‘ลดความคาดหวัง เพิ่มความเข้าใจ’ เคล็ดลับการใช้ชีวิตอยู่กับแม่และโรคอัลไซเมอร์ของ ‘รณิดา บุญฤทธิ์’


ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์อยู่ที่ราว 6-8 แสนคน และคาดการณ์ว่าตัวเลขจะขยับขึ้นไปถึงราว 1.1 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า

ผู้สูงอายุที่หลังจากป่วยเป็นอัลไซเมอร์หลายรายอาจมีชีวิตยืนยาวไปอีก 20 ปี หากได้รับการดูแลอย่างดีและเข้าใจจากลูก-หลาน คนใกล้ชิด และครอบครัว ทว่าโดยเฉลี่ยหากอยู่ในขั้นรุนแรงจะมีอายุต่อไปอีกเพียงแค่ 4-5 ปีเท่านั้น

ในขณะที่ชีวิตและหน้าที่การงานกำลังรุ่งโรจน์ มั่นคง มีเงินเดือนเป็นเลข 6 หลัก รณิดา บุญฤทธิ์ จำเป็นต้องลาออกจากงานผู้ช่วยผู้บริหารองค์กรเพื่อมาดูแลแม่ที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ด้วยตัวเอง แน่นอนว่าในช่วงแรกที่ยังไม่เท่าทันและมีความเข้าใจในโรคนี้ หญิงวัย 44 ปี ยอมรับว่าเธอทั้งเครียดและเศร้าจนแทบจะกลายเป็นคนป่วยไปอีกคน

อย่างไรก็ตามเมื่อวันเวลาผ่านไป รณิดาเริ่มปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด ลดความคาดหวัง รวมทั้งถอยหลังออกมาอยู่ในระยะที่พอดีในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งมันทำให้เธอเข้าใจแม่และใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น

ก่อนจะยอมรับว่าอัลไซเมอร์เป็น ‘โรค’ ที่ทำให้เธอเข้าใจ ‘โลก’ มากขึ้นกว่าเดิม 

ส่งสัญญาณ

ก่อนที่จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ สุชิน บุญฤทธิ์ เป็นคนที่มีความจำเป็นเลิศ

เรื่องราวในอดีตหลาย ๆ เรื่องหมุนผ่านมานานเป็นหลายสิบปี แต่หญิงชราผู้นี้กลับจดจำได้ราวกับทุกสิ่งเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวาน

“ถ้าเป็นปกติต้องบอกเลยว่าแม่เป็นคนที่มีความจำดีมาก พูดได้เลยว่าดีสุด ๆ อย่างเรื่องราวในอดีตแม่จะจำได้หมดเลย จำได้แม้แต่ละรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ครูประจำชั้นตอนประถมของเราชื่ออะไร หรือกระทั่งว่าเกรดเฉลี่ยของลูกในตอนเด็กว่าได้เท่าไหร่ ซึ่งมันนานผ่านมาเป็น 30 เกือบ 40 ปีแล้ว เราเองยังลืมไปแล้วแต่แม่กลับจำได้

“ด้วยความที่แม่เป็นคนที่มีความจำดีมากขนาดนี้ ใครจะคิดว่าวันนึงแม่จะเป็นอัลไซเมอร์”

รณิดา บุญฤทธิ์ เล่าย้อนความทรงจำเมื่อครั้งที่โรคร้ายยังไม่เข้ามาในชีวิตของเธอและแม่ ปัจจุบันสุชินมีอายุถึง 84 ปีแล้ว หากว่ากันถึงระยะของโรคที่เป็นอยู่ตอนนี้รณิดาบอกว่าน่าจะอยู่ในระยะกลางค่อนไปทางปลาย เรียกว่าหากเปรียบเป็นผลไม้ก็ใกล้สุกงอมเต็มที

ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยเป็นคนที่มีความจำเป็นเลิศกลายเป็นคนที่หลงลืมแทบจะทุกสิ่งทุกอย่างในวัยชรา ทุกวันนี้รณิดาบอกว่าแม่ของเธอหลงลืมทุกอย่างในชีวิตแทบจะหมดแล้ว ลืมว่าตัวเองเคยเป็นใคร ลืมว่าใครคือคนในครอบครัว ลืมกิจวัตรประจำวัน ลืมวิธีการดูแลตัวเอง ลืมแม้แต่วิธีการอาบน้ำหรือขับถ่าย ฯลฯ

“ความจริงก่อนที่จะเป็นอย่างนี้แม่ก็เริ่มส่งสัญญาณอะไรบางอย่างมาบ้างแล้ว เพียงแต่เราไม่คิดว่าจะเป็นอัลไซเมอร์ ย้อนหลังกลับไปในช่วงก่อนที่พ่อจะเสียชีวิต ในช่วงนั้นแม่อยู่แต่กับทีวี แล้วก็เริ่มปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตน้อยลง เนื่องจากทุกคนไปโฟกัสที่พ่อกันหมด ต้องไปเฝ้าพ่อที่โรงพยาบาล ในช่วงนั้นเราก็เริ่มเห็นอะไรแปลก ๆ เช่นเขาทำท่าจะยื่นยาของตัวเองให้หมาที่บ้านกิน หรือบางทีเมื่อเปิดตู้เย็นมาแล้วเจอหนังสือไปวางอยู่ในนั้น

“พอพ่อเสียอาการของแม่ก็เริ่มชัดขึ้น เขาเริ่มถามเราว่าคนที่เคยนอนตรงนี้ (พ่อ) ไปไหน เขาไปทำอะไร หรืออย่างที่งานศพเขาก็ถามว่านี่งานศพใคร หลังจากนั้นเขาก็ไปยืนโบกมือ บ๊าย..บาย ตรงหน้ารูปพ่อ เรายังถ่ายภาพเก็บเอาไว้อยู่เลย ตอนงานศพพ่อ แม่ไม่มีอาการโศกเศร้าอะไรเลย แต่จริง ๆ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเขาสูญเสียความทรงจำและลืมอะไรไปหมดแล้ว”

สัญญาณที่แม่สุชินส่งออกมาถึงลูกสาวและคนในครอบครัวเริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออยู่ ๆ แม่เริ่มเอาหลังช้อนที่เป็นส่วนโค้งตักข้าว รวมทั้งเวลาไป อาบน้ำก็เอาแต่ยืนดูฝักบัว กระทั่งรณิดาไม่สามารถปล่อยให้ไปอาบน้ำตามลำพังได้

หลังจากพบอาการผิดปกติมากขึ้นเรื่อย ๆ รณิดาผู้เป็นลูกสาวตัดสินใจตัดสินใจพาแม่ของเธอไปโรงพยาบาลเพื่อให้คุณหมอตรวจดูอาการ เมื่อตรวจจนแน่ใจคุณหมอก็แทบจะวินิจฉัยได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์

“คุณหมอบอกว่าแม่เข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมเป็นอัลไซเมอร์”

อัลไซเมอร์ โรคที่พร้อมจะทำให้ผู้ดูแลกลายเป็นผู้ป่วยไปอีกหนึ่งคน 


ผู้ป่วยคนที่ 2

อัลไซเมอร์เป็นโรคที่ไม่ได้แสดงบาดแผลให้เห็นเหมือนกับโรคร้ายอื่น ๆ มันไม่เหมือนกับมะเร็ง ไม่เหมือนกับเบาหวานไม่เหมือนกับโรคเอดส์ ที่จะมีอาการทางร่างกายหรือบาดแผลแสดงออกมา ทว่าความน่ากลัวของมันนอกจากทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำทุกอย่างในชีวิตแล้ว อัลไซเมอร์ยังเป็นโรคที่พร้อมจะทำให้ผู้ดูแลเสียสติ และพร้อมจะกลายเป็นผู้ป่วยไปอีกคน

“มันไม่มีแผล แต่เป็นโรคที่พร้อมจะทำให้คนดูแลสภาพจิตใจดิ่งลงเหว จนกลายเป็นคนป่วยไปด้วยกัน เพราะคนป่วยบางทีเขาทำอะไรไปเขาไม่รู้ตัวหรอกแต่คนดูแลนี่สิรับรู้ และรู้สึกทุกอย่าง

“ด้วยความที่เรารับรู้และรู้สึก มันก็จะเกิดความคาดหวังว่าเขาจะดีขึ้นหรือเป็นอย่างที่ใจเราคิด ยิ่งถ้าเขาเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นคนที่เราใกล้ชิด เป็นฮีโร่ของเรา แล้วต้องมาเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นคนที่พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่มีความสามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ เราเองจะยิ่งรับไม่ได้ อย่างอยู่ดี ๆ เขาเดินไปกับเราแล้วถลกกระโปรงขึ้นมาเพื่อจะฉี่ในที่สาธารณะ หรือบางทีนั่ง ๆ อยู่ด้วยกันแล้วเขาพูดคำเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมาไม่หยุด อย่างเคยนั่งอยู่ด้วยกันแล้วแม่พูดแต่คำว่าไปเที่ยวกันนะ ๆ อยู่ทุก ๆ นาที พอเจออย่างนี้บ่อยเข้าเราก็ทนไม่ไหว สุดท้ายก็ระเบิดออกมา”

รณิดายอมรับว่าในช่วงแรก เธอยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้าไม่ได้ หญิงสาวถึงกับต้องร้องกรี๊ดออกมา ทำไมแม่ของเธอที่เคยเป็นผู้หญิงที่เธอรักและนับถือถึงกลายเป็นแบบนี้ไปได้

หญิงสาววัยกลางคนจมอยู่กับความรู้สึกผิดหวังเช่นนี้อยู่ 1 เดือนเต็ม ไม่ว่าเธอจะดูแลอย่างไรแม่ของเธอก็ไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นความทรงจำกลับมาเป็นปกติ ยิ่งเธอคาดหวังจะเห็นแม่ดีขึ้นมากเท่าไหร่ ความรู้สึกเจ็บปวดก็ยิ่งกัดกร่อนหัวใจเธอมากขึ้นเท่านั้น

“ยิ่งไปคาดหวัง ยิ่งไปควบคุมทุกอย่าง เราจะยิ่งเครียด ยิ่งไม่สบายใจ แล้วจะกลายเป็นคนป่วยไปอีกคน ซึ่งส่วนหนึ่งที่เราไปคาดหวังก็เพราะเราไปมองว่าแม่เป็นแม่ แต่ถ้าเรามองว่าจริง ๆ แล้วคนที่อยู่ตรงนี้คือผู้ป่วยคนหนึ่งมองให้เห็นความเป็นจริงว่าโรคนี้มันครอบร่างของแม่อยู่ ความคาดหวังของเราก็จะลดลง แต่เราจะมีความเข้าใจมากขึ้น”

รณิดาไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรในการพาตัวเองหลุดออกมาจากความคาดหวังในตัวแม่ของเธอ หลังจากเวลาผ่านพ้นไป 1 เดือนหญิงสาวเริ่มปรับสภาพจิตใจและยอมรับในความเป็นจริงได้มากขึ้น เธอเริ่มปรับมุมมอง เปลี่ยนแนวคิด และเข้าใจในสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่

“ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นสำหรับแม่และผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็คืออายุจริงกับอายุสมองของเขาจะเดินสวนทางกัน อายุจริงเขามากขึ้นแต่สมองการรับรู้และการควบคุมตัวเองจะน้อยลง อย่างอายุจริงเขา 84 แต่สมองการรับรู้ของเขาอาจจะเท่ากับเด็ก 3 ขวบ เพราะฉะนั้นเราเอ็นดูเด็ก 3 ขวบยังไง เราก็แค่เอ็นดูแม่ของเราแบบนั้น”

เพียงแค่ปรับมุมมองและเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ความทุกข์ที่เคยมีก็แทบจะหายไป ทุกวันนี้รณิดาไม่ได้คาดหวังอะไรจากผู้เป็นแม่อีกแล้ว เธอไม่ได้หวังว่าแม่จะมีความรับรู้ดีขึ้นหรือกลับมาเป็นเหมือนเดิม หญิงสาวเพียงแค่ใช้เวลาที่เหลืออยู่กับแม่และโรคอัลไซเมอร์ให้มีความสุขที่สุด

ก่อนที่จะจากกันไป 


ดูแลอย่างเข้าใจ

นับถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้วที่รณิดาลาออกจากงานที่มั่นคงมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์อยู่ที่บ้านเพื่อที่จะได้มีเวลาดูแลแม่อย่างใกล้ชิด

“คงไม่มีใครอยากออกจากงานที่มั่นคงมีเงินเดือนหกหลักหรอกถ้าไม่จำเป็น เราเองก็เหมือนกัน ตอนแรกเราก็คิดว่าจะจ้างคนดูแล แต่พอเราเห็นคลิปในต่างประเทศที่คนดูแลเขาทนไม่ไหวทำร้ายผู้ป่วย เราก็คิดว่าเราดูแลเขาเองดีกว่า”

หลังจากเข้าใจหลายสิ่งหลายอย่างมากขึ้น รณิดาจึงดูแลแม่ไปตามปกติชีวิตที่ควรจะเป็น ยกเว้นอะไรที่แม่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือมีความจำเป็น เธอก็จะจัดการให้

“การดูแลแม่ของเราต้องบอกว่าเราเน้นการปรับตัวมากกว่าเตรียมตัว เราอ่านน้อยมาก เราไม่อยากเป็นมนุษย์ข้อมูลแต่จะปรับตัวไปกับสิ่งที่ต้องเจอในทุก ๆ วัน อย่างเราสังเกตว่าสิ่งที่อยู่ในโทรทัศน์จะมีผลกับแม่มาก ถ้าวันนี้แม่ดูหนังดราม่าแม่ก็จะเศร้าไปทั้งวัน หรือวันไหนถ้าดูการ์ตูน ก็จะอารมณ์ดี พูดถึงแต่การ์ตูนที่ดูไม่หยุด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องจัดการให้เขาดูแต่สิ่งดี ๆ พวกข่าวอะไรร้าย ๆ เราก็จะตัดออกไป

“นอกจากโทรทัศน์ที่เราต้องจัดการให้เขาแล้ว เรื่องข้าวของในบ้านก็ต้องพยายามจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะเวลาเดินเขาจะมองไกลไม่มองใกล้ ถ้ามีอะไรขวางอยู่เขาก็จะเดินเตะไม่สนใจ ส่วนนอกนั้นเราก็ใช้ชีวิตตามปกติเลย ก็พาเขาเดินออกกำลังกาย กินข้าว เดินเที่ยวห้าง หรือเขาอยากไปไหนถ้าไม่ได้ยากลำบากเกินไปก็จะพาเขาไป คือคนที่ดูแลพ่อแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์บางคนเขาไม่อาจจะไม่อยากหรือไม่กล้าที่พาออกจากนอกบ้าน เพราะกลัวว่าเดี๋ยวจะไปทำอะไรเดือดร้อนหรือควบคุมไม่ได้ แต่เราดูแลเขาปกติเลย ถ้าบางทีเขาจะไปจับอะไรในห้างหรือไปสัมผัสคนที่ไม่รู้จัก เราก็จะใช้ให้เขาช่วยถือของแทนเพื่อที่มือจะได้ไม่ว่าง

“เราเชื่อว่าการที่พาเขาออกมาข้างนอกให้ร่างกายเขาได้เคลื่อนไหวบ้าง มันจะเป็นผลดีต่อตัวเขา ระบบร่างกาย การไหลเวียนโลหิตต่าง ๆ เขาจะสมดุล จะทำให้การจากไปของเขาเป็นการไปอย่างมีคุณภาพ”

เมื่ออาการเริ่มเข้าสู่ระยะสุดท้ายผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่จะเริ่มไม่สื่อสารกับใครและการช่วยเหลือตัวเองก็จะน้อยลง จนกระทั่งไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก่อนที่จะนอนติดเตียงและจากไปในที่สุด ซึ่งในระยะนี้ก็จะมีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เข้ามามากมาย ทำให้วาระสุดท้ายของผู้ป่วยอาจต้องจากไปอย่างทรมานมากกว่าที่จะไปอย่างสงบนิ่ง

สำหรับรณิดาเธอเข้าใจดีว่าการจากกัน จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง และเธอก็เตรียมใจพร้อมรับเอาไว้แล้ว

ดูเหมือนอัลไซเมอร์จะไม่ได้สอนให้เธอเข้าใจเพียงแค่ผู้ป่วยและอาการของโรค หากแต่ในมุมหนึ่งมันยังสอนให้เธอเข้าใจชีวิตอีกด้วย

‘โรค’ สอนให้เข้าใจ ‘โลก’

“จะว่าไปโรคอัลไซเมอร์นี่ก็สอนเราหลายอย่างนะ อย่างแรกเลยที่โรคนี้สอนเราก็คือ สอนให้เรารู้จักปล่อยวาง เนื่องจากโลกนี้ไม่มีอะไรที่เราสามารถควบคุมได้ทุกอย่าง ช่วงแรกที่เรามีความทุกข์นั่นก็เพราะเราไปพยายามควบคุมทุกอย่างให้เป็นดั่งใจเราเอามาตรฐานของเราไปจับ พอแม่เขาไม่ทำตาม เราก็ขึ้นเสียง เมื่อแม่ถามกลับมาว่าทำไมดุจัง มันก็กลายเป็นว่าสุดท้ายเรากลายเป็นปีศาจอยู่คนเดียว ซึ่งเมื่อเราควบคุมทุกอย่างไม่ได้ เราก็ต้องปล่อยวาง”

นอกจากสอนให้เธอปล่อยวางแล้วอัลไซเมอร์ยังทำให้รณิดามองโลกในแง่บวกและเห็นหลายสิ่งหลายอย่างเป็นเรื่องขำขันและชวนหัวเราะได้ ท่ามกลางความทุกข์ร้อน

“ถ้าถามว่าทุกวันนี้อัลไซเมอร์ทำให้เราเศร้าไหม เราไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเศร้าเลยนะ แต่เรามองว่าเป็นเรื่องท้าทายว่าวันนี้แม่เราจะมาโหมดไหน และเราจะรับมือกับเขายังไง คิดไปคิดมาโรคนี้ก็เหมือนทำให้เราได้แม่ใหม่ทุกวัน แบบที่ไม่ซ้ำกันเลย มีทั้งแบบดราม่า ร่าเริง บางทีก็มีแบบจักร ๆ วงศ์ ๆ วันหนึ่งเราจะออกจากบ้านแม่ก็มาบอกว่าเสด็จแม่อย่าทิ้งลูกไปนะ เราฟังแล้วก็ตลกดี บอกกลับไปว่าเสด็จแม่ลูกขอไปธุระก่อนเพคะ”

รณิดาหัวเราะอย่างสบายใจเมื่อนึกไปถึงเรื่องราวระหว่างแม่ที่สูญเสียความทรงจำกับเธอซึ่งเป็นคนปกติ ปัจจุบันรณิดาไม่ได้รู้สึกว่าการดูแลแม่คือภาระหน้าที่ที่ต้องใช้ความพยายามในการจัดการทุกอย่างมากมายดังเช่นแต่ก่อน

“เราว่าชีวิตคนมันไม่ต้องพยายามไปเสียทุกเรื่องหรอกเราแค่เข้าใจและอยู่กับมันให้ได้ ตั้งใจทำมันให้ดีที่สุดแต่ในแต่ละวันก็พอ เรื่องบางเรื่องถ้าใช้ความพยายามมันจะเหนื่อยแต่ถ้าเราใช้ความเข้าใจมันจะง่ายขึ้น

“สุดท้ายความสำเร็จมันมาเท่ากันทั้งคู่ แต่ความสบายใจมันต่างกันเยอะ” รณิดาทิ้งท้ายก่อนหันไปมองสุชินผู้เป็นแม่ด้วยรอยยิ้ม

เป็นรอยยิ้มที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกภายใน โดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลงสักหน่อย ค่อยๆ มองเห็นความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ