ข้าวกล่องอาม่า

ข้าวกล่องอาม่า-ข้าวกล่องที่เชื่อมโลกสองใบไว้ด้วยกัน

โลกของอาม่า

หากการทำอาหารคือความสุขของชีวิต ชีวิตของ อาม่า-รัตนา อภิเดชากุล   กำลังจะกลายเป็นชีวิตที่ไม่มีความสุขใดหลงเหลืออยู่

จากอดีตแม่ค้าร้านอาหารผู้มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 60 ปี ในยุครุ่งเรืองร้านอาหารของอาม่าเคยมีคนแวะเวียนมาฝากท้องร่วม 2,000 ชีวิตต่อวัน มาวันนี้อาม่ากลายสภาพเป็นเพียงหญิงแก่ชราภาพ ที่วันๆ กิจกรรมส่วนใหญ่ในชีวิตมักหนีไม่พ้นการตื่นเช้า กินข้าว ดูทีวีและเข้านอน มากหน่อยก็มีลูกหลานมารับไปทานอาหารนอกบ้านเดือนละครั้ง ร้านที่พาไปนอกจากราคาจะแพงหูฉี่ รสชาติอาหารก็ใช่ว่าจะถูกปากถูกใจ ถ้าไม่เกรงใจว่าเป็นลูกค้า อาม่าอยากจะเข้าครัวไปโชว์ฝีมือเองให้รู้แล้วรู้รอด

ในวัย 75 ปี หลังจากสามีเสียชีวิต อาม่าก็ไม่มีเพื่อน ไม่มีกลุ่มสังคมที่ไหน ไม่ได้ไปเดินออกกำลังกายตามสวนลุมฯ หรือเล่นไพ่นกกระจอก เธออยู่บ้านคนเดียว กินคนเดียว นอนคนเดียว และเป็นเหมือนคนแก่ทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้หมุนไปตามกระแสของโลกยุคปัจจุบัน

อาม่าไม่รู้จักอีเมล เฟซบุ๊ก ไลน์ หรืออะไรทั้งสิ้นที่เป็นเทคโนโลยี โทรศัพท์มือถือก็ยังเป็นแบบปุ่มกด เป็นระบบทัชซะกูไม่ใช่ระบบทัชสกรีนเหมือนผู้คนทั่วไป

แน่นอนว่าในวัยที่เดินเข้าใกล้เลข 8 เข้าไปทุกขณะ คงเป็นการยากที่จะให้อาม่าหมุนตามโลก หรือกลับมามีชีวิตเหมือนวันเก่า ๆ เหมือนเมื่อครั้งยังเป็นจอมยุทธ์สาวบรรเลงเพลงอาหารอยู่หน้าเตาหน้ากระทะ วันนี้อาวุธทุกอย่างที่เคยใช้ถูกเก็บเข้ากล่องหรือไม่ก็แขวนไว้ข้างฝาเรียบร้อยแล้ว หากจะมีหลงเหลือก็เพียงแค่ความทรงจำในอดีต

ชีวิตที่เหลืออยู่ของอาม่า ดูแล้วคงไม่น่าจะต่างไปจากเดิม ตื่นเช้า กินข้าว ดูทีวี และเข้านอน

เป็นชีวิตที่อยู่อย่างเหงาๆ รอโรคภัยไข้เจ็บ และคงไม่ได้กลับไปทำอะไรที่มีความสุขอีกแล้ว

โลกของหลานชาย

“เราทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทมีเงินเดือน มีความมั่นคง แต่กลับไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวเลย เราคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ไปอีก 5-10 ปี เราก็ยิ่งห่างกับครอบครัวไปเรื่อย ก็เลยคิดว่าเราจะทำอะไรที่ได้กลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง อย่างกับอาม่า ตอนเด็กๆ เราผูกพันกับอาม่ามาก แต่ตอนนี้จะเจอท่านแค่ประมาณเดือนละครั้ง เจอแล้วก็ไม่รู้จะคุยกันเรื่องอะไร ไม่รู้จะเริ่มบทสนทนาตรงไหน”

หากโลกของอาม่าคือโลกใบเก่าของคนแก่ที่กำลังตกยุค โลกของ ไบรท์-พิชญุตม์ กุศลสิทธิรัตน์ หลานชายวัย 24 ปี ก็คงเป็นสิ่งที่อยู่ในทางตรงกันข้าม

ด้วยความที่เกิดและเติบโตมาในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังเบ่งบาน ไบรท์จึงทำทุกสิ่งทุกอย่างที่คนแก่อย่างอาม่าทำไม่เป็น โลกของไบรท์คือโลกที่เต็มไปด้วยการสื่อสาร สะดวกสบาย ทุกอย่างหมุนเร็วราวกับพลิกฝ่ามือ เป็นโลกที่รายล้อมไปด้วยผู้คนมากมาย แลดูวุ่นวาย แต่ก็ฉาบซ่อนไปด้วยความโดดเดี่ยว

“แต่ในความทรงจำของเราอาม่าเป็นคนทำอาหารอร่อยมาก อาหารที่อาม่าทำให้กินไม่มีอะไรไม่อร่อย เพราะตอนเด็กๆ หลังเลิกเรียนเราจะไปอยู่ที่ร้านอาม่าทุกวัน พอนึกขึ้นได้เราก็เลยคิดว่าถ้าทำธุรกิจออนไลน์เกี่ยวกับอาหาร ก็น่าจะดี โดยให้อาม่าเป็นคนทำ ส่วนเราเป็นคนดูช่องทางการตลาด”

แม้จะเป็นคนทำอาหารไม่ได้เรื่อง แค่ทอดไข่เจียวยังทานลำบาก หากแต่ชายหนุ่มร่างใหญ่ก็มีความหาญกล้าที่จะทำธุรกิจอาหาร เนื่องจากเขามองเห็นช่องทางที่จะประสบความสำเร็จได้ ไบรท์มองว่าคนกรุงเทพฯ ในสมัยนี้ โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศมีความเบื่อหน่ายที่จะลงมาเบียดเสียดหาอาหารกินตามร้านในช่วงพักเที่ยง หรืออย่างงานประชุมสัมมนาต่างๆ ในช่วงพักเบรค หากมีอาหารอร่อย สะอาด ราคาไม่แพง แถมสั่งง่ายดาย ส่งได้ถึงที่ ก็น่าจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายอยู่ไม่น้อย ดังนั้นข้าวกล่องดีๆ มีเมนูให้เลือกหลากหลายจึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้คนกลุ่มนี้ แถมในแง่การลงทุนก็ไม่ต้องลงทุนสูง ไม่ต้องมีหน้าร้านให้สิ้นเปลือง อย่างไรก็ตามทุกอย่างจะเป็นไปไม่ได้เลย หากเขาไม่มีแม่ครัวมือฉมังที่จะรังสรรค์อาหารเลิศรส ซึ่งแน่นอนว่าในวินาทีนั้นไบรท์นึกถึงใครไม่ออกนอกจากอาม่า

ชายหนุ่มแบกหอบเอาความหวังความตั้งใจทั้งหมดไปบอกอาม่าและชักชวนมาทำธุรกิจร่วมกัน โดยที่อาม่าทำหน้าที่เสมือนหัวหมู่ทะลวงฟัน ส่วนเขาคอยวางแผนการออกรบ ในทีแรกอาม่าทำท่าจะปฏิเสธ ไม่เชื่อว่าธุรกิจนี้จะไปได้ เนื่องจากมีคนขายอาหารกันเยอะแยะเต็มไปหมด ทว่าเมื่อหลานชายชี้แจงให้ฟังอยู่เรื่อยๆ ที่สุดอาม่าก็ทนรบเร้าไม่ไหวจึงตกลงใจลองดูสักตั้ง อย่างน้อยที่สุด เธอก็ได้กลับไปทำในสิ่งที่รักและมีความสุขอีกครั้ง

แล้วกิจการ  ‘ข้าวกล่องอาม่า’  ก็เริ่มต้นตั้งแต่วันนั้น

ข้าวกล่องสองโลก

จนถึงวันนี้ข้าวกล่องอาม่าเปิดกิจการมาได้ราว 1 ปีครึ่งแล้ว จากที่ไม่เชื่อว่าจะไปได้ กลับกลายเป็นขายดีเทน้ำเทท่า ยอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ราว 800 กล่องต่อวัน โดยเคยทำสถิติขายได้สูงสุดถึงวันละ 1,200 กล่อง

มาถึงวันนี้อาม่ามีลูกมือในการทำอาหารเพิ่มขึ้นเป็นสิบคน โดยอาม่าจะเป็นคนคอยดูในเรื่องการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่จ่ายตลาด คัดสรรวัตถุดิบ ไปจนถึงการทำกับข้าว หรือฝึกสอนลูกมือให้ทำอาหารด้วยตัวเอง ใครทำไม่ถูกใจไม่ได้มาตรฐาน อาม่าก็มีเม้งมีบ่นบ้างตามสไตล์แม่ค้าเก่า ขณะที่ในด้านการซื้อขาย รับ-ส่งสินค้า หรือการวางแผนทางการตลาด ทางไบรท์จะเป็นคนจัดการร่วมกับทีมของเขาทั้งหมด ซึ่งทุกวันนี้จะมีลูกค้าสั่งอาหารทางออนไลน์เข้ามาเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่ทำให้ข้าวกล่องอาม่าประสบความสำเร็จและเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่เพียงเพราะว่ามีเมนูให้เลือกเยอะแยะมากมายถึงกว่า 200  รายการ หรือเพราะข้าวกล่องที่นี่ราคาย่อมเยา รสชาติอร่อยกว่าข้าวกล่องเจ้าอื่นๆ หากแต่เป็นการผสมผสานความแตกต่างได้อย่างลงตัวของคนแก่ในโลกยุคเก่า และคนหนุ่มในโลกยุคใหม่

ไม่ว่าจะแก่ จะหนุ่ม หรือดำรงตนอยู่ในวัยไหน มนุษย์ทุกคนย่อมมีความเก่งกล้าสามารถและความด้อยอ่อนบอดใบ้เป็นของตัวเอง อาม่าและหลายชายอย่างไบรท์ก็เช่นกัน ต่างคนต่างมีจุดเด่นและจุดด้อยที่ชัดเจนมากๆ ทว่าสิ่งที่ทั้งคู่ต่างมีเหมือนกันก็คือการเปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน

“สิ่งที่ทำให้ธุรกิจของเราเดินทางมาถึงวันนี้ก็คือการยอมรับในความสามารถของกันและกัน และนำเอาจุดเด่นของทุกคนมาใช้ให้เกิดศักยภาพสูงสุด อย่างเราไม่มีความสามารถเรื่องการทำอาหาร เราก็จะปล่อยเรื่องในครัวให้เป็นหน้าที่ของอาม่า แล้วเราก็ไปทำเรื่องที่ตัวเองถนัด แต่ขณะเดียวกันก็คอยสนับสนุน หากว่าอาม่าต้องการอะไรอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำลังคนหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพราะถ้าไม่มีอาม่า ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยากที่จะก้าวมาถึงตรงนี้

“ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจ แต่เรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัวก็ดีขึ้นด้วย อย่างเมื่อก่อนที่เราไม่รู้จะคุยกันเรื่องอะไร มาตอนนี้เรามีเรื่องให้คุยกันทุกวัน เวลาข้าวกล่องที่อาม่าทำมีคนมาติดดาว มาเขียนชมว่าอร่อย เราก็เอาไปบอกไปอ่านให้อาม่าฟัง อาม่าก็มีความสุข แล้วตัวอาม่าเองจากที่เคยอยู่เฉยๆ ทุกวันนี้พอได้ทำกับข้าวให้คนทาน ท่านก็แข็งแรง สุขภาพทั้งกายทั้งใจก็ดีขึ้นมาก นี่คือผลพลอยได้ที่มากไปกว่าเรื่องของรายได้ที่ได้รับกลับมา”

คนรุ่นเก่าเปิดใจฟังเสียงคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่ให้การยอมรับคนรุ่นเก่า

ใครก็ตามที่กำลังมีปัญหาในเรื่องช่องว่างระหว่างวัย แล้วยังหาจุดลงตัวที่พอดีระหว่างกันไม่ได้ เรื่องราวของข้าวกล่องเล็กๆ กล่องหนึ่งกำลังบอกอะไรบางอย่างกับพวกเราทุกคน

ลองหายใจลึกๆ แล้วเปิดสิ่งที่ตัวเองปิดไว้ออกมา

เปิดหู เปิดตา เปิดใจ แล้วค่อยๆ เดินไปด้วยกัน

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลงสักหน่อย ค่อยๆ มองเห็นความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ