่างมีคุณภาพไม่เป็นภาระใคร แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่าแก่มาแล้วสามีจะต้องมาดูแลเราหรือเราต้องดูแลสามี แต่เรายินดีที่จะดูแลเขาด้วยความรักมากกว่าที่จะรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่

การ “ไม่มีลูก” เป็นการออกแบบชีวิตคู่รูปแบบหนึ่ง

เมื่อไม่ได้ฝากความหวังไว้ที่ใคร ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับดูแลตัวเองในช่วงบั้นปลายของชีวิต

ท็อป : พอไม่มีลูกนั่นหมายความว่าเราต้องออกแบบและวางแผนชีวิตคู่อย่างละเอียด เรื่องแรกที่เราวางแผนเลยคือเรื่องเงิน ถึงเราจะเป็นมนุษย์ ECO แต่เราก็ยังมีกิเลส เราไม่ได้เป็น ECO แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เรายังอยากได้ อยากมี อยากกิน อยากใช้เหมือนกับคนอื่นๆ ดังนั้นเราก็เลยมองว่าถ้าเกิดเรายังไม่มีลูกสิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องไม่ทำให้ตัวเองเป็นภาระใครและสังคม เราต้องเก็บเงินเพื่อให้เงินมาเลี้ยงดูเรา โดยเราใช้วิธีให้ที่ปรึกษามาให้คำแนะนำเรื่องการเงินกับคู่เรา

เริ่มจากการแยกทรัพย์สินที่มีก่อนแต่งงาน แยกออกมาเลยว่าใครมีอะไรบ้าง แล้วทรัพย์สินหลังแต่งงานมีอะไรบ้าง แล้วหลังจากนั้นเราก็กำหนดว่าเราจะทำงานจนถึงอายุประมาณเท่าไร อยากจะเกษียณตอนอายุเท่าไร แล้วเราจะเสียชีวิตกันตอนอายุประมาณเท่าไร ทำให้เรารู้ว่าเราควรที่จะเก็บเงินประมาณเท่าไรเพื่อใช้ตอนเกษียณ

ที่สำคัญคือเรื่องการเจ็บป่วยเพราะแก่ตัวไปต้องเจ็บป่วยแน่ๆ ซึ่งการเจ็บป่วยก็จะมีทั้งโรคธรรมดาโรคร้ายแรงที่ต้องผ่าตัดเข้า ICU เราก็จะคำนวนว่าเราต้องวางแผนในการซื้อประกันชีวิตแบบไหน ต้องการเก็บออมในรูปแบบไหน ซื้อกองทุนไหม ถ้าเกิดเรามีหุ้นอยู่แล้วเราลงทุนหุ้นไปแล้วจะงอกเงยอย่างไรบ้าง ถ้าเกิดเรามีที่ดินเราจะต้องเก็บไว้อย่างไร ถ้าจะขายต้องนำเงินที่ขายได้ไปเก็บไว้ที่ส่วนไหน

มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต

ท็อป : ก่อนหน้าที่จะได้คุยกับที่ปรึกษา ส่วนตัวผมมีการคิดวางแผนมาก่อนอยู่แล้ว เพราะผมเกิดมาในครอบครัวคนจีน เป็นลูกพ่อค้าแม่ค้าจะต้องมีการวางแผนเรื่องเงิน เราก็จะมีวิธีการวางแผนมาตั้งแต่เด็กๆ คือเราจะมีการกระจายความเสี่ยงตั้งแต่ทำงานแรกๆ เลย แยกเงินไว้ 3-4 ก้อน เช่น ก้อนนี้เอาเงินไปลงทุนซื้อที่ดิน แต่ว่าเราไม่ได้วางแผนถึงอนาคตขนาดนั้น ผมจะวางแผนแค่สั้นๆ แบบ ‘ฝันให้ไกล้แล้วไปให้ถึง’ อีก 5 ปีจะเป็นอย่างไรอีก 10 ปีจะเป็นอย่างไร ถ้าซื้อที่ดินตอนนี้เราซื้อในราคาถูกแต่ในอนาคตอาจจะดีก็ได้ เดี๋ยวเราค่อยขายทิ้งอะไรแบบนี้ครับ พอได้ที่ปรึกษาผมรู้แล้วว่าจะตายตอนอายุ 90 ปีจะทำงานถึง 65-70 ปี ถ้าอย่างนั้นหาประมาณไหนถึงจะพอดี ผมก็พยายามคิดว่าหาประมาณนี้ต่อปีจะได้ไม่เครียดมาก เพราะถ้าเราไม่มีเป้าหมายเลยยิ่งหาเยอะหามาได้เท่าไรก็ไม่พอ

นุ่น : เราว่าการมีแบบแผนชีวิตมันดีนะ เพราะเมื่อก่อนเราไม่เคยมองไกลขนาดนี้ เรามองแค่ปีต่อปี อย่างเช่น เรามีธุรกิจเราก็จะเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ดูบริษัท เช่น ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 เราก็จะกันเงินสดแค่ประมาณ 6 เดือน แต่พอเอาเข้าจริงมันอาจจะต้องกันเงินถึง 1 ปีหรือ 2 ปี ตอนแรกเราก็แค่กันเงินเพื่อธุรกิจ แต่พอเรามีที่ปรึกษามาแนะนำเราต้องกันเงินเผื่อชีวิตเราด้วย ทำให้เราใช้เงินแบบมีสติและรอบคอบมากขึ้น

บางทีพอเรารู้ว่าเราต้องเก็บเงินประมาณเท่าไรมันทำให้เราเหนื่อยกับงานน้อยลง ตอนที่เราไม่มีแผนเคยมีวันหนึ่งเราเหนื่อยมากในการทำงานหาเงิน เราถามพี่ท็อปว่าเราต้องเหนื่อยต้องหาลูกค้าขนาดไหนถึงจะพอ แต่พอเรามีแผนชีวิตเหมือนเขาเตือนสติเราว่า เราก็ทำเท่ากับเพดานที่เราต้องทำ ไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆ ไม่รู้จุดสิ้นสุดอยู่ตรงไหน

ตอนที่เรากรอกแบบฟอร์มตั้งเป้าหมายการออมกับที่ปรึกษา เขาบอกเราว่ามีบางคนเขาต้องเก็บเงินไว้ใช้ตอนเกษียณถึง 50 ล้านบาท เราตกใจมาก คิดว่าบ้าหรือเปล่าใครมันจะเก็บเงินไว้ใช้เยอะขนาดนั้นเราโวยวายกับตัวเองใหญ่เลย แต่พอเราทำแบบสอบถามตัวเองปรากฏว่าเราต้องเก็บเงินให้ตัวเองถึง 75 ล้านบาท (หัวเราะ)

แต่สิ่งที่ทำให้เราต้องเก็บเงินมากขนาดนั้นที่เห็นชัดๆ เลยก็คือค่าหมอในอนาคตแล้วก็เรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่เป็นความต้องการของเรา

วางแผนการเงินตามความเป็นจริงของชีวิต

ท็อป : ถ้าเกิดใครที่เป็นพนักงานบริษัทอยู่แล้วมีประกันสังคมผมอยากให้จ่ายไปเพราะว่ามันมีผลจริงๆ ในอนาคต เหมือนเราสองคนที่ต้องวางแผน เราจะดูเลยว่าถ้าสมุมติเป็นโรคร้ายขึ้นมาหนึ่งโรค โรคนั้นจะมีค่าการรักษาเท่าไร แล้วอยากรักษาโรงพยาบาลแบบไหนถ้าโรงพยาบาลรัฐบาลก็จะราคาถูกหน่อยถ้าเอกชนก็ต้องดูว่าเราอยากอยู่ห้องรวมหรือห้องเดี่ยวเราก็คำนวณแล้วเก็บเงินไว้สำหรับส่วนนี้ แต่เราก็ต้องคำนวณตามความเป็นจริงของชีวิตเราด้วย

สมมุติว่าวันนี้ยังไม่มีอะไรมากแต่ถ้าต่อไปคุณอยากได้ค่ารักษาพยาบาลที่ดี คุณอยากไปเที่ยวต่างประเทศแบบสบายๆ แล้วอยากจะไปพักโรงแรมที่ดี 4-5 ดาว ก็ไม่ใช่ว่าวันนี้คุณจะใช้ชีวิตแบบชิลๆ เป็นคนแบบสโลว์ไลฟ์วันนี้เงินเดือนออกกินบุฟเฟ่ต์ พอสิ้นเดือนเงินหมดกลับไปกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถ้าคุณใช้ชีวิตแบบนี้ทุกเดือนอนาคตของคุณอาจจะลำบาก แต่ถ้าวันนี้คุณเก็บหอมออมริบทำงานประจำบ้างทำงานเสริมบ้างอนาคตเราสามารถที่จะใช้ชีวิตแบบที่เราต้องการได้

นุ่น : เราคิดว่าการใช้ชีวิตวันนี้มันมีผลกับปลายทางของเรามาก เราอยากใช้ชีวิตแบบไหนมันก็จะมีผลกับปัจจุบันของเรา อยากได้ดีมากแปลว่าตอนนี้ก็ต้องเก็บเยอะ”

ท็อป : แต่จริงๆ เราสามารถที่จะ ‘Work Hard Play Hard’ ได้นะครับ ผมคิดว่าตัวเองเป็นแบบนั้น แต่ว่ามันต้องอยู่ในกรอบของความพอดีครับ Play Hard ของผมกับ Play Hard ของคนอื่นอาจจะไม่เหมือนกัน แต่จะ Play Hard ขนาดไหนก็ต้องกลับมาดูที่ตัวเรา บางครั้งผมก็ยังมีความคิดเลยว่าผมก็รวยเหมือนกันนะ ผมรวยเพราะผมทำตามเป้าที่ผมวางไว้ได้ คือความรวยเราไม่ได้ไปเทียบกับคนอื่น เราวัดจากสิ่งที่เรามี

ผมทำตามเป้าที่ผมตั้งไว้ได้ นั่นแปลว่าผมมีเงินที่ผมสามารถที่จะใช้จ่ายมันได้และอนาคตผมไม่กระทบ เวลาไปเที่ยวผมก็สามารถที่จะเลือกไปแบบ Business Class แล้วก็เลือกโรงแรมที่มันใกล้กับในเมืองเลยอะไรอย่างนี้ ผมคิดว่าผมใช้ชีวิตแบบนี้ได้ถ้าหากผมมีการวางแผนที่ดี

เตรียมพร้อมที่อยู่อาศัย

นุ่น : เราวางแผนกันไว้ว่าอายุ 50 กว่าเราจะเริ่มหาบ้านที่เป็นสังคมที่เขามีแพทย์ มีการดูแลที่ดี เพราะเราเชื่อเรื่องเทคโนโลยีว่าในอนาคตมันจะต้องดีกว่านี้แน่นอน เช่น พอเราล้มปุ๊บมีเซ็นเซอร์ที่พื้นตรวจจับว่าเรากำลังล้มแล้วมีรถพยาบาลมารับเราไปทันที (หัวเราะ)

ท็อป : เราต้องอยู่ด้วยกันสองคนได้ แต่ว่าอาจจะต้องมีสถานที่ที่มันเอื้อกับเรา ผมเรียนออกแบบมาผมรู้ว่าเราสามารถที่จะทำให้บ้านที่อยู่อาศัยของเรา หรือชุมชนที่เราอยู่มันสอดคล้องกับสภาพของคนที่อยู่ในนั้นได้ ดังนั้นแปลว่าถ้าหมู่บ้านนี้สร้างมาสำหรับผู้สูงอายุ เขาจะต้องทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้มันเอื้ออำนวยต่อเรา

คำว่าบ้านพักคนชราของเราอาจจะคนละภาพกับที่คนอื่นมอง ถ้าเกิดว่าเป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เขาอาจจะมองเป็นภาพที่จะต้องมีคนมาบริจาค มาดูแลแล้วเราก็อยู่กันเหงาๆ แต่ภาพที่เรามองมันจะต้องมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ภาพของผมกับนุ่นจะเป็นบ้านพักที่ไฮเทค ดูดี ทันสมัย ขึ้นรถไม่ต้องก้าว สไลด์ไปเลยอะไรอย่างนี้ครับ (หัวเราะ)

เตรียมพร้อมสภาพจิตใจให้เป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ

ท็อป : เราอยากเป็นคนสูงวัยแบบเฟี้ยวๆ ผมคิดว่าผมอยากจะเป็นลุงท็อปที่สามารถคุยกับเด็กๆ ได้ เหมือนอย่างตอนนี้ผมชอบคุยกับหลานผมคนหนึ่งอายุ 10 ขวบเป็นเด็กผู้ชาย อีกคนอายุ 15 เป็นหลานสาว ผมอยากจะเป็นผู้ใหญ่ที่ฟังได้หมด แล้วก็พยายามจะทำความเข้าใจ พยายามจะไปอยู่สนามเดียวกันกับเขา เราจะได้อยู่ด้วยกันได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ผมก็เลยอยากจะเป็นคนแก่แบบเฟี้ยวๆ ไม่ใช่คนแก่ที่ฉันถูกเสมอแล้วเด็กอายุต่ำกว่าต้องมาฟังเราคนเดียว

ถ้าเราสามารถทำเงินได้ตามเป้าที่เราคิดไว้ ผมกับนุ่นสองคนจะลองขับรถสปอร์ตเปิดประทุนดูบ้าง (หัวเราะ) เราคิดว่าจะเป็นคนแก่ที่ทันสมัยแล้วก็อยู่กับโลกในยุคหน้าได้

นุ่น : นุ่นก็คล้ายๆ กันนะ นอกจากที่คิดว่าตัวเองจะเป็นผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตแบบชิลๆ แล้ว ก็คิดว่าเราอยากเป็นคนที่เป็นเหมือนตัวเชื่อมของคนหลากหลาย GEN ให้คุยกัน เพราะเรารู้สึกว่าเราโตมา เป็นเหมือน GEN กลางๆ เราจะค่อนข้างเจอความคิดคุณพ่อคุณแม่ที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม แล้วก็เจอความคิดของเด็กอย่างน้องๆ ในออฟฟิศที่จบมาเขาก็จะคิดอีกแบบหนึ่ง และเราก็รู้สึกว่าไม่ว่า GEN ไหนจะคิดยังไงมันไม่มีใครผิดใครถูก มันแค่เห็นในมุมมองของตัวเอง เราเลยชอบการจูนกัน คุยกัน เพราะรู้สึกว่าการคุยกันมันคือการอยู่ด้วยกัน

เราโตมาในครอบครัวที่มีความหลากหลายเลยรู้สึกว่า ถ้าการจะอยู่ด้วยกันคือการต้องแชร์กัน มันไม่ใช่แค่บอกว่าใครเป็นใหญ่ เป็นใหญ่ตามอายุหรือเป็นใหญ่ตามจำนวน เราอยากเป็นคนแก่ที่ทุกคนมาเปิดใจกับเรา

Credits

Authors

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ