แม่สร้าง ลูกสานต่อ ‘เห็ดหอมลูกชิ้นทอดหน้าวอร์มอัพ’ แห่งเมืองเชียงใหม่ จากรถพ่วงสู่ฟู้ดทรัค

  

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีอาหารและของกินน่ารับประทานอยู่เต็มไปหมด และลูกชิ้นทอดของแม่ ราตรี ปาละก้อน ก็คือหนึ่งในนั้น

ลูกชิ้นเห็ดหอมทอดร้อนๆ แซมด้วยไส้กรอกและเกี๊ยวทอด ราดด้วยน้ำจิ้มมะขามแท้ๆ สูตรเด็ด ไม่มีการใส่ผงชูรส แค่ได้สัมผัสด้วยปลายลิ้นก็แทบจะบินได้โดยไม่จำเป็นต้องมีปีก

เมื่อ 14 ปีก่อน แม่ราตรีเริ่มต้นธุรกิจขายลูกชิ้นทอดนี้ด้วยการขับรถพ่วงข้างมาขายอยู่ที่หน้า ‘วอร์มอัพ  สถานบันเทิงชื่อดังในตัวเมืองเชียงใหม่ ด้วยรสชาติที่อร่อยไม่เหมือนใคร ประกอบกับอัธยาศัยและความใจดีเป็นกันเองของแม่ค้า ทำให้รถพ่วงข้างขายลูกชิ้นทอดเล็กๆ นี้มีคนแวะเวียนมาอุดหนุนตลอดเวลา บางวันลูกค้าต้องต่อแถวซื้อกันยาวเหยียด

แม้จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่มุมมองของคนที่เริ่มต้นสร้างธุรกิจดังกล่าวมากับมืออย่างแม่ราตรีกับลูกสาวที่จะเข้ามารับช่วงต่อในรุ่นต่อไป กลับมีมุมมองต่อลูกชิ้นเห็ดหอมที่ชวนน้ำลายสออยู่ในกระทะไม่เหมือนกัน

“สิ่งเดียวที่เราคิดเห็นเหมือนกันคือรสชาติและความอร่อย แต่นอกจากนั้นไม่มีอะไรที่เรามองเหมือนกันเลย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการขาย และการจัดการกับปัญหา ทัศนคติ เรื่อยไปจนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการจัดร้าน การเก็บอุปกรณ์ ฯลฯ ต่างคนก็ต่างคิดกันคนละแบบ”

หวาน-ธัชนันท์ กิตตะวงค์ ลูกสาววัย 29 ของแม่ราตรีกล่าว

ด้วยความที่เกิดกันคนละยุค มองโลกกันคนละแบบ ทำให้สองแม่ลูกคิดเห็นกันคนละอย่าง อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าความแตกต่างนั้นจะทำให้ทุกอย่างถอยหลังย่ำแย่ ตรงกันข้ามกลับทำให้ธุรกิจลูกชิ้นทอดของทั้งสองก้าวหน้าไปไกลกว่าเดิม

“แม้จะแตกต่าง แต่ความคิดของเราไม่มีใครผิดหรือถูกต้องไปกว่ากัน แม่ถูกในช่วงเวลาของแม่ เราถูกในช่วงเวลาของเรา”

ว่ากันว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีช่วงเวลาที่เหมาะสมเป็นของตัวเอง ลูกชิ้นเห็ดหอมแห่งเมืองเชียงใหม่ก็เช่นกัน

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นของมัน เกิดขึ้นเมื่อ 14   ปีที่แล้ว


เริ่มต้นในรุ่นแม่

ราตรี ปาละก้อน เป็นคนอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน แต่ย้ายมาตั้งรกรากที่เมืองตัวเมืองเชียงใหม่ได้ร่วม 30 ปีแล้ว หญิงวัย 64 รักอาชีพค้าขายมาตั้งแต่ยังสาว นี่คืออาชีพที่ให้ความรู้สึกเป็นอิสระ ได้พบปะผู้คน ที่สำคัญได้เห็นเงินทันทีไม่ต้องเสียเวลารอถึงปลายเดือนเหมือนอาชีพอื่นๆ

แม่ราตรีขายมาแล้วแทบทุกอย่าง ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ขนมปัง พิซซ่า ซาลาเปา เครป ก่อนจะมาลงตัวที่ลูกชิ้นทอด

“ก่อนจะมาขายลูกชิ้นทอด เราเป็นแม่ค้าขายมาหลายอย่างมาก โดยอย่างหลังสุดก็คือขายเครปญี่ปุ่น เนื่องจากตอนนั้นกระแสเครปกำลังมาแรง แต่ปัญหาของเครปก็คือมันมีหลายไส้ ต้องดูแลวัตถุดิบเยอะมาก แล้วก็ใช้เวลาทำนานกว่าจะได้เครปแต่ละอัน พอเรามาดูร้านขายลูกชิ้นข้างๆ กัน เขาขายดี แล้วก็ใช้เวลาทำน้อย เทียบกับเราทำเครป 1 ชิ้น ใช้เวลาเท่ากัน ขายลูกชิ้นไปได้แล้ว 5 ราย จากนั้นก็เลยตัดสินใจเลิกขายเครปแล้วหันมาขายลูกชิ้นทอด พอดีว่าเรามีญาติเขาทำลูกชิ้นเห็ดหอมขายส่งอยู่ เราก็เลยได้วัตถุดิบจากตรงนั้น แล้วก็ทำน้ำจิ้มเพิ่มขึ้นมา”

แม่ราตรีใช้เวลาในการทำน้ำจิ้มอยู่หลายเดือน เพื่อให้ได้รสชาติที่อร่อยเด็ดดวงจริงๆ ก่อนจะมาลงเอยที่น้ำจิ้มมะขาม โดยเคล็ดลับก็คือการใช้มะขามล้วนๆ ไม่มีการใส่น้ำส้มสายชูและผงชูรส ด้วยลูกชิ้นที่ไม่เหมือนใครและน้ำจิ้มเลิศรส ทำให้ลูกค้าต่อคิวซื้อกันแบบยาวเหยียด ยิ่งช่วงหน้าเทศกาลอย่างปีใหม่ สงกรานต์ ยิ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความสุขให้กับคนเป็นแม่ค้าอย่างแม่ราตรีอย่างมาก แน่นอนว่าเงินกำไรก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือความอิ่มเอมในหัวใจ

“ความสุขของเราอยู่ที่ลูกค้า เวลาได้เห็นเขากินลูกชิ้นแล้วอร่อย แล้วมันอิ่มใจ อยากให้เขาได้กินของดีๆ เรื่อยๆ เราจะเต็มที่กับลูกค้าไม่มีกั๊ก อย่างน้ำจิ้มเราก็ใช้มะขามล้วนๆ ไม่มีผสมน้ำส้มสายชู ไม่ใช้ผงชูรส ต้นทุนจะสูงหน่อยก็ไม่เป็นไร ขอให้เขาได้กินของดีๆ พอเขากินของดีก็ยิ่งมาอุดหนุนเราเยอะ เราก็ยิ่งสนุกในการขาย ยิ่งทุ่มเททำงานมากขึ้นกว่าเดิมเข้าไปอีก”

ในช่วงที่แม่ราตรีเริ่มต้นขายลูกชิ้นใหม่ๆ เป็นช่วงที่แม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างเธอกำลังสร้างตัว แม่ค้าหญิงร่างท้วมมีลูกชายและลูกสาวอย่างละคน โดยเธอมักจะเอาลูกสาวนั่งรถพ่วงข้างไปขายลูกชิ้นด้วยทุกวัน ขณะที่ลูกชายจะปล่อยอยู่บ้านให้ยายเป็นผู้ดูแล ด้วยความที่ยังอยู่ในช่วงสร้างตัว ประกอบกับลูกค้าเริ่มติดใจในรสชาติของลูกชิ้นเห็ดหอม แม่ราตรีจึงทุ่มเทกับการขายลูกชิ้นอย่างมาก เธอจะทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว ตั้งแต่เตรียมลูกชิ้น เคี่ยวน้ำจิ้ม เตรียมอุปกรณ์ ออกขาย เก็บของ ฯลฯ โดยที่วันหนึ่งมีเวลานอนเพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น มิพักต้องพูดถึงในหน้าเทศกาลที่ตัวเลขในการพักผ่อนจะลดจำนวนลงเหลือเพียง 1-2 ชั่วโมงต่อวัน

“เราจะขายอยู่หน้าผับวอร์มอัพ ซึ่งเป็นสถานบันเทิง โดยจะเริ่มขายตั้งแต่ 5 ทุ่มไปจนถึงตี 3 แต่ก็จะมีบางวันที่ลากยาวไปถึงตี 5 ต้องยอมรับว่าลูกชิ้นเห็ดหอมของแม่ขายดีจริงๆ อร่อย ลูกค้าติดใจ แล้วก็กำไรดีกว่าของอย่างอื่นที่แม่เคยขายมา แล้วยิ่งช่วงนั้นกำลังสร้างตัวแม่ก็จะทุ่มเทมาก ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว เราเองก็ยังเด็ก ช่วยอะไรก็ช่วยได้ไม่มาก แถมช่วยแล้วก็ทำไม่ถูกใจแม่ แม่ก็เลยทำเอง ก็เป็นเพราะลูกชิ้นทอดของแม่นี่แหละที่เลี้ยงเรากับพี่ชายจนโต แล้วก็ส่งเราจนเรียนจบปริญญาตรี”

หวาน-ธัชนันท์ กิตตะวงค์ พยายามแนะนำแม่ของเธอให้หาผู้ช่วยแบบเป็นจริงเป็นจังเพื่อแบ่งเบาภาระในการทำงาน แต่ไม่ว่าจะแนะนำอย่างไรผู้เป็นแม่ก็ไม่มีท่าทีจะเห็นด้วยกับคำแนะนำของเธอ

“เราเห็นแม่เหนื่อยเลยแนะนำว่าควรจะหาคนมาช่วยงาน เพราะเราเองก็ติดเรียน ช่วยอะไรแม่ไม่ได้มาก แต่แม่ไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาคิดว่าจะจ้างคนอื่นให้เปลืองเงินทำไม เราทำเอง เราก็ได้กำไรเต็ม ๆ ไม่ต้องแบ่งคนอื่น ความคิดของเรากับแม่ก็เลยจะไม่เหมือนกัน”

ด้วยความคิดและมุมมองที่แตกต่างกัน วันหนึ่งเมื่อต้องมาขายลูกชิ้นกับแม่ หญิงสาววัย 29 จึงจัดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างโดยสิ้นเชิง


ความคิดของลูก

“ความจริงเราไม่ได้คิดว่าจะต้องมาทำธุรกิจขายลูกชิ้นทอดต่อจากแม่เลย เราอยากทำงานโฆษณาหรือไม่ก็อยู่ในวงการสื่อสารมวลชน พอเรียนจบคิดว่าจะไปทำงานที่กรุงเทพฯ หาประสบการณ์ก่อนสัก 2-3 ปี ก็บอกแม่ไว้อย่างนี้ แต่แม่เขามองว่ากิจการลูกชิ้นทอดมันคือมรดกสิ่งเดียวที่เขาทิ้งไว้ให้ เขาก็อยากให้เรามาช่วยทำช่วยสานต่อ แต่ตอนเรียนจบเรายังไม่ได้อยากทำ แล้วถ้าเราจะทำจริงๆ เราจะไม่ทำในรูปแบบที่แม่ทำอยู่แน่ๆ แต่จะทำในแบบที่เราคิด”

หวาน-ธัชนันท์ บอกเล่าถึงสิ่งที่ตั้งใจไว้หลังจากเรียนจบ เธอมีชีวิตที่เติบโตมาบนรถพ่วงข้างขายลูกชิ้นทอดของแม่ เรียกว่าเห็นเรื่องราวทุกสิ่งทุกอย่างของลูกชิ้นเห็ดหอมทอดของแม่ราตรี ดังนั้นหากจะบอกว่าเธอเป็นคนที่เห็นข้อดี-ข้อด้อยในธุรกิจของแม่ตัวเองก็คงไม่ผิดนัก

“เราโตมาในรถขายลูกชิ้นทอดเลย ตั้งแต่เป็นเด็กซ้อนท้ายจนขับเป็น เราก็จะเห็นปัญหามาตลอด ซึ่งเราว่าปัญหาแรกๆ เลยก็คือแม่ทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวมากเกินไป เราเคยบอกแม่ให้หาทีม หาคนช่วย แต่เขาก็จะบอกว่าการทำเอง ถ้าเราทำ 100 มันก็ได้ 100 ไม่ต้องแบ่งใคร แต่เราไม่ได้มองอย่างนั้น เรามองว่าถ้าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับเขาคนเดียว ถ้าเขาเป็นอะไรขึ้นมากิจการก็ต้องปิด ในความคิดของเราทุกอย่างคือมันคือต้นทุน คือราคาที่ต้องจ่ายทั้งนั้น ต้นทุนมันไม่ใช่แค่เงินที่เรานำไปซื้อวัตถุดิบ แต่การที่แม่ต้องอดหลับอดนอน นอนแค่ไม่กี่ชั่วโมงติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี นี่คือต้นทุนที่แม่มองไม่เห็น ไม่ได้คิดว่าเป็นสิ่งที่เสียไป

“ไม่ต้องนับไปถึงว่าแม่กับเราแทบจะไม่มีชีวิตด้านอื่นเลย อย่างเราตอนเด็ก ๆ จะไปเที่ยวเล่นที่ไหนก็ไม่ได้ไป อยากเล่นกับเพื่อนก็ไม่ได้เล่น คือขายของใครก็อยากขายดี อยากมีกำไรกันทั้งนั้น แต่มันก็มีวิธีจัดการที่ไม่จำเป็นต้องเหนื่อย หรือรบราฆ่าฟันกับงานขนาดนี้ก็ได้”

ก่อนจบปริญญาตรี หวานได้มีโอกาสไปฝึกงานกับบริษัทผลิตสื่อและภาพยนตร์โฆษณาชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำงานกันเป็นทีม ทุกคนในกองถ่ายมีหน้าที่ของตัวเองชัดเจน นั่นทำให้เธอเกิดความคิดในใจอยู่ลึกๆ ว่าหากวันหนึ่งเธอต้องบริหารงานอะไรก็แล้วแต่ การทำงานเป็นทีมจะเป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญ

“เราได้ความคิดเรื่องการบริหารงานเป็นทีมจากตอนที่ไปฝึกงานที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นยังไม่ได้คิดหรอกว่าต้องมารับช่วงกิจการต่อจากแม่ ยังคิดว่าจะหางานที่กรุงเทพฯ ทำหลังเรียนจบ แต่ปรากฏว่าหลังฝึกงานเสร็จ เรากลับมาบ้านแล้วเห็นแม่ผอมซูบลงไปมาก เหมือนว่าเขาไม่ได้หลับไม่ได้นอน เรียกว่าดูไม่ได้เลย ถ้าปล่อยไปอย่างนี้แม่ต้องแย่แน่ๆ ช่วงนั้นระหว่างรอรับปริญญาเราก็เลยลงมาช่วยเขาด้วยการออกไปขายด้วยกัน”

ในช่วงเวลาที่ออกไปขายลูกชิ้นด้วยกัน หวานยิ่งได้สัมผัสถึงปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเองโดยตรง ได้สัมผัสถึงความเหนื่อยล้าของตัวเอง เห็นถึงความสะอาดที่ไม่ได้มาตรฐาน การจัดเก็บอุปกรณ์ที่ไม่เป็นระเบียบ ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันเธอก็เห็นจุดแข็งของตัวสินค้าที่สามารถจะไปได้ไกลกว่านี้หากว่ามีการจัดการที่ดี

“พอออกไปขายเองกับแม่เรารู้สึกเหนื่อยมาก คิดว่าถ้าปล่อยให้ขายไปแบบนี้โดยไม่มีการจัดการมันไม่ไหว กลับมาเราเลยคิดแล้วก็จดไว้เลยว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง อะไรที่เราจะต้องทำต่อจากนี้ จากนั้นก็เอาสิ่งที่เราคิดไว้ไปบอกกับแม่ แต่ปรากฏว่าแม่ไม่เห็นด้วยเลยสักข้อ”

ในสายตาของแม่ราตรีในเวลานั้น หวานไม่ต่างอะไรกับคนที่มีแต่คำพูด เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยทำอะไรให้เห็น เป็นได้แค่เซียนที่ทำเป็นเก่งอยู่ข้างกระดาน

“ในความคิดแม่ เราเหมือนคนไม่มีเครดิต เรามีแต่คำแนะนำแต่ไม่ได้ทำให้เขาเห็น มันก็ไม่แปลกที่แม่จะไม่เห็นด้วย เพราะว่าแม่เขาทำมาแล้ว เขาถางทาง เขาเริ่มต้นมา แล้วเขาก็สำเร็จในแบบของเขา เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นว่าสิ่งที่เราคิดมันดีกว่าก็ต้องลงมาทำด้วยตัวเองเหมือนกัน เขาถึงจะเชื่อ”

ในที่สุดหลังจากแนะนำผู้เป็นแม่อยู่นาน หวานก็ขยับจากคนข้างกระดานลงมาเดินหมากด้วยตัวเอง

ลงมือทำ

หวานเข้ามาบริหารและเปลี่ยนแปลงธุรกิจลูกชิ้นเห็ดหอมของแม่ตัวเองเมื่อราว 2 ปีก่อน เธอยื่นคำขาดกับแม่ราตรีอย่างชัดเจนว่าเธอจะทำธุรกิจในแบบที่ตัวเองเชื่อและคิดเอาไว้

“เราบอกกับแม่ชัดเจนว่า ถ้าจะให้เราช่วย เราจะไม่ทำธุรกิจในแบบนี้ แต่จะทำในวิธีการแบบของเรา แรกๆ แม่เขาก็จะพยายามควบคุมทุกอย่าง แต่พอเวลาผ่านไปเขาก็ลองเปิดโอกาสและปล่อยให้เราได้ทำของเราดู”

หญิงสาววัย 29 เริ่มต้นจากการเปลี่ยนรถใหม่ ด้วยการทำหลังคาให้ดูดีและสวยงาม ขณะเดียวกันก็กำหนดให้มีการทำความสะอาดด้วยการล้างรถอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ส่วนอุปกรณ์อะไรที่ไม่ใช้ให้เอาออก คงเหลือแต่เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

“เมื่อก่อนตอนที่แม่ขาย อุปกรณ์ทุกอย่างจะต้องอยู่ที่เดิมแบบเดิม ห้ามเคลื่อนย้ายเด็ดขาด ถ้าไม่อยู่ที่เดิมนี่เป็นเรื่องใหญ่เลย เพราะเขาจะไม่คุ้น แล้วของบางอย่างที่ไม่ได้ใช้นี่ก็จะเต็มรถไปหมด ซึ่งของพวกนี้เวลาจับกับคราบน้ำมัน มันคือแหล่งเชื้อโรคทั้งนั้น ยิ่งถ้าผสมฝุ่นเข้าไปด้วยมันก็ทำให้รถดูไม่สะอาด เราก็เปลี่ยน ของอะไรที่ไม่ใช้เราเอาออก ให้รถมันดูโล่ง แล้วเมื่อกลับมาก็ต้องทำความสะอาดทุกวัน นอกจากนี้เราก็ทำโลโก้ใหม่ แล้วก็ใช้ชื่อแบรนด์ว่า เห็ดหอมลูกชิ้นทอดหน้าวอร์มอัพ’

ไม่ใช่แค่สร้างแบรนด์ขึ้นมา แต่ลูกสาวอย่างหวานยังขยายแบรนด์และกลุ่มลูกค้าออกไป โดยการสร้างทีมขึ้นมาใหม่ ซึ่งมันทำให้ปัจจุบันเธอสามารถขยายสาขาออกไปทั้งหมดถึง 4 สาขา รวมทั้งมีทีมสำหรับออกงานอีเว้นท์ต่างหากอีก 2 ทีม นี่ยังไม่นับรวมถึงสาขาที่กรุงเทพฯ ที่กำลังจะเปิดให้บริการอีกในอนาคต

“เราเริ่มจากการจ้างผู้ช่วยไม่กี่คนก่อน เราคิดว่าถ้าเรามีคนช่วย เราจะสามารถขยายเวลาการขายจากเดิมได้ จากเดิมที่เราขาย 5 ทุ่มถึงตี 3 ก็ขยับมาเริ่มตอน 1 ทุ่ม เพิ่มมาอีก 4 ชั่วโมง แล้วก็เอารายได้ที่ได้เพิ่มขึ้นจากที่ขาย 4 ชั่วโมงตรงนั้นมาจ้างคน พอมีรายได้มากขึ้นเราก็เริ่มสร้างทีม อบรม เทรนคน แล้วก็ค่อยๆ ขยายสาขา ตอนนี้เรามีด้วยกันทั้งหมด 4 สาขาคือสาขาดั้งเดิมที่หน้าวอร์มอัพเป็นรถพ่วงข้าง สาขาที่ซอยวัดอุโมงค์ อันนี้เราเช่าตึกทั้งหมด 3 คูหา โดยเอาพื้นที่ไว้สำหรับทำ Workshop อบรมทีมงาน แล้วก็เป็นที่สำหรับเก็บวัตถุดิบ ล้างอุปกรณ์ ฯลฯ สาขาที่ One Nimman ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คอีกแห่ง หนึ่งของเชียงใหม่ สาขานี้เราทำเป็นรถฟู้ดทรัค ส่วนสาขาที่ 4 เป็นสาขา Street Food ตรงหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“นอกจากนี้เรายังมีทีมสำหรับออกอีเว้นท์แยกต่างหากอีก 2 ทีม ซึ่งตอนนี้ก็มีงานทุกวันจนถึงปีหน้า รายได้ทั้งหมดก็มาจาก 6 ช่องทางนี้ และในอนาคตเรากำลังวางแผนขยายตลาดไปที่กรุงเทพฯ”

ภายในเวลา 2 ปีที่เข้ามาบริหารกิจการต่อจากแม่ หวานขยับขยายธุรกิจออกไปไกลกว่าเดิมมาก ปัจจุบันเธอมีทีมงานถึง 31 ชีวิต ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นนักศึกษาที่สถาบันเก่าที่แวะเวียนมาทำงานอยู่ไม่เคยขาด โดยแต่ละคนจะลงตารางงานไว้ล่วงหน้า ส่วนหวานก็มีหน้าที่จัดตารางงานของแต่ละคนให้เหมาะสมลงตัว

ทุกวันนี้แม่ราตรีไม่ต้องทำงานหนักเหมือนเดิมอีก ขณะที่หวานผู้เป็นลูกสาวก็มีหน้าที่ควบคุมคนกับระบบให้เดินไปด้วยกันอย่างสมดุล รวมทั้งวางแผนสำหรับอนาคตในวันข้างหน้า

เหนือสิ่งอื่นใดทั้งสองแม่ลูกต่างยอมรับและเข้าใจในกันและกัน

ต่างคน ต่างวัย แต่เข้าใจกัน

ลูกสาวอย่างหวานยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าหากไม่ได้ลงมาขายลูกชิ้นและบริหารงานด้วยตัวเอง เธอคงไม่มีวันเข้าใจผู้เป็นแม่

“ถ้าเราไม่ได้ลงมาดูแลทุกอย่างด้วยตัวเอง เราก็คงไม่เข้าใจว่าทำไมแม่ถึงต้องทำอะไรเองคนเดียว เพราะชีวิตเขาในช่วงเวลานั้นมันไม่มีใครที่ไว้ใจได้ เราเองก็ยังเด็ก ใช้ให้ทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ ดังนั้นก็ไม่แปลกที่แม่จะเคยชินกับการเชื่อมั่นในตัวเอง

“พอเราลงมาทำเองเราเข้าใจความเหนื่อยของแม่เลย เข้าใจเลยว่าทำไมแม่ถึงคิดต่อยอดเป็นธุรกิจใหญ่โตเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่ได้ ถ้าเรายืนอยู่จุดเดียวกับแม่ในตอนนั้น เราก็ทำไม่ได้เหมือนกัน อย่าลืมว่าชีวิตแม่ในเวลานั้นมันกดดันมาก ไหนจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องหาเลี้ยงลูกอีก 2 คน ค่าเทอมก็ไม่ใช่ถูกๆ แล้วยังมีรายจ่ายอีกไม่รู้เท่าไหร่ ไหนจะต้องรักษาลูกค้า ไหนจะต้องดูแลลูกตัวเอง ชีวิตมันอยู่บนความกดดันตลอด ใครจะไปคิดอะไรสร้างสรรค์อะไรได้ อย่างเรา เราคิดแค่ว่าทำอย่างไรที่จะไม่ต้องทำงานหนัก แต่เราไม่ต้องแบกใครไว้บนบ่าเหมือนแม่

“เมื่อมองย้อนกลับไปเราเลยเข้าใจเลยว่าทำไมแม่ถึงรักลูกค้า เพราะรอยยิ้มจากลูกค้าเป็นความสุขเพียงอย่างเดียวในชีวิตที่แม่พอจะหาได้ ได้พูด ได้คุย ได้เห็นลูกค้ากินของดีๆ ที่แม่ทำ ก็ทำให้แม่ลืมความเครียด ความกดดันในชีวิต อีกอย่างเราว่ามันเป็นเรื่องของวันเวลาด้วย ในตอนที่แม่เริ่มต้น บางทีเรื่องของการสร้างแบรนด์อย่างที่เราทำตอนนี้ อาจไม่สำคัญเท่ากับการเข้าไปนั่งในใจลูกค้าให้ได้ก่อน ซึ่งเมื่อเรามีลูกค้าประจำแล้ว ก็ค่อยใช้ความคิดของคนรุ่นใหม่อย่างเราเข้าไปต่อยอด”

สำหรับแม่ราตรีเมื่อได้เห็นในสิ่งที่ลูกสาวต่อยอดกิจการลูกชิ้นเห็ดหอมของเธอออกไป สิ่งหนึ่งที่แม่วัย 64 ปีเข้าใจมากขึ้น ก็คือการเปิดใจในการรับฟังความคิดและให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้ลงมือทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ

“พูดจริงๆ เลย ตอนแรกลูกมาบอกสิ่งที่เขาคิด เรานี่ต่อต้านสุดฤทธิ์เลย แต่พอได้เห็นสิ่งที่เขาทำวันนี้ บอกเลยว่าเราประทับใจมาก แล้วก็รู้สึกได้เลยว่าการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงฝีมือก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน” แม่ราตรีทิ้งท้ายก่อนยิ้มอย่างมีความสุขเช่นเดียวกับลูกสาวของเธอ

สำหรับแม่-ลูกทั้งสองคนคงไม่มีสิ่งใดจะสวยงามไปกว่าความเข้าใจกัน 

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลงสักหน่อย ค่อยๆ มองเห็นความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ