‘ภัทราพร สังข์พวงทอง’ การดูแลพ่อแม่ในวัยชรา เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

ในวัย 50 ปี ต่อ-ภัทราพร สังข์พวงทอง ใช้ชีวิตได้อย่างกลมกล่อมและพอดีมากขึ้นกว่าสมัยตอนเป็นสาวแรกรุ่น อดีตโปรดิวเซอร์และพิธีกรรายการ ‘กบนอกกะลา’ ไม่ได้ เทน้ำหนักของชีวิตไปในด้านใดด้านหนึ่งมากดังเช่นแต่ก่อน ทุกวันนี้ชีวิตของเธอไม่มีอะไรมากไปกว่าการตื่นเช้าออกมาวิ่ง แวะคุยกับผู้คนระหว่างทาง เลี้ยงแมว ดื่มกาแฟ ทำงานหาเลี้ยงชีพ และเข้านอน ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ของลูกอย่างที่ควรจะทำด้วยการพาพ่อไปหาหมอตามตารางนัดหมายรวมทั้งดูแลในเรื่องอื่นๆ อย่างใกล้ชิด

ภัทราพรบอกว่าการดูแลพ่อซึ่งอยู่ในวัยชราไม่ใช่เรื่องพิเศษ แปลก หรือน่าชื่นชมอะไร นี่คือเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็น่าจะทำกัน

คุณล่ะทำเรื่องธรรมดาๆ ที่ว่านี้หรือยัง


บทเรียนจากแม่

“เรื่องที่เราทำอยู่เป็นเรื่องธรรมดามากเลยนะ ไม่ใช่เรื่องวิเศษอะไร คนอื่นเขาก็ทำ เขาอาจจะทำได้ดียิ่งกว่าเราเสียอีก การดูแลคนที่ให้กำเนิดเรามาในตอนที่เขาเข้าสู่วัยชรา ไม่แข็งแรง หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลงแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย

“มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ใครที่ไม่ยอมทำนั่นต่างหากถึงจะเรียกว่าความแปลกประหลาด”

ในยุคที่ความแตกต่างของวัยเริ่มกลายเป็นช่องว่างกว้างใหญ่ของคนในประเทศ นาฬิกาชีวิตของภัทราพร สังข์พวงทอง กำลังหมุนวนเข้าสู่ปีที่ 50 พอดิบพอดี เมื่อชีวิตเหยียบเข้าสู่วัยกลางคน นั่นหมายความว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ ย่อมหมุนชีวิตเข้าไปในโลกของวัยชรา ภัทราพรก็เป็นเช่นเดียวกับคนทั่วไป พ่อของเธออายุได้ 85 ปี และเป็น 85 ปี ที่พกพาโรคต่างๆ มาเป็นเพื่อนข้างกาย

“พ่อมีโรคประจำตัวอยู่ที่แน่ๆ เลยก็คือความดันโลหิตสูง มีอาการของเกาต์อยู่บ้างเล็กน้อย แต่ที่หนักเลยคือโรคไตวายเรื้อรัง ไตของพ่อไม่สามารถทำงานเองได้ตามปกติ ทำให้พ่อต้องทำการฟอกไตสับดาห์ละสองครั้ง”

ถ้าการคงอยู่ของพ่อและแม่หมายถึงความครบถ้วนสมบูรณ์พร้อม ชีวิตของภัทราพรและพี่น้องก็คงมีความสมบูรณ์เหลืออยู่แค่ครึ่งหนึ่ง เนื่องจากผู้เป็นแม่ได้จากไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

“แม่ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี อยู่นานหลายปี ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด ในช่วงที่หลายปีที่แม่ป่วยอยู่นั้น เราแทบไม่เคยอยู่บ้านเลย เราดูแลเขาน้อยมาก คนที่ดูแลหลักๆ เลยคือน้องชาย ส่วนเราทำงานและส่งเงินไป กว่าจะได้มาดูแลเขาใกล้ชิดจริงๆ ก็ตอน 6 เดือนสุดท้ายในชีวิตของเขาแล้ว

“เรายอมรับว่าเราประมาท ไม่รู้สึกรู้สา รวมทั้งไม่ได้มีความสำนึกว่าควรจะต้องทำอะไรให้เขามากกว่านี้ ตอนนั้นเราคิดว่าแม่ยังอายุแค่ 62 เอง คงยังไม่เป็นอะไรมากหรอก เวลาวันหยุดแทนที่จะกลับไปหาเขา เราก็ไปเที่ยว หรือบางทีกลับไปก็ไม่ได้ไปช่วย แถมบางทียังให้เขาทำกับข้าวให้กินอีก ขณะที่ตัวแม่เอง เขาก็จะรู้สึกไม่อยากเป็นภาระ เขาก็จะไม่แสดงออกว่าเขาไม่ค่อยสบาย กระทั่งช่วงสุดท้าย เราถึงได้ดูแลเขาซึ่งจริงๆ ถ้าเราใส่ใจ เราก็จะทำอะไรให้เขาได้มากกว่านี้”

ในช่วง 6 เดือนสุดท้ายในชีวิตของแม่ ภัทราพรเดินทางวนเวียนไปมาอยู่แค่ 3 ที่ คือบ้าน โรงพยาบาล และออฟฟิศ อย่างไรก็ตามแม้จะพยายามทำหน้าที่ลูกให้ดีที่สุดแต่สุดท้ายแม่ของเธอก็จากไปอยู่ดี

“สุดท้ายเราตัดสินใจไม่ยื้อนะ เราอยากให้เขาพ้น มากกว่าที่จะเจ็บปวด ตอนที่แม่จากไปเราไม่ได้ฟูมฟาย แต่รู้สึกว่าชีวิตได้บทเรียน เราอย่าคิดว่าเขายังแข็งแรง ไม่เป็นอะไร แต่ต้องคิดว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เวลาผ่านไป เขายิ่งมีแต่จะแข็งแรงน้อยลงตามวัยของเขา เพราะฉะนั้นเราควรจะต้องใส่ใจเขาให้มากขึ้น”

ภัทราพรไม่ใช่คนที่มานั่งจับเจ่ากับเรื่องในอดีต เมื่อได้บทเรียนเธอไม่ย้อนกลับไปเจ็บปวดกับมัน แต่เลือกที่จะมองไปข้างหน้าและทำช่วงเวลาที่เหลืออยู่ให้ดี

“หลังจากแม่จากไป เราก็กลับบ้านบ่อยขึ้น รวมทั้งพยายามบอกน้องๆ และคนรู้จักให้กลับบ้านไปหาพ่อ-แม่ สำหรับเราอะไรที่พลาดหรือผ่านไปแล้ว ก็ให้ผ่านไป เรามองไปข้างหน้า พ่อเราเองก็ยังอยู่ ในเมื่อที่ผ่านมาเราให้เวลากับแม่น้อยไป ก็ตั้งใจว่าจะใช้เวลากับพ่อให้มากขึ้น”

แนวคิดของภัทราพรไม่มีอะไรซับซ้อน เมื่อทำโจทย์ข้อเก่าผิดพลาด วิธีแก้ไขของเธอก็แค่ทำโจทย์ข้อใหม่

ให้ถูกต้องและดีกว่าเดิม

พ่อ

หลังการจากไปของแม่ ภัทราพรก็ใช้เวลาใส่ใจดูแลพ่อมากขึ้น

“อย่างที่บอกว่าพ่อเราเป็นหลายโรค ก็ขึ้นอยู่กับว่าหมอแต่ละโรคเขาจะนัดตรวจเมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ ที่ต้องไปเป็นประจำ ก็คือการไปฟอกไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในวันพุธกับอาทิตย์ โดยทุกวันพุธจะเป็นหน้าที่ของเราในการพาพ่อไปโรงพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่าตารางในชีวิตของเราก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร แต่เราก็มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนดูแลพ่อแม่ทุกคนต้องเจอ อยู่ที่ใครจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นยังไง”

ในเมื่อการดูแลพ่อผู้สูงวัยคือหน้าที่อันสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิต ภัทราพรจึงต้องจัดสรรเวลาให้รองรับ เพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลพ่ออย่างเต็มที่

“เมื่อเราคิดว่าจะดูแลพ่อให้ดี เราก็มาจัดการแบ่งหน้าที่กันกับพี่สาวและน้องชาย โดยที่พี่สาวเขาเป็นข้าราชการ เขาก็จะดูแลในส่วนของค่ารักษาพยาบาล เพราะเขาสามารถเบิกได้ แล้วก็จะพาพ่อไปฟอกไตในวันอาทิตย์เนื่องจากเป็นวันหยุดของเขา ส่วนน้องชายจะมีหน้าที่ในการดูแลพ่อในเรื่องส่วนตัว เนื่องจากเขาอยู่ด้วยกัน แล้วพ่อก็ไม่ยอมที่จะไปอยู่บ้านหลังอื่น นอกจากบ้านหลังเดิมที่เขาอยู่กับน้องชายในตอนนี้ เพราะเป็นบ้านที่เขาอยู่มานาน หากพ่อเป็นอะไรกะทันหันขึ้นมา น้องชายก็จะเป็นคนแรกที่ดูแลและจัดการในเบื้องต้น ส่วนเราซึ่งปัจจุบันทำงานอิสระก็จะมีหน้าที่พาพ่อไปฟอกไตในวันพุธ ซึ่งคนอื่นเขาไม่สามารถพาไปได้ ส่วนค่าใช้จ่ายที่เบิกไม่ได้หรือเกินกว่านั้นเราจะเป็นคนจัดการ”

การเตรียมตัวในการดูแลพ่อซึ่งเป็นผู้ป่วยสูงวัยสำหรับภัทราพร ไม่มีอะไรมากไปกว่าเอาตารางเวลาและภารกิจชีวิตของทุกคนในครอบครัวมาคุยกัน เพื่อหาข้อสรุปที่ดีและเหมาะสมที่สุด ซึ่งหากใครติดปัญหาหรือมีอุปสรรคในสิ่งใด ก็ให้ลองไปจัดการหาทางออกเพื่อจะได้ดูแลพ่อให้ได้

“ในช่วงแรกที่พ่อป่วยและต้องฟอกไต เรายังทำงานประจำ เมื่อได้ข้อสรุปว่าพ่อต้องฟอกไตทุกวันพุธกับวันอาทิตย์ ซึ่งเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากการฟอกไตมันมีระยะห่างในแต่ละครั้งของมันอยู่ ซึ่งวันอาทิตย์พี่สาวเราจัดการได้ เมื่อสรุปว่าพ่อต้องฟอกไตในวันพุธเราก็เลยแก้ปัญหาด้วยการนำเรื่องไปบอกกับทางบริษัทว่าในวันพุธช่วงเช้า เราต้องพาพ่อไปฟอกไต ซึ่งก็โชคดีทางบริษัทเข้าใจ และยอมผ่อนปรนให้ ปัญหาที่มีอยู่ก็เลยผ่านพ้นไปได้”

ว่ากันว่าทุกอย่างในโลกใบนี้ มีความพอดีในแบบของมันอยู่ สัมพันธภาพของมนุษย์ก็เช่นกัน ไม่ว่าพ่อกับลูกสาว สามีกับภรรยา เจ้านายกับลูกน้อง เพื่อนกับเพื่อน ฯลฯ ทุกสัมพันธภาพล้วนมีระยะห่างที่เหมาะสมเป็นของตัวเอง ในการดูแลผู้เป็นพ่อภัทราพรเองก็ได้ค้นพบความจริงในข้อนี้ การดูแลอย่างใกล้ชิดเกินไป เป็นห่วงเกินไป หรือเป็นระเบียบเกินไป บางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องดี แต่การดูแลแบบมีระยะห่างอย่างพอดี น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

“พ่อเราเป็นคนที่อัตตาหิ อัตตโนนาโถมาก เวลามีอะไรเขาก็จะพึ่งตัวเองก่อน เรื่องยา เรื่องตารางนัด เขาจะจัดการของเขาเอง ซึ่งบางทีเราที่เป็นลูกไม่เข้าใจ พยายามจะไปช่วยด้วยการซื้อกล่องยามาแยกให้ในแบบของเรา แต่มันกลายเป็นว่าเขาไม่ถนัด มันจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย คือคนแก่เขาจะเคยชินกับอะไรแบบเดิม ๆ ของเขา ถ้าเราไปเปลี่ยนแปลง เขาจะสับสน ในบางเรื่องที่เขาจัดการเองได้ เราก็เลยต้องดูอยู่ห่างๆ ดูเพื่อให้รู้ แล้วช่วยเขาจัดการในบางเรื่องที่เขาช่วยตัวเองไม่ได้ หรือต้องการความช่วยเหลือจริงๆ

“ที่สำคัญเลยก็คือเราต้องสังเกตและอ่านสัญญาณเขาให้ออก ว่าสิ่งที่เขาสื่อสารออกมามันเป็นจริงตามนั้นหรือเปล่า เพราะบางทีเขาจะมีความรู้สึกว่าไม่อยากให้ตัวเองเป็นภาระของลูกหลาน อยากให้เราไปทำงาน เขาก็จะบอกว่าเขาแข็งแรงดี หรือบางทีถ้าเขาเป็นอะไรมา เขาก็จะไม่ค่อยบอกเรา

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง เราสังเกตเห็นแผลที่หัวเข่าของเขาซึ่งพอเราไปถาม เขาก็จะปิดบัง เพราะเราเคยห้ามไม่ให้ขี่จักรยาน สุดท้ายพอเขาล้มเป็นแผลมา เขาก็จะยิ่งไม่บอกเรา กลายเป็นว่าบางอย่างเรายิ่งไปเข้มงวด เราจะไม่รู้ สุดท้ายเพื่อที่จะได้ดูแลเขาได้ง่ายขึ้น เราก็บอกให้เขาพกโทรศัพท์และบัตรประชาชนไปด้วยเวลาที่ออกไปข้างนอก เผื่อเวลามีอะไรเกิดขึ้นจะได้ติดต่อได้ คือเมื่อห้ามไม่สำเร็จ ก็ต้องหาวิธีรับมือแบบอื่น ที่สุดแล้วเราต้องดูธรรมชาติในตัวเขา แล้วก็หาจุดที่มันพอดีระหว่างเขากับเราในการที่จะอยู่ด้วยกัน”

ไม่ใช่เพียงแค่เตรียมตัวรับมือในการดูแลพ่อซึ่งเป็นผู้สูงวัย และหาจุดที่พอดีระหว่างกัน หากแต่ภัทราพรยังมองถึงความเป็นจริงในมิติด้านอื่นด้วย

การวางแผนจัดสรรเรื่องเวลา รวมทั้งความเอาใจใส่และเข้าใจถึงธรรมชาติของบุพการีนั้นก็นับเป็นเรื่องดี หากแต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน และหากจัดการมันได้ไม่ดีก็อาจนำมาซึ่งปัญหาที่หนักหนาสาหัสของครอบครัวได้

เรื่องที่ว่า คือการจัดการในเรื่องเงิน


การจัดการเรื่องเงิน

ในวัย 50 ปี ของภัทราพร สังข์พวงทอง ไม่ใช่ผู้หญิงโลกสวย หากแต่เป็นคนที่มองโลกตามความเป็นจริง และความจริงข้อหนึ่งที่เธอสัมผัสได้ก็คือ แทบทุกอย่างในชีวิตทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินทั้งนั้น ซึ่งก็รวมไปถึงความเจ็บป่วยของพ่อเธอด้วย

“ต่อให้เรามีสิทธิข้าราชการจากพี่สาว สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แต่เงินก็สำคัญอยู่ดี ทุกอย่างในสมัยนี้มีเรื่องให้ต้องจ่ายเงินทั้งนั้น เปิดประตูออกจากบ้านขับรถพาพ่อไปโรงพยาบาลก็ใช้เงินเติมน้ำมัน พ่อกินข้าวก็ต้องใช้เงินซื้อ หรือแม้แต่จอดรถก็ยังต้องจ่ายเงินค่าที่จอดรถเลย แล้วไหนจะมีค่ารักษาพยาบาลที่เบิกไม่ได้อีก หรือถ้าวันหนึ่งพ่อเกิดเป็นอะไรขึ้นมาอีก มันก็ต้องมีค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้นเรื่องเงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องเตรียมการและจัดการให้ดี”

ในสมัยยังสาว ภัทราพรเคยอยู่ในภาวะของคนตกงาน อย่าว่าแต่จะนึกถึงการมีเงินเก็บเงินออม หรืออ้าแขนดูแลใคร เอาแค่เลี้ยงดูตัวเองให้ผ่านไปแต่ละเดือนยังลำบาก ด้วยเหตุนี้เธอจึงรับรู้ได้ทันทีว่าเงินเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องดูแลพ่อแม่ในวัยชรา

“บอกได้เลยว่าถ้าไม่มีเงิน หรือไม่จัดการเรื่องเงินให้ดีนี่มันคือหายนะเลยนะ ถ้าเตรียมการได้ต้องเตรียมการแต่เนิ่นๆ เลย ไม่ใช่ว่าพ่อป่วยหรือเกิดอะไรขึ้นแล้วค่อยมาจัดการ คือการออมเงินมันไม่ใช่เรื่องพิเศษนะ แต่ควรทำให้เป็นเรื่องปกติ หากเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้นก็จะได้ไม่เดือดร้อน หรืออย่างน้อยก็จะได้ผ่อนหนักเป็นเบา”

ทุกวันนี้เมื่อได้เงินจากการทำงานมาไม่ว่าจะมากหรือน้อย ภัทราพรจะแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิต ส่วนที่สองสำหรับผ่อนชำระหนี้สินกับทางธนาคาร ขณะส่วนที่สามจะเป็นเงินเก็บออมสำหรับเอาไว้ดูแลพ่อแม่ และเผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม แม้จะตระเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อม แต่ภัทราพรกลับบอกว่าเธอไม่ได้ทุ่มเทหรือให้ความสำคัญไปกับการดูแลพ่อทั้งหมด จนชีวิตไม่เหลือพื้นที่แห่งความสุขให้กับตัวเองเลย

ภัทราพรมีความความคิดว่าการดูแลบุพการีและการดูแลตัวเองให้ดี คือสองสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป

มันจะมีประโยชน์อะไรหากทำเพื่อพ่อแม่แต่กลับดูแลตัวเองไม่เป็น

อย่าลืมดูแลตัวเอง

ทุกครั้งที่พาพ่อไปฟอกไตที่โรงพยาบาล สิ่งที่หญิงสาววัยกลางคนอย่างภัทราพรได้เห็นก็คือความแก่ชราและความเจ็บป่วยของชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เธอตระหนักได้ว่าชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ และหากไม่ดูแลตัวเองให้ดีก็ยากนักที่จะดูแลคนอื่นได้

“ถ้าเราดูแลตัวเองไม่ได้ มันก็ยากที่จะไปดูแลคนอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลตัวเองให้แข็งแรง เพื่อที่เราจะได้ดูแลพ่อได้ แล้วอีกอย่างเรามองว่าถ้าเทียบกันแล้วพ่อยังดีกว่าเรา พ่อเราป่วย เขายังมีเรามีพี่สาว มีน้องชายคอยดูแล เขายังสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แต่ถ้าเราป่วยหรือเป็นอะไรขึ้นมา เราต้องดูแลตัวเองอย่างเดียว แถมเบิกค่ารักษาพยาบาลแบบพ่อไม่ได้อีกต่างหาก เมื่อดูแล้วเราไม่มีทางอื่นเลยนอกจากต้องดูแลตัวเองให้ดี”

ภัทราพรจะออกวิ่งทุกเข้าอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง แน่นอนเมื่อเทียบกับพี่ๆ น้องๆ ที่วิ่งด้วยกัน สถิติของเธอไม่ได้สวยงามหรือรวดเร็วอะไร ทว่าสิ่งที่เธอมีเหนือนักวิ่งคนอื่นก็คือระเบียบวินัยและความสม่ำเสมอ

ขณะที่ด้านความสุขทางใจ เธอก็เลี้ยงดูและให้การอุปการะหมา-แมวจร ซึ่งก็ช่วยให้จิตใจสดใสเบิกบาน พร้อมกับบอกเคล็ดลับว่าหากมีความสุขอะไรที่อยู่ในระยะใกล้ๆ ให้ตรงเข้าไปไข่วคว้าไว้เลย ไม่ต้องรีรอ

“ทุกวันนี้เราไม่รอสุขใหญ่ๆ แต่จะเน้นไปที่การมีความสุขเล็กๆ มากกว่า อะไรที่อยู่ตรงหน้าแล้วมีความสุข ถ้ามันไม่เดือดร้อนใคร เราทำทันที คุยกับคน เลี้ยงแมว กินกาแฟ หรืออยากทานอะไรอร่อยๆ บางมื้อ เราก็ทำเพื่อให้ชีวิตมันมีความสุข”

ว่ากันว่าความสุขคือศิลปะในการใช้ชีวิตที่มนุษย์บางคนก็ค้นหามันไม่ค่อยพบ สำหรับหญิงวัยครึ่งศตวรรษอย่างภัทราพรจะด้วยโชคดีหรืออะไรก็แล้วแต่ เธอได้เจอกับมันในทุกๆ วัน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องดูแลตัวเองไปพร้อมๆ กับพ่อที่แก่ชรา ภัทราพร สังข์พวงทอง กลับค้นพบความสุขของชีวิตได้อย่างง่ายๆ

หรือทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องรรมดา อย่างที่เธอว่าไว้จริงๆ  

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ