ตอบคำถาม 7 ข้อ เกี่ยวกับ ‘วัคซีนโควิด-19’ กับ ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร

วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกได้เดินทางมาถึงบ้านเราแล้ว เพื่อนๆ ชาวมนุษย์ต่างวัย โดยเฉพาะบ้านไหนที่มี ปู่ ย่า ตา ยาย รู้เรื่องวัคซีนมากแค่ไหน?

เราเชื่อว่าหลายคนยังคงมีคำถามและข้อกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 อยู่ไม่น้อย

มนุษย์ต่างวัยจึงอยากชวนมาถาม-ตอบ เกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด-19” กับ ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ไขทุกข้อสงสัยที่เราอยากรู้ และคลายความกังวลใจที่ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดดี รวมถึงคำถามที่ว่าแล้วหลังจากนี้เราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

มนุษย์ต่างวัย : วัคซีนโควิด-19 ทำหน้าที่อย่างไรและแตกต่างจากวัคซีนทั่วไปหรือไม่?

นพ.อุดม คชินทร : “วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค ไม่ได้มีความแตกต่างจากวัคซีนทั่วไป เช่น วัคซีนโปลิโอ หรือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งโดยปกติในการผลิตวัคซีนขึ้นมาใช้ในทางการแพทย์จะต้องมีการจัดการทดลองตามกระบวนการที่ทางแพทย์กำหนดไว้คือ เมื่อฉีดวัคซีนไปในคนแล้วจะต้องมีการติดตามผลต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี เพื่อดูผลลัพธ์ เพียงแต่วัคซีนโควิด-19 ได้มีการอนุญาตให้นำออกมาใช้แบบฉุกเฉิน หมายความว่า ไม่ต้องรอติดตามผล 1 ปีก็สามารถนำมาใช้ได้เลยทันที เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคค่อนข้างรุนแรง มีคนตายเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถรอได้ กรณีแบบนี้เราจะฉีดไปก่อนแล้วทำการเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ จนครบ 1 ปี จึงจะนำมาสรุปผลอีกทีว่ามันได้ผลจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นตอนนี้ที่เราเห็นว่าในหลายๆ ประเทศมีการอนุญาตให้ใช้วัคซีนได้ เป็นการอนุญาตแบบฉุกเฉิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์”

มนุษย์ต่างวัย : ผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นอย่างไร?

นพ.อุดม คชินทร : “อย่างที่เราเห็นกันอยู่ตอนนี้ว่า วัคซีนที่ผลิตออกมาทั้งหมด ทุกยี่ห้อ ยังไม่ยืนยันว่าป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ เพราะว่าเราต้องรอการติดตามผลครบ 1 ปี แต่ตอนนี้เรามีผลเบื้องต้นแล้วว่า ฤทธิ์ข้างเคียงของวัคซีนมีไม่เยอะ ฉีดไป 1 ล้านคน จะพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 11 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่รับได้ในทางการแพทย์ ผมยกตัวอย่างเทียบกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ธรรมดาอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ 1.1 ต่อ 1 ล้านคน แม้จะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 จะมีมากกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่เกือบ 10 เท่า แต่ถ้าเทียบกับภาพใหญ่ผลจากการฉีดวัคซีนตัวนี้จะช่วยลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตของคนได้มาก ซึ่งทุกอย่างได้ผ่านกระบวนการทางการแพทย์ ผ่านการกลั่นกรอง ทบทวน และผ่านการยืนยันโดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญมาหมดแล้วว่าสามารถนำมาใช้ได้ อยากให้ประชาชนเข้าใจนะครับ ไม่ต้องกังวล”

มนุษย์ต่างวัย : ในเมื่อยังต้องสวมหน้ากากอนามัย แม้ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม แบบนี้เรายังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 อยู่หรือไม่?

นพ.อุดม คชินทร : “เราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนครับ แม้ว่าฉีดวัคซีนแล้วแต่โอกาสที่คุณจะติดเชื้อยังมี แต่ผมจะบอกว่าวัคซีนที่ฉีดไปทำให้โอกาสที่คุณจะป่วยจากการติดเชื้อน้อยลง หรือถ้าติดเชื้อโควิด-19 แล้วอาการจะไม่รุนแรง โอกาสเสียชีวิตก็จะน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ตรงนี้เรามีข้อมูลสรุปออกมาแล้ว”


มนุษย์ต่างวัย : ฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไหนปลอดภัยที่สุด?

นพ.อุดม คชินทร : “ตอนนี้วัคซีนทุกๆ ตัวมีประสิทธิภาพ มีผลยอมรับได้ และมีผลข้างเคียงไม่ได้แตกต่างกัน วัคซีนของ Pfizer and Moderna ได้ผล 95% ของ AstraZeneca ก็ประมาณ 90% ของ Sinovac, Sinopharm อันนี้ได้ผลประมาณ 70% แต่ในทางการแพทย์มองว่าประสิทธิภาพเท่ากัน เพราะเราถือว่ามาตรฐานของวัคซีนอยู่ที่ 50% ถ้าเกิน 50% ถือว่าใช้ได้ ข้อมูลนี้ประเทศไทยไม่ได้ตั้งมาตรฐานขึ้นมาเองนะครับ องค์การอนามัยโลกเป็นคนกำหนดขึ้นมา แล้ววัคซีนไข้หวัดที่คุณฉีดกันทุกปีได้ผล 50% เองนะครับ เหมือนยาที่เราใช้ ยาเบาหวาน ยาความดัน รักษาเหมือนกันแต่มียาเป็น 10 บริษัทเลย องค์การอาหารและยาของเราหรือของอเมริกา และของทั่วโลกเขาจะมีองค์การอาหารและยาที่จดทะเบียนแล้วดูว่า คุณต้องได้ประสิทธิภาพเท่านี้ก่อนนะ เราถึงจะรับรอง แต่เราจะไม่มาดูรายละเอียดว่าตัวนี้ดีกว่าตัวนี้ เพราะเราถือว่าถ้าประสิทธิภาพเกิน 50% เป็นที่ยอมรับได้ มีประสิทธิภาพเท่ากัน”


มนุษย์ต่างวัย : คนกลุ่มไหนควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อน?

นพ.อุดม คชินทร : “ถ้าเราไปดูในข้อมูลทั่วโลกจะเห็นเหมือนกันว่า ประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนแล้ว เขาจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะบุคลากรทางการแพทย์เป็นคนที่ต้องเจอกับคนที่ติดเชื้อ โอกาสที่เขาจะติดเชื้อจึงสูงมาก ถ้าปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อกันหมดใครจะดูแลคนไข้ เพราะฉะนั้นเราต้องกันวัคซีนให้กับคนกลุ่มนี้ไว้ก่อนเป็นมาตรฐานทั่วโลก อีกกลุ่มที่จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อนคือกลุ่มผู้สูงวัย หรือกลุ่มคนที่มีโรคร่วม เช่น เป็นเบาหวาน เป็นความดัน เป็นมะเร็ง เป็นต้น เพราะคน 2 กลุ่มนี้ ถ้าติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 หรือว่าเชื้ออื่นๆ เขาจะมีอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนวัยหนุ่มสาว ถามว่าคน 2 กลุ่มนี้ ถ้าฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วจะได้ประโยชน์ไหม ได้ประโยชน์แน่นอน

“ถ้าถามว่าผู้สูงวัยคนไหนที่ควรจะได้รับวัคซีนก่อน เราก็จะมาดูว่าผู้สูงวัยคนไหนมีความเสี่ยงมาก ทั้งความเสี่ยงส่วนตัว และความเสี่ยงในพื้นที่ ยกตัวอย่าง เช่น ผู้สูงวัยที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาครก็จะมีความเสี่ยงสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ แน่นอน เราก็จะฉีดให้ก่อน เพราะวัคซีนล็อตแรกเรามีจำกัด ส่วนวัคซีนล็อตใหญ่ 35 ล้านโดสที่จะมาประมาณปลายปีนี้เราก็จะค่อยๆ ทยอยฉีดให้ประชาชนตามเป้าหมายคือ ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศไทย ให้ใกล้เคียงกับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าอย่างน้อยประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะต้องมีภูมิต้านทาน 60% จึงจะป้องกันการระบาดได้”

มนุษย์ต่างวัย : คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาวและเป็นกลุ่มคนทำงาน ทำไมจึงไม่ฉีดให้คนกลุ่มนี้ก่อน?

นพ.อุดม คชินทร : “ที่เราไม่เลือกฉีดให้คนกลุ่มนี้ก่อนเพราะว่า วัคซีนที่ทดลองอยู่ในปัจจุบัน เรายังไม่มีหลักฐานว่าฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วจะป้องกันการแพร่เชื้อได้ และคนหนุ่มสาวเมื่อติดเชื้อส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง บางคนไม่มีอาการเลย คนที่มีอาการเป็นคนส่วนน้อย จะเจอสัก 15% เนื่องจากคนหนุ่มสาว เป็นคนที่แข็งแรงอยู่แล้วแม้มีอาการก็ไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ก็หายได้เองด้วยนะครับ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่เลือกคนกลุ่มนี้ก่อน แม้จะเป็นคนกลุ่มใหญ่”

มนุษย์ต่างวัย : วัคซีนโควิด-19 คือความหวังของคนไทยจริงหรือ?

นพ.อุดม คชินทร : “ผมคิดว่าเรามีความหวังแน่นอน แต่ถึงแม้ว่าประเทศเราจะติดเชื้อน้อยลงเพราะเรามีวัคซีนป้องกัน แต่ผมยืนยันว่าไม่มีทางที่จะป้องกันได้ 100% เพราะโรคนี้มันเป็นโรคระบาดที่คนทั้งโลกเผชิญ ถ้าจะมีการติดเชื้อน้อยลง ทั้งโลกต้องมีภูมิต้านทานดีเหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้มันต้องใช้เวลา เพราะวัคซีนกว่าจะฉีดกว่าจะผลิตออกมาแล้วสามารถนำไปใช้ได้กับคนครึ่งโลกคือประมาณ 3,500 ล้านคน และต้องฉีด 2 ครั้งคิดเป็น 7 พันล้านโดส ซึ่งผมเชื่อว่าอย่างน้อยใช้เวลาประมาณ 2 ปี สถานการณ์จึงจะดีขึ้น

“แต่สิ่งสำคัญที่ผมอยากจะพูดตรงนี้ก็คือว่า ไม่ใช่ต้องรอวัคซีนอย่างเดียว แต่การทำตามมาตรการทางสาธารณสุขก็เป็นสิ่งที่ผมอยากจะย้ำกับพวกเราทุกคนว่า นี่คือสิ่งที่คุณทำได้เลยทันที แล้วมันป้องกันได้จริงๆ การสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ ใช้แอลกอฮอล์เจล การเว้นระยะห่าง เป็นสิ่งที่เราต้องทำเพื่อระวังโรคนี้ เพราะว่าเราไม่มีทางรู้ว่าเราจะติดโรคนี้เมื่อไร เราอาจเจอแจ็กพอตพลาดไปติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวก็ได้ เพราะฉะนั้นมาตราการทางสาธารณสุขต้องเข้มข้น การ์ดของเราต้องไม่ตก มีวัคซีนที่สร้างขึ้นจากตัวเราเองไว้จะดีที่สุด ตราบใดคนทั้งโลกยังได้รับการฉีดวัคซีนไม่ครบ”

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ