“เพื่อนซี้” ที่ไม่มีช่องว่างระหว่างวัย

ร้านกาแฟ   ‘@Coffee by Poom’   วางตัวอยู่อย่างเงียบสงบภายในซอยประชาชื่น 16

“เมื่อก่อนเราทำงานเป็นคอนซัลท์ พัฒนาบุคคลในองค์กรให้กับบริษัท แต่ด้วยความที่ไม่ชอบออกหาลูกค้า เบื่อการทำงานในรูปแบบเดิมๆ ประกอบกับต้องดูแลแม่ก็เลยตัดสินใจ Early Retire ออกมาเป็นฟรีแลนซ์

“เวลานั้นมีการสร้างคอนโดขึ้นมารอบๆ บ้านเรา บางวันเราอยู่บ้านว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ก็เลยเปิดร้านกาแฟขึ้นมาขำๆ ให้น้องชายเจาะช่องตรงรั้วบ้านทำเป็นเคาน์เตอร์ แล้วก็วางเก้าอี้อยู่ด้านนอก 2-3 ตัว ไม่ได้หรูหราหรือใหญ่โตอะไร”

 ปุ้ม-ปาณนิภา วิชญเนตินัย บอกถึงจุดแรกเริ่มในการเปิดร้านกาแฟขึ้นมา เธอมีความตั้งใจว่าร้านแห่งนี้ ไม่ได้ขายแค่กาแฟหากแต่จะต้องขายมิตรภาพควบคู่กันไปด้วย

แม้จะมีอายุปาเข้าไปถึง 61 ปีแล้ว แต่ป้าปุ้มยังแคล่วคล่องว่องไว และร่าเริงแจ่มใสไม่ต่างจากสาวๆ ลูกค้าแทบทุกคนนอกจากจะได้อร่อยกับกาแฟรสชาติดีแล้ว ยังมักได้รอยยิ้มและความสนุกสนานจากเธอกลับไปเป็นของแถมด้วย ด้วยความที่เป็นคนสนใจในเรื่องมนุษย์และชีวิตอยู่เป็นทุนเดิมรวมทั้งยินดีที่จะรับฟังปัญหาของผู้คน จึงไม่แปลกที่จะมีลูกค้าบางคนมานั่งปรับทุกข์ หรือพูดคุยกับเธออยู่ที่หน้าเคาน์เตอร์ได้เป็นวันๆ

การได้นั่งรับฟังเรื่องราว และสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกัน ไม่ได้ทำให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจขึ้นเท่านั้น หากแต่ในทางกลับกันยังทำให้ป้าปุ้มมีความสุขมากขึ้นอีกด้วย

อย่างน้อยที่สุดชีวิตของเธอก็ไม่ได้เงียบเหงาจนเกินไปนัก


แอม-อิศรา ศรีอรุณ ทำงานเป็นครีเอทีฟ-โปรดิวเซอร์ ให้กับรายการท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง คอนโดมิเนียมของเธออยู่ติดกับบ้านและร้านกาแฟของป้าปุ้ม อย่างไรก็ตามตั้งแต่ซื้อคอนโดมา ร้อยวันพันปีเธอไม่เคยเดินไปกินกาแฟที่ร้านแม้แต่ครั้งเดียว

“ทุกวันเราเดินเลี้ยวขวาออกทางปากซอยตลอด ไม่เคย เลี้ยวซ้ายมาร้านป้าปุ้มเลย มีแต่เพื่อนเราที่มาค้างที่ห้องเราที่จะไปกินประจำ ไปแล้วก็นั่งอยู่ทั้งวัน เรายังงงว่ามีอะไรน่าสนใจขนาดนั้น เพื่อนก็บอกว่าให้ลองไปนั่งดู แล้วจะรู้ว่าป้าที่ขายกาแฟนี่ไม่ธรรมดา กระทั่งวันหนึ่งเราก็เลยลองไปกับเพื่อนดู จากที่ไม่เคยคิดจะไปกินเลย”

แอม สาวร่างสูงใหญ่วัย 34 ปี เธอจากบ้านที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร มาเรียนและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่ห่างไกลครอบครัว แม้จะมีเพื่อนฝูงอยู่บ้างแต่หลายครั้งก็เหมือนกับว่าเธอโดดเดี่ยวอยู่คนเดียว

ทำงาน-กลับห้อง-นอน คือชีวิตที่หมุนวนไปมาไม่รู้จบ ยามเหน็ดเหนื่อยกับงาน ทดท้อกับคน หรือแม้กระทั่งหลงรักชายหนุ่มสักคนก็ไม่รู้จะปรึกษาจะเล่าให้ใครฟัง กระทั่งวันหนึ่งที่เธอตัดสินใจเดินเลี้ยวซ้ายจากหน้าคอนโดไปกินกาแฟกับเพื่อน ชีวิตของสาวปักษ์ใต้ร่างใหญ่ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แล้วมิตรภาพของเพื่อนต่างวัย ก็เริ่มขึ้นจากวันนั้น

“ความจริงเราเห็นแอมมาก่อนตั้งนานแล้ว เรานั่งรถไปกับน้องชาย เราชอบสไตล์การแต่งตัวเขามาก เขาจะแต่งตัวสไตล์ อาร์ทๆ ใช้ของไทย ใช้ผ้าไทย จนกระทั่งวันที่เขามานั่งกินกาแฟที่ร้านเลยได้รู้จักกัน”

จากวันแรกที่มานั่งกับเพื่อน แอมสัมผัสได้ถึงความเป็นมิตร ความเป็นกันเอง และความเมตตาอย่างผู้ใหญ่ใจดีของป้าปุ้ม หญิงสาวเห็นถึงความสนุก สดใส และไม่ว่าเธอจะเล่าหรือพูดอะไรไป สิ่งที่ผู้ใหญ่คนนี้มีให้เสมอคือการรับฟัง มันไม่ใช่การรับฟังแบบผ่านๆ ที่ผ่านเข้าทางหูขวาทะลุออกหูซ้ายแล้วก็หายไปกับสายลม หากแต่ทุกเรื่องราวจะมีมุมมองและทัศนคติที่ดีกลับคืนมาให้คิดด้วยอยู่เสมอ ทำให้เธอรู้สึกว่าทุกสิ่งที่เธอพูดไปล้วนได้รับการให้ความสำคัญ

“เขาเหมือนเป็นมนุษย์ที่จัดสรรความทุกข์ได้ แล้วจะมีแนวคิดที่เป็นบวกกลับมาให้เราเสมอทุกเรื่อง ทำให้เราได้คิดและมีกำลังใจ เวลาที่เราเล่าอะไรไป ป้าปุ้มเขาจะฟังก่อน ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุหลายๆ คน จะไม่ค่อยอยากรับฟังเรื่องของเด็กๆ อย่างเราสักเท่าไร ขณะเดียวกันคนวัยอย่างเราเองก็ไม่ได้อยากจะรับฟังคนสูงวัยเหมือนกัน แต่ป้าปุ้มไม่ใช่แบบนั้น เขารับฟังอย่างตั้งใจ ทำให้เรารู้สึกเป็นคนสำคัญ แล้วที่สำคัญเลยคือเขาไม่ยัดเยียดว่าความคิดของตัวเองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เขาจะไม่หักและไม่ห้ามแต่จะเสนอทางเลือก มีแผนสอง แผนสามให้เรา ส่วนเราจะเลือกทางไหนก็แล้วแต่เราเอง

“การที่เขาเป็นคนเปิดรับมันทำให้ช่องว่างระหว่างวัยของเราที่ห่างกันถึง 26 เกือบ 27 ปี ถูกลดลงมาจนเรากลายเป็นเพื่อนกันได้”

จากที่เคยไปกับเพื่อนกลับกลายเป็นว่าแอมเดินมากินกาแฟด้วยตัวเองทุกวัน หญิงสาววัย 34 ไม่ได้ติดใจในรสกาแฟหากแต่ประทับใจในรสชาติของมิตรภาพมากกว่า หากวันใดไม่มีงานแอมจะนั่งขลุกอยู่ที่ร้านทั้งวัน เธอบอกเล่าทุกเรื่องราวในชีวิตให้กับเพื่อนสนิทวัย 61 ปี ได้รับรู้ จากเรื่องงานไปยันเรื่องคนจนถึงเรื่องความรัก กระทั่งไปถึงเรื่องอกหักรักคุด เลิกรากับแฟนหนุ่มที่คบหากัน

“เวลาเรามีอะไรไม่ว่าเรื่องสบายใจหรือไม่สบายใจ เราจะเล่าให้ป้าปุ้มฟังหมด อย่างตอนที่เราเลิกกับแฟนแล้ว แล้วเขาทิ้งแมวที่เคยเลี้ยงตอนคบกันไว้ให้เรา เราก็รู้สึกว่าเลิกกันไปแล้วไม่อยากต้องมารับผิดชอบอะไรที่เคยมีร่วมกันอีก เราก็รู้สึกแย่ ไม่อยากเลี้ยง แต่พอเล่าให้ป้าปุ้มฟัง เขามองต่างออกไป เขามองว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่แฟนทิ้งไว้ให้เรา เพราะนั่นเป็นการฝึกให้เราได้รู้จักที่จะรักสิ่งอื่นให้เป็น ได้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบสิ่งมีชีวิตอื่นที่นอกเหนือไปจากตัวเราเอง เราอาจจะได้เห็นอะไรดีๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเราที่เราไม่เคยรู้มาก่อน จากที่รู้สึกแย่ ความคิดเราก็เปลี่ยนไป แล้วทุกวันนี้เราก็ยังเลี้ยงแมวตัวนั้นได้อย่างมีความสุขในชีวิตมากๆ”

การเล่าสู่กันฟังรวมทั้งแลกเปลี่ยนเรื่องราวมากมายในชีวิต ทำให้ความผูกพันของทั้งป้าปุ้มและแอมยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคู่เปรียบเสมือนแม่เหล็กต่างขั้วที่ดึงดูดเข้าหากันได้อย่างพอดีและลงตัว มิหนำซ้ำมิตรภาพนั้นยังแผ่ขยายไปถึงกลุ่มเพื่อนของแอมและครอบครัวของป้าปุ้มอีกด้วย

“พอเขานั่งอยู่ร้านถึงเย็นเราก็ชวนเขากินข้าว เขาก็เข้ามากินด้วยกัน คนในบ้านเราก็เริ่มรู้จักคุ้นเคยสนิทสนมกันขณะเดียวกันเพื่อนๆ ของแอม ก็มากินกาแฟที่ร้านบ่อยครั้ง ทีนี้จากสนิทสนมกับแอมก็กลายเป็นสนิทสนมด้วยกันทั้งกลุ่ม ซึ่งทุกๆ คนเป็นเด็กที่น่ารักมาก อย่างเวลาพวกเขาเดินทางไปถ่ายงานตามสถานที่ท่องเที่ยว พวกเขาก็จะคิดถึงเรา มีของติดไม้ติดมือกลับมาฝากเราตลอด หรืออย่างบางทีเขาก็ทำรูปสวัสดีวันจันทร์ เป็นรูปถ่ายของเรา เอาไว้ให้เราส่งไลน์

“สิ่งเหล่านั้นมันอาจจะเป็นความสุขเป็นมิตรภาพ เล็กๆ น้อยๆ  แต่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของเรา เป็นสิ่งที่ไม่ว่าเงินกี่บาทก็หาซื้อไม่ได้”

ไม่ใช่ป้าปุ้มหรอกที่รู้สึกฝ่ายเดียว หากแต่ทุกคนในวงโคจรแห่งมิตรภาพนี้ก็รู้สึกแบบนั้นเช่นกัน

หากมีเวลาว่างตรงกันเมื่อใด มนุษย์ต่างวัยกลุ่มใหญ่ จะรวมตัวกันจัดปาร์ตี้เล็กๆ ขึ้นที่บ้านของป้าปุ้ม มนุษย์ต่างวัยกลุ่มใหญ่นี้ประกอบไปด้วย หนุ่มสาวเพื่อนๆ ของแอม และครอบครัวของป้าปุ้มอันได้แก่ น้องชาย รวมไปถึงคุณแม่ที่มีอายุปาเข้าไปถึง 88 ปีแล้ว

นอกจากรับประทานอาหาร พูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ แซวกัน อำกัน ตามความงดงามของมิตรภาพ พวกเขายังมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันนั่นก็คือ การรวมตัวถ่ายรูปตาม ‘ธีม’ ที่กำหนดกันไว้

ป้าปุ้มและแอมบอกว่ากิจกรรมของพวกเธอไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร ไม่ได้ออกไปกู้ชาติบ้านเมือง ไม่ได้พลิกฟื้นสังคม เป็นเพียงกิจกรรมง่ายๆ ที่ทุกคนมีความสุข และไม่เคยเดินทางออกไปไกลเกินกว่าบ้านหลังนี้

รอยยิ้มของทุกคนในภาพถ่ายทุกใบคือหลักฐานยืนยันคำพูดของสองเพื่อนรักต่างวัยได้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนที่บ่งบอกถึงมิตรภาพ ความรัก ความผูกพัน ที่ทุกคนมีให้แก่กันได้เป็นอย่างดี

“สำหรับแอม เรารู้สึกโชคดีมากๆ ที่ได้รู้จักกับป้าปุ้มและทุกๆ คน ในครอบครัว ทุกคนทำให้ชีวิตของเราไม่เหงาและเหี่ยวแห้ง เรารู้สึกเหมือนกับว่าเราไม่ได้จากบ้านไปไหนไกล เพราะเรามีบ้านและครอบครัวอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่นี่” หญิงสาววัย 34 ปีกล่าว

“ส่วนเราการที่แอม และกลุ่มเพื่อนหนุ่มสาวของเขาเข้ามาในชีวิตมันช่วยเติมเต็มชีวิตของเราและทุกคนในบ้านได้มาก พวกเขาเป็นเหมือนความสุขที่เดินทางมาหาเราที่หน้าบ้านทุกวัน โดยที่เราไม่ต้องออกไปหาจากที่อื่น

“เราอาจจะมีความทุกข์ในชีวิตของเราอยู่บ้างตามประสา ตามวัยที่เราเป็น แต่การมีเพื่อนอย่างเขาทำให้ทุกข์ของเราไม่เคยเต็ม ไม่เคยพุ่งขึ้นไปถึงขีดสุด ความทุกข์มันจะถูกลดทอนลงอยู่ตลอดเวลา”

หากใครบางคนกำลังค้นหาความหมายของคำว่า ‘เพื่อน’ อยู่ในชีวิต บางทีเรื่องราวของเพื่อนรักต่างวัยของป้าปุ้มและแอมอาจกำลังบ่งบอกเราถึงความหมายนั้นอยู่

ความหมายที่ว่าความเป็นเพื่อนไม่ใช่เรื่องของช่องว่างระหว่างวัย หากแต่เป็นเรื่องของมิตรภาพดีๆ ที่มีให้แก่กัน 

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลงสักหน่อย ค่อยๆ มองเห็นความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ