คู่รักฟู้ดทรัค เพราะรักจึงกล้าลงทุน

ในวัยที่ใครหลายคนบอกว่าควรจะอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ปลูกต้นไม้ หรือเดินเล่นในสวน คู่รักวัยหลักหกหลักเจ็ดคู่หนึ่งกลับสวนกระแสด้วยการนำเงินเก็บส่วนตัวกว่า 7 แสนบาท มาลงทุนทำธุรกิจ ขายอาหารบนรถฟู้ดทรัค แน่นอนว่าการลงทุนทุกอย่างย่อมมีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ลงทุนคือคนสูงวัยที่ไม่ได้อยู่ในวัยที่มีไฟ และเรี่ยวแรงในการทำงานเหมือนคนหนุ่มสาว ทว่าทั้งคู่คุณลุงและคุณป้าคู่รักฟู้ดทรัคก็หาได้หวั่นกลัวไม่ ทั้งสองเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะอย่างไร พวกเขาได้กำไรแน่ๆ และกำไรที่ว่าอาจไม่ได้มาแค่ในรูปแบบของตัวเงิน

หากแต่หมายถึงการได้ทำงานและใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างกับคนที่ตนรัก

เหตุใดจึงต้องลงทุน

“สำหรับเราโอกาสก็เหมือนกับไอศกรีม ถ้าไม่รีบกินเดี๋ยวมันจะละลาย

ด้วยฐานะความเป็นอยู่ในช่วงชีวิตหลังวัยเกษียณที่มั่นคง คุณลุง อารัติ วินิจฉัยกุล วัย 70 ปีและคุณป้า สุชาดา วินิจฉัยกุล วัย 67 ปี ไม่มีความจำเป็นลงทุนลงแรงทำอะไรให้ชีวิตต้องลำบากหรือเกิดความสุ่มเสี่ยงอีก สองสามีภรรยา ควรจะอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ปลูกต้นไม้ นั่งดูทีวี เหมือนกับคนแก่หลายคนทั่วๆ ไป

“เรามีลูกชาย 2 คน โตเป็นผู้ใหญ่ทำงานกันมั่นคงกันหมดแล้ว คนโตเป็นวิศวกร เงินเดือนหกหลัก ส่วนคนเล็กจบปริญญาโท ประกอบธุรกิจส่วนตัว ก็มีคนพูดกับเราเยอะว่าแก่แล้วจะมาหาเรื่องลำบากทำไม บ้านก็มีฐานะ อยู่บ้านปลูกต้นไม้ดีกว่า ลูกชายเองเขาก็อยากให้อยู่เฉยๆ เหมือนกัน ไม่อยากให้ต้องไปทำงานอะไรแล้ว” ป้าสุชาดาผู้เป็นภรรยาบอกเล่าถึงความเห็นของคนรอบตัว

แม้จะมีเสียงทัดทานจากใครหลายคน แต่ทั้งคู่กลับไม่คิดอย่างนั้น ลุงอารัติและป้าสุชาดา กลับคิดว่าต้องหาอะไรทำสักอย่าง เพื่อไม่ให้ชีวิตเงียบเหงาเฉากร้านจนเกินไป เพียงแต่ตอนนั้นทั้งคู่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี

“เราเคยทำธุรกิจมาก่อน ลุงเคยเป็นพ่อค้าขายรถมือสอง ส่วนป้าก็เปิดร้านอินเตอร์เน็ต และทำเบาะรถ เราก็เลยมานั่งคิดว่าในเมื่อเราสองคนยังมีแรง ยังมีโอกาสที่จะทำอะไรได้ ทำไมไม่หาอะไรทำ เราก็มาดูว่าเราจะเอาแรงของเราไปใช้กับอะไร ก็คิดตรงกันว่ามาใช้กับการทำธุรกิจกับการขายของน่าจะดีกว่า เพราะเราทั้งคู่เคยมีประสบการณ์เป็นพ่อค้าแม่ค้ามาก่อน ได้ออกไปพบปะผู้คน ทำให้ชีวิตไม่เหงา แล้วยังได้เงินกลับมาด้วย เราเองก็ไม่อยากให้ลูกเขาต้องมาเลี้ยงดูเพราะเขาเองก็มีภาระของเขา ก็เลยคิดว่าเราจะลงทุนค้าขาย

“ที่สำคัญเลยก็คือ เราไม่อยากอยู่เฉยๆ รอให้ความซึมเศร้า หรือโรคภัยมาหา ไม่อยากนั่งก็ปวด ลุกก็ปวด เราไม่อยากเป็นคนแก่แบบนั้น เราดูแล้วถ้าเราลงทุนตอนนี้มันยังมีโอกาสอยู่ ถ้าช้ากว่านี้บางทีอาจจะไม่มีโอกาสแล้ว

“สำหรับเราโอกาสก็เหมือนกับไอศกรีม ถ้าไม่รีบกินเดี๋ยวมันจะละลาย”

คุณลุงอารัติเล่าถึงความคิดแรกเริ่มในการกลับมาทำธุรกิจอีกครั้งหลังวัยเกษียณ สองสามีภรรยารู้ตัวเองแน่แล้วว่าจะทำอะไรต่อไป ทั้งคู่ต้องการค้าขาย หากแต่สิ่งที่ยังไม่รู้คือจะขายอะไรดี

คู่รักสูงวัยใช้เวลาคิดอยู่พักใหญ่ก่อนที่จะได้คำตอบของตัวเอง เมื่อลูกชายคนเล็กกลับมาบ้าน หลังจากออกเดินทางออกไปขายของในบ่ายวันหนึ่ง เป็นการกลับบ้านหลังจากเพิ่งออกไปไม่กี่ชั่วโมง ลูกชายคนเล็กกลับมาพร้อมกับป้ายไส้กรอกเยอรมันและรถฟู้ดทรัคคันเล็กๆ

ฟู้ดทรัค – ฟู้ดรัก

“รถฟู้ดทรัค เรามองว่ามันมีเสน่ห์ ดูมีเรื่องราว แล้วมันก็สะดวกด้วย เราไม่ต้องแบกของขึ้นลงรถ แต่สามารถจัดร้านและทำขายบนรถได้เลย เรากับภรรยาก็เลยตกลงกันว่า จะทำรถฟู้ดทรัคขายไส้กรอกเยอรมันด้วยกัน”

ไส้กรอกเยอรมันเป็นสินค้าที่ทางฝั่งครอบครัวของคุณลุงอารัติประกอบธุรกิจมาอย่างยาวนานเกินกว่าครึ่งศตวรรษ จนวันหนึ่งลูกชายคนเล็กของเขารับนำมาค้าขายต่อ ซึ่งทั้งตัวลุงอารัติและป้าสุชาดาเองก็มีความสนใจอยู่ไม่น้อย

“คุณตาเขยเขานำไส้กรอกเยอรมันเข้ามาขาย ทำส่งโรงแรมและร้านอาหารตั้งแต่เมื่อ 50 กว่าปีก่อน เขาขายมานานแล้ว แต่เราไม่ได้สนใจอะไรมาก จนวันหนึ่งลูกชายเขารับมาขาย โดยทำเป็นรถฟู้ดทรัคขึ้นมา เราเห็นเขาขับออกไปตอนสายๆ ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง เขาก็กลับบ้านมาแล้ว เรายังถามเขาว่าวันนี้ไม่ไปขายของเหรอ เขาบอกมันไม่มีอะไรให้ขายแล้ว ขายหมดแล้ว เรา เห็นยังตกใจ อะไรกัน แค่ไม่กี่ชั่วโมง ขายหมดแล้ว แล้วได้กำไรตั้งหลายพัน เราก็เลยคิดว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ

“ขณะเดียวกันนอกจากตัวสินค้าแล้วในเรื่องของรถฟู้ดทรัค เรามองว่ามันมีเสน่ห์ ดูมีเรื่องราว แล้วมันก็สะดวกด้วย เราไม่ต้องแบกของขึ้นลงรถ แต่สามารถจัดร้านและทำขายบนรถได้เลย เรากับภรรยาก็เลยตกลงกันว่า จะทำรถฟู้ดทรัคขายไส้กรอกเยอรมันด้วยกัน”

สองสามีภรรยาวัยหลังเกษียณนำเงินเก็บส่วนหนึ่งมาลงทุนซื้อรถ แล้วนำมาตกแต่งเป็นฟู้ดทรัคออกขายไส้กรอกเยอรมันกันสองคน โดยงานแรกทั้งคู่เดินทางไปขายที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากพี่สาวเปิดรีสอร์ทอยู่ที่นั่น ปรากฏว่าเพียงครั้งแรก ก็ขายดิบขายดี ทำให้ทั้งคู่รู้สึกว่าเดินมาไม่ผิดทาง

“เราไปลองขายที่แหล่งท่องเที่ยวในวังน้ำเขียว ปรากฏว่าขายดี ทำกำไรได้พอควรเลย พอเห็นแบบนี้เราก็เลยเชื่อว่าสินค้าของเราน่าจะไปต่อได้ เพียงแต่เราต้องดูทำเลดีๆ ต้องตั้งขายในที่คนพอมีกำลังซื้อ เนื่องจากสินค้าของเราเป็นสินค้าพรีเมียม ค่อนข้างมีราคาพอสมควร

หลังจากออกตัวได้ดี คู่รักฟู้ดทรัคก็เดินทางออกไปขายไส้กรอกเยอรมันแทบทุกวัน โดยจะเน้นไปตามห้างสรรพสินค้า รวมทั้งศูนย์การค้าเป็นหลัก อาทิ เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ หรือ เดอะไบรท์ พระราม 2 อย่างไรก็ดี หลังจากขายไปได้สักพัก คุณลุงคุณป้าก็ขยายธุรกิจออกไปด้วยการซื้อรถฟู้ดทรัคเพิ่มอีกคัน เพียงแต่คราวนี้สินค้าที่ขายบนรถเป็นไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ

“ระหว่างที่เราขายของอยู่ มีรถฟู้ดทรัคขายไอศกรีมซอฟเสิร์ฟที่ขายอยู่ข้างๆ กัน เขาอยากจะเปลี่ยนเครื่องทำไอศกรีมเครื่องใหม่ให้ใหญ่ขึ้น ก็เลยเอาเครื่องเก่าซึ่งสภาพยังดีอยู่มาขายเราในราคา 25,000 บาท เราก็มาคิดดูแล้วว่า น่าจะขายควบคู่ไปกับไส้กรอกเยอรมันได้ อีกอย่างเขาก็บอกวิธีทำทั้งหมด ซึ่งก็ทำไม่ยาก แถมมีหลายรสทั้ง วนิลา ช็อคโกแลต บูลเบอร์รี่ ชาเชียว ฯลฯ น่าจะขายได้เรื่อยๆ ก็เลยตัดสินใจลงทุนอีกก้อนหนึ่ง รวมแล้วฟู้ดทรัคทั้งสองคนเราลงทุนไปประมาณ 7 แสนบาท”

7 แสนบาท ไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ แถมยังเป็นการลงทุนในตอนวัยเข้าสู่เลข 7 ไม่ว่ามองมุมไหน ก็เห็นแต่ความสุ่มเสี่ยง หลายคนบอกว่าลงทุนแบบนี้เตรียมตัวเตรียมใจโดนคำว่า ‘เจ๊ง’ พุ่งชนได้เลย หากแต่คู่รักฟู้ดทรัควัยเกษียณกลับเชื่อว่าพวกเขาทั้งคู่ ‘เจ๋ง’ พอที่จะสร้างกำไรจากการทำธุรกิจในครั้งนี้ได้

“ถ้าวางแผนดีๆ มันไม่มีหรอกคำว่าเจ๊ง”

วางแผนดีไม่มีเจ๊ง

“ทุกการลงทุนมันมีความเสี่ยงหมดแหละ ไม่ว่าจะลงทุนตอนหนุ่มหรือตอนแก่ เสี่ยงที่จะเจ๊ง เสี่ยงที่จะขาดทุน เสี่ยงที่จะเจ็บตัว แต่เราจะทำยังไงที่จะให้ความเสี่ยงตรงนั้นมันลดลง หรือมีความเสี่ยงน้อยที่สุด มันก็ต้องอยู่ที่การวางแผน คิดทุกอย่างให้รอบครอบ แล้วเราก็ต้องรู้จักสินค้าที่เราขายว่าเป็นสินค้าแบบไหน ควรวางขายที่ใด ซึ่งเรื่องทำเลนี่ถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในการค้าขายทำธุรกิจ”

ปัจจุบันคุณลุงอารัติและคุณป้าสุชาดา ขายไส้กรอกเยอรมัน และไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ มาได้กว่า 4 ปีแล้ว แถมยังได้ทุนคืนตั้งแต่ปีแรกที่ลงไป

“เราลงทุนไปกว่า 7 แสนบาท เป็นรถไส้กรอกเยอรมัน 3 แสนกว่า รถไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟอีก 4 แสนกว่า เราค้าขายไปปีเดียวก็ได้ทุนคืนหมดแล้ว

“ทุกการลงทุนมันมีความเสี่ยงหมดแหละ ไม่ว่าจะลงทุนตอนหนุ่มหรือตอนแก่ เสี่ยงที่จะเจ๊ง เสี่ยงที่จะขาดทุน เสี่ยงที่จะเจ็บตัว แต่เราจะทำยังไงที่จะให้ความเสี่ยงตรงนั้นมันลดลง หรือมีความเสี่ยงน้อยที่สุด มันก็ต้องอยู่ที่การวางแผน คิดทุกอย่างให้รอบคอบ แล้วเราก็ต้องรู้จักสินค้าที่เราขายว่าเป็นสินค้าแบบไหน ควรวางขายที่ใด ซึ่งเรื่องทำเลนี่ถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในการค้าขายทำธุรกิจ

“อย่างที่บอกไปว่าไส้กรอกเยอรมันที่เป็นสินค้าพรีเมี่ยม ค่อนข้างมีราคา ชิ้นหนึ่งราคา 90-100 บาท เรียกว่าแพงกว่าข้าว 1 จานอีก ถ้าไปขายวางตามตลาดนัดทั่วๆ ไป เมื่อไหร่ก็เจ๊ง แต่ถ้าเราไปขายในที่คนเขามีกำลังซื้อสูงๆ เขาเคยทานแล้วรู้ว่าไส้กรอกเยอรมันนี่มันอร่อยจริงๆ ยังไงก็มีคนซื้อ แล้วพอเรามาทำความรู้จัก ลองย่างกินเอง ก็เลยทำซอสเพิ่มเข้าไปอีก 2-3 แบบให้เหมาะกับคนไทย มันก็ยิ่งขายง่ายขึ้น”

ประสบการณ์จากการเคยประกอบธุรกิจมาก่อนเมื่อครั้งยังหนุ่มยังสาวทำให้ทั้งลุงอารัติและป้าสุชาดา ประเมินสถานการณ์ของตัวเองได้อย่างแม่นยำก่อนที่จะลงทุน ไม่ใช่แค่เรื่องของทำเลที่ตั้ง แต่ทั้งสองยังมองทุกอย่างรอบด้านถึงขนาดที่ว่าหากทุกอย่างไม่เป็นใจ และเกิดเจ๊งขึ้นมาจริงๆ อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็ยังหกล้มบนฟูกไม่ใช่ล้มลงในดงหนาม

“ทุกอย่างในโลกนี้มันผิดพลาดได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เราอย่าไปคิดด้านบวกอย่างเดียว ต้องมองด้านลบ ด้านไม่สมหวังด้วย ลุงกับป้าก็มองและคุยกันว่า ถ้ามันเกิดเจ๊งขึ้นมาจริงๆ หรือถ้าเกิดเราสองคนทำต่อไม่ไหว อย่างน้อยรถฟู้ดทรัคที่เราซื้อมา เราก็ขาย พอได้เงินก้อนกลับคืนมา เราก็ไม่เจ็บตัวมาก หรือดีไม่ดีอาจจะเท่าทุนก็ได้

“อีกอย่างเลยเราจะไม่เอาทุนที่มีอยู่ในชีวิตมาลงทุนทั้งหมด เพราะไม่อย่างนั้นเมื่อเราเจ๊งแล้ว เราก็จะไม่เหลืออะไรเลย แต่นี่เรายังเหลือทุนอีกส่วนให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข ซึ่งด้วยความที่เราสองคนต่างก็สูงวัยด้วยกันทั้งคู่ เราก็เลยคุยกันแล้วว่าจะไม่ทุ่มเททำธุรกิจจนล้มป่วยหรือชีวิตไม่มีความสุข เพื่อเอาแต่กำไร คือถ้าเมื่อทำไม่ไหว หรืออยากจะหยุดก็หยุดได้ แต่กลายเป็นว่าพอขายไปขายมา เราสองคนกลับสนุก แถมเป็นความสนุกที่ได้เงินด้วย เงินที่เราได้มาเราก็เอามาเลี้ยงตัวเองได้สบาย ไม่ต้องใช้เงินเก็บของเดิมที่มีอยู่ จ่ายค่ำน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ด้วยตัวเอง ที่สำคัญเลยก็คือไม่ต้องเป็นภาระให้ลูกหลานมาคอยเลี้ยง ซึ่งเขาก็ยินดีที่จะเลี้ยงเรานะ แต่เราบอกไม่เป็นไร พ่อกับแม่สนุกกับการขายของไปเสียแล้ว และรายได้ก็พอดูแลตัวเองได้อยู่”

กำไรของคู่รักฟู้ดทรัคไม่ได้อยู่กับตัวเงินเพียงอย่างเดียว สำหรับทั้งคู่ยังมีกำไรในด้านอื่นๆ ที่พวกเขาได้รับอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่ลงทุนทำธุรกิจ กำไรดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นทรัพย์สินหรือรูปธรรมที่จับต้องได้ หากแต่มาในรูปแบบของความอิ่มเอมทางใจ

“เราสองคนไม่ได้มองกำไรในเรื่องของตัวเงินอย่างเดียวนะ แต่มองว่าเราได้กำไรในด้านอื่นด้วย เรามีความสุขที่ได้ออกไปทำงาน ได้พบเจอผู้คนตลอดเวลา ทำให้ชีวิตไม่เหงา และมีสีสัน ได้เคลื่อนไหวได้ออกกำลังกายอยู่ตลอด ทุกอย่างที่ว่ามาล้วนแล้วแต่เป็นกำไรทั้งนั้น

“ที่สำคัญที่สุดลุงได้อยู่กับป้า ได้ทำงานกับคนที่เรารักนี่ คือกำไรที่ดีที่สุดแล้ว” ลุงอารัติร่ายยาวถึงมุมมองที่มีต่อสิ่งที่ได้รับ ก่อนลงท้ายไว้อย่างน่าคิด

จะมีสิ่งใดที่มีความสุข และมีคุณค่ามากไปกว่าการได้ทำงานอยู่ข้างๆ กับคนที่เรารัก


ทำงานกับคนที่เรารัก

“ทุกวันนี้เราเหมือนเป็นคนที่มีชีวิตเดียวกันไปแล้ว” 

“ทุกวันนี้ความสุขของลุงก็คือการได้ทำงานข้างๆ ป้า ได้อยู่กับป้า ได้คุยกับป้า ได้เห็นป้าขายของ ได้ไปไหนมาไหนด้วยกัน แค่นี้ก็มีความสุขที่สุดแล้ว”

ลุงอารัติกล่าวถึงกำไรสูงสุดที่ได้จากการลงทุนทำธุรกิจขายของบนรถฟู้ดทรัค ซึ่งทำให้เขาและภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่รักกันมาเกือบ 50 ปี ได้ออกเดินทางใช้ชีวิตและไปไหนมาไหนด้วยกันอีกครั้ง

“เราได้ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด ไม่ว่าจะเป็นตามองค์กรใหญ่ๆ หรือสถานที่ต่างๆ เช่นที่การบินไทย ตลาดบองมาเช่ หรือจะเป็นที่ต่างจังหวัดอย่างพัทยา นครปฐม หรือเขาใหญ่ เราก็ขับรถไปขายของด้วยกันสองคน ขับไปก็นั่งคุยกันไป ไปถึงก็ขายของ ช่วยกันทำมาหากินแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”

ลุงอารัติกับป้าสุชาดาพบกันครั้งแรกเมื่อ 47 ปีก่อน โดยในตอนนั้นคุณลุงทำงานเป็นสมุห์บัญชีที่บริษัทแห่งหนึ่ง ส่วนคุณป้าก็ทำงานเป็นพนักงานบัญชีอยู่ในแผนกเดียวกัน

“เขาเป็นลูกน้องเรานั่นแหละ สมัยสาวๆ นี่ป้าเขาสวยมาก คนจีบเขาเยอะ แล้วเขาเป็นคนขยัน เราเห็นเขาทำงานมองไปมองมาถูกชะตา จากที่เคยคุยกันเรื่องงาน ก็เริ่มคุยกันเรื่องอื่นๆ เรื่องชีวิต เรื่องความคิด จนกลายเป็นความผูกพันมาเรื่อย จากนั้นก็เริ่มคบหากัน แล้วอีก 4 ปีต่อมาก็แต่งงาน

“ทุกวันนี้เราเหมือนเป็นคนที่มีชีวิตเดียวกันไปแล้ว”  

คนสองคนที่มีชีวิตเดียวกัน ได้ทำงานด้วยกัน ได้อยู่ข้างๆ กัน แถมสิ่งที่ทำยังมีเงินมีทองเลี้ยงตัวเองได้อย่างสบาย โดยไม่ต้องเป็นภาระที่พึ่งของใคร

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลงสักหน่อย ค่อยๆ มองเห็นความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ